free web tracker, fire_lady “เวียนศีรษะบ้านหมุน” อาการของโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน • สุขภาพดี

เวียนศีรษะบ้านหมุน” อาการของโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน

โรคเวียยนศีรษะ บ้านหมุน

ปัจจุบันนี้ไม่ใช่แค่โรคร้ายแรงเท่านั้นที่น่ากลัวและมีความอันตราย เพราะอาการบางอาการหรือโรคบางโรคที่เราคิดว่าเล็กน้อย จริง ๆ แล้วก็สามารถก่ออันตรายให้แก่ตัวเราได้ อย่าง “อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน” (Vertigo) เป็นอาการเวียนศีรษะหรือมึนศีรษะ มีความรู้สึกเหมือนสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุนได้ แม้ว่าจะยืนหรือนั่งอยู่กับที่ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้เป็นปกติ อาจส่งผลกระทบให้สูญเสียการทรงตัวและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมร่างกายตนเองได้ โรคเวียนศีรษะบ้านหมุนสามารถพบได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ส่วนสาเหตุ อาการ วิธีรักษาป้องกันโรคบ้านหมุน ต้องทำอย่างไร ไปดูกันเลย

สาเหตุของการเกิดโรคเวียนศีรษะบ้านหมุน

อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนเป็นอาการที่เกิดจากความผิดปกติในการรับรู้ของร่างกายคนเรา ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน  ความผิดปกติของอวัยวะรับรู้ในหูชั้นในจากโรคต่างๆ สาเหตุนี้พบว่าเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการเวียนศีรษะ เช่น โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด หรือโรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน (Benign Paroxysmal Positional Vertigo: BPPV) โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s Disease) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของน้ำและแรงดันที่อยู่ภายในหูชั้นใน ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ หูอื้อ และการได้ยินลดลง นอกจากนี้ยังมีโรคประสาทการทรงตัวอักเสบ (Vestibular Neuronitis) หรือประสาทหูชั้นในอักเสบ (Labyrinthitis) เป็นภาวะของประสาทหูชั้นในอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งจะส่งผลต่อระบบการทรงตัวของร่างกาย

ส่วนสาเหตุอื่นๆ ของอาการเวียนศีรษะที่พบได้ไม่บ่อยนัก เช่น ยาบางชนิดที่มีผลต่อระบบประสาททรงตัวในหูชั้นใน การบาดเจ็บที่ศีรษะและบริเวณคอ โรคไมเกรน หรือโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับสมอง

อาการของโรคเวียนศีรษะบ้านหมุน

ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่า อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนเป็นผลมาจากความผิดปกติของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมการทรงตัวและรักษาสมดุลของร่างกายในท่าทางต่างๆ เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้น จึงทำให้ระบบการทรงตัวเสียไปชั่วขณะ ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าสภาพแวดล้อมรอบตัวหมุน หรือตัวเองหมุน ทั้งที่ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ มีอาการเวียนศีรษะ เดินเซ ล้ม หรือทรงตัวไม่ได้ รวมไปถึงรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของลูกตา ตากระตุก มีอาการเกี่ยวกับการได้ยินเสียง เช่น หูอื้อ และเสียงดังรบกวนในหู 

ทั้งนี้อาการของโรคอาจขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค มักมีอาการเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ แล้วหายไป ดังนั้นหากเกิดอาการเหล่านี้ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเวียนศีรษะบ้านหมุน

โดยปกติโรคเวียนศีรษะบ้านหมุนแทบไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง แต่มักจะเสี่ยงต่อการลื่นล้มมากที่สุด เนื่องจากไม่สามารถควบคุมการทรงตัวของตนเองได้ จึงอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่ร้ายแรงตามมา ทั้งจากการหกล้ม และอุบัติเหตุจากการขับรถหรือทำงานในสภาวะอันตราย อีกทั้งยังรบกวนการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้

การวินิจฉัยอาการบ้านหมุน

การวินิจฉัยโรคเวียนศีรษะบ้านหมุนต้องทำอย่างระมัดระวัง เนื่องจากเป็นอาการที่มีความซับซ้อน โดยแพทย์จะซักถามประวัติผู้ป่วย ถามอาการ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยจะมีการตรวจหู ตรวจการเคลื่อนไหวของลูกตาในลักษณะต่างๆ ตรวจระบบการทรงตัวของร่างกาย หรือทดสอบการทำงานของอวัยวะการทรงตัวด้วยการเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้แพทย์อาจตรวจด้านอื่นเพิ่มเติมตามอาการ ดังนี้

