free web tracker, fire_lady “โรคกระดูกทับเส้น” ปล่อยไว้อาจรุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพาต!! • สุขภาพดี

โรคกระดูกทับเส้น” ปล่อยไว้อาจรุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพาต!!

โรคกระดูกทับเส้น สาเหตุ อาการ

โรคกระดูกทับเส้น” (Herniated Disc) คือปัญหาเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกที่เกิดจากหมอนรองกระดูกที่อยู่บริเวณกระดูกสันหลังถูกทำลายจนเสียหาย ทำให้ไปกดทับเส้นประสาท แนวกระดูกสันหลังจะประกอบด้วยกระดูกสันหลังจำนวน 30 ชิ้น เริ่มตั้งแต่กระดูกสันหลังส่วนคอ 7 ชิ้น กระดูกสันหลังส่วนกลาง 12 ชิ้น และกระดูกสันหลังส่วนล่างหรือเอวอีก 5 ชิ้น ซึ่งทั้ง 24 ชิ้นนี้จะเชื่อมกันด้วยเนื้อเยื่อแผ่นกลมเรียกว่า “หมอนรองกระดูก” ด้านในหมอนรองกระดูกจะมีลักษณะนุ่ม เหนียว ส่วนด้านนอกจะแข็ง หมอนรองกระดูกช่วยให้หลังมีความยืดหยุ่นขณะเคลื่อนไหวและปกป้องกระดูกจากกิจกรรมที่ทำ ส่วนกระดูกสันหลังชิ้นที่ 25 – 30 จะเชื่อมต่อยาวมาจนถึงบริเวณก้นกบเป็นเส้นเดียวกัน บริเวณนี้จะไม่มีหมอนรองกระดูกรองรับ

เมื่อได้รับบาดเจ็บหรือกระดูกเสื่อมมักส่งผลให้หมอนรองกระดูกแตก กระดูกอ่อนส่วนที่อยู่ภายในหมอนรองกระดูกจะโผล่ออกมา เมื่อหมอนรองกระดูกเคลื่อนมาทับเส้นจะทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดและไม่สบายตัว นอกจากนี้อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกชา อ่อนแรง หรือเจ็บบริเวณแนวเส้นประสาทที่ถูกกดทับ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงอาจต้องได้รับการผ่าตัด โดยส่วนใหญ่อาการกระดูกทับเส้นมักเกิดขึ้นบริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอว ซึ่งอยู่ระหว่างกระดูกสันหลังส่วนอกและกระดูกใต้กระเบนเหน็บ

สาเหตุของการเกิดโรคกระดูกทับเส้น

โรคกระดูกทับเส้นมักเกิดขึ้นเมื่อส่วนนอกของหมอนรองกระดูกแตก ทำให้กระดูกอ่อนที่อยู่ข้างในโผล่ออกมาและไปกดทับเส้นประสาท ส่วนสาเหตุที่ทำให้หมอนรองกระดูกแตกนั้นเกิดจากภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมเมื่ออายุมากขึ้น หมอนรองกระดูกสูญเสียมวลน้ำส่งผลให้ขาดความยืดหยุ่น แต่โดยทั่วไปก็ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุของการเกิดกระดูกทับเส้นได้อย่างชัดเจน แต่อาจมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ดังนี้

วิธีรักษากระดูกทับเส้น

1. น้ำหนักตัวมากเกินไป เพราะจะทำให้กระดูกสันหลังบริเวณหลังส่วนล่างต้องแบกรับน้ำหนักอยู่ตลอดเวลา
2. แบกของหนัก เนื่องจากต้องใช้กล้ามเนื้อหลังแทนกล้ามเนื้อขา ซึ่งทำให้กระดูกบิดและเคลื่อนได้
3. พันธุกรรม
4. ประสบอุบัติเหตุ เช่น ตกจากที่สูง หรือได้รับการกระทบกระเทือนบริเวณหลัง แต่สาเหตุนี้พบได้ไม่บ่อยนัก
5. สูบบุหรี่ เพราะส่งผลให้หมอนรองกระดูกสูญเสียความยืดหยุ่น

อาการของโรคกระดูกทับเส้น

โรคกระดูกทับเส้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนตามแนวกระดูกสันหลัง ซึ่งกระดูกสันหลังส่วนล่างเป็นบริเวณที่เกิดได้บ่อยที่สุด โดยผู้ป่วยมักมีอาการ ดังนี้

