คลินิกสุขภาพจิต ไขปัญหาสุขภาพ August 21, 2015 Share 0 Tweet Pin 0 นอนกรน เสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับจริงเหรอ? การนอนกรน นอกจากจะสร้างความรำคาญให้กับคนนอนข้างๆ แล้ว ยังส่งผลโดยตรงต่อระบบหายใจและอาจทำให้คุณเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ซึ่งจะส่งผลเสียให้กับอวัยวะต่างๆ ในร่างกายแบบเรื้อรังต่อไป เพราะการนอนกรนอาจจะไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป ซึ่งปัจจัยทางพันธุกรรมน่าจะเป็นสาเหตุหลักของผู้ป่วยที่ชอบนอนกรน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่ไม่อ้วน แต่กลับมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และผู้ที่มีประวัติครอบครัวที่เป็นโรคนี้จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการนอนกรนและการเกิดโรคอื่นๆมากกว่าคนปกติ สาเหตุของโรคนอนกรน การนอนกรนนั้นเกิดมาจากหลายสาเหตุ คือเมื่อมีอายุมากขึ้นก็จะทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ ขาดความตึงตัว และมีลิ้นไก่ยาว เพดานอ่อนห้อยต่ำลง ทำให้กล้ามเนื้อต่างๆ หย่อนยาน และยังรวมไปถึงความหย่อนยานของกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ขยายช่องทางของระบบทางเดินหายใจในช่วงบริเวณลำคอ ทำให้ลิ้นและลิ้นไก่ตก ไปบังทางเดินหายใจได้อย่างง่ายๆ...นอกจากนี้ยังเกี่ยวกับลักษณะโครงสร้างของกะโหลกศีรษะ และกระดูกใบหน้าที่มีความผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็น คางเล็ก หรือลักษณะคอยาว คางเลื่อนไปด้านหลัง คนที่มีหน้าแบน...เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้ระบบทางเดินหายใจช่วงบนแคบลง จนเกิดการอุดตัน และทำให้เกิดการหยุดหายใจได้ การนอนกรนกับปัจจัยที่ทำให้หยุดหายใจ ผู้ป่วยที่อ้วนมีโอกาสเกิดการหยุดหายใจในช่วงขณะหลับมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากไขมันที่นอกจากจะกระจายอยู่ตามเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วไปของร่างกายไม่ว่าจะเป็นสะโพก หน้าท้อง น่องและต้นขาแล้ว...ยังพบว่าเนื้อเยื่อไขมันมีการกระจายตัวอยู่รอบๆ ระบบทางเดินหายใจช่วงบนด้วย ซึ่งไขมันที่พอกบริเวณคอ เมื่อเวลาที่ผู้ป่วยนอนลง จะทำให้เกิดน้ำหนักกดทับ มีส่วนทำให้ช่องคอแคบลงได้...ส่วนหน้าท้องที่มีไขมันเกาะอยู่มาก จะทำให้กระบังลมทำงานได้ไม่เต็มที่ ซึ่งต่างก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการหยุดหายใจขณะหลับได้โดยง่ายเช่นกัน อาการของคนนอนกรน อาการของคนที่นอนกรน จะมีอาการแน่นจมูก เพราะจมูกเป็นต้นทางของทางเดินหายใจ ซึ่งหากมีภาวะใดก็ตามที่ทำให้เกิดการแน่นจมูก ไม่ว่าจะเป็นผนังกั้นจมูกคด ไซนัสอักเสบ เยื่อบุจมูกอักเสบ หรือมีเนื้องอกในจมูก ย่อมส่งผลทำให้การหายใจลำบากขึ้น นอกจากนี้หากมีการสูบบุหรี่บ่อยๆ จะทำให้ประสิทธิภาพของระบบทางเดินหายใจแย่ลงตามไปด้วย เพราะจะทำให้คอหอยอักเสบ อันเกิดจากการระคายเคือง และยังมีการหนาบวมของเนื้อเยื่อ ซึ่งจะทำให้ระบบทางเดินหายใจแคบลง ส่งผลเสียต่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ผู้ที่นอนกรนชนิดไม่อันตราย จะมีอาการนอนกรนเป็นจังหวะสม่ำเสมอ เสียงกรนดังมากโดยเฉพาะเวลานอนหงาย...แต่เมื่อใดที่มีการหายใจสะดุดและหยุดหายใจเหมือนคนหายใจไม่ออก ถือเป็นสัญญาณอันตรายเสี่ยงต่อการหยุดหายใจขณะนอนหลับได้...สำหรับการรักษาโรคการนอนกรน คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเพื่อลดความอ้วน และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะส่งผลดีที่สุด สำหรับผู้ที่หายใจสะดุดบ่อยๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษา และหาทางป้องกัน จะปลอดภัยที่สุด