free web tracker, fire_lady “โรคตาขี้เกียจ” รู้สาเหตุ-อาการ รีบรักษา ก่อนสายเกินแก้!! • สุขภาพดี

โรคตาขี้เกียจ” รู้สาเหตุ-อาการ รีบรักษา ก่อนสายเกินแก้!!

โรคตาขี้เกียจ สาเหตุ อาการ

คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกที่เวลาเราทำอะไรนานๆ บ่อยๆ ทำให้เราเกิดความเหนื่อยล้าจนกลายเป็น “ความขี้เกียจ” ในที่สุด เรารู้สึกขี้เกียจได้ อวัยวะของเราก็ขี้เกียจได้เหมือนกัน เพราะอวัยวะทุกส่วนก็ล้วนต้องทำงานหนักและพบกับปัญหา วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับโรคชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “โรคตาขี้เกียจ” ส่วนโรคนี้จะเป็นอย่างไร ตาจะขี้เกียจแบบไหน สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาโรคตาขี้เกียจต้องทำอย่างไร เราไปรู้กันเลยดีกว่า

โรคตาขี้เกียจ คือ?

ตาขี้เกียจ” (Amblyopia/Lazy Eye) คือ โรคทางสายตาที่ทำให้ดวงตามองเห็นภาพไม่ชัดเจน หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะส่งผลให้การมองเห็นลดลงและตาบอดถาวรได้ในอนาคต ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับดวงตาข้างเดียว หรือบางรายอาจพบได้ทั้ง 2 ข้าง ซึ่งโรคนี้มักจะปรากฏในเด็กอายุไม่เกิน 7 ปี เนื่องจากเป็นช่วงที่มีพัฒนาการทางด้านการมองเห็น

สาเหตุของโรคตาขี้เกียจ

โรคตาขี้เกียจอาจเป็นผลมาจากภาวะใดๆ ก็ได้ที่มาบดบังการมองเห็นของดวงตา ทำให้พัฒนาการทางสายตาแย่ลงจนมองเห็นได้ไม่ชัดเจน หรือพูดง่ายๆ ว่า ตาขี้เกียจทำงานนั่นเอง ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

1. ตาเขหรือตาเหล่ (Strabismus) เป็นปัญหาทางสายตาที่ทำให้เกิดตาขี้เกียจในเด็กได้บ่อยครั้ง เพราะดวงตาทั้ง 2 ข้างทำงานไม่ประสานกัน ทำให้มองเห็นเป็นภาพซ้อน ผู้ที่มีอาการตาเขหรือตาเหล่จึงเลือกใช้ดวงตาข้างที่มองตรง เพื่อหลีกเลี่ยงการมองเห็นภาพซ้อนกัน ทำให้ดวงตาอีกข้างไม่พัฒนาไปตามปกติ สุดท้ายกล้ามเนื้อตาข้างที่มีปัญหาจึงไม่ได้ใช้งาน การมองเห็นลดลงทำให้มองเห็นภาพไม่ชัดเจน

2. ภาวะสายตาผิดปกติที่ต่างกันมาก (Refractive Errors) ผู้ที่มีสายตายาว สายตาสั้น หรือสายตาเอียง โดยทั่วไปคนที่มีปัญหาทางด้านสายตาเหล่านี้มักจะเป็นเหมือนกันทั้ง 2 ข้างและมีค่าสายตาใกล้เคียงกัน แต่ในบางรายอาจมีค่าสายตาทั้ง 2 ข้างต่างกันมาก ซึ่งมีโอกาสเกิดตาขี้เกียจได้สูง เพราะแสงที่ผ่านเข้าเลนส์ตาไม่เท่ากัน ทำให้สมองตอบสนองกับดวงตาข้างที่รับแสงได้ดีกว่า ดวงตาอีกข้างจึงไม่ค่อยได้ใช้งานและมีพัฒนาการน้อยกว่าอีกข้าง

3. ความผิดปกติที่ทำให้เกิดความมัวในตา (Stimulus Deprivation Amblyopia) เป็นความผิดปกติที่เกิดจากการมีสิ่งกีดขวางการมองเห็นของดวงตา ทำให้การรวมแสงไม่ตกบนจอตา จึงทำให้มองเห็นภาพไม่ชัด เช่น เป็นต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด ซึ่งเลนส์แก้วตาจะเริ่มขุ่นมัวจนบดบังการมองเห็น หรือบางรายอาจพบว่าเกิดจากโรคที่ทำให้หนังตาตกหรือเปลือกตาตกจนไปขัดขวางการมองเห็น

อาการของโรคตาขี้เกียจ

โรคตาขี้เกียจนี้จะสังเกตได้ยาก เพราะไม่ค่อยปรากฏอาการ ที่สำคัญโรคนี้มักพบในเด็ก และตัวเด็กเองก็อาจแยกไม่ออกว่าเกิดอาการกับดวงตาข้างใด ยกเว้นในกรณีที่มองเห็นความผิดปกติของดวงตาได้ชัดเจน และผู้ป่วยมักมีอาการ ดังนี้

