free web tracker, fire_lady รู้เท่าทัน “โรคมือเท้าปาก” โรคที่พบมากในเด็กน้อย • สุขภาพดี

รู้เท่าทัน “โรคมือเท้าปาก” โรคที่พบมากในเด็กน้อย

โรคมือเท้าปาก

รคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease) นับเป็นอีกโรคหนึ่งที่คนไทยเราเพิ่งเคยได้ยินเมื่อไม่นานมากนัก และหลายคนก็ยังไม่ทราบว่าโรคมือเท้าปากนั้นคืออะไรและมีอาการอย่างไร อันตรายหรือไม่ ดังนั้นวันนี้เราจึงควรมาทำความรู้จักเกี่ยวกับโรคมือเท้าปากกันดีกว่า

โรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease) เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มแอนเทอโรไวรัส ทำให้เกิดตุ่ม แผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังที่บริเวณ มือ เท้า และปาก และผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ทั้งมีไข้ ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดท้อง และไม่อยากรับประทานอาหาร ซึ่งโรคนี้จะพบมากในกลุ่มของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี และอาการของโรคนี้จะดีขึ้นและหายป่วยในระยะเวลาประมาณ 7 – 10 วัน

สาเหตุของโรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มแอนเทอโรไวรัส โดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์ค็อกซากี้ เอ 16 และแอนเทอโรไวรัส 71 และยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรืออาการเสี่ยงต่อการเสียชีวิต โดยเชื้อไวรัสเหล่านี้จะแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านทางของเหลวในร่างกาย เช่น น้ำลาย น้ำมูกน้ำเหลืองน้ำหนอง และอุจจาระ เป็นต้น นอกจากไวรัสสองชนิดนี้แล้วยังมีไวรัสชนิดอื่นๆ ที่สามารถก่อให้เกิดโรคนี้ได้ด้วยเช่นกัน คือ กลุ่มโปลิโอไวรัส กลุ่มค็อกซากี้ไวรัส และกลุ่มเอ็กโคไวรัส  

อาการของโรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปากมักจะพบมากในกลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี แต่ก็อาจจะพบมาในกลุ่มของเด็กโตหรือผู้ใหญ่ก็ได้ แต่อาการของผู้ใหญ่จะไม่รุนแรงเท่าเด็ก ซึ่งโรคมือเท้าปากจะมีระยะฟักตัวประมาณ 3 – 6 วันหลังจากนั้นจะแสดงอาการ ดังนี้

สาเหตุของโรคมือเท้าปาก
  • มีไข้สูง 38 – 39 องศาเซลเซียส
  • ไอ และเจ็บคอ
  • ไม่อยากรับประทานอาหาร เบื่ออาหาร
  • มีอาการปวดท้อง
  • อ่อนเพลีย เมื่อยล้า
  • มีตุ่มพอง ผื่น แผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณมือ เท้า และภายในและนอกปาก
  • ถ้าเป็นในเด็กเล็กๆ จะมีอาการงอแงไม่สบายตัว

อาการมีไข้สูงจะเป็นอาการนำของโรคนี้ หลังจากนั้นจะมีอาการอื่นๆ ที่ได้กล่าวไว้ภายใน 1 – 2 วันหลังจากมีไข้ ซึ่งอาการที่สร้างความเจ็บปวดอย่างเห็นได้ชัดคือมีตุ่มพอง ผื่น แผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณมือ เท้า และภายในและนอกปาก โดยเฉพาะบริเวณปากจะมีความเจ็บปวดมากยิ่งในเวลากลืนน้ำหรืออาหาร อาการตุ่มพองที่เกิดขึ้นจะมีอาการคันและระคายเคืองร่วมด้วย หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ ร่วมด้วยก็จะทุเลาลงและหายไปเอง แต่หากมีภาวะแทรกซ้อนอาการก็จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคมือเท้าปาก

ภาวะแทรกซ้อนของโรคมือเท้าปากนั้นไม่ได้พบทุกครั้งในผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ หากผู้ป่วยที่เกิดจากเชื้อไวรัสค็อกซากี้ เอ 16 ก็มักจะไม่พบภาวะแทรกซ้อน แต่หากผู้ป่วยที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มแอนเทอโรไวรัส 71 ก็จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนจะมี ดังนี้

1. ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง

2. มีการติดเชื้อซ้ำบริเวณที่เป็นแผล

3. เกิดอาการชักเนื่องจากมีไข้สูง

4. เกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

5. เกิดอาการสมองอักเสบ

การป้องกันโรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปากเป็นโรคติดต่อ มีการแพร่กระจายจากคนสู่คนด้วยของเหลวภายในร่างกาย ดังนั้นจึงมีวิธีการที่ลดความเสี่ยงในการติดโรคนี้ ดังนี้

