free web tracker, fire_lady 12 โรคที่มากับน้ำลาย…ติดต่อง่าย แค่ใช้แก้วน้ำเดียวกัน • สุขภาพดี

12 โรคที่มากับน้ำลาย...ติดต่อง่าย แค่ใช้แก้วน้ำเดียวกัน

โรคที่มากับน้ำลาย

ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” หลายคนคงเคยได้ยินประโยคนี้ ซึ่งก็เชื่อว่าทุกๆ คนคงไม่มีใครอยากเจ็บป่วยเป็นแน่แท้  แต่ทว่า...การเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เนื่องจากเชื้อโรคอยู่รายล้อมตัวเรา การแพร่นั้นเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย โดยเฉพาะ "น้ำลาย” ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุนำพาเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ ส่วนโรคที่มาจากน้ำลาย ติดต่อทางน้ำลายได้ จะมีโรคอะไรบ้าง มาดูกันค่ะ

โรคที่มากับน้ำลาย ป้องกันได้หากรู้วิธี

1. โรคหวัด เป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส มีหลายสายพันธ์ โดยรับเชื้อผ่านการสัมผัสสิ่งปนเปื้อน เช่น น้ำมูก น้ำลาย จากสิ่งของเครื่องใช้ร่วมกัน จากการไอจามรดกัน  สำหรับโรคหวัดสามารถติดต่อกันได้ทุกช่วงอายุ แต่จะพบมากในเด็ก ผู้สูงอายุ ส่วนผู้ใหญ่พบไม่มากเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ อาการของโรคนี้คือ เป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ เสียงแหบ อาจจะมีไข้ต่ำๆ และปวดศีรษะร่วมด้วย โรคหวัดสามารถดีขึ้นได้เองใน 2-5 วันแต่น้ำมูกอาจจะไหลนาน 10-14 วัน แต่เนื่องจากหวัดเป็นโรคที่มีอาการไม่รุนแรง และหายได้เอง จึงเน้นรักษาแบบประคับประครองอาการมากกว่าการใช้ยาโดยไม่จำเป็น 

2. โรคไข้หวัดใหญ่ บางคนอาจจะคิดว่าเหมือนกันกับโรคหวัด แต่จริงๆ แล้วสองโรคนี้ไม่เหมือนกัน เนื่องจากเกิดจากไวรัสคนละตัว สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่นั้นเกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา และระบาดไม่บ่อยเหมือนโรคหวัด แต่โรคไข้หวัดใหญ่มีอาการรุนแรงกว่า พบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว เด็กและผู้สูงอายุจะติดเชื้อได้ง่าย เมื่อได้รับเชื้อ อาการเริ่มต้นคือ มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศรีษะ ไอ จาม เจ็บคอ เสียงแหบ น้ำมูกไหล ปวดตา ปวดเมื่อยกระดูกและกล้ามเนื้อ โดยส่วนใหญ่อาการดีขึ้นจนหายเป็นปกติได้เองภายในเวลาไม่นาน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ

3. โรคคออักเสบ เกิดจากเยื่อบุช่องคออักเสบ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส รองลงมาคือเชื้อแบคทีเรีย เป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อย พบการติดต่อได้ในทุกช่วงอายุแต่จะพบมากในเด็ก ส่วนใหญ่แล้วอาการจะไม่รุนแรงคือ เจ็บคอเมื่อกลืนอาหาร แสบลิ้น ไอ จาม ปวดศีรษะและเป็นไข้ แต่ถ้าติดจากเชื้อแบคทีเรียอาการจะรุนแรงมากกว่า คือมีอาการเจ็บป่วยนานกว่า มีไข้สูง เจ็บคอมาก คอแดงและมีจุด เป็นหนองที่คอ รวมถึงอาจมีอาการแทรกซ้อนได้อย่างเช่น หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองที่คออักเสบ

4. โรคปอดอักเสบ เป็นโรคติดเชื้อที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนหรือฤดูหนาว เกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ทำให้ปอดอักเสบ มีน้ำและหนองในถุงลม-ปอด การแลกเปลี่ยนอากาศจะทำได้ไม่ดี ร่างกายจะได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ สามารถติดเชื้อได้ทุกช่วงวัย แต่ในเด็กและผู้สูงอายุอาการจะรุนแรงกว่า อาการคือ มีไข้ ไอ มีเสมหะ เจ็บหน้าอก  เหนื่อยหอบ ไอ หายใจลำบาก หายใจดังมีเสียงวี้ด หากอาการรุนแรงมาก จะทำให้ภาวะการหายใจล้มเหลว หมดสติ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้

5. โรคหลอดลมอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหาร โรคนี้มี 2 ชนิดคือ แบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง หลอดลมที่ติดเชื้อจะเกิดอาการอักเสบ บวม ทำให้การไหลผ่านของอากาศทำได้ไม่ดี ผู้ป่วยจะมีอาการหลอดลมตีบ-แคบ มีเสียงหายใจดังวี้ด ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะ นอกนั้นอาการจะคล้ายๆ กับโรคหวัด อาการของผู้ป่วยจะดีขึ้นหรือหายเองได้ในเวลา 7-10 วัน แต่อาการไออาจจะยังอยู่อีกนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนได้