1. ตรวจการได้ยิน การตรวจนี้จะตรวจสำหรับผู้ที่มีอาการหูอื้อ มีเสียงดังในหู หรือมีปัญหาการได้ยิน เพื่อวัดความสามารถของการได้ยินเสียง ซึ่งวิธีการตรวจมีหลายแบบ เช่น การวัดการได้ยินด้วยเครื่องทดสอบการได้ยิน (Audiometry Test) หรือการใช้ส้อมเสียง (Tuning Fork)

เวียนศีรษะบ้านหมุน

2. ตรวจการทำงานของอวัยวะทรงตัวของหูชั้นใน (Videonystagmography: VNG) เพื่อดูความผิดปกติของหูชั้นในและสมองส่วนกลางของผู้ป่วย โดยการดูการกระตุกของลูกตาผ่านทางแว่นตา ในระหว่างการทดสอบนี้ผู้ป่วยจะต้องสวมแว่นตาแบบพิเศษที่ติดกล้องเอาไว้ แพทย์จะให้ผู้ป่วยกลอกตาไปมาเพื่อบันทึกการเคลื่อนไหวของตา

3. ตรวจการทรงตัว (Posturography) เป็นการตรวจเพื่อประเมินการทำงานร่วมกันของการมองเห็น การได้ยิน และการรับรู้ตำแหน่งของร่างกาย ซึ่งทั้งสามส่วนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทรงตัว

4. ตรวจดูการทำงานเชื่อมต่อกันระหว่างหู ตา และสมอง (Caloric Testing) โดยการใช้น้ำอุ่น น้ำเย็น หรือลมเข้าไปกระตุ้นการทำงานของอวัยวะการทรงตัวในหู

5. การตรวจสมอง เพื่อหาสาเหตุของอาการบ้านหมุนด้วยวิธีต่างๆ เช่น การตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging) เพื่อค้นหาเนื้องอก หรือการเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ (CT scan)

การรักษาโรคเวียนศีรษะบ้านหมุน

วิธีการรักษาโรคเวียนศีรษะบ้านหมุนจะแตกต่างกันตามสาเหตุที่เกิด ในผู้ป่วยบางรายอาการอาจทุเลาลงโดยไม่ต้องรับการรักษา แต่บางรายก็มีอาการเรื้อรัง ซึ่งแพทย์จะพิจารณาการรักษาให้เหมาะสมด้วยวิธีต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. การรักษาด้วยยา เพื่อช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ วิงเวียน หรือรู้สึกเซจากการเคลื่อนไหวศีรษะ เช่น ยาไดเมนฮัยดริเนต (Dimenhydrinate) ยาซินนาริซีน (Cinnarizine) หรือยาเบตาฮีสทีน (Betahistine)  

2. การทำกายภาพบำบัด (Canalith Repositioning Maneuvers) สามารถทำได้ด้วยการขยับศีรษะและคอช้าๆ เพื่อช่วยเคลื่อนตะกอนหินปูนให้กลับเข้าที่เดิม วิธีนี้ถือเป็นวิธีที่ค่อนข้างปลอดภัย และได้ผลดี เหมาะสำหรับโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด (Benign Paroxysmal Positional Vertigo: BPPV)

3. การฟื้นฟูระบบการทรงตัว (Vestibular Rehabilitation) เป็นวิธีการทำกายภาพด้วยการบริหารร่างกายอย่างหลากหลายรูปแบบและเป็นระบบ ช่วยฟื้นฟูประสาทส่วนที่มีหน้าที่ในการควบคุมการทรงตัว เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการในช่วงสั้น ๆ เพื่อบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะให้ดีขึ้น

4. การผ่าตัด เป็นวิธีสุดท้ายที่จะใช้หากการรักษาด้วยยาและการทำกายภาพไม่ได้ผลดี ผู้ป่วยยังคงมีอาการรุนแรง หรือมีปัญหาจากสาเหตุอื่นๆ เช่น เนื้องอก การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะหรือคอ เป็นต้น

การป้องกันโรคเวียนศีรษะบ้านหมุน

การป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคเวียนศีรษะบ้านหมุน สามารถทำได้ด้วยวิธีการ ดังนี้

1. หมั่นดูแลตนเองให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอ และรู้จักปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวันที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคเวียนศีรษะบ้านหมุน

2.หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และน้ำอัดลม ซึ่งมีสารที่อาจทำให้เลือดไปเลี้ยงหูชั้นในได้น้อยลง   

