free web tracker, fire_lady “โรคจอประสาทตาเสื่อม” รู้สาเหตุ-อาการ-วิธีรักษา ภัยร้ายของคนสูงวัย • สุขภาพดี

โรคจอประสาทตาเสื่อม” รู้สาเหตุ-อาการ-วิธีรักษา ภัยร้ายของคนสูงวัย

โรคจอประสาทตาเสื่อม สาเหตุ อาการ

หลายคนอาจเคยได้ยินโรคๆ หนึ่งที่เรียกว่า “โรคจอประสาทตาเสื่อม” แต่อาจยังไม่รู้รายละเอียดมากพอ ว่าโรคนี้เกิดจากสาเหตุใด มีอาการอย่างไร และต้องทำการรักษาด้วยวิธีใดบ้าง ดังนั้นวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับโรคจอประสาทตาเสื่อมกันให้มากขึ้น

โรคจอประสาทตาเสื่อม คือ?

ก่อนอื่นเราต้องรู้จักกับสิ่งนี้ก่อนนั่นคือ “จุดภาพชัด” (Macula) เป็นจุดที่อยู่ตรงกลางของจอตา (Retina) มีเซลล์ประสาทรับรู้แสงและสี (Cones) จำนวนมาก จึงทำให้เราสามารถมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน แต่ในผู้สูงอายุอาจเกิดภาวะเสื่อมของจุดภาพชัดนี้ได้ ซึ่งก่อให้เกิดโรคที่เราเรียกกันได้หลายอย่างว่า “โรคจุดภาพชัดเสื่อมตามวัย” , “โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม” , “โรคจอตาเสื่อม” หรือที่นิยมเรียกกันว่า “โรคจอประสาทตาเสื่อม” ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของจอประสาทตาในบริเวณจุดภาพชัดทำให้ผู้ป่วยมีสายตาเลือนรางหรือตาบอดได้ ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจเกิดการเสื่อมของจอประสาทตาขึ้นอย่างช้าๆ จนไม่ทันได้สังเกตหรือไม่รู้สึกว่าผิดปกติ แต่ในขณะที่บางรายอาจเกิดการเสื่อมของจอประสาทตาอย่างรวดเร็ว

โรคจอประสาทตาเสื่อม (AMD) เป็นโรคที่พบได้ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และมีการประเมินว่า โรคจอประสาทตาเสื่อมเป็นสาเหตุที่ทำให้ตาบอดได้มากกว่าครึ่ง (54%) โดยโรคจอประสาทตาเสื่อม คือ ภาวะที่นำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นซึ่งพบได้มากในผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

สาเหตุของโรคจอประสาทตาเสื่อม

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โรคจอประสาทตาเสื่อมนี้เป็นไปตามวัย ดังนั้นเรื่องของอายุการใช้งานจึงมีผลมากที่ทำให้จอประสาทตามีความเสื่อม แต่ทั้งนี้จอประสาทตาแต่ละชนิดก็มีสาเหตุในการเกิดที่แตกต่างกัน ดังนี้

สาเหตุโรคจอประสาทตาเสื่อม
  • จอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง เกิดจากเซลล์รับแสงในจุดรับภาพเสื่อมสภาพลงตามวัยที่เพิ่มขึ้น มีของเสียสะสมอยู่ในจอประสาทตาซึ่งเรียกว่า “ดรูเซ่น” และเซลล์รับแสงในจุดรับภาพมีจำนวนน้อยลง การมองเห็นบริเวณกลางภาพแย่ลง ทำให้ต้องใช้แสงสว่างมากกว่าปกติเมื่อต้องทำกิจกรรมในระยะใกล้
  • จอประสาทเสื่อมชนิดเปียก เกิดจากเส้นเลือดฝอยเกิดใหม่ใต้จุดรับภาพขยายจำนวนมากขึ้น
    ซึ่งถ้าเส้นเลือดฝอยก่อตัวผิดตำแหน่ง ทำให้ของเหลวในเส้นเลือดไหลซึมเข้าตา ส่งผลให้ ประสิทธิภาพในการทำงานของบริเวณจุดรับภาพลดลง

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยเสี่ยงที่มีอิทธิพลต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม ได้แก่

1. อายุ เพราะโรคจอประสาทตาเสื่อมนี้พบได้บ่อยในคนที่มีอายุมากกว่า 50 - 60 ปีขึ้นไป โดยเมื่ออายุยิ่งมากขึ้นก็จะยิ่งมีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้สูงขึ้น

2. กรรมพันธุ์หรือพันธุกรรม เพราะพบว่าประมาณ 50% ของผู้ป่วยโรคนี้มีประวัติที่คนในครอบครัวเป็นโรคนี้มาก่อน

3. เชื้อชาติ เพราะมีการสำรวจและพบว่าโรคนี้สามารถเกิดได้มากที่สุดในคนผิวขาว (Caucasian)

4. เพศ เพราะจากการสำรวจมักพบโรคนี้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

5. โรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงมากต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก

6. โรคอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากอาจทำให้ป่วยเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ง่าย

7. วัยหมดประจำเดือน ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้รับประทานยาฮอร์โมนเอสโตรเจนจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากขึ้น

8. สายตาผิดปกติ คือสายตาสั้นมากๆ หรือสายตายาว โดยผู้ที่มีสายตายาวจะมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มากกว่าผู้ที่มีสายตาปกติหรือมีสายตาสั้น

