free web tracker, fire_lady “โรคเหน็บชา” สาเหตุ-อาการจากการขาดวิตามินบี 1 อันตรายกว่าที่คิด!! • สุขภาพดี

โรคเหน็บชา” สาเหตุ-อาการ จากการขาดวิตามินบี 1 อันตรายกว่าที่คิด!!

โรคเหน็บชา อาการ สาเหตุ

หลายคนคงเคยได้ยินโรคนี้มาก่อนนั่นคือ “โรคเหน็บชา” แต่อย่าเพิ่งเข้าใจว่ามันคือ อาการชาตามขาหรือเท้าเวลานั่งนานๆ เพราะโรคเหน็บชาที่จะพูดถึงนี้คือ โรคเหน็บชา (Beriberi) ที่มีสาเหตุมาจากการขาดวิตามิน บี1 หรือไธอามีน (Thiamine) ซึ่งร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์เองได้ ต้องได้รับจากการรับประทานอาหารหรืออาหารเสริมเท่านั้น

วิตามินบี 1 เกี่ยวกับโรคเหน็บชาอย่างไร?

โดยวิตามินบี 1 มีหน้าที่ในการเร่งกระบวนการเผาผลาญอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เพื่อให้ได้น้ำตาลกลูโคสซึ่งร่างกายต้องนำไปใช้ในการทำงาน การเจริญเติบโตและการเหนี่ยวนำของกระแสประสาทในร่างกาย เพื่อให้ร่างกายสามารถทำงานได้เป็นปกติ นอกจากนั้นวิตามินบี 1 สามารถอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้เพียง 30 มิลลิกรัมเท่านั้น พบมากในกล้ามเนื้อและกระจายตัวอยู่ในสมอง หัวใจ ไต และตับ  ครึ่งชีวิตของวิตามินบี 1 จะอยู่ที่ประมาณ 9 - 18 วัน หลังจากนั้นจะถูกขับออกมาทางไต เมื่อร่างกายขาดวิตามินบี 1 จะทำให้เป็นเหน็บชา หอบเหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว และตับโต เป็นต้น

โรคเหน็บชาสามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่ซึ่งแม่มีภาวะขาดวิตามินบี 1 ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง และผู้ที่รับประทานปลาร้าและอาหารดิบ

สาเหตุของการเกิดโรคเหน็บชา

สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคเหน็บชาเป็นที่ทราบกันดีว่า คือ การรับประทานอาหารที่ขาดวิตามินบี 1 หรือภาวะที่ร่างกายขาดวิตามินบี 1 จะพบมากในคนที่นิยมบริโภคข้าวที่ขัดสีแล้วมากกว่าบริโภคข้าวซ้อมมือ รวมไปถึงปัจจัยอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดการขาดวิตามินบี 1 ได้แก่

1. ติดสุราเรื้อรัง เนื่องจากแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ลดการดูดซึมวิตามินบี 1 และเพิ่มการขับวิตามินบี 1 ออกจากร่างกาย ทำให้ร่างกายสะสมวิตามินบี 1 ไม่เพียงพอ

2. เหน็บชาจากกรรมพันธุ์

3. ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)

4. การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคอ้วน (Bariatric surgery)

5. โรคเอดส์ (AIDS)

6. ท้องเสียเป็นเวลานาน หรือการใช้ยาขับปัสสาวะ

7. ผู้ที่กำลังรับการรักษาด้วยการฟอกไต

8. ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารที่มีสารทำลายวิตามินบี 1 เช่น ปลาร้า ใบชา ใบเมี่ยง หมากพลู ปลาส้มดิบ และแหนมดิบ เป็นต้น

9. ผู้ที่ป่วยเป็นโรคตับเรื้อรัง เช่น ตับแข็ง

10. คนวัยฉกรรจ์ที่ต้องออกแรงหรือทำงานหนักๆ เช่น กรรมกร ชาวนา นักกีฬา ผู้ต้องขัง และชาวประมงที่ออกทะเลเป็นเวลานานๆ

11. ทารกที่รับประทานนมมารดาเพียงอย่างเดียว โดยที่มารดามีภาวะขาดวิตามินบี 1

12. หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่กำลังให้นมบุตร

13. ผู้ที่รับประทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลมาก แต่รับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 1 น้อย

