free web tracker, fire_lady สารกันรา…ภัยร้ายใกล้ตัวคุณ!! • สุขภาพดี

สารกันรา...ภัยร้ายใกล้ตัวคุณ!!

อันตราย สารกันรา

"การถนอมอาหาร" ถือเป็นนวัตกรรมที่มีมาแต่ช้านาน ไม่ว่าจะเป็นการตากแห้ง อบ หรือดอง แม้วิธีการดังกล่าวจะสามารถยืดอายุอาหารได้ แต่ก็พบว่าเมื่อทิ้งไว้นานๆ อาหารจะมีการเน่าเสียหรือ "ขึ้นรา" ผู้ประกอบการหลายๆ เจ้าจึงพยายามหาวิธียืดอายุอาหารให้นานขึ้นไปอีก และอีกหนึ่งวิธีที่ใช้กันมากคือการใส่ "สารซาลิซิลิค" (salicylic acid) หรือ "สารกันรา" ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

"สารกันรา" คือ?

"สารกันรา" เป็นกรดอินทรีย์มีลักษณะเป็นผลึกสีขาวที่มีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้ดี ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวสารกันราจึงถูกนำมาดัดแปลงและผสมลงในเครื่องสำอางเพื่อยืดอายุการใช้งาน อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศสั่งห้ามไม่ให้ผสมสารกันราลงในอาหารโดยเด็ดขาด เพราะสารกันราเป็นสารที่เป็นอันตรายต่อระบบย่อยอาหารของมนุษย์ โดยเมื่อรับประทานเข้าไปมากๆ จนมีความเข้มข้นในเลือดสูงประมาณ 25-35 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร จะทำให้มีอาการหูอื้อ เวียนศีรษะ ความดันลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว จนอาจเกิดอาการช็อกและเสียชีวิตได้

อาหารประเภทใดที่มีการปนเปื้อนสารกันรา?

โดยปกติผลิตภัณฑ์ที่ปนเปื้อนสารกันราคืออาหารจำพวกขนมปัง ที่มีอายุอยู่ได้ประมาณไม่เกินหนึ่งอาทิตย์ ดังนั้นผู้ประกอบการบางรายจึงเติมสารกันราลงไปเพื่อยืดอายุของผลิตภัณฑ์ นอกจากนั้นยังพบว่าอาหารหมักดอง เป็นอาหารอีกประเภทที่นิยมผสมสารกันรา เนื่องจากอาหารหมักดองเมื่อทิ้งไว้นานจะมีราขึ้นบริเวณผิวน้ำและเกาะตามขอบของภาชนะที่บรรจุ ทำให้อาหารเสียและมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว

ถึงแม้ว่า "สารกันรา" จะเป็นสารต้องห้ามตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข แต่จากการสุ่มตรวจกลับพบว่ามีอาหารหลายชนิดที่ปนเปื้อนสารกันรา ทั้ง แหนม หมูยอ ผักและผลไม้ดอง จำพวกมะดัน มะกอก หน่อไม้ปี๊บ และไชโป้ เป็นต้น

วิธีตรวจสอบอาหาร...มีส่วนผสมของสารกันราหรือไม่?

วิธีการทำสอบว่าอาหารที่รับประทานมีส่วนประกอบของสาร ‘ซาลิซิลิค’ หรือสารกันราหรือไม่ สามารถทดสอบได้จากชุดทดลองของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในชุดทดสอบจะประกอบไปด้วย

1) น้ำยาทดสอบสองชนิดได้แก่ สารละลายกรดซาลิซิลิคและสารละลายเฟอร์ริคคลอไรด์ (FeCl3)

2) หลอดหยด

3) ภาชนะที่ใส่ตัวอย่างสำหรับการทดสอบ

วิธีการทดสอบสามารถทำได้ตามคู่มือที่ได้มาพร้อมกับอุปกรณ์ทดสอบ ซึ่งมีขั้นตอนไม่ซับซ้อนนักใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีก็จะทราบได้ว่า ผลไม้ดองหรือผักดองนั้นมีสารกันราหรือกรดซาลิซิลิคเจือปนอยู่หรือไม่

ห่างไกล "สารกันรา" ด้วยตาเปล่ากับการสังเกตุ

อีกวิธีคือใช้การสังเกต เพราะโดยปกติอาหารที่ไม่ได้ผ่านการบรรจุระบบสุญญากาศหรืออยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่สามารถเก็บไว้ได้นาน เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งหรือสองสัปดาห์อาหารจะเริ่มขึ้นรา ยกตัวอย่างเช่นขนมปัง หากนำมาวางทิ้งไว้ (หรือแม้แต่อยู่ในถุง) เมื่อเวลาผ่านไปเกือบหนึ่งสัปดาห์จะเริ่มมีราสีขาวเกาะตามขอบ เมื่อทิ้งไว้นานกว่านั้นจะเป็นราจะมีสีเหลืองขุ่นไปจนถึงดำ แต่หากขนมปังไม่มีความเปลี่ยนแปลงให้สงสัยว่าใส่สารกันรา เช่นเดียวกับอาหารหมักดอง หากมีอายุเกินสามสัปดาห์ โดยไม่มีฟองอากาศหรือราขึ้นตามขอบภาชนะให้เลี่ยงการรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

จะเห็นได้ว่าแม้ "สารกันรา" จะเป็นสารต้องห้าม แต่ก็ยังมีการลักลอบผสมลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด ดังนั้นผู้บริโภคจึงมีความจำเป็นต้องระมัดระวังในการบริโภคให้มากขึ้น โดยหันมารับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ งดเว้นการรับประทานอาหารหมักดอง หรือหากมีเวลาอาจจะใช้วิธีหมักรับประทานเองเพื่อให้ได้อาหารที่สะอาดและปลอดภัย

นอกจากนั้นควรเลือกซื้ออาหารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ โดยอาจสังเกตป้ายหรือสัญลักษณ์ของกระทรวงสาธารณสุข และควรอ่านฉลากให้ละเอียดทุกครั้งก่อนเลือกซื้อ โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป พยายามเลือกสินค้าที่ระบุอย่างชัดเจนว่า ‘ไม่ใช้วัตถุกันเสีย’ ‘ไม่เจือสีสังเคราะห์’หรือ ‘สารกันรา’ และควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ให้ข้อมูลการผลิตไม่ครบถ้วน เช่นส่วนผสม วันผลิตและวันหมดอายุ เพราะเราจะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าของที่เราซื้อถูกสุขลักษณะ ปลอดภัยและได้มาตรฐานหรือไม่

ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีในทุกๆ วัน อย่าลืมเลือกรับประทานอาหารที่สด สะอาด ปลอดภัยและปราศจาก "สารกันรา" กันด้วยนะคะ

บทความอื่นๆ เกี่ยวกับสารปนเปื้อนในอาหาร