1. เจ็บปวดบริเวณที่ถูกกดทับ อาการเจ็บปวดนี้มักกำเริบเมื่อเกิดการกดทับบริเวณเส้นประสาท โดยจะมีอาการเมื่อไอ หรือจาม หากหมอนรองกระดูกทับเส้นที่คอผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บมากบริเวณไหล่และแขน หากเกิดขึ้นบริเวณเส้นประสาทไซอาติก (Sciatic Nerve) ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่เริ่มตั้งแต่ด้านหลังบริเวณเชิงกรานลงไปถึงเท้าทั้งสองข้าง ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บตั้งแต่ก้นลามไปถึงเท้า นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดร้าวขาเมื่อต้องเดินในระยะทางสั้น ๆ และมีอาการแย่ลงเมื่อยืน นั่ง และเคลื่อนไหวในบางท่า หรือมีอาการแย่ในช่วงตอนกลางคืน

2. รู้สึกชาหรือเสียวปลาบ ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย รวมทั้งปวดหรือรู้สึกแสบร้อนบริเวณที่เส้นประสาทถูกกดทับ

3. กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยมักจะสะดุดหรือล้มบ่อย หยิบหรือถือของไม่ถนัด หากมีอาการรุนแรงอาจไม่สามารถยกหรือถือของได้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคกระดูกทับเส้น

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เส้นประสาทถูกทำลายถาวรได้ โดยทั่วไปแล้ว ไขสันหลังไม่ได้มีเพียงเส้นเดียว นับตั้งแต่เอวลงไปจะมีไขสันหลังที่แตกออกเป็นหลายเส้นคล้ายหางม้า จึงเรียกว่า รากประสาทหางม้า (Cauda Equina) หากรากประสาทหางม้าถูกกระดูกกดทับควรได้รับการผ่าตัดฉุกเฉินเพื่อป้องกันการเกิดอัมพาตถาวร ดังนั้นผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการต่อไปนี้

สาเหตุ อาการของโรคกระดูกทับเส้น

1. อาการป่วยแย่ลง จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
2. ระบบขับถ่ายเบาทำงานผิดปกติ
3. รู้สึกชาบริเวณรอบทวารหนัก ผู้ป่วยจะสูญเสียการรับรู้ทางสัมผัส โดยเฉพาะทวารหนัก ต้นขาด้านใน ด้านหลังของขา และบริเวณรอบๆ ลำไส้ตรง

การวินิจฉัยโรคกระดูกทับเส้น

การวินิจฉัยโรคกระดูกทับเส้นเบื้องต้นจะทำการตรวจด้วยวิธีการ 2 วิธี คือ

1. การตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อดูท่าทาง กำลัง การตอบสนองของกล้ามเนื้อ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ประสิทธิภาพการเดิน และประสาทสัมผัสของแขนและขา

วินิจฉัยโรคกระดูกทับเส้น

2. การตรวจเส้นประสาท แพทย์จะตรวจดูว่าเส้นประสาทบริเวณคอถูกกดทับหรือไม่ โดยจะให้ผู้ป่วยก้มหัวไปข้างหน้าและเอียงข้าง จากนั้นแพทย์จะกดศีรษะของผู้ป่วยหากรู้สึกเจ็บหรือชามากขึ้น มีแนวโน้มว่ากระดูกกำลังกดทับเส้นประสาทที่คอ นอกจากนี้แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกขาขึ้นแล้วให้ลองขยับขาตามขั้นตอนการตรวจ ทั้งนี้การตรวจด้วยวิธีนี้จะช่วยยืดเส้นประสาทของกระดูกสันหลัง หากหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บ ชา หรือเสียวปลาบ

โดยปกติแพทย์จะไม่ตรวจเพิ่มเติม และอาการกระดูกทับเส้นจะดีขึ้นเองภายใน 1 - 3 เดือน แต่หากเจ็บปวดมากขึ้นหรือไม่ดีขึ้นหลังจาก 3 เดือน ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม โดยแพทย์จะตรวจวินิจฉัยประสิทธิภาพการทำงานของเส้นประสาท เพื่อประกอบการตัดสินใจในการผ่าตัด ซึ่งวิธีการตรวจอื่นๆ ได้แก่

