รับมือ ปัญหาประจำเดือน
เคยไหมคะ เมื่อใกล้ถึงวันนั้นของเดือน มีเพื่อนมาทักว่า “ใกล้วันที่เลือดจะไปลมจะมาหรือเปล่า” นั่นเพราะอารมณ์ที่แปรปรวนง่าย บางคนถึงขั้นเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย พาลทะเลาะกับคนรอบข้างอย่างไม่มีเหตุผลซะงั้น เรื่องของอารมณ์ในช่วงนี้จึงไม่ใช่เรื่องเล็กอย่างที่คิด
อารมณ์แปรปรวน
ผู้เชี่ยวชาญให้คำอธิบายว่าความแปรปรวนของอารมณ์เกิดขึ้นได้ทั้งก่อนและระหว่างมีประจำเดือน สาเหตุเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงนี้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ทำให้หงุดหงิด ก้าวร้าว ซึมเศร้า เครียด กดดัน ไม่มีสมาธิ และควบคุมตัวเองไม่ได้
อาการปวดประจำเดือน
ปฐมภูมิ เป็นอาการปวดปกติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน (Progesterone) ซึ่งหลั่งสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) เพื่อกระตุ้นมดลูกให้เกิดอาการเกร็งและบีบรัดตัวและขับประจำเดือนออกมา อาการปวดจะเกิดบริเวณท้องน้อยซึ่งจะเกิดช่วงมีประจำเดือน 1-2 วัน หรือวันแรกที่มีประจำเดือนโดยจะปวดมากกว่าปกติ ถ้ารอบเดือนนั้นมีการตกไข่ด้วย หลังจากนั้นอาการจะทุเลาลงเมื่อประจำเดือนออกอย่างเต็มที่
ทุติยภูมิ เป็นอาการที่มีสาเหตุจากโรคต่างๆ เช่น เนื้องอกในมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ช็อกโกแลตซีสต์ อาการปวดจะต่างกับแบบปฐมภูมิ คือ จะปวดตลอดเวลาที่มีประจำเดือน และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป การบรรเทาอาการจึงต้องแก้ที่สาเหตุของโรคเป็นหลัก
ชวนรู้ภาวะประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอและภาวะขาดประจำเดือน
สาวๆ หลายคนที่ประสบกับภาวะประจำเดือนผิดปกติ ฟังทางนี้ คุณหมอกล่าวว่า ภาวะประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เช่น สองสามเดือนมาครั้ง และมากระปริบกะปรอย จะเกิดกับคนที่รอบเดือนไม่มีการตกไข่และคนอ้วนเป็นส่วนใหญ่
ส่วนภาวะขาดประจำเดือนที่พบได้ในผู้หญิงทุกวัยเกิดจากความไม่สมดุลของระดับของฮอร์โมนเพศ ทำให้ไม่มีประจำเดือน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพดังต่อไปนี้
อ้วนหรือน้ำหนักเกิน เนื่องจากไขมันในร่างกายมีส่วนในการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงอย่างเอสโทรเจน เมื่อมีปริมาณไขมันมากเกินย่อมทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโทรเจนมากตามไปด้วย มีผลรบกวนต่อกลไกการทำงานของระบบประจำเดือน
ความเครียด ทำให้ต่อมใต้สมองซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยควบคุมระบบสืบพันธุ์ทำงานผิดปกติ จึงทำให้เกิดภาวะขาดประจำเดือนได้
ความผิดปกติทางโครงสร้างของมดลูก เช่น ผนังมดลูกตีบ อาจเกิดจากการทำแท้ง ขูดมดลูก หรือการอักเสบติดเชื้อ
โรคขาดอาหาร เช่น อะนอเร็กเซียหรือบูลิเมีย ทำให้ร่างกายสร้างกลไกป้องกันตัวเอง โดยหยุดผลิตฮอร์โมนเอสโทรเจนและระงับการตกไข่
โรคถุงน้ำในรังไข่ (Cyst) ซึ่งกระตุ้นให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนเพศชายออกมามากเกินไปจนทำให้ไม่มีการตกไข่หรือไม่มีประจำเดือน
โรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคทาลัสซีเมียชนิดรุนแรง โรคตับเรื้อรัง โรคไตวายเรื้อรัง เป็นต้น
การออกกำลังกายหนักเกินไป ทำให้สารเคมีบางชนิดในสมองขาดสมดุล จึงมีผลกระทบต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์
การให้นมบุตร จะเพิ่มระดับฮอร์โมนโพรแลกติน (Prolactin) ซึ่งมีหน้ามี่กระตุ้นต่อมน้ำนมให้สร้างน้ำนมเพื่อเลี้ยงลูก และกดการทำงานของรังไข่ ทำให้ไม่มีประจำเดือน
การควบคุมกำเนิดด้วยยาคุมบางชนิด ซึ่งทำให้ประจำเดือนไม่มา เมื่อหยุดยาคุมกำเนิดไปประมาณ 3-6 เดือน ประจำเดือนก็จะมาตามปกติ
การดูแลแก้ไขประจำเดือนผิดปกติ
ประจำเดือนจะปกติหรือไม่ล้วนเกี่ยวกับระบบฮอร์โมนเพราะระบบฮอร์โมนเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของอิมมูนซิสเต็ม โดยปกติผู้หญิงต้องมีฮอร์โมนเพศชายและเพศหญิงสมดุลกัน จึงสามารถปรับสมดุลของฮอร์โมนได้จากการออกกำลังกายที่ช่วยยืดกล้ามเนื้อไม่ว่าจะเป็นการเล่นโยคะ การรำกระบอง เป็นการช่วยทั้งป้องกันการปวดและช่วยแก้อาการที่กำลังปวด เพราะเวลาปวดจะปวดตึงกล้ามเนื้อ ทั้งกล้ามเนื้อที่หน้าท้อง บั้นเอว หลัง และกล้ามเนื้อภายในบริเวณมดลูก รังไข่ บางคนถึงกับเป็นตะคริว
นอกจากกรออกกำลังกายแล้ว การกินอาหารให้ถูกต้องก็ช่วยได้ ถ้ารู้ว่าประจำเดือนกำลังจะมา อย่ากินอาหารหนักๆ ให้กินอาหารเบาๆ อย่างข้าวต้มปลา ข้าวต้มเห็ด หรือต้มยำปลาที่มีสมุนไพร เช่น ตะไคร้ ข่า ก็ช่วยลดอาการได้
ในรายที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอนั้นมีสาเหตุเกี่ยวกับฮอร์โมน และเนื่องจากฮอร์โมนเป็นโปรตีน การกินอาหารโปรตีนจากพืชจึงช่วยแก้อาการนี้ได้ ควรกินถั่วต่างๆ เมล็ดพืช เช่น เมล็ดทานตะวันและเมล็ดฟักทอง ซึ่งมีตัวยาอยู่มากและให้น้ำมันที่เป็นไขมันดี ช่วยเรื่องของการหมุนเวียนของเลือดได้
ทราบเคล็ดลับดีๆ กันแล้ว ลองนำไปใช้แก้อาการปวดประจำเดือน เพื่อสุขภาพที่ดีกันนะคะ
บทความอื่นๆ เกี่ยวกับปัญหาประจำเดือน