อาการของโรคเหน็บชา

โรคเหน็บชาแบบนี้จะมีความแตกต่างจากอาการเหน็บชาที่พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เพราะโรคเหน็บชานี้เกิดจากการขาดวิตามินบี 1 โดยอาการสามารถเกิดขึ้นได้หลายแบบขึ้นอยู่กับอายุและอวัยวะที่ได้รับผลกระทบ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดคือ เหน็บชาในเด็ก (Infantile Beriberi) และเหน็บชาในผู้ใหญ่ (Adult Beriberi)

1. เหน็บชาในเด็ก มักจะพบบ่อยในทารกอายุ 2 - 3 เดือน ที่รับประทานนมแม่ที่มีภาวะขาดวิตามิน บี 1 หรือรับประทานอาหารที่ขาดวิตามิน บี 1 โดยมักมีอาการหน้าเขียว หอบเหนื่อย ตัวบวม ขาบวม หัวใจโต หัวใจเต้นเร็ว ร้องไห้เสียงแหบหรือไม่มีเสียง บางรายอาจมีอาการตากระตุก และหนังตาบนตก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 2 - 3 ชั่วโมงเท่านั้น

2. เหน็บชาในผู้ใหญ่ อาการที่เกิดขึ้นกับเด็กโตหรือผู้ใหญ่สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทย่อย ดังนี้

  • เหน็บชาชนิดผอมแห้ง (Dry Beriberi) ผู้ป่วยจะมีอาการชาแบบไม่บวมบริเวณปลายมือและปลายเท้า กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ไม่มีกำลัง อาจทดสอบได้โดยให้ผู้ป่วยนั่งยองๆ แล้วลุกขึ้นซึ่งผู้ป่วยจะทำไม่ได้ เจ็บปวด พูดไม่ชัด อาเจียน มีความผิดปกติทางจิตใจ ตาขยับเองโดยที่ไม่รู้ตัว และเป็นอัมพาตได้
  • เหน็บชาชนิดเปียก (Wet Beriberi) ผู้ป่วยจะมีอาการบวมร่วมกับอาการชาปลายมือปลายเท้า มีอาการบวม น้ำคั่งในช่องท้องและช่องปอด ขาส่วนล่างบวม หอบเหนื่อย หายใจตื้นขณะทำกิจกรรมต่างๆ หัวใจโตและเต้นเร็ว อาจทำให้หัวใจวายได้ในกรณีที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที
  • เหน็บชา Wernicke-Korsakoff Syndrome พบบ่อยในผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง จะมีอาการเคลื่อนไหวลูกตาได้น้อย เดินเซ มีความผิดปกติทางจิตใจ ผู้ที่มีอาการมากอาจทำให้เกิดอาการทางจิตที่เรียกว่า “Korsakoff's Psychosis”และอาจทำให้เกิดภาวะสมองขาดวิตามิน บี 1 ซึ่งเป็นภาวะที่สมองได้รับความเสียหายจากการขาดวิตามิน บี 1 ทำให้เกิดอาการ เช่น รู้สึกสับสัน สูญเสียความทรงจำ เดินเซ การประสานของกล้ามเนื้อบกพร่อง มีปัญหาในการมองเห็น ประสาทหลอน และถึงขั้นอาจเป็นโรคจิต (Psychosis) ได้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเหน็บชา

การที่ร่างกายของเราขาดวิตามินบี 1 อย่างรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงไปด้วย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับระบบประสาท สมอง กล้ามเนื้อ หัวใจ กระเพาะ และลำไส้ ทำให้เกิดภาวะหัวใจวายที่เกิดจากโรคเหน็บชา หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เสียชีวิตได้ โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphalaxis) อาจเกิดขึ้นจากการรักษาด้วยการให้อาหารทางหลอดเลือด นอกจากนี้ผู้ป่วยเหน็บชา Wernicke-Korsakoff Syndrome ในรายที่เป็นมากอาจทำให้มีอาการทางจิตที่เรียกว่า Korsakoff's Psychosis