1. การเอกซเรย์ จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยความผิดปกติจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อ เนื้องอก กระดูกหัก และดูการเรียงตัวของกระดูกสันหลัง

2. ซีทีสแกน เพื่อตรวจดูโครงสร้างของแนวกระดูกสันหลังและโครงสร้างกระดูกอื่น ๆ

3. เอ็มอาร์ไอ โดยจะสแกนด้วยคลื่นวิทยุและสนามแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อประมวลภาพออกมา ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ระบุบริเวณที่เกิดกระดูกทับเส้นได้ชัดเจนขึ้น

4. การฉีดสีเพื่อตรวจระบบไขสันหลัง (Myelogram) แพทย์จะฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในน้ำไขสันหลัง เพื่อให้ได้ภาพสแกนของอวัยวะภายใน

5. การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ วิธีนี้จะช่วยประเมินการนำและการส่งผ่านกระแสประสาทของเส้นประสาทที่คาดว่าผิดปกติ โดยแพทย์จะวางขั้วไฟฟ้าไว้บนผิวของผู้ป่วย แล้วปล่อยคลื่นไฟฟ้าไปกระตุ้นเส้นประสาททำให้วัดความเร็วและความแข็งแรงของสัญญาณประสาทได้

การรักษาโรคกระดูกทับเส้น

โดยปกติแล้วอาการกระดูกทับเส้นจะค่อยๆ ดีขึ้น หากผู้ป่วยได้พักผ่อน ออกกำลังกาย และรับประทานยาบรรเทาอาการของโรค ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 - 3 เดือน แต่ทั้งนี้วิธีการรักษากระดูกทับเส้นก็มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ซึ่งแบ่งประเภทได้ ดังนี้

1. การรักษาด้วยยา ประกอบด้วย

  • ยาแก้ปวด ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังเพียงเล็กน้อยถึงปานกลางสามารถใช้ยาไอบูโพรเฟน หรือยานาพรอกเซนได้
  • ยาแก้ปวดชนิดเสพติด (Narcotics) หากผู้ป่วยรับประทานยาแก้ปวดทั่วไปแล้วอาการไม่ทุเลาลง แพทย์อาจให้รับประทานยาโคเดอีน หรือยาพาราเซตามอลที่ผสมสารสังเคราะห์ออกซิโคโดน โดยจะให้ผู้ป่วยรับประทานเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ซึ่งผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียง เช่น ง่วง คลื่นไส้ มึนงง และท้องผูก
  • ยาระงับอาการปวดที่เส้นประสาท หากผู้ป่วยรู้สึกปวดที่ขา สะโพก หรือก้น แพทย์จะให้ยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์แรงขึ้น ได้แก่ ยาในกลุ่มยารักษาอาการซึมเศร้าและยากันชัก โดยยาในกลุ่มรักษาอาการซึมเศร้าจะช่วยบรรเทาอาการปวดเส้นประสาท ส่วนยากันชักช่วยรักษาอาการปวดเส้นประสาทที่เกี่ยวกับกระดูกทับเส้น ยาทั้งสองตัวนี้ไม่สามารถใช้รักษาผู้ป่วยกระดูกทับเส้นได้ทุกราย โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องรักษาระยะยาว
  • ยาคลายกล้ามเนื้อ แพทย์จะให้ยานี้แก่ผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง โดยรับประทานยานี้ประมาณ 2 - 3 วันเท่านั้น
  • สเตียรอยด์รักษาอาการปวดจากเส้นประสาท ผู้ป่วยที่ปวดเส้นประสาทไซอาติก
    แพทย์จะฉีดสารคอร์ติโคสเตียรอยด์เข้าไปบริเวณหลังส่วนล่างหรือบริเวณเส้นประสาทไขสันหลัง
    อาจมีการสแกนภาพไขสันหลังเพื่อช่วยให้ฉีดยาได้อย่างปลอดภัย ซึ่งอาการปวดจะทุเลาลงช่วงหนึ่ง และไม่ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เต็มที่นัก

2. กายภาพบำบัด กายภาพบำบัดจะช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีขึ้น แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยที่อาการไม่ดีขึ้น ทำกายภาพบำบัด โดยนักกายภาพบำบัดจะใช้เทคนิคอย่างการนวดหรือดัดข้อต่อ รวมทั้งแนะนำแผนการออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้มากขึ้น อาการปวดทุเลาลง และป้องกันการได้รับบาดเจ็บที่หลัง

3. การผ่าตัดหมอนรองกระดูก แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยผ่าตัดหากการรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล โดยแพทย์จะผ่าตัดเพื่อนำหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนและกดทับเส้นประสาทออกไป ซึ่งมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับความเหมาะสม โดยส่วนใหญ่การผ่าตัดจะช่วยลดอาการเจ็บปวดที่ขาแต่ไม่ช่วยลดอาการเจ็บหลัง ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติหลังจากพักฟื้นประมาณ 2 - 8 สัปดาห์ ซึ่งขึ้นอยู่กับกระบวนการผ่าตัดและประเภทของงานที่ทำ

การผ่าตัดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ โดยผู้ป่วยอาจติดเชื้อ เส้นประสาทถูกทำลาย เป็นอัมพาต เลือดออกมาก ควบคุมการทำงานของระบบขับถ่ายหนักและเบาไม่ได้ รวมทั้งระบบประสาทสัมผัสรับความรู้สึกทำงานผิดปกติชั่วขณะ ดังนั้นผู้ป่วยควรปรึกษาศัลยแพทย์ก่อนรับการผ่าตัด

4. การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น ไคโรแพรกทิค (Chiropractic) วิธีนี้เป็นการจัดกระดูกสันหลังที่ช่วยรักษาอาการปวดบริเวณหลังส่วนล่าง การฝังเข็มเพื่อช่วยลดอาการปวดหลังและปวดคอเรื้อรัง การนวดเพื่อลดอาการปวดหลังเรื้อรัง แต่วิธีนี้จะช่วยบำบัดอาการได้ในระยะสั้นๆ เท่านั้น

5. โยคะ วิธีนี้เป็นวิธีบำบัดที่รวมการเคลื่อนไหวร่างกาย การกำหนดลมหายใจ และการทำสมาธิเข้าด้วยกัน จะช่วยให้ระบบการทำงานของร่างกายดีขึ้น

โยคะแก้โรคกระดูกทับเส้น

การป้องกันโรคกระดูกทับเส้น

โรคกระดูกทับเส้นสามารถป้องกันได้ โดยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ปวดหลังและทำให้หมอนรองกระดูกเคลื่อนจนกดทับเส้นประสาท โดยมีแนวทางการดูแลและป้องกันกระดูกทับเส้น ดังนี้

วิธีการดูแลเมื่อมีอาการกระดูกทับเส้น

1. รับประทานยาระงับปวด เช่น ยาไอบูโพรเฟน และยาพรอกนาเซน

2. ประคบร้อนหรือประคบเย็น โดยจะประคบเย็นก่อน หลังจากนั้นประมาณ 2 - 3 วัน จึงประคบร้อน

3. หลีกเลี่ยงการนอนติดเตียง เนื่องจากจะทำให้เกิดอาการข้อติดแข็งและกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยควรเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 30 นาที ทั้งนี้ผู้ป่วยควรเลือกที่นอนและหมอนที่ช่วยรองรับแนวกระดูกสันหลังและกระดูกคอของตัวเอง

วิธีป้องกันการเกิดกระดูกทับเส้น

1. ออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรงและยืดหยุ่น ผู้ป่วยกระดูกทับเส้นที่กำลังพักฟื้นควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องลงน้ำหนักหรือรับแรงกระแทกมาก

2. จัดท่าทางของร่างกายให้เหมาะ จะช่วยลดแรงกดทับที่กระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูก

3. ควบคุมน้ำหนักของตนเอง หากควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานจะช่วยลดแรงกดทับของกระดูกได้

4. งดการสูบบุหรี่ เพราะทำให้หมอนรองกระดูกสูญเสียความยืดหยุ่นและเสื่อมเร็วกว่าปกติ

สำหรับผู้ที่มีปัญหาโรคกระดูกทับเส้น เมื่อรู้ถึงสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา กันไปแล้ว อย่าลืมนำไปปฎิบัติตาม อย่าทนทุกข์ทรมานกับโรคที่มีทางแก้ไขอย่าง "กระดูกทับเส้น" นะค่ะ