free web tracker, fire_lady “แอลคาร์นิทีน” ถ้าใช้อย่างพอดี มีประโยชน์ชัวร์ • สุขภาพดี

แอลคาร์นิทีน” ถ้าใช้อย่างพอดี มีประโยชน์ชัวร์

แอลคาร์นิทิน สรรพคุณ ประโยชน์

แอลคาร์นิทีน (L-carnitine) เป็นสารที่ร่างกายสามารถสร้างเองได้ที่ตับและไต จากกรดอะมิโนสองตัวที่มีชื่อว่า Lysine และ  Methionine ซึ่งร่างกายนำไปใช้ในกระบวนการดึงไขมันเข้าไปสร้างเป็นพลังงาน แอลคาร์นิทีนจึงมีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการสลายกรดไขมันในร่างกาย นอกจากนี้ร่างกายยังได้รับแอลคาร์นิทีนจากการรับประทานอาหารจำพวกกลุ่มเนื้อแดง ถั่ว และ อะโวคาโด

งานวิจัยของ The Journal of Sports Medicine and Physical Fitness ได้ศึกษาประสิทธิภาพของแอลคาร์นิทีนในผู้หญิงน้ำหนักมาก และติดตามผลที่ 8 สัปดาห์พบว่า ในกลุ่มหญิงที่มีการออกกำลังกายแบบแอโรบิคและรับประทานแอลคาร์นิทีนวันละ 2 กรัม สามารถลดการอักเสบในร่างกาย (hs-CRP) ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ในกลุ่มคนสูงอายุพบว่า มีปริมาณของกล้ามเนื้อมากขึ้นและไขมันลดลง ทั้งยังลดความอ่อนล้าของร่างกายได้

แอลคาร์นิทีนนับเป็นสารที่มีผลข้างเคียงต่อร่างกายน้อยมากและให้ประสิทธิภาพสูง หากใช้ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 40 - 50 นาทีขึ้นไป จะช่วยสลายไขมันได้ การทำงานของกล้ามเนื้อดีขึ้น
แต่ก็ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ

ประเภทของผลิตภัณฑ์เสริมแอลคาร์นิทีน (L-carnitine)

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เสริมแอลคาร์นิทีนได้รับความสนใจในวงกว้าง ซึ่งชนิดของแอลคาร์นิทีนที่นำมาใช้แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่

หน้าที่ การทำงานของแอลคาร์นิทิน

1. แอล - คาร์นิทีน (LC) ค่อนข้างนิยมใช้อย่างแพร่หลาย และราคาค่อนข้างไม่สูง
2. แอล - อะซิทิลคาร์นิทีน [L-acetylcarnitine (LAC)] เป็นรูปแบบเดียวที่ถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) และโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของสมองอื่นๆ
3. แอล - โพรพิโอนิลคาร์นิทีน [L-propionylcarnitine (LPC)] มีประสิทธิภาพ ใช้ได้ผลดีกับโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดตามแขนขา (Peripheral Vascular Disease-PVD) ที่มีสาเหตุมาจากเบาหวานหรือเส้นเลือดแข็ง

ภาวะการขาดแอลคาร์นิทีน (L-carnitine)

ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติอาจจะเกิดภาวะการขาดแอลคาร์นิทีนได้ เนื่องจากแอลคาร์นิทีนพบได้ในเนื้อสัตว์ นม และถั่วหมัก หรือผู้ป่วยบางรายที่มีปัญหาเกี่ยวกับการดูดซึมของระบบย่อยอาหาร รวมไปถึงผู้ป่วยที่ขาดแอลคาร์นิทีน ซึ่งอาจจะเกิดจากความผิดปกติของยีน ตับ หรือไต หรือรับประทานอาหารที่มีกรดอะมิโนไลซีนและเมไทโอนีนน้อย ก็จะมีอาการอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ เจ็บหน้าอก เจ็บกล้ามเนื้อ แขนขาล้าอ่อนแรง ความดันเลือดต่ำ และอาจจะมีอาการมึนงงสับสนร่วมด้วย

แอลคาร์นิทีน (L-carnitine) กับการลดน้ำหนัก

แม้ว่าแอลคาร์นิทีนจะขายเป็นอาหารเสริมลดน้ำหนัก แต่ไม่มีผลการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ว่าสามารถช่วยลดน้ำหนักได้จริง ผลการศึกษาบางตัวแสดงให้เห็นเพียงว่าการรับประทานคาร์นิทีนช่วยลดมวลไขมัน เพิ่มเป็นมวลกล้ามเนื้อ และลดความเมื่อยล้า ทั้งหมดนี้อาจเป็นการสนับสนุนให้ลดน้ำหนักได้โดยอ้อม นอกจากนี้การศึกษายังพบว่าแอลคาร์นิทีนมีส่วนช่วยในการลดความอ้วนจริง แต่น้อยมาก ถึงอย่างไรก็ตามแอลคาร์นิทีนก็เป็นสารที่ปลอดภัยและมีผลข้างเคียงต่อร่างกายน้อยมาก และให้ประสิทธิภาพสูงสุดหากใช้ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 40 - 50 นาทีขึ้นไป จึงจะลดน้ำหนักได้อย่างแท้จริง

แอลคาร์นิทีน (L-carnitine) กับการออกกำลังกาย

แอลคาร์นิทีนมีความสำคัญในการสร้างพลังงาน โดยเฉพาะจากกรดไขมันในเซลล์กล้ามเนื้อ และในการออกกำลังกายร่างกายต้องการพลังงาน โดยเฉพาะจากการเมตาบอลิซึม จากการศึกษาการรับประทานแอลคาร์นิทีน พบว่าการรับประทานแอลคาร์นิทีนเสริมครั้งเดียว ก่อนออกกำลังกาย 1 ชั่วโมง มีผลช่วยเพิ่มสมรรถนะของการออกกำลังกาย โดยยืดระยะเวลาที่จะเริ่มรู้สึกเหนื่อย เนื่องจากแอลคาร์นิทีน ช่วยลดปริมาณ lactate ขณะที่การรับประทานแอลคาร์นิทีนเสริมติดต่อกันในขนาด 2 กรัมต่อวันนาน 2 - 4 สัปดาห์ ไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่เสริมแอลคาร์นิทีนกับกลุ่มที่ไม่เสริม

แอลคาร์นิทีนอาจเป็นผลิตภัณฑ์เสริมที่ช่วยเพิ่มกำลังให้กับนักกีฬาประเภท endurance เนื่องจากในนักกีฬาที่มีการใช้งานคาร์นิทีนปริมาณมาก ทำให้มีคาร์นิทีนที่สะสมในกล้ามเนื้อลดลง เมื่อรับประทานคาร์นิทีนเสริมจะช่วยให้ระดับคาร์นิทีนในกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น จึงช่วยเพิ่มอัตราการเกิด fatty acid oxidation ในกล้ามเนื้อขณะที่ออกกำลังได้

ข้อควรระวังในการใช้แอลคาร์นิทีน (L-carnitine)

ใครก็ตามที่คิดจะซื้อแอลคาร์นิทีนมาใช้ควรต้องระวัง เพราะอาจจะมีผลข้างเคียงต่างๆ เกิดขึ้นกับร่างกายได้ และอาจจะเข้าทำปฏิกิริยากับยาอื่น ๆ ที่รับประทานร่วมกัน ดังนั้นในการใช้แต่ละครั้งควรต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของแพทย์จะปลอดภัยกว่า และแน่นอนว่าสารทุกอย่างมีทั้งประโยชน์และโทษในตัวเอง ขึ้นอยู่กับปริมาณและช่วงเวลาของการใช้ แต่ถึงแม้ว่าแอลคาร์นิทีนจะไม่ปรากฏผลข้างเคียงใดๆ ที่เด่นชัดมาก แต่ก็มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าถ้าเรารับประทานเข้าไปขนาด 5 กรัม (5000mg.) ต่อวัน หรือมากกว่านั้นอาจจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ และต้องไม่ลืมว่าเราได้แอลคาร์นิทีนจากอาหารประเภทเนื้อสัตว์และนมอยู่แล้วด้วย ซึ่งเราไม่สามารถทราบปริมาณที่แน่นอนได้ ส่วนอาการข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจจะพบได้บ้างก็เช่นมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น มีกลิ่นตัว และเกิดมีผื่นแดง ส่วนในนักกีฬาหรือคนที่กินแอลคาร์นิทีนเสริมสำหรับการเล่นกีฬาเพื่อช่วยในการสลายไขมันและช่วยทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อดีขึ้น ก็ควรจะต้องหยุดใช้เพื่อให้กล้ามเนื้อได้พักบ้างอย่างน้อยเดือนละ 1 อาทิตย์ คือไม่ควรใช้ต่อเนื่องติดต่อกันไปเป็นเวลานานๆ

ขนาดรับประทานแอลคาร์นิทีน (L-carnitine)

โดยปกติแล้วแอลคาร์นิทีน เป็นสารที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้เอง และพบได้ในอาหารหลายๆ ชนิด จากการทดสอบหาค่า Lathal dose (LD) ของแอลคาร์นิทีนในหนู พบว่ามีค่าเท่ากับ 8.9 - 9.1 กรัมต่อกิโลกรัม หรือเทียบเท่ากับขนาดในคน คือ 630 กรัม/วัน อย่างไรก็ตาม การรับประทานแอลคาร์นิทีนในขนาดมากกว่า 4 กรัม/วัน จะส่งผลให้เกิดอาการระคายเคืองในทางเดินอาหารได้ ดังนั้นปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน คือ 2 กรัม/วัน

"แอลคาร์นิทีน" เป็นสารหนึ่งที่มีประโยชน์ไม่น้อย แต่แน่นอนว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การเลือกใช้จึงต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวังและใช้อย่างเหมาะสม เพื่อการมีสุขภาพที่ดีอย่างยาวนาน