การวินิจฉัยโรคเหน็บชา

ในเบื้องต้นการวินิจฉัยโรคเหน็บชาแพทย์จะตั้งข้อสงสัยหลักไปยังผู้ที่รับประทานอาหารแบบจำเพาะทำให้ขาดวิตามินบี 1 ผู้ป่วยที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง โดยแทย์จะใช้วิธีการตรวจวินิจฉัยดังต่อไปนี้

1. การตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะ เพื่อวัดระดับของวิตามินบี 1 ในร่างกาย หากร่างกายมีปัญหาในการดูดซึมวิตามินบี 1 มักมีระดับของวิตามินบี 1 ในเลือดต่ำ แต่ในปัสสาวะจะมีระดับวิตามินบี 1 อยู่มาก

2. การตรวจร่างกายทางระบบประสาท (Neurological Examination) จะช่วยทดสอบการประสานงานต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น การเดิน การขยับของตา และการตอบสนองของร่างกายนอกจากนั้น ผู้ป่วยโรคเหน็บชาในระยะที่รุนแรงที่มีอาการสูญเสียความทรงจำ สับสน หรือมีอาการหลงผิด จะสามารถตรวจพบได้ด้วยวิธีการนี้

3. การตรวจร่างกาย อาจช่วยให้ทราบหากผู้ป่วยมีความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ ขาส่วนล่างบวม หายใจติดขัด หรืออาจตรวจพบอาการหอบเหนื่อย ตัวเขียว หัวใจวาย หัวใจโต ใช้เครื่องฟังตรวจปอดแล้วมีเสียงกรอบแกรบ และตับโต เป็นต้น

วินิจฉัยโรคเหน็บชา

4. การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI) หรือซีทีสแกน (CT-Scan) เพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของสมองที่เกิดจากภาวะทางสมองขาดวิตามินบี 1

การรักษาโรคเหน็บชา

การรักษาโรคเหน็บชานั้น สำหรับในกรณีทั่วไปที่อาการไม่รุนแรงแพทย์จะให้วิตามินบี 1 แบบชนิดเม็ดแก่ผู้ป่วย เพื่อรับประทานเสริมอาหาร ส่วนในกรณีที่อาการรุนแรงอาจจำเป็นต้องให้วิตามินบี 1 ผ่านทางหลอดเลือดดำหรือฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อ โดยปริมาณและระยะเวลาในการให้วิตามินบี 1 ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ ดังนั้นผู้ป่วยจึงจะต้องได้รับการติดตามอาการหรือตรวจสอบการดูดซึมวิตามินบี 1 ของร่างกาย ด้วยวิธีการตรวจเลือด

การป้องกันการเกิดโรคเหน็บชา

การป้องกันการเกิดโรคเหน็บชาทำได้โดยการศึกษาสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคและวิธีป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรค นอกจากนั้นยังควรป้องกันการขาดวิตามินบี 1 ด้วยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 1 ได้แก่

1. ถั่วและธัญพืช ที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 1 เช่น ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว งา ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ จมูกข้าวสาลี และรำข้าว

2. ธัญพืชเต็มเมล็ดหรือโฮลเกรน (Whole Grains)

3. เนื้อวัว เนื้อปลา เนื้อหมูไม่ติดมัน ตับ ไต และไข่แดง

4. นมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น โยเกิร์ต

5. ผักบางชนิด เช่น หน่อไม้ฝรั่ง ฟักทอง กะหล่ำดาว ผักโขม เห็ด ส่วนผลไม้ เช่น แตงโม ส้ม เป็นต้น

ประโยชน์ของวิตามินบี1

นอกจากนี้ยังควรจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเหน็บชาให้น้อยลง เพราะแอลกอฮอล์มีผลต่อการดูดซึมวิตามินบี 1 ในร่างกาย ควรได้รับการตรวจภาวะขาดวิตามินบี 1 อย่างสม่ำเสมอ และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารทำลายวิตามินบี 1 เช่น ปลาร้า ใบชา ใบเมี่ยง หมากพลู ปลาส้มดิบ แหนมดิบ เป็นต้น เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ร่างกายของเราห่างไกลจากโรคเหน็บชาได้แล้ว