3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

4. เคลื่อนไหวร่างกายอย่างระมัดระวัง ไม่รีบร้อนหรือรวดเร็วเกินไป

5. ระวังการลื่นล้ม หรือเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงกับศีรษะและสมอง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะที่ควบคุมระบบการทรงตัวภายในหูชั้นใน

6. ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีรสเค็มมากเกินไป เนื่องจากส่งผลให้มีน้ำคั่งในร่างกายและหูชั้นในมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนได้

คำแนะนำเมื่อเกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน

เมื่อใดก็ตามที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการวิงเวียนศีรษะควรนั่งพักหรือนอนบนพื้นราบ โดยให้ศีรษะยกขึ้นสูงเล็กน้อย ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ขับรถ ทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรกล หรือทำงานในที่สูง เป็นต้น ในบางรายที่มีปัญหาในการทรงตัวควรใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงในการเดิน จะช่วยลดความเสี่ยงในการล้มหรือเกิดอุบัติเหตุได้

หากผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะซึ่งมีสาเหตุมาจากโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด ไม่ควรเคลื่อนไหวศีรษะในลักษณะที่ผิดไปจากตำแหน่งปกติมากเกินไป เช่น การเอื้อมหยิบของในที่สูงหรือก้มต่ำ เพื่อลดการเคลื่อนไหวของตะกอนหินปูน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากขึ้น เช่น อาเจียนบ่อย ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ มีปัญหาการได้ยินร่วมกับอาการเวียนศีรษะ เดินเซ และไม่สามารถควบคุมการทรงตัวได้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง

สมุนไพรบรรเทาอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน

สมุนไพรไทยของเรานับว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก เพราะมักมีสรรพคุณทางยาที่น่าอัศจรรย์ และแน่นอนสำหรับโรคเวียนศีรษะบ้านหมุนสมุนไพรไทยของเราบางชนิดก็สามารถบรรเทาอาการได้ ซึ่งมีสูตรดังนี้

1. น้ำตะไคร้ สูตรนี้ให้ใช้ตะไคร้สดประมาณ 3 ต้น ล้างให้สะอาดแล้วซอยเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นนำไปต้มในน้ำประมาณ 1 ลิตร จนเดือด ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วกรอกใส่ขวด เก็บไว้จิบเรื่อยๆ

น้ำตะไคร้

2. ชาข่า สูตรนี้ให้ใช้ต้นและเหง้าสดของข่า ล้างให้สะอาดแล้วหั่นเป็นแว่นบางๆ นำไปตากแดดให้แห้งสนิท เมื่อจะดื่มให้นำข่าประมาณ 1 กำมือต้มกับน้ำ 1 ลิตร ดื่มแทนน้ำตลอดวัน

3. ชาย่านาง สูตรนี้ให้ใช้เถาและใบย่านางตากแห้งประมาณ 15 กรัม ต้มกับน้ำประมาณ 1 ลิตร เก็บไว้จิบ
แก้กระหายได้ตลอดเวลา

4. ชาต้นน้ำนมราชสีห์ สูตรนี้ให้ใช้ต้นน้ำนมราชสีห์พอประมาณ ล้างให้สะอาดแล้วนำไปตากแดดให้เหี่ยว จากนั้นเอามาตัดเป็นท่อนๆ แล้วนำไปตากแดดอีกครั้งจนแห้ง จากนั้นนำมาคั่วจนเหลือง เมื่อจะดื่มให้ใช้ต้นน้ำนมราชสีห์ประมาณ 1 หยิบมือ แล้วใส่น้ำร้อนชงดื่มเหมือนชาทั่วไป

รสชาติของสูตรสมุนไพรที่กล่าวมาอาจไม่ดีนัก หากดื่มยากแนะนำให้ดื่มตอนอุ่นๆ และเติมน้ำตาลได้เล็กน้อย ห้ามหวานโดยเด็ดขาด ให้ท่องไว้เสมอ “หวานเป็นลมขมเป็นยา” อยากหายก็ต้องทำได้

ได้ทราบถึง สาเหตุ อาการ วิธีรักษา วิธีป้องกัน โรคเวียนศีรษะ บ้านหมุน พร้อมกับสมุนไพรบรรเทาอาการบ้านหมุนกันไปแล้ว ก็อย่าลืมนำมาใช้ดูแลสุขภาพของตนเอง และคนที่คุณรักเพื่อสุขภาพดี ห่างไกลโรคบ้านหมุนกันด้วยนะค่ะ