เคล็ดลับสุขภาพ เรื่องน่ารู้ November 1, 2015 Share 1 Tweet Pin 0 เรื่องน่ารู้...ยาสีฟันสมุนไพร ส่วนผสมและสรรพคุณสมุนไพร ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ยาสีฟันสมุนไพรวางขายมากมายในท้องตลาด แต่ละแบบก็มีคุณสมบัติแตกต่างกันออกไปตามส่วนผสมของสมุนไพรแต่ละชนิด ซึ่งก็มีข้อดีตรงที่สามารถเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคอย่างเราๆได้หลากหลาย โดยแต่ละยี่ห้อก็มีการปรับให้เหมาะกับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นรส กลิ่น สี หรือลักษณะของเนื้อยาสีฟัน (แบบแป้ง แบบครีม) แต่โดยพื้นฐานแล้ว ยาสีฟันเกือบทุกประเภทรวมถึงยาสีฟันสมุนไพร ล้วนมีส่วนผสมตั้งต้นคล้ายๆกัน จะมีสารอะไรบ้างนั้น สุขภาพดี...มีข้อมูลมาฝากค่ะ ส่วนผสมหลักของยาสีฟัน1 สารขัดฟัน (Abrasives) แน่นอนว่ายาสีฟันจะต้องมีสารที่ขัดฟันให้สะอาด ช่วยกำจัดรอยเปื้อนและคราบหินปูน โดยส่วนใหญ่จะใช้แคลเซียมฟอสเฟต (Calcium phosphate) อะลูมินา (Alumina) หรือแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate) แต่สารเหล่านี้หากอยู่ในยาสีฟันแบบผงอาจไม่เหมาะเท่าไร เพราะถ้าเกิดสูดดมหรือหายใจเข้าไปจะก่อให้เกิดอันตรายได้ แต่หากอยู่ในยาสีฟันชนิดครีมหรือเจลก็ไม่มีปัญหาค่ะ2 ฟลูออไรด์ (Fluoride) เป็นสารสำคัญอีกชนิดหนึ่งที่จะขาดไม่ได้เลยในยาสีฟัน เพราะมีคุณสมบัติช่วยป้องกันฟันผุ โดยทำหน้าที่เคลือบฟัน ป้องกันการกัดกร่อนของกรดที่เกิดจากแบคทีเรียได้ แต่หากได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้ผิวฟันขรุขระ และเกิดรอยสีน้ำตาลที่ฟัน และเป็นอันตรายหากกลืนหรือกินเข้าไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองควรระวัง ถ้ามีลูกวัยกำลังซน ควรดูแลอย่างใกล้ชิดในระหว่างที่ลูกกำลังแปรงฟันนะคะ3 สารลดแรงตึงผิว ที่มีประจุลบ ( Anionic Surfactant ) เป็นสารที่ช่วยทำให้เกิดฟอง คนส่วนใหญ่มักคิดว่าหากยาสีฟันมีฟองเยอะจะช่วยให้แปรงฟันได้สะอาดขึ้น แต่จริงๆแล้วฟองไม่เกี่ยวกับความสะอาดนะคะ ขึ้นอยู่กับวิธีแปรงฟันของเรามากกว่า4 สารกันเสีย (Preservatives) สารกันเสียมีคุณสมบัติช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ในยาสีฟันทุกชนิด แต่หากมีมากเกินไปอาจทำให้เกิดการแพ้ได้ สังเกตได้จากการรู้สึกคันหรือแสบบริเวณริมฝีปากหรือรอบๆริมฝีปากเมื่อแปรงฟันเสร็จ อาจเป็นไปได้ว่าคุณกำลังแพ้สารกันเสียในยาสีฟันอยู่ค่ะ5 สารแต่งกลิ่นรส ( Flavors ) และส่วนประกอบ / สารปรับปรุงคุณสมบัติ อื่นๆ ( Other Ingredients / Additives ) ซึ่งสารเหล่านี้จะทำให้ยาสีฟันแต่ละยี่ห้อมีสี รสชาติ กลิ่น