1. การมองเห็นของดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้างแย่ลง
2. มีอาการตาเหล่ ต้องเอียงศีรษะหรือปิดตาไว้ข้างหนึ่งเพื่อให้มองเห็นได้ชัด
3. การกะระยะหรือวัดความห่างระหว่างสิ่งต่าง ๆ ทำได้ยาก
4. ดวงตาเบนเข้าด้านในหรือเบนออกด้านนอก
5. มีอาการปวดศีรษะ

โดยพ่อแม่อาจเริ่มสังเกตอาการของเด็กได้ตั้งแต่หลังคลอดเพียงไม่กี่สัปดาห์ และจำเป็นต้องอาศัยการตรวจสายตาอย่างละเอียดเป็นหลัก เพราะการตรวจพบโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เด็กบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้มากกว่าปกติเมื่อมีปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้น

วิธีรักษาโรคตาขี้เกียจ
  • เด็กที่มีตาเหล่หรือตาเข
  • เด็กที่มีสายตาสั้นหรือสายตายาวอย่างรุนแรงทั้ง 2 ข้าง
  • เด็กที่มีสายตา 2 ข้าง ไม่เท่ากัน
  • เด็กที่มีสภาวะบางอย่างที่ทำให้แสงเข้าตาได้ไม่ปกติ เช่น เป็นต้อกระจก หนังตาตก เป็นต้น
  • เด็กที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคตาขี้เกียจ ตาเขหรือตาเหล่
  • เด็กที่คลอดก่อนกำหนดหรือคลอดออกมาน้ำหนักตัวน้อย
  • เด็กที่มีความผิดปกติด้านพัฒนาการ

ภาวะแทรกซ้อนของโรคตาขี้เกียจ 

เมื่อใดก็ตามที่ผู้ป่วยเป็นโรคตาขี้เกียจไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมและทันเวลา อาจส่งผลให้ความสามารถในการมองเห็นลดลงไปจนอาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร

การวินิจฉัยโรคตาขี้เกียจ

โดยปกติแล้วแพทย์จะวินิจฉัยโรคตาขี้เกียจด้วยการตรวจตาอย่างละเอียดและวัดสายตา เพื่อดูว่ามีสิ่งบดบังแสงเข้าสู่ตาหรือไม่ การมองเห็นของตาทั้ง 2 ข้าง และการเคลื่อนไหวของดวงตา หากเป็นเด็กที่มีอาการตาเหล่หรือตาเขต้องได้รับการตรวจจากจักษุแพทย์เด็กที่มีความเชี่ยวชาญ และช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ยังมีการตรวจด้านอื่นๆ เพิ่มเติมในกรณีที่พบว่าผลการตรวจสายตาเป็นปกติ แต่ยังสงสัยว่าอาจมีโรคอื่น ๆ ซ่อนอยู่ จะมีวิธีการตรวจ เช่น ซีที สแกน (CT Scan) เอ็มอาร์ไอ (MRI) การตรวจหาจุดรั่วด้วยการฉีดสีฟลูออเรสซีน (Fluorescein Angiography) เพื่อดูความผิดปกติของจอประสาทตา การตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiology Study) และการถ่ายภาพของจอประสาทตา (Spectral-Domain Optical Coherence Tomography: SD-OCT)

การรักษาโรคตาขี้เกียจ

โรคตาขี้เกียจเป็นโรคที่พบได้ตั้งแต่ในวัยเด็กจึงมีโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้มากกว่าเมื่อพบในวัยผู้ใหญ่ ดังนั้นการรักษาก่อนอายุ 7 ปี จะได้ผลดีมากที่สุด แต่เมื่อผ่านช่วงอายุ 7 - 9 ปีขึ้นไป การรักษาอาจทำได้ยากมากขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วงอายุไม่เกิน 17 ปี การตอบสนองต่อการรักษาถือว่ายังเป็นไปได้ค่อนข้างดี

แนวทางในการรักษาจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ป่วยใช้งานดวงตาข้างที่กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง เพื่อช่วยให้สมองทำงานประสานกับดวงตาข้างนี้ให้มากขึ้น และรักษาความผิดปกติของสายตาที่เป็นต้นเหตุในการเกิดโรคตาขี้เกียจ โดยอาจใช้หลายวิธีควบคู่กัน ดังนี้

1. สวมแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสายตาที่มีความต่างระหว่างสายตาทั้ง 2 ข้างมาก ทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนและสมองจะทำงานประสานกับดวงตาข้างที่อ่อนแอมากขึ้น เพื่อพัฒนาสายตาทั้ง 2 ข้างให้ทำงานเท่ากันและเป็นปกติ