วิธีป้องกันโรคมือเท้าปาก

1. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาด หลังสัมผัสกับผู้ป่วย

2. ล้างมือทุกครั้งหลังและก่อนเตรียมอาหาร

3. ล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ

4. ล้างมือก่อนและหลังการป้อนนมเด็ก

5. ใช้ช้อนกลาง ไม่ใช้แก้วหรือหลอดดูดร่วมกัน

6. หากต้องทำแผลให้ผู้ป่วยจะต้องสวมถุงมือ

7. ระวังการไอจามรดกัน ควรใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก

8. ไม่ควรนำเด็กเล็กๆ ไปในที่ที่มีคนมากๆ เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค

9. หมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์หรือสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวันที่ต้องใช้บ่อยๆ

10. ผู้ป่วยควรอยู่แต่บ้าน ไม่ออกไปข้างนอน ป้องกันการรับเชื้ออื่นๆ และแพร่เชื้อสู่คนอื่น

การรักษาโรคมือเท้าปาก

การรักษาโรคมือเท้าปากนั้นไม่มีวิธีการที่เฉพาะ แต่จะรักษาไปตามอาการที่เกิดขึ้น ประกอบกับการดูแลและเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ดังนี้

1. ให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการ แต่หากมีไข้สูงห้ามรับประทานยาแอสไพรินเด็ดขาด

2. ดื่มน้ำในปริมาณมาก เพื่อป้องกันภาวะการขาดน้ำที่อาจเกิดขึ้นได้

3. ในช่วงที่เป็นแผลในปาก ให้รับประทานอาหารเหลวหรือของที่เป็นน้ำๆ โดยอาจะต้องใช้ช้อนเล็กๆ หรือกระบอกฉีดยาค่อยๆ หยอดเข้าปาก และหากเป็นไปได้ควรให้เด็กรับประทานของเย็นๆ บ้าง เช่น น้ำแข็งก้อนเล็กๆ น้ำเย็น นมเย็นๆ และไอศกรีม เป็นต้น เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด

4. บ้วนปากด้วยน้ำเกลือวันละหลายๆ ครั้ง

5. งดอาหารเผ็ดหรืออาหารที่เป็นกรด เพราะจะทำให้ปวดแผล

อาหารป้องกันโรคมือเท้าปาก

อาหารบางชนิดมีสารบางตัวที่สามารถช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการของโรคมือเท้าปากได้ และเป็นของที่หาได้ไม่ยากนัก ดังนี้

1. เห็ดหอม หรือเห็ดชิตาเกะ มีสาระสำคัญคือ “เล็นดิแนน” มีส่วนในการช่วยเพิ่มเม็ดเลือดขาว เสริมภูมิคุ้มกัน และยังสามารถช่วยทำลายเซลล์มะเร็งได้

เห็ดชิตาเกะ

2. กระเทียม มีสารประกอบสำคัญเป็นกลุ่มของกำมะถันที่มีชื่อว่า “ไดอัลลิน ซัลไฟด์” แต่หากนำกระเทียมมาบดจะได้ “อัลลิซิน” ซึ่งออกฤทธิ์ในการไล่เชื้อโรคได้ดีกว่า

3. หัวหอม การรับประทานหัวหอมไม่ว่าจะหอมแดงหรือหอมใหญ่จะทำให้ร่างกายได้สาระสำคัญ ที่มีส่วนช่วยในการเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกาย และสามารถช่วยลดอาการอักเสบจากการติดเชื้อได้

4. รำข้าวโอ๊ต จะมีสารที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ทั้งยังมีส่วนในการสร้างเซลล์ฆ่าเชื้อโรคโดยธรรมชาติและสร้างเซลล์ภูมิคุ้มกันด้วย

5. ส้มและเสาวรส สารกลุ่มไบโอฟลาโวนอยด์ ดังนั้นการรับประทานสดๆ หรือคั้นสดจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้

6. องุ่น โดยเฉพาะองุ่นที่มีสีดำเข้ม เมื่อรับประทานสดเข้าไปจะสามารถช่วยกำจัดไวรัสจำพวกเริมและงูสวัดได้ อีกทั้งเมล็ดองุ่นยังมีฤทธิ์ในการลดอาการอักเสบและติดเชื้อตามส่วนต่างๆ ได้

โรคมือเท้าปากเป็นโรคที่รักษาให้หายได้และไม่ได้รุนแรงมากนัก แต่จะรุนแรงก็ต่อเมื่อมีภาวะแทรกซ้อน ดังนั้นหากมีความจำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยควรดูแลผู้ป่วยอย่างถูกวิธีและเอาใจใส่เป็นพิเศษ รวมทั้งระมัดระวังตนเองด้วยเนื่องจากโรคนี้เป็นโรคติดต่อ และหากหลีกเลี่ยงได้ก้อย่างไปใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ ที่สำคัญดูแลเอาใจใส่และหมั่นสังเกตบุตรหลานให้ดี เพราะโรคนี้พบมากในเด็กเล็กๆ ดังนั้นหากเรามีการเตรียมตัวที่ดีไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรเราก็สามารถที่จะเอาชนะกับมันได้