free web tracker, fire_lady ร้อนปรอทแตก มาหาทางรับมือ"โรคลมแดด" กันเถอะ • สุขภาพดี

ร้อนปรอทแตก มาหาทางรับมือโรคลมแดดกันเถอะ

โรคลมแดด

อุณหภูมิของอากาศที่ร้อนแรงทะลุ 40 องศาเซลเซียสขนาดนี้ คงทำให้หลายคนไม่อยากออกไปสัมผัสกับไอแดดกันเลยทีเดียว เพราะเพียงแค่ตากแดดไม่นานกลับมาก็ทำให้ใบหน้าและผิวเกรียมแดดกันแล้ว ไม่เพียงเท่านั้นการตากแดดที่อุณหภูมิร้อนจัดนานๆ ยังอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเพลียแดดได้ และหากเป็นมากอาจมีอาการเป็นลมแดด ซึ่งอาการค่อนข้างอันตรายหากให้การช่วยเหลือไม่ทันท่วงที งั้นเรามาทำความรู้จักกับโรคลมแดด สาเหตุ อาการ การรักษากันดีกว่าค่ะ

อาการเพลียแดดและโรคลมแดด ต่างกันอย่างไร

อาการเพลียแดด เกิดจากอุณหภูมิความร้อนที่มากเกินไป ทำให้ร่างกายเกิดการสูญเสียน้ำจากเหงื่อไปมาก ร่างกายจึงไม่สามารถควบคุมสมดุลอุณหภูมิได้ ซึ่งปกติร่างกายคนเราอุณหภูมิจะอยู่ที่ระดับ 36-37 องศาเซลเซียส เมื่อร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ไม่ถึง 40 องศาเซลเซียส จะทำให้เกิดอาการเพลียแดด ซึ่งอาจส่งผลให้มีอาการปวดศีรษะ มึนศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เป็นตะคริว แต่หากอุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส และมีอาการสับสน มึนงง ซึม ชักเกร็งจนหมดสติ แบบนี้จะเป็นอาการของโรคลมแดด

เมื่อไหร่ก็ตามที่ตัวเราหรือคนรอบข้างมีสัญญาณของอาการเพลียแดด ต้องหาทางแก้ไขโดยด่วน ก่อนที่อาการจะเป็นมากถึงขั้นเป็นลมแดด เพราะอาการของโรคลมแดดมีความรุนแรงกว่าอาการเพลียแดดหลายเท่า จนอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือโดยด่วน แม้อาการจะเหมือนเพลียแดด แต่อุณหภูมิในตัวจะร้อนจัดเกิน 40 องศาเซลเซียส ตัวจะแดง หัวใจเต้นเร็ว หอบ หายใจเร็ว ผิวแห้งไม่มีเหงื่อ และอาจมีอาการทางสมองร่วมด้วย บางคนเห็นภาพหลอน สับสน มึนงง หงุดหงิด ชัก ถึงขั้นหมดสติได้ ภาวะเช่นนี้อันตรายมาก เพราะอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ตับและไตวาย กล้ามเนื้อสลายตัว น้ำท่วมปอด ลิ่มเลือดอุดตันในกระแสเลือด จนช็อกในที่สุด

ผู้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคลมแดด

อาการเพลียแดดหรือโรคลมแดดนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่อยู่กลางแจ้งแดดร้อนจัดเป็นเวลานานๆ แต่ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคทางสมอง ผู้ที่ติดเหล้า เกษตรกร นักกีฬา ทหาร ผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้งนานๆ จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะโรคลมแดดนี้ได้ง่าย

นอกจากนั้นแล้วนักท่องเที่ยวจากประเทศเมืองหนาวที่มาเมืองร้อนอย่างบ้านเรา ร่างกายอาจจะยังปรับตัวไม่ได้ แต่นักท่องเที่ยวเหล่านี้จะชอบออกแดดนานๆ หรือชอบออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างหักโหม เมื่อร่างกายรักษาสมดุลไม่ได้ จึงเกิดอาการเพลียแดดและโรคลมแดดขึ้นได้

ช่วยเหลือผู้มีอาการโรคลมแดดอย่างไรดี

หากเราพบผู้ที่มีอาการตามที่กล่าวมาข้างต้นและคาดว่าน่าจะเป็นอาการของโรคลมแดด ควรรีบนำผู้ป่วยเข้าที่ร่ม เข้าห้องแอร์ หรือหากไม่มีแอร์ให้เปิดพัดลมหรือพัดให้อากาศถ่ายเท ถ้าผู้ป่วยยังมีสติอยู่ให้หาน้ำเย็นให้ดื่ม ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว และพ่นละอองน้ำไปบนตัวผู้ป่วย หากผู้ป่วยชักเกร็งให้เอาสิ่งกีดขวางที่อาจเป็นอันตรายออกให้หมด หากผู้ป่วยอาเจียน หมดสติ ให้จับศีรษะผู้ป่วยหันไปด้านข้าง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเกิดอาการสำลัก หากผู้ป่วยอาการยังไม่ดีขึ้นต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

สำหรับการลดความเสี่ยงจากอาการเพลียแดดและโรคลมแดดนั้น ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศร้อนจัด หรือทำงานกลางแจ้งนานๆ เลือกสวมใส่เสื้อผ้าไม่หนา ระบายอากาศได้ดี ดื่มน้ำให้เพียงพอ ทาครีมกันแดดก่อนออกแดดเสมอออกกำลังกายช่วงเช้าและเย็นที่แดดไม่แรงมาก ข้อปฏิบัติเหล่านี้จะช่วยให้เราหลีกไกลจากอันตรายของแสงแดดได้

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับโรคภัยใกล้ตัว