free web tracker, fire_lady ดูแลตัวเองก่อนจะเป็น “โรคกระเพาะ” ทรมาน บั่นทอนสุขภาพ • สุขภาพดี

ดูแลตัวเองก่อนจะเป็น "โรคกระเพาะ"

โรคกระเพาะ

เมื่อรู้สึกมีอาการปวดท้อง โรคหนึ่งที่คนเราจะนึกถึงคือ "โรคกระเพาะ" นั่นเป็นเพราะว่านี่คืออีกโรคหนึ่งที่มีคนเป็นกันมาก จนกลายเป็นโรคที่คนส่วนใหญ่อาจคุ้นเคยไปซะแล้ว และบางครั้งก็เรียกกันติดปากว่าโรคกระเพาะอาหาร เนื่องจากอาการปวดท้องที่เกิดขึ้นนั้นมักสัมพันธ์กับการกินอาหารที่ไม่ถูกต้องนัก แต่นอกจากสาเหตุนี้แล้วโรคกระเพาะยังสามารถเกิดได้จากอีกหลายสาเหตุซึ่งจะมีอะไรบ้าง แล้วมีวิธีป้องกันหรือเปล่า และรักษาได้อย่างไร เราไปหาคำตอบพร้อมกันเลย

โรคกระเพาะเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง

โดยทั่วไปสาเหตุหลักของโรคกระเพาะเลยก็คือบริเวณกระเพาะอาหารมีกรดและน้ำย่อยอาหารมากขึ้น จึงทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารถูกทำลายจนเป็นแผลในกระเพาะอาหาร เนื่องจากไม่สามารถต้านทานปริมาณกรดจำนวนมากนั้นได้ โดยปัจจัยรองลงมาที่ช่วยเสริมให้เยื่อบุกระเพาะอาหารยิ่งอ่อนแอคือ การกินอาหารไม่เป็นเวลา เพราะเมื่อถึงเวลาอาหารแล้วระบบภายในร่างกายจะหลั่งน้ำย่อยออกมาอัตโนมัติ หากไม่มีอาหารเจ้าน้ำย่อยก็จะย่อยกระเพาะอาหารแทนนั่นเอง แล้วยังมีปัจจัยเสริมอื่นอีกที่เป็นตัวส่งเสริมให้เกิดกรดในกระเพาะอาหาร เช่น ความเครียด นอนไม่หลับ พักผ่อนน้อย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือกาเฟอีน ชา กาแฟ การสูบบุหรี่ ฯลฯ

นอกจากนี้การกินยาลดไข้ ยาแก้ปวดในกลุ่มแอสไพริน และยาที่มีสเตียรอยด์ เนื่องจากยาเหล่านี้จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุในกระเพาะและเกิดการอักเสบจนทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหารได้ รวมทั้งการได้รับเชื้อโรค H. Pylori หรือ Helicobacter Pylori เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งซึ่งจะทำให้ผนังกระเพาะอาหารอ่อนแอ จึงส่งผลให้ไม่สามารถทนต่อกรดและน้ำย่อยได้ แถมอาจทำให้แผลหายช้าหรือแผลที่หายแล้วกลับมาเป็นซ้ำอีก

ลักษณะอาการของโรคกระเพาะ

ส่วนใหญ่อาการปวดท้องโรคกระเพาะที่สำคัญคือ จะรู้สึกจุกเสียดแน่นท้องบริเวณเหนือสะดือกลางท้องหรือบริเวณลิ้นปี่ ปวดแบบแสบๆ ร้อนๆ นานครั้งละ 15-20 นาที โดยมักมีความสัมพันธ์กับอาหาร เช่น ปวดตอนที่กินอาหาร ท้องว่าง หรือหลังอาหาร หรือปวดกลางดึกหลังจากหลับแล้วก็ได้ ฯลฯ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

อาการปวดแบบเฉียบพลัน จะมีอาการปวดท้องเพียงสั้นๆ แค่ 1-2 สัปดาห์ก็หาย แต่สำหรับบางคนที่มีอาการปวดรุนแรงแบบไม่เคยเกิดมาก่อนควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์อย่างละเอียด เพราะอาจมีสาเหตุจากโรคอื่น เช่น โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคตับอ่อนอักเสบ ฯลฯ

อาการปวดแบบเรื้อรัง จะมีอาการปวดแบบเป็นๆ หายๆ อาจเป็นเดือน หรืออาจปวดอยู่ 1-2 สัปดาห์แล้วหายไปหลายเดือนก็กลับมาเป็นอีก ซึ่งมักมีอาการไม่มากนอกจากรู้สึกจุกเสียดหรือแน่นท้อง เมื่อกินยาลดกรดหรืออาหารจะมีอาการดีขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนที่ต้องระวัง!!