2. ใส่ที่ครอบตา โดยแพทย์จะให้สวมที่ครอบตากับดวงตาข้างที่ใช้งานบ่อยเป็นระยะเวลาประมาณ 2 - 6 ชั่วโมงต่อวันในช่วงเวลาที่มีการใช้งานดวงตา โดยอาจต้องสวมไว้ติดต่อกันนานเป็นสัปดาห์ไปจนถึงเป็นปีแล้วแต่กรณี

3. ใช้ยาหยอดตา เราจะใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนประกอบของสารอะโทรปีน หยอดลงในตาข้างที่แข็งแรง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อทำให้เกิดอาการมัวชั่วคราวและกระตุ้นให้ดวงตาข้างที่อ่อนแอใช้งานมากขึ้น แต่อาจส่งผลให้ดวงตามีความไวต่อแสง

4. การผ่าตัด วิธีการักษาแบบนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีสาเหตุตาขี้เกียจมาจากอาการตาเข ตาเหล่ หรือหนังตาตก แต่การรักษาในวิธีนี้ไม่ได้ช่วยให้ตำแหน่งของสายตากลับมาเป็นปกติ โดยแพทย์อาจแนะนำให้มีการผ่าตัดกล้ามเนื้อดวงตาเพื่อให้ทำงานได้เป็นปกติมากขึ้น

ระยะเวลาในการรักษาของแต่ละคนนั้นอาจแตกต่างกันออกไป เช่น บางคนใช้เวลาหลายสัปดาห์ บางคนใช้เวลาเป็นปี แต่โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 6 เดือนถึง 2 ปี นอกจากนี้หลังการรักษาเสร็จสิ้นอาจต้องมีการตรวจดูอาการอยู่เป็นระยะ ๆ เพราะอาจมีโอกาสกลับมาเป็นได้อีกประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ และต้องเข้ารับการรักษาแบบเดิมซ้ำจนกว่าอาการจะดีขึ้น

โรคตาขี้เกียจในผู้ใหญ่

โรคตาขี้เกียจในผู้ใหญ่สามารถเกิดขึ้นได้เนื่องจากการที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องในช่วงวัยเด็ก ทำให้มองเห็นไม่ชัดเมื่อโตขึ้น และยังไม่มีผลการศึกษาใดสรุปว่าโรคตาขี้เกียจในผู้ใหญ่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ในปี 2008 มหาวิทยาลัย University Of Southern California ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการรักษาอาการโรคตาขี้เกียจในผู้ใหญ่และได้เปิดเผยไว้ในเว็บไซต์ ScienceDaily 

โรคตาขี้เกียจในผู้ใหญ่

จากการศึกษาและทดลองรักษาโรคนี้กับหนูทดลองในวัยเจริญเติบโตซึ่งมีอาการตาขี้เกียจ ด้วยวิธีการกระตุ้นให้ตาข้างที่มีปัญหากลับมาทำงานให้มากขึ้น พบว่าภายใน 2 สัปดาห์ ตาของหนูก็สามารถกลับมาทำงานได้อย่างเป็นปกติ และเมื่อเทียบอายุของหนูกับคนพบว่าจะเท่ากับคนที่มีอายุประมาณ 20 ปี ดังนั้นการทดลองนี้จึงเป็นแสงสว่างให้กับผู้ใหญ่ที่ป่วยโรคตาขี้เกียจว่าอาจจะมีโอกาสรักษาให้หายได้ แต่ทางที่ดีหากผู้ปกครองสงสัยหรือรู้ว่าบุตรหลานของท่านอาจป่วยเป็นโรคตาขี้เกียจก็ควรรีบพาไปรักษา อย่าปล่อยไว้จนถึงไว้ผู้ใหญ่ เพราะอาการจะยิ่งรุนแรงและไม่สามารถยืนยันได้ด้วยว่าจะสามารถรักษาให้หายได้หรือไม่

การป้องกันการเกิดโรคตาขี้เกียจ

โดยปกติแล้วเด็กทุกคนมีโอกาสในการเกิดโรคตาขี้เกียจโดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ดังนั้นพ่อแม่ควรหมั่นสังเกตอาการของลูกและพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพของเด็กอย่างสม่ำเสมอ ส่วนเด็กที่อยู่ในช่วงวัยก่อนเข้าเรียนหรืออายุประมาณ 3 - 4 ปี ควรตรวจวัดสายตาเป็นประจำ เพราะหากตรวจพบโรคในระยะแรกๆ ก็สามารถรักษาได้ทันท่วงทีและมีโอกาสหายได้อย่างแน่นอน

ได้รู้ทั้ง สาเหตุ อาการ วิธีรักษา ป้องกันโรคตาขึ้เกียจกันไปแล้ว หวังว่าเราทุกคน รวมถึงน้องๆ หนูๆ จะห่างไกลจากโรคตาขี้เกียจกันนะค่ะ ขอให้มีสุขภาพดวงตาที่สดใส แข็งแรงกันทุกคนค่ะ