หรือคุณสมบัติอื่นๆที่แตกต่างกันออกไปสาเหตุการเกิดกลิ่นปากจะเห็นได้ว่ายาสีฟันส่วนใหญ่มีส่วนประกอบของสารเคมีสังเคราะห์เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นสารทำความสะอาด สารกันเสีย สารแต่งรสและกลิ่น แต่ในความเป็นจริงแล้วมีสารธรรมชาติหลายชนิดที่เราสามารถนำมาทำความสะอาดฟันได้ อีกทั้งทำให้ฟันและเหงือกแข็งแรงอีกด้วย ดังนั้นจึงมีการคิดค้นและผลิตยาสีฟันสมุนไพรขึ้นมา แพทริเซีย เลนตัน นักวิจัยคลินิก จากมหาวิทยาลัยมินเนโซตา กล่าวว่า ส่วนใหญ่แล้ว ปัญหากลิ่นปาก 90% นั้นจะมาจากลิ้นซึ่งเป็นอวัยวะที่มีแบคทีเรียมากที่สุดในช่องปาก กลิ่นปากจึงเกิดจากแบคทีเรียในปากเข้าไปทำลายโปรตีน ทำให้มีองค์ประกอบของซัลเฟอร์ระเหยออกมาจนกลายเป็นกลิ่นเหม็น นอกจากนี้แล้วอาการปากแห้ง ฟันผุ การกินยาบางชนิด หรือโรคบางโรค ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้มีกลิ่นปากได้เช่นกัน ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดช่องปากที่มีสารทำความสะอาด และฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ เพื่อป้องกันปัญหากลิ่นปาก ฟันผุ และปัญหาอื่นๆที่จะตามมาศ.ทพญ.ละอองทอง วัชราภัย ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอนามัยภายในช่องปาก จากมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า “หลายรายงานวิจัยสนับสนุนว่าสารเคมี ไตรโคซาน (Triclosan) ช่วยลดคราบจุลินทรีย์ที่สะสมภายในช่องปากได้ และสารชนิดนี้มีความคล้ายคลึงกับสารที่พบในสมุนไพรบางชนิด ดังนั้นยาสีฟันสมุนไพร ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดก็มีคุณสมบัติในการยับยั้งแบคทีเรียไม่ต่างจากไตรโคซานเลยก็ว่าได้สมุนไพรที่นิยมนำมาผสมในยาสีฟันสมุนไพรได้ยินอย่างนี้แล้วก็อยากรู้ใช่ไหมล่ะคะ ว่าสมุนไพรอะไรบ้างที่มีคุณสมบัติตามที่บอกมานี้ ไปดูกันดีกว่า...ว่าสมุนไพรที่นิยมนำมาใส่เป็นส่วนผสมของยาสีฟันสมุนไพร ที่มีคุณสมบัติช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้นั้นนั้นจะมีอะไรกันบ้าง... 1 เกลือเป็นที่รู้กันว่าเกลือสามารถช่วยกำจัดและยับยั้งแบคทีเรียบางชนิดในช่องปากได้ แต่ย้ำว่าแค่ "บางชนิด" เท่านั้น ดังนั้นยาสีฟันสมุนไพรจะมีส่วนผสมหลักแค่เกลืออย่างเดียวคงไม่พอ ยิ่งไปกว่านั้นคือคนที่เชื่อว่าเกลือเป็นยาครอบจักรวาล เลยใช้วิธีอมเกลือหรือกลั้วปากด้วยน้ำเกลือจะช่วยป้องกันฟันผุ และทำให้ปากสะอาดได้ ขอบอกว่าคุณกำลังคิดผิดค่ะ!! และถ้าใช้วิธีนี้ไปนานๆฟันคุณอาจผุหมดปากโดยไม่รู้ตัวเลยล่ะค่ะ คุณสมบัติหลักๆที่คุณพอจะหวังได้จากเกลือก็คือ “ลดกลิ่นปาก” เนื่องจากเกลือช่วยกำจัดแบคทีเรียบางชนิด ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเมื่อเราบ้วนปากด้วยน้ำเกลือแล้วจึงรู้สึกว่าปากสะอาดและมีกลิ่นปากน้อยลงนั่นเองค่ะ 2 ข่อยข่อย หรือ Tooth brush tree คนไทยโบราณเรียกว่า “แก่นไม้แก้แมงกินฟัน” (แค่ฟังชื่อก็บอกสรรพคุณได้เลยใช่ไหมคะ) ข่อยเป็นอีกหนึ่งส่วนผสมที่มีนิยมนำมาใส่ในยาสีฟันสมุนไพรไม่แพ้กัน เพราะข่อยช่วยแก้อาการปวดฟัน รักษารำมะนาด มีคุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและลดอาการอักเสบของเหงือก อันเป็นสาเหตุของโรคในช่องปากได้ ในสมัยโบราณจะใช้กิ่งข่อยมาทุบและใช้แทนแปรงสีฟัน ทำให้ฟันแข็งแรง ป้องกันฟันผุ แต่หากขัดแรงเกินไปก็อาจทำลายผิวเคลือบฟันได้ แต่ในปัจจุบันไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดปัญหานี้ เพราะข่อยถูกนำมาแปรรูปให้อยู่ในรูปแบบผงหรือครีมแทน จึงไม่ต้องห่วงว่าจะทำลายผิวเคลือบฟันค่ะ 3 สาระแหน่ ในใบสะระแหน่มีน้ำมันหอมระเหยของสารเมนทอล (Menthol) ไลโมนีน (Limonene) และนีโอเมนทอล (Neomentol) สะระแหน่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียจึงช่วยดูแลรักษาสุขภาพช่องปาก ทำให้ลมหายใจสดชื่นและรักษาสุขภาพเหงือกและฟันให้แข็งแรง นอกจากนี้แล้วสะระแหน่ยังช่วยลดอาการปวดฟัน และช่วยรักษาแผลในช่องปาก อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก จึงนิยมนำมาใส่ในยาสีฟันสมุนไพร แต่ต้องระวังหากใช้ในอัตราส่วนที่เข้มข้นมากเกินไป อาจทำลายเนื้อเยื่อภายในช่องปากได้ 4 อบเชย จากการวิจัยเรื่องกลิ่นปาก ที่นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านทันตกรรมกว่า 200 คน ต่างลงความเห็นว่าสารธรรมชาติและน้ำมันหอมระเหยในอบเชย ได้แก่ สารซินนามัลดีไฮด์ (cinnamaldehyde) และสารซินนามีล (cinnamyl) มีประสิทธิภาพในการยับยั้งกลิ่นปาก โดยรวมแล้วสารเหล่านี้มีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียและเชื้อราได้ดีจนผลการวิจัยระบุว่าสามารถใช้อบเชยแทนสารทำความสะอาดในยาสีฟันสมุนไพรได้เลย 5 กานพลูกานพลูมีคุณสมบัติช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิด ทำให้ลมหายใจสดชื่น แก้เหงือกอักเสบ จากการวิจัยพบว่า ผู้ที่มีกลิ่นปาก สามารถทำน้ำยาบ้วนปากเองได้โดยการนำกานพลูมาดองในเหล้าโรง หรือเอทิลแอลกอฮอล์ (แอลกอฮอล์ชนิดที่รับประทานได้) โดยใช้กานพลูแห้ง 1 ส่วน เอทิลแอลกอฮอล์ 5 ส่วน แช่ในขวดสีชาเพื่อป้องกันแสง ทิ้งไว้ 2 สัปดาห์ เพื่อให้แอลกอฮอล์สกัดน้ำมันหอมระเหยออกมาจากกานพลูได้เต็มที่ นำมากรองกากออก นำน้ำมันหอมระเหยกานพลูที่ได้เก็บไว้ ใช้กลั้วคอฆ่าเชื้อโรคในช่องปาก จะช่วยระงับกลิ่นปาก ลดจำนวนเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมจึงมีการนำกานพลูมาสกัดเป็นน้ำยาบ้วนปาก ใส่ในยาสีฟันสมุนไพร หรือแม้แต่ทำเป็นยาอมระงับกลิ่นปากก็มีค่ะ 6 ใบแก้วในใบแก้วมีน้ำมันหอมระเหย 0.25 มิลลิกรัม/ 100 กรัม โดยประกอบไปด้วยสาร Bisabolene, Carene, Citronellol, I-Candinenem, Paniculatin, Eugenol, Geraniol, Phebalosin, Methyl Anthranilate, Scopoletin, Scopolin ใบแก้วจะมีรสเผ็ดร้อนและขม ช่วยแก้อาการปวดฟัน สารจากต้นแก้วที่ทำการสกัดด้วยแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ หรือช่วยยับยั้งเชื้อ Bacullus Inuza และเชื้อ Btaphylo Coccus ซึ่งมีอยู่ในช่องปากได้ แม้จะไม่เป็นที่นิยมนำไปใส่ในยาสีฟันเท่ากับสมุนไพรชนิดอื่นๆ แต่ใบแก้วมีประโยชน์ต่อสุขภาพปากและฟันไม่ด้อยไปกว่าสมุนไพรชนิดอื่นๆเลย ข้อดี ข้อด้อย ยาสีฟันสมุนไพรยาสีฟันสมุนไพรมีข้อดีตรงที่เป็นส่วนผสมที่ทำมาจากธรรมชาติ ทำให้ร่างกายไม่ต้องรับสารเคมีโดยไม่จำเป็น ทว่าก็มีส่วนด้อยที่มีการพูดถึงมานานนั่นก็คือ “ไม่มีฟลูออไรด์” ซึ่งเป็นสารป้องกันฟันผุ แต่ยาสีฟันสมุนไพรที่ออกมาใหม่ในปัจจุบันมีบางยี่ห้อที่มีการใส่ฟลูออไรด์ลงไปด้วย ดังนั้นก่อนจะเลือกซื้อยาสีฟันสักหลอด ต้องดูให้ละเอียดถึงส่วนผสม และคุณสมบัติของส่วนผสมแต่ละชนิด ว่าช่วยในเรื่องใดบ้าง เพราะนอกจากการแปรงฟันที่ถูกวิธีจะช่วยให้เหงือกและฟันสะอาดแข็งแรงแล้ว การเลือกยาสีฟันก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน หากอยากได้ยาสีฟันสมุนไพรก็ต้องดูที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์อยู่ด้วย จึงจะสามารถดูแลสุขภาพช่องปากได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆนอกจากนี้การแปรงฟันอย่างสม่ำเสมอ ถูกวิธี และการใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดควบคู่ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ฟันแข็งแรง อยู่คู่กับเราไปนานๆ แต่อย่างไรก็ตามการแปรงฟันเพียงอย่างเดียวนั้นไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าคุณจะไม่มีฟันผุหรือปัญหาเหงือกใดๆเลย ทางที่ดีควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสอบสุขภาพช่องปากทุกๆ 6 เดือน หรืออย่างน้อยปีละครั้งก็เป็นสิ่งที่ควรปฎิบัติเพื่อสุขภาพปากและฟันที่ดีค่ะบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพฟัน อันตรายจาก “การจัดฟันแฟชั่น” จัดเล่นๆ แต่ตายจริงๆ!! นี่ไง!! วิธีเสกฟันเหลืองอ๋อย ให้ขาวจั๊วะ โดยไม่ต้องเสียเงินเป็นหมื่น 10 วิธีลดอาการปวดฟัน...แบบเอาอยู่ อาหาร 5 ชนิดที่ห้ามพลาดถ้าอยากมีฟันแข็งแรง