นอกจากนี้แล้วยังอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ได้แก่

1) มีเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร จะทำให้อาเจียนเป็นเลือดและถ่ายดำ

2) มีอาการปวดท้องเฉียบพลันรุนแรงเนื่องจากกระเพาะอาหารทะลุ และ

3) กินอาหารได้น้อย อาเจียนหลังมื้ออาหาร น้ำหนักลด เพราะการอุดตันของกระเพาะอาหาร อย่างไรก็ดี ในกรณีที่มีอาการปวดแบบเรื้อรังมานานเป็นปีจะไม่ทำให้ร่างกายโดยรวมทรุดโทรม รวมทั้งแผลในกระเพาะอาหารก็ไม่สามารถกลายเป็นมะเร็งได้

เป็นโรคกระเพาะแล้วจะดูตัวเองอย่างไรดี

หากเพิ่งเริ่มมีอาการของโรคกระเพาะซึ่งยังไม่รุนแรงมาก แค่ดูแลเรื่องการกินอาหารให้ถูกต้องและเหมาะสมก็เพียงพอแล้ว แต่สำหรับผู้ที่มีอาการเรื้อรังหรือรุนแรงต้องปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

1 กินอาหารให้ตรงเวลา นอกจากอาหารมื้อหลักทั้ง 3 มื้อแล้วควรแบ่งมากินอาหารระหว่างมื้อด้วย เพื่อให้กรดและน้ำย่อยที่หลั่งออกมาทำหน้าที่ย่อยอาหารไม่ใช่ไปทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร

2 ในแต่ละมื้อไม่ควรกินมากจนเกินไป ให้กินน้อยๆ แต่บ่อยมื้อแทน เพื่อไม่ให้กระเพาะอาหารต้องทำงานหนักจนเกินไป รวมทั้งควรกินอาหารอ่อนๆ ที่ย่อยง่ายและเคี้ยวให้ละเอียด เมื่ออาการเริ่มดีขึ้นจึงค่อยๆ เปลี่ยนมากินอาหารใกล้เคียงปกติได้

3 พยายามดื่มน้ำมากๆ โดยเฉพาะในระหว่างมื้ออาหารให้ได้วันละ 8-10 แก้ว และในมื้ออาหารก็อาจจะดื่มน้ำบ้างเล็กน้อยเพื่อช่วยให้การย่อยอาหารดีขึ้น

4 ไม่ควรกินของจุบจิบทั้งวัน เพราะหากมีแผลในกระเพาะอาหารอยู่จะทำให้หายช้า เนื่องจากร่างกายต้องหลั่งกรดและน้ำย่อยออกมาทำงานตลอดเวลา

5 หลังกินอิ่มแล้วไม่ควรนอนทันที เพราะระบบย่อยอาหารจะทำงานลำบาก โดยควรอยู่ในท่านั่งหรือยืนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นท่าที่ระบบย่อยอาหารสามารถทำงานได้ดี

6 ในช่วงที่อาการโรคกระเพาะกำเริบนั้นควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาทิ เผ็ด เปรี้ยว หรือหวาน ของดอง ของทอด อาหารที่ใช้น้ำมันมาก หรืออาหารสุกๆ ดิบๆ เพราะจะทำให้กระเพาะอาหารย่อยยาก

7 อุณหภูมิของเครื่องดื่มไม่ควรร้อนหรือเย็นจัด และงดน้ำอัดลม เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือกาเฟอีน เช่น สุรา เบียร์ ไวน์ ชา กาแฟ ฯลฯ เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุกระเพาะอาหาร

8 การดื่มนมเมื่อรู้สึกปวดท้องนั้นไม่ควรเกินวันละ 1 แก้ว เพราะปัจจุบันนมมีโปรตีนผสมอยู่มาก หากดื่มมากเกินไปนอกจากไม่ได้ช่วยรักษาโรคกระเพาะแล้ว ยังจะไปกระตุ้นให้มีการผลิตกรดและน้ำย่อยออกมามาก

9 งดหรือเลิกสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้แผลในกระเพาะอาหารหายช้าแล้วยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกด้วย

10 งดการใช้ยาแก้ปวดและยารักษาโรคกระดูกหรือไขข้ออักเสบ ถ้าจำเป็นต้องใช้ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

11 การพักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่เครียด และการออกกำลังกายก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรปฏิบัติอย่างเหมาะสม

นอกจากนี้หากบางรายมีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วยต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด และอย่าลืมว่าโรคกระเพาะที่เป็นๆ หายๆ เมื่อกินยารักษาแผลโรคกระเพาะแล้วแผลจะดีขึ้นเรื่อยๆ อาการปวดอาจไม่มีแต่แผลก็ยังไม่หายขาดนะ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องกินยารักษาต่อเนื่องกันนานประมาณ 4-8 สัปดาห์ อย่างไรก็ดี คนที่เคยเป็นโรคกระเพาะและรักษาหายแล้ว หากไม่ระมัดระวังเรื่องการกินอาหารให้เหมาะสมไปตลอดก็สามารถจะกลับมาเป็นโรคนี้ซ้ำได้อีกเช่นกัน

คุณผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า ถ้าเรารู้จักกินอาหารอย่างถูกต้องและเหมาะสม เพียงเท่านี้ก็เป็นการรักษาโรคกระเพาะได้แล้ว และที่สำคัญยังเป็นการป้องกันที่ดีสำหรับคนที่ยังไม่เคยเป็นด้วย

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ โรคภัยใกล้ตัว