free web tracker, fire_lady "ฮอร์โมนเกรลิน" กระตุ้นความหิว...หากคุมได้ก็ไม่อ้วน • สุขภาพดี

"ฮอร์โมนเกรลิน"

กระตุ้นความหิว...หากคุมได้ก็ไม่อ้วน

ฮอร์โมนเกรลิน กระตุ้นความหิว

ทุกวันนี้มนุษย์เราหันมาให้ความสนใจเรื่องรูปร่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะหนุ่มสาวที่มีสภาวะน้ำหนักเกินที่พยายามทำทุกวิถีทางให้หุ่น fit & firm ในความเป็นจริงโรคอ้วนเกิดได้หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการอ้วนจากกรรมพันธุ์ อ้วนเพราะการรับประทานอาหารเกินความจำเป็น อ้วนเพราะผลข้างเคียงจากการใช้ยา รวมไปถึงสาเหตุสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม นั่นคือการอ้วนเพราะฮอร์โมนภายในร่างกายซึ่งฮอร์โมนตัวร้ายที่ทำให้เรารู้สึกหิวจนต้องกินตลอดเวลานี้ มีชื่อเรียกว่า “ฮอร์โมนเกรลิน” เพื่อป้องกันและขจัดความอ้วน เรามาทำความรู้จักกับฮอร์โมนกระตุ้นความหิว หรือ ฮอร์โมนเกรลิน กันดีกว่าค่ะ

ฮอร์โมนเกรลิน คือ?

ฮอร์โมนเกรลิน เป็นฮอร์โมนภายในร่างกาย ซึ่งจะหลั่งมาจากเซลล์กระเพาอาหาร โดยทำหน้าที่สำคัญในการกระตุ้นสมองว่าตอนนี้ร่างกายต้องการอาหาร ฮอร์โมนเกรลินจึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ฮอร์โมนแห่งความหิว” โดยหากเมื่อเรารับประทานอาหารลงไป เราก็จะรู้สึกอิ่ม นั่นหมายถึงว่าระดับฮอร์โมนเกรลินก็จะลดลงนั่นเอง อย่างไรก็ตามโดยปกติเราจะอิ่มจากการรับประทานอาหารได้อย่างมาก 3 ชั่วโมง ดังนั้นหากจะจัดการความหิวให้อยู่หมัดแล้ว ก็ควรจัดการที่ต้นเหตุนั่นคือควบคุมระดับฮอร์โมนเกรลินไม่ให้หลั่งออกมาเร็วเกินไปนั่นเอง

5 วิธีควบคุมฮอร์โมนเกรลิน

1 งดอาหารที่มีไขมันสูงเกินไป ถึงแม้ว่าไขมันจะเป็นอาหารที่ให้พลังงานมาก ทำให้รู้สึกอิ่มก็จริง แต่อาหารที่มีไขมันสูงจะยับยั้งการหลั่งของฮอร์โมนเกรลินได้ไม่ดีเท่าอาหารที่มีไขมันต่ำ ดังนั้นยิ่งรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันมากเท่าไหร่ ยิ่งหิวไวเท่านั้น

2 เพิ่มโปรตีนในมื้ออาหาร โปรตีนมีส่วนสำคัญในการควบคุมระดับฮอร์โมนเกรลินภายในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีนเบาๆในมื้อเช้าทั้งจากเนื้อปลา ถั่วและน้ำเต้าหู้ ซึ่งนอกจากจะทำให้อยู่ท้องแล้ว ยังย่อยง่ายและคอลเลสเตอรอลต่ำอีกด้วย

3 การทานมื้อเบาหลายๆ มื้อ คนส่วนใหญ่จะรับประทานอาหาร มื้อใหญ่ๆ สามมื้อ คือเช้า กลางวันและเย็น โดยบางคนอาจรับประทานเช้าควบเที่ยง โดยพฤติกรรมการรับประทานอาหารแบบนี้จะเป็นการกระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนเกรลิน ทำให้เราอยากรับประทานอาหารมากขึ้นกว่าปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอ้วนนั่นเอง ทางที่ดีจึงควรรับประทานมื้อเล็กๆ หลายๆ มื้อ โดยอาจรับประทานทุก 3-4 ชั่วโมงก็ได้ เพื่อช่วยให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานอย่างต่อเนื่อง

4 นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลายคนเข้าใจว่าการนอนหลับเป็นการบังคับร่างกายไม่ให้หิว หลับแล้วจะได้อยากกินอะไรไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงการนอนดึกนั่นแหละเป็นตัวกระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนเกรลิน ซึ่งพอตื่นขึ้นมา ร่างกายจะรู้สึกอ่อนเพลียและอยากอาหารมากผิดปกตินั่นเอง

5 การควบคุมความเครียด สังเกตได้ว่าความเครียดเป็นตัวการก่อให้เกิดโรคต่างๆในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมองและอื่นๆ ที่สำคัญโรคอ้วนก็มีผลมาจากความเครียดนี่เช่นกัน โดยเมื่อเกิดความเครียด หรือวิตกกังวล ฮอร์โมนเกรลินจะทำงานมากขึ้นเพื่อลดระดับความเครียด ทำให้ยิ่งเครียด ยิ่งหิวและยิ่งอ้วนในที่สุด

จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่ทำให้อ้วนมีเยอะแยะมากมาย และอีกปัจจัยที่ไม่ควรมองข้ามก็คือการควบคุมระดับฮอร์โมนแห่งความหิวภายในร่างกายให้มีระดับคงที่ และที่สำคัญที่สุดคือการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ และทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส แล้วจะรู้ว่าสุขภาพที่ดีสร้างได้ไม่ยากอย่างที่คิด และการที่จะมีหุ่นสวย สมส่วนก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมจริงๆ 

ขอบคุณข้อมูลดีๆจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

บทความอื่นๆที่เกี่ยวกับ การกิน-ความอ้วน