free web tracker, fire_lady ลดเค็ม ลดโรค ด้วยตัวคุณเอง • สุขภาพดี

ลดเค็ม ลดโรค ด้วยตัวคุณเอง

ถึงแม้จะมีหน่วยงานต่างๆ ในบ้านเราช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนหันมาดูแลสุขภาพตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคภัยต่างๆ มากมาย แต่ก็นั่นแหละ คนส่วนใหญ่ที่ยังไม่ประสบโรคภัยกับตัว ก็จะยังชิลๆ เรียกว่า ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา จากกรณีตัวอย่างของคนใกล้ตัวที่มีอายุเพียง 40 ปี ที่มีสุขภาพแข็งแรงมาโดยตลอด อยู่มาวันหนึ่งล้มป่วยเข้าโรงพยาบาลครั้งแรกก็พบว่าตัวเองเป็นโรคไตเรื้อรังต้องเข้ารับการฟอกเลือดสัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยสาเหตุเกิดจากอาการความดันโลหิตสูงที่คุกคามมานานแต่เจ้าตัวไม่เคยตรวจสุขภาพ จึงไม่เฉลียวใจซึ่งกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคไตก็ป้องกันไม่ทันแล้ว

หากหลายคนยังไม่รู้จักกับโรคความดันโลหิตสูง ต้องขอบอกว่าเป็นมฤตยูเงียบที่ไม่แสดงอาการใดๆ จึงเป็นโรคที่น่าสะพรึงกลัวมาก เมื่อพูดถึงความดันโลหิตสูง แม้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุแต่ที่แน่ๆ การบริโภคเกลือหรืออาหารที่มีรสเค็มจัดเป็นประจำมีความเสี่ยงโดยตรง จากการสำรวจคนไทยบริโภคโซเดียม (ส่วนประกอบของเกลือ) สูงเกินปริมาณที่ร่างกายควรได้รับถึง 2 เท่า โดยประโยชน์ของโซเดียมนั้นมีความจำเป็นต่อการทำงานของเซลล์และรักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย แต่ปริมาณที่ร่างกายต้องการคือวันละไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม (ประมาณ 1 ช้อนชา) แต่ปัจจุบันคนไทยบริโภคโซเดียมสูงถึง 2-3 ช้อนชาหรือบางคนอาจมากกว่า

ข้อเสียของการกินเค็มคือทำให้ร่างกายบวมน้ำโดยเฉพาะคนที่ไวต่อความเค็มเป็นพิเศษ โดยปกติไตจะทำหน้าที่ขับโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกายอยู่แล้ว แต่ในกรณีที่ร่างกายรับเกลือเข้าไปมากก็ยิ่งทำให้ไตทำหน้าที่ได้ไม่ดี จนเกิดโซเดียมตกค้างในร่างกาย ทำให้ร่างกายกักน้ำ (ของเหลว) เอาไว้จนทำให้เกิดอาการบวมน้ำ ผลต่อเนื่องของอาการบวมน้ำคือหัวใจทำงานหนักขึ้นในการสูบฉีดเลือด และนำไปสู่อาการความดันโลหิตสูงซึ่งเป็นต้นตอของหลายๆ โรค

ไม่เพียงเท่านั้น การรับประทานอาหารที่มีรสเค็มเป็นประจำยังเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ เช่น โรคกระดูกพรุน และมะเร็งในกระเพาะอาหาร ดังนั้นการกินเค็มจึงมีโทษมากกว่าประโยชน์ ดังนั้นเราควรควบคุมการรับประทานน้ำปลา เกลือ หรือเครื่องปรุงรสอื่นๆ ที่มีความเค็ม และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานเสียใหม่ โดยมีเทคนิคการลดเค็มมาฝากสั้นๆ ง่ายๆ ในวันนี้คือ

1 หากเป็นไปได้พยายามปรุงอาหารเอง เพราะจะทำให้เราควบคุมรสชาติให้จัดจ้านน้อยลงได้ และตัดพริกน้ำปลาและซอสต่างๆ ออกจากโต๊ะอาหาร

2 ถ้าต้องฝากท้องที่ร้านอาหารนอกบ้านเป็นประจำ สั่งแม้ค้าไม่เค็ม ไม่ใส่ผงชูรส ถ้าเป็นอาหารที่ต้องปรุงรส อย่างเช่น ก๋วยเตี๋ยว ราดหน้า โจ๊ก ข้าวต้ม และอื่นๆ ลองรับประทานแบบไม่ต้องปรุงเพิ่ม แรกเริ่มอาจรู้สึกไม่อร่อยเพราะยังไม่ติดกับรสชาติที่ตนเองชอบ แต่เมื่อทำบ่อยๆ จะค่อยคุ้นเคยกับรสชาติแบบต้นตำรับไปเอง

3 เลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง แฮม เบคอน ไส้กรอก อาหารแห้ง รวมถึงขนมกรุบกรอบเป็นซอง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งหลายที่มีส่วนประกอบของโซเดียมค่อนข้างสูง

4 ลดความถี่ในการรับประทานอาหารที่มีเครื่องจิ้ม เช่น สุกี้ หมูกระทะ ปิ้ง ย่าง จิ้มจุ่ม อาหารย่าง อาหารทอด ถ้าอดใจไม่ไหว ก็ให้ลดปริมาณน้ำจิ้มลง

5 อ่านฉลากโภชนาการ เพื่อจะได้รู้ว่าอาหารที่เล็งๆ ไว้มีส่วนประกอบของเกลือปริมาณมากน้อยเพียงใด จะได้ตัดสินในถูกว่าควร เลือก หรือควร เลี่ยง

สำหรับการเปลี่่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาจไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายสำหรับใครหลายคน แต่หากเรามองถึงอันตรายและความเสี่ยงต่อร่างกาย สุขภาพของเราในอนาคตแล้ว ถือเป็นการแลกที่คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม

Click here to add a comment

Leave a comment: