free web tracker, fire_lady 6 สัญญาณเตือน รีบหาหมอ ตรวจไต ด่วน! • สุขภาพดี

6 สัญญาณเตือน รีบหาหมอ ตรวจไต ด่วน!

ไตสำคัญกับเราอย่างไร

ไต เป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วขนาดเท่ากำปั้น คนปกติมีไต 2 ข้าง วางอยู่บริเวณกลางหลังต่อลงจากกระดูกชายโครงในระดับบั้นเอวทั้ง 2 ข้าง ในแต่ละวันจะมีเลือดปริมาณมากจากทั่วร่างกายไหลเวียนผ่านเนื้อไต แต่จะมีเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ถูกกลั่นกรอง ขับออกมาเป็นของเสียในรูปของน้ำปัสสาวะ ผ่านออกมาทางท่อไตไปกักเก็บรวบรวมไว้ในกระเพาะปัสสาวะเพื่อรอการขับถ่ายออกสู่ภายนอก

ดังนั้นหน้าที่หลักของไตจึงประกอบด้วยการกำจัดของเสียที่ร่างกายไม่ต้องการจากขบวนการเผาผลาญสารอาหาร สารพิษ สารเคมี ยาต่างๆ ตลอดจนทำหน้าที่ขับถ่ายเกลือแร่ส่วนเกินที่ร่างกายไม่ต้องการออก เช่น เกลือโซเดียม โปแตสเซียม แมกนีเซียม แคลเซียม และฟอสฟอรัส เป็นต้น ในขณะเดียวกันไตยังทำหน้าที่รักษาสมดุลของสารน้ำ โดยทำการขับน้ำที่มากเกินความต้องการออก ปัสสาวะจะมีสีใส ปริมาณมาก ในทางตรงกันข้ามไตจะทำการกักเก็บน้ำเอาไว้หากร่างกายได้รับน้ำน้อย หรือมีภาวะขาดน้ำ ทำให้ปัสสาวะมีสีเข้ม และปริมาณน้อยลง

หน้าที่ของไตนอกเหนือจากการขับของเสีย

1 รักษาสมดุลของกรดและด่างภายในร่างกาย

การเผาผลาญสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โปรตีนและไขมันเพื่อสร้างพลังงานให้แก่ร่างกาย จะก่อให้เกิดกากที่มีคุณสมบัติเป็นกรดมากเกินความต้องการของเรา ไตจะทำการควบคุมการเพิ่มขึ้นของกรดเหล่านั้น ไม่ให้เป็นพิษต่อร่างกาย ผ่านระบบบัฟเฟร์ที่มีการแลกเปลี่ยนไอออนระหว่างเลือดกับปัสสวะ เพื่อรักษาสมดุลกรดด่าง (pH) ของร่างกายเอาไว้ พบภาวะเลือดเป็นกรดได้บ่อยในผู้ที่สูญเสียการทำงานของไต (ไตวายเรื้อรัง) ตั้งแต่ระยะกลางเป็นต้นไป ภาวะเลือดเป็นกรดนอกจากจะรบกวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ แล้ว ในระยะยาวยังก่อให้เกิดการผุกร่อนของกระดูกและฟัน รวมไปถึงการเสื่อมสภาพของโปรตีนซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของกล้ามเนื้อ ทำให้อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ฟันผุ ปวดกระดูก เป็นต้น

ควบคุมความดันโลหิต โดยจะสร้างสารที่เรียกว่า เรนิน (renin) เพื่อควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ ก่อให้เกิดการไหลเวียนของเลือดทั่วทั้งร่างกายอย่างเพียงพอ ซึ่งการควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติมีความสำคัญอย่างมากในการป้องกันโรคหัวใจและโรคเส้นเลือดสมอง เมื่อมีความดันโลหิตสูงต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน จะทำให้หัวใจต้องทำงานหนัก เกิดการพองตัว นำไปสู่ภาวะหัวใจวายในท้ายที่สุด แต่หากความดันโลหิตเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันจนเกิดการฉีกขาดของหลอดเลือดแดงในสมอง จะก่อให้เกิดภาวะอัมพฤต อัมพาตตามมา บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นเจ้าหญิงนิทราได้

2 การสร้างเม็ดเลือดแดง

ไตทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่มีบทบาทกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงของไขกระดูกที่มีชื่อเรียกว่า อีริโทโพอิติน (erythropoetin) หรือเรียกสั้นๆ ว่า อีโป (EPO) โดยเร่งการสร้างและการเจริญเติบโตของเซลล์เม็ดเลือดแดงตัวอ่อนให้เป็นเซลล์ตัวเต็มวัยที่พร้อมนำออกซิเจนไปสู่อวัยวะต่างๆของร่างกาย เป็นการป้องกันการเกิดภาวะโลหิตจาง เมื่อร่างกายมีภาวะโลหิตจาง อวัยวะต่างๆจะได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ก่อให้เกิดอาการเพลีย เมื่อยล้า ไม่มีแรง ลดประสิทธิภาพในการทำงาน ความทรงจำสั้นลง เป็นต้น

3 การสังเคราะห์วิตามินดี

ไตทำหน้าที่เปลี่ยนวิตามินดี (calcitriol) จากรูปที่ยังไม่พร้อมในการทำงาน (inactive form) ให้พร้อมเต็มที่ (active form) สำหรับรักษาสมดุลแคลเซียมและฟอสฟอรัสในร่างกาย เสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก เพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้ โดยเฉพาะในภาวะที่ร่างกายขาดแคลนแคลเซียมหรือได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการควบคุมการสะสมแคลเซียมในโครงกระดูกและยับยั้งการขับถ่ายแคลเซียมออกจากไตอีกด้วย

สัญญาณเตือน 6 ประการ

1 การเปลี่ยนแปลงของการขับถ่ายปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ในคนปกติเมื่อเรานอนหลับ 6-8 ชั่วโมง มักไม่ต้องลุกขึ้นมาเพื่อปัสสาวะ เพราะในเวลากลางคืน ไตจะเพิ่มการดูดกลับสารน้ำ เหลือผลิตเป็นน้ำปัสสาวะเพียงจำนวนเล็กน้อย พอเพียงที่จะพักค้างไว้ในกระเพาะปัสสาวะเพื่อรอการขับถ่ายในช่วงตื่นนอน เมื่อมีการเสื่อมหน้าที่ของไตจนไตไม่สามารถดูดน้ำกลับคืนสู่ร่างกายได้ดีเช่นปกติ ไตจำเป็นต้องผลิตปัสสาวะในช่วงกลางคืนเกินกว่ากำลังของกระเพาะปัสสาวะจะกักเก็บไว้ได้ ทำให้ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะในช่วงกลางดึก บางรายอาจบ่อยคร้งจนรบกวนการนอนหลับ

2 อาการแสดงขณะถ่ายปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะขัด แสบร้อน สะดุด หรือมีเศษนิ่วปนออกมา

3 ปัสสาวะมีสีผิดปกติ มีสีน้ำล้างเนื้อ หรือสีชาแก่ จากการมีเม็ดเลือดแดงในน้ำปัสสาวะ มีฟองจากการรั่วของไข่ขาวที่ไต หรือมีสีเขียวจากการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ

4 อาการบวม โดยเฉพาะบริเวณหนังตาหรือใบหน้าในตอนเช้า ซึ่งถ้าเป็นมากจะมีอาการบวมทั่วตัว

5 อาการปวดบั้นเอวหรือบริเวณสีข้าง (ไม่ต่ำกว่าเอวหรือไม่อยู่กลางหลัง)

6 อาการปวดบริเวณขมับหรือบริเวณท้ายทอยในช่วยบ่าย หรือช่วงใกล้ค่ำ ซึ่งเป็นอาการแรกบ่งชี้ของความดันโลหิตสูง

เมื่อเกิดภาวะที่ไตทำงานได้น้อยลงจนไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ในระยะแรกอาจไม่ปรากฎอาการเด่นชัด แต่สามารถตรวจพบความผิดปกติได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นเราจึงหมั่นสังเกตความผิดปกติของไตได้ด้วยตนเองโดยสังเกตสัญญาณเตือน 6 ประการ และหากพบอาการข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนานจนสายเกินแก้

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องน่ารู้...คู่สุขภาพดี

Click here to add a comment

Leave a comment: