free web tracker, fire_lady สารเร่งเนื้อแดง…มหัตภัยร้ายใกล้ตัว!! • สุขภาพดี

สารเร่งเนื้อแดง...มหัตภัยร้ายใกล้ตัว!!

อันตราย สารเร่งเนื้อแดง

อาหาร’ ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ เราทุกคนล้วนต้องการบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์ สะอาดและปลอดภัยด้วยกันทั้งนั้น หากเป็นอาหารที่เราสามารถผลิตขึ้นเองก็ยังสามารถควบคุมเรื่องความสะอาดและคุณภาพได้ แต่หากเป็นอาหารที่เราต้องซื้อตามแหล่งต่างๆ ก็ต้องพิถีพิถันในการเลือกให้มากขึ้น เพราะไม่แน่ว่าอาหารที่เราซื้อหามารับประทานในแต่ละวัน อาจจะมีการปนเปื้อนของสารพิษที่นำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บในอนาคตได้

วันนี้สารปนเปื้อนที่เราชาวสุขภาพดี...จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักคือสารที่ปนเปื้อนมากับเนื้อสัตว์อย่าง "สารเร่งเนื้อแดง" ที่พ่อค้าแม่ขายนิยมฉีดเข้าไปเพื่อเพิ่มสีสันของเนื้อสัตว์ให้ดูสด น่ารับประทาน

สารเร่งเนื้อแดงคืออะไร?

"สารเร่งเนื้อแดง" มีด้วยกันหลายชนิด แต่ที่นิยมใช้มากมีด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ ซาลบูทามอล (Salbutamol) และเคลนบิวเทอรอล (Clenbuterol) โดยสารเร่งเนื้อทั้งสองชนิดนี้เป็นสารที่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในวงการยาและผลิตภัณฑ์รักษาโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ขยายหลอดลมสำหรับผู้ป่วยโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งสารดังกล่าวมีจุดเด่นในการขยายหลอดลมและกล้ามเนื้อ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์นิยมนำสารทั้งสองชนิดนี้มาผสมกับอาหารให้สัตว์กิน เพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อของสัตว์ให้ขยายขึ้น ลดปริมาณไขมันในชั้นผิวหนัง จึงทำให้เนื้อของสัตว์มีความแน่น มีสีแดงสวยและมีไขมันแทรกน้อย ซึ่งเนื้อลักษณะนี้สามารถขายได้ราคามากกว่า

อันตรายจากสารเร่งเนื้อแดงมีมากกว่าที่คุณคิด!!

อย่างที่ทราบว่า "สารเร่งเนื้อแดง" เป็นสารที่มีประโยชน์ หากนำมาใช้ถูกวิธีคือนำมาเป็นสารประกอบของยารักษาโรค แต่หากนำมาใช้กับสัตว์ที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคก็จะทำให้เกิดเป็นสารตกค้าง เมื่อคนรับประทานเนื้อสัตว์หรืออาหารที่มีการปนเปื้อนของสารเร่งเนื้อแดงจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ วิงเวียน หัวใจเต้นผิดปกติ รู้สึกกระวนกระวาย กล้ามเนื้อกระตุก ซึ่งจะเป็นอันตรายกับต่อผู้ที่มีโรคประจำตัวจำพวก เบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์และโรคลมชักได้ โดยนายแพทย์นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเปิดเผยว่า หากเกษตรกรรายใด ใช้สารเร่งเนื้อแดงในการผลิตเนื้อสัตว์จะถือว่าทำผิดกฎหมายตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 269 (พ.ศ. 2546) และจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

สารเร่งเนื้อแดงมักพบในอาหารประเภทใด?

ปกติแล้วสารเร่งเนื้อแดงมักใช้กับเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู เนื้อวัว หรือเนื้อแกะ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มเนื้อ ลดไขมัน เพิ่มราคาสินค้า จากการสำรวจในปี 2553-2555 พบว่าเนื้อหมูมีการใช้สารเร่งเนื้อแดงมากที่สุด รองลงมาคือเนื้อวัว และเนื้อแกะตามลำดับ อย่างไรก็ตามหลายคนก็ยังกังวลต่อไปอีกว่า นอกจากสารเร่งเนื้อแดงจะพบในเนื้อสัตว์แล้ว ยังสามารถพบในผลไม้สีสด อย่าง ‘แตงโม’ ได้หรือไม่? โดยข้อกังวลนี้ได้รับการพิสูจน์จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า ไม่พบสารปนเปื้อนในแตงโมแต่อย่างใด ทั้งนี้เป็นเพราะแตงโมมีกลไกในการป้องกันสารพิษ เกษตรกรรมจึงไม่นิยมใช้สารสังเคราะห์หรือสารเร่งสีแก่แตงโม เนื่องจากฉีดเข้าไปแตงโมก็เน่าเปล่าๆ นอกจากนั้นผลจากห้องทดลองยังระบุอีกว่า แตงโมไทยไม่มีการใช้สีสังเคราะห์เพื่อให้สีสดสวย และไม่มีการใช้น้ำตาลทรายหรือวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลแต่อย่างใด

ดังนั้นไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องสารเร่งเนื้อแดงในแตงโม รวมทั้งสารให้ความหวานชนิดอื่นด้วย อย่างไรก็ตามแม้จะไม่มีสารเร่งเนื้อแดงหรือสารให้ความหวาน แต่แตงโมก็เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลง เพราะฉะนั้นก่อนนำมารับประทานควรล้างเปลือกให้สะอาดทุกครั้งด้วย

วิธีการสังเกตว่าเนื้อชนิดใดมีสารเร่งเนื้อแดงปนเปื้อนอยู่

1. กรณีที่หมูหรือวัวยังมีชีวิตอยู่ จะสามารถเห็นได้ชัดว่า หมูมีมัดกล้ามเนื้อชัด ไม่ว่าจะเป็นสะโพก สันหลังหรือหัวไหล่ นอกจากนั้นหากหมูมีลักษณะกระวนกระวายหรือตัวสั่นตลอดเวลา ให้สงสัยว่าหมูได้รับสารเร่งเนื้อแดงในปริมาณมาก

2. ลักษณะของเนื้อจะมีสีแดงคล้ำกว่าปกติ

3. โดยปกติแล้วเมื่อหั่นเนื้อทิ้งไว้ เนื้อจะมีลักษณะแห้ง แต่หากเนื้อมีการปนเปื้อนของสารเร่งเนื้อแดงเมื่อหั่นทิ้งไว้ก็ยังมีน้ำซึมออกมาที่บริเวณผิวตลอดเวลา

4. มีปริมาณเนื้อแดงมากกว่ามันเยอะผิดปกติ ซึ่งอัตราอยู่ที่เนื้อแดง 3 ส่วนต่อมัน 1 ส่วน

5. เมื่อใช้นิ้วกดบริเวณเนื้อจะรู้สึกว่านุ่มเหมือนเนื้อหมัก ไม่กระด้าง

6. เนื้อหมูที่ปลอดสารเร่งเนื้อแดงต้องมีมันแทรกระหว่างกล้ามเนื้อที่สามารถมองเห็นได้ชัดแต่หากใช้สารจะเป็นเนื้อล้วนแทบไม่มีมัน

จะเห็นได้ว่าสารเร่งเนื้อแดงมักปนเปื้อนมากับเนื้อสัตว์มากที่สุด โดยหากต้องการรับประทานเนื้อสัตว์ต้องระวังให้มาก เพราะเมื่อได้รับสารเร่งเนื้อแดงในปริมาณมากจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ดังนั้นต้องเลือกซื้อเนื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ โดยสามารถสังเกตเบื้องต้นได้จากลักษณะของเนื้อ หรือสามารถสังเกตจากป้ายของหน่วยงานราชการ เช่นป้าย Food safety สีทองของกระทรวงสาธารณสุขหรือ ตรารับรองจากกรมปศุสัตว์

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสารปนเปื้อนในอาหาร