6. โรคมือเท้าปาก เกิดจากเชื้อไวรัส มักแพร่ระบาดในย่านชุมชนหรือสถานที่ที่คนเยอะๆ เช่น โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก โรคมือเท้าปากพบมากในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นไข้ มีแผลในปากคล้ายแผลร้อนใน มีตุ่มใสขึ้นตามฝ่ามือฝ่าเท้า โดยปกติแล้วอาการจะไม่รุนแรง แต่ผู้ป่วยจะต้องหยุดเรียน หรืองดออกไปข้างนอกเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น แต่ที่ต้องระวังคือโรคมือเท้าปากมีแบบชนิดรุนแรง หากเกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 อาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิต

7. โรคคางทูม เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มพารามิกโซ ทำให้ต่อมน้ำลายบริเวณกกหูบวม จึงเป็นที่มาของชื่อโรคคางทูม อาการเริ่มจากปวดศีรษะ เป็นไข้ ปวดในรูหู แก้ม และบริเวณข้างหูบวม อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร บางรายปวดหูมากจนปวดลามไปถึงกรามจนไม่อยากเคี้ยวอาหารหรือดื่มน้ำ ซึ่งไม่ใช่โรคที่อันตรายมากนัก สามารถหายเองได้ภายใน 7-10 วัน

8. โรคหูดข้าวสุก หูดตุ่ม ตุ่มเนื้อเล็กๆ กลมๆ ที่ผิวหนัง มีสาเหตุมาจากหลายสาเหตุ แต่หูดข้าวสุกเป็นโรคติดต่อที่เกิดมาจากเชื้อไวรัส  MCV โดยหูดชนิดนี้จะมีลักษณะ เป็นตุ่มเนื้อขนาดเล็ก กลมใสเหมือนไข่มุก ผิวเรียบเป็นมัน มีสีเดียวกันกับสีผิว มีรอยบุ๋มตรงกลาง เมื่อบีบแล้วจะได้สารสีขาวคล้ายข้าวสุก ไม่สร้างความเจ็บหรือคัน มักพบในบริเวณลำตัว แขน ขา ใบหน้า รักแร้ อวัยวะเพศ  โรคหูดข้าวสุกสามารถหายเองได้ภายใน 2-9 เดือนหากร่างกายแข็งแรงและภูมิคุ้มกันดี

9. โรคเริมที่ริมฝีปาก เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นตุ่มบริเวณรอบริมฝีปาก คันและปวดแสบปวดร้อน ติดต่อมาจากเชื้อไวรัส ซึ่งเชื้อนี้แฝงตัวอยู่ได้หลายที่ เช่น น้ำลาย น้ำเหลืองและอสุจิ โรคนี้เป็นโรคที่ไม่รุนแรง สามารถหายเองได้ แต่ข้อเสียคือ จะสร้างความไม่มั่นใจให้กับผู้ป่วยนั่นเอง

10. ไวรัสตับอักเสบ โรคไวรัสตับอักเสบมีหลายชนิด แต่ชนิดที่สามารถติดต่อกันผ่านทางน้ำลายได้คือ ไวรัสตับอักเสบชนิดเอและอี อาการเบื้องต้นของโรคนี้คือ เป็นไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องร่วง อาจมีอาการดีซ่าน เช่นตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีซีด โรคไวรัสตับอักเสบเอและอี อาการส่วนใหญ่จะคล้ายกันแต่ชนิดเอจะมีอาการดีซ่านที่รุนแรงมากกว่า โรคนี้หากรักษาดีๆ สามารถหายได้ภายใน 1 เดือนหากไม่มีภาวะแทรกซ้อน

11. โรคคอตีบ เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า “คอรินแบคทีเรียดิพทีเรีย” เมื่อได้รับเชื้อมา เชื้อนี้จะไปอาศัยอยู่ในชั้นเยื่อเมือกตื้นๆ ของอวัยวะในระบบทางเดินหายใจ เช่น โพรงจมูก ลำคอ จากนั้นเชื้อจะปล่อยสารพิษออกมาทำลายเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น เยื่อบุคอหอย เส้นประสาท กล้ามเนื้อหัวใจ สารพิษนี้จะทำให้เยื่อเมือกอักเสบและตายลง รวมทั้งเกิดการสะสมของแบคทีเรียเอง ทำให้เกิดเป็นแผ่นหนาสีขาวหรือขาวอมเหลืองอุดตันที่บริเวณหลอดลม ทำให้หายใจไม่สะดวก เป็นที่มาของโรคคอตีบนั่นเอง หากได้รับเชื้ออาจจะไม่แสดงอาการใดๆ เลยก็ได้ แต่หากมีอาการ เริ่มแรกจะคล้ายกับโรคไข้หวัด คือ เป็นไข้ต่ำๆ เจ็บคอ กลืนอาหาลำบาก ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว อาเจียน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หายใจไม่สะดวกหรือหายใจมีเสียงดังวี๊ด หลังจากนั้นจะพบแผ่นเยื่อหนาในบริเวณที่มีการอักเสบ เช่น คอหอย ต่อมทอนซิล หรือเพดาน เยื่อที่ว่านี้จะติดแน่นมาก หากพยายามเขี่ยออก เลือดอาจออกได้ สำหรับการรักษาโรคคอตีบนั้น แพทย์จะเฝ้าระวังและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

12. โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นโรคติดต่อที่อันตรายมาก สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา สำหรับเชื้อไวรัสนั้นอาจเป็นไวรัสที่พัฒนามาจากโรคอื่นอย่าง โรคเริมที่ริมฝีปาก โรคไข้หวัด  ส่วนที่มาจากเชื้อแบคทีเรียนั้นอาจได้รับจากการไอจามรดกันโดยตรงหรือ ได้จากโรคอื่น เช่น โรคปอดอักเสบ โรคไข้กาฬหลังแอ่น โรคนี้จะพบมากในเด็กอ่อน แต่เด็กเล็ก วัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ก็พบได้เช่นกัน

สำหรับอาการที่จะแสดงในระยะแรกนั้นจะคล้ายกับไข้หวัด ส่วนผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไปนั้นจะมีอาการที่อาจจะเกิดขึ้นได้ คือ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะอย่างมาก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน มีอาการทางสมอง ชัก สับสน ส่วนเด็กแรกเกิดจะมีอาการตัวและคอแข็ง ร้องไห้ตลอดเวลา นอนมาก หงุดหงิดง่าย ไข้สูง ไม่ค่อยเคลื่อนไหว โรคนี้อันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้ แต่ถ้าผู้ป่วยรอดชีวิต บางรายจะยังมีอาการที่เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้หลงเหลืออยู่ เช่น สูญเสียการได้ยิน การมองเห็น ชัก ปัญญาอ่อน ความจำไม่ดี อัมพาต ปัจจุบันโรคนี้ไม่ได้พบมากเท่าในอดีต เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ตั้งแต่ยังเป็นทารก หากฉีดครบตามขนาดยา อัตราการเป็นโรคจะต่ำมาก ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ห่างไกลจากสถานพยาบาล ตามแนวชายแดน หรือฐานะยากจนไม่สามารถเข้ามาฉีดวัคซีนได้

การป้องกันโรคที่มากับน้ำลาย

  • เมื่อมีโรคแพร่บาด ให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในชุมชนแออัดและการเดินทาง หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้แนะนำให้หน้ากากปิดปาก
  • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หลอดดูดน้ำ แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว 
  • ผู้ป่วยควรงดออกจากบ้านจนกว่าร่างกายจะแข็งแรงหรือไม่อยู่ในระยะที่จะแพร่เชื้อได้ หากจำเป็นต้องออกไป ต้องใส่หน้ากากปิดปาก
  • โรคบางโรคสามารถฉีดวัคซีนป้องกันได้ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคคอตีบ โรคคางทูม โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เช่น ล้างมือให้สะอาดหลังออกจากห้องหรือก่อนรับประทานอาหาร
  • โรคติดต่อทางน้ำลาย ส่วนใหญ่จะมีอาการพื้นฐานคล้ายกันคือ คล้ายกับโรคไข้หวัด ดังนั้นหากมีอาการเหมือนโรคหวัด อย่าชะล่าใจ ต้องหมั่นสังเกตตัวเองให้ดี หากมีอาการอื่นใดผิดปกติมากไปกว่าโรคหวัด ต้องรีบไปพบแพทย์โดยทันที
  • รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน หากร่างกายแข็งแรงจะเจ็บป่วยได้ยาก ถึงแม้จะได้รับเชื้อร่างกายก็จะกำจัดได้โดยไม่แสดงอาการใดๆ เลย

ได้รู้จักกับโรคที่มากับน้ำลาย ติดต่อทางน้ำลายได้แล้ว ก็อย่าเพิ่งตกอกตกใจไป แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจ ทั้งนี้ควรรู้จักป้องกันตนเอง ดูแลข้าวของเครื่องใช้ของตัวเองให้เป็นส่วนตัว อย่าใช้ร่วมกับผู้อื่นจะเป็นการดีที่สุด อีกทั้งหมั่นออกกำลังกาย เพิ่มภูมิคุ้มกันโรค เมื่อร่างกายได้รับเชื้อโรคที่ไม่รุนแรงมาก ระบบป้องกันในร่างกายก็จะทำหน้าที่จัดการกับเชื้อโรคเหล่านั้นได้อย่างสบายใจ หายห่วงกันแล้วละค่ะ