9. ม่านตาสีอ่อน (Light iris coloration)

10. ตาได้รับแสงแดดอย่างเรื้อรัง

11. การสูบบุหรี่ หรือการได้รับควันบุหรี่ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอย่างหนึ่ง เพราะสารพิษในควันบุหรี่สามารถทำลายเซลล์จอประสาทตาได้โดยตรง โดยผู้ที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่อย่างน้อย 6 เท่า และมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้เร็วกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูบบุหรี่ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคนี้ร่วมด้วยก็จะมีโอกาสเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นถึง 30 เท่า

12. การดื่มสุรา

13. รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ และอาจขาดสารต้านอนุมูลอิสระบางชนิด โดยเฉพาะลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin)

ประเภทของโรคจอประสาทตาเสื่อม

โรคจอประสาทตาเสื่อมไม่ได้มีชนิดเดียว ซึ่งแต่ละชนิดก็มีสาเหตุในการเกิดต่างกันและมีอาการต่างกัน ซึ่งโรคจอประสาทตาเสื่อมสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

ชนิดของจอประสาทตาเสื่อม

1. จอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง (Dry AMD) จอประสาทตาเสื่อมชนิดนี้จะมีจุดสีเหลืองบริเวณจอรับภาพตรงกลางของประสาทตาซึ่งเรียกว่า ดรูเซ่น (Drusen) สะสมอยู่ใต้จอประสาทตา จุดสีเหลืองนี้จะทำลายเซลล์รับแสง ทำให้การมองเห็นบิดเบี้ยว โรคมักแสดงอาการอย่างช้า ๆ และในบางกรณีอาจกลายเป็นจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกได้

2. จอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก (Wet AMD) เป็นจอประสาทตาเสื่อมที่พบได้น้อย เกิดจากเส้นเลือดฝอยด้านหลังจอประสาทตามีความผิดปกติ ซึ่งมีของเหลวในหลอดเลือดรั่วไหลไปโดนจุดรับภาพ ทำให้สูญเสียการมองเห็นแบบถาวรและเฉียบพลัน

อาการของโรคจอประสาทตาเสื่อม

อาการของโรคจอประสาทตาเสื่อมทั้ง 2 ชนิดจะมีความแตกต่างกันออกไปบ้าง คือ อาการจอประสาทเสื่อมชนิดแห้ง ในช่วงแรกผู้ป่วยจะมองเห็นภาพเบลอและเห็นจุดดำหรือจุดบอดตรงกลางภาพ เมื่อเวลาผ่านไป จุดดำจะเริ่มขยายใหญ่ซึ่งส่งผลต่อการมองเห็น ส่วนอาการจอประสาทเสื่อมชนิดเปียก ผู้ป่วยจะมองเห็นภาพบิดเบี้ยว พร่ามัว เห็นจุดดำขนาดใหญ่ในภาพซึ่งเป็นผลมาจากการที่เลือดไหลไปอยู่ในจุดรับภาพ แต่ทั้ง 2 ชนิด จะมีอาการที่เหมือนกัน มีดังนี้

1. มองเห็นภาพบิดเบี้ยว
2. มองในที่สว่างไม่ชัด หรือมีอาการแพ้แสง
3. ปรับสายตาจากการมองเห็นในที่มืดมาที่สว่างไม่ค่อยได้
4. สูญเสียความสามารถในการมองเห็น ตามัว มีจุดดำบังอยู่ตรงกลางภาพ
5. เห็นสีผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง

ภาวะแทรกซ้อนของโรคจอประสาทตาเสื่อม

ภาวะแทรกซ้อนของโรคจอประสาทตาเสื่อมจะไม่ใช่ภาวะที่รุนแรงนักแต่จะมีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน คือ ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเองได้ดีเท่าเดิม เช่น การอ่าน และการขับขี่ เป็นต้น โดยผู้ป่วยอาจประสบกับความวิตกกังกลหรือภาวะซึมเศร้าได้

การวินิจฉัยโรคจอประสาทตาเสื่อม

การวินิจฉัยเบื้องต้นแพทย์จะตรวจดวงตาโดยใช้ยาหยอดขยายม่านตาและอุปกรณ์ขยายส่องจอตา เพื่อดูความผิดปกติของจอประสาทตาด้านหลัง และอาจใช้วิธีการอื่นๆ ได้แก่

1. ทดสอบด้วยตารางชนิดพิเศษ (Amsler Grid) หรือที่เรียกว่า “ตารางแอมสเลอร์” ซึ่งตารางนี้มีทั้งเส้นแนวตั้งแนวนอน โดยมีจุดอยู่ตรงกลาง ถ้าผู้ป่วยมองเห็นเส้นบางเส้นไม่ชัด แพทย์อาจสันนิษฐานว่าเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม

2. ถ่ายภาพจอประสาทตา เพื่อค้นหาว่าส่วนใดเสียหาย ซึ่งการถ่ายภาพจอประสาทตาทำได้หลายวิธี เช่น การใช้กล้องฟันดัส (Fundus) ซึ่งเป็นกล้องสำหรับใช้ถ่ายภาพจอประสาทตาแบบดิจิตอล

3. เอกซเรย์ตรวจเส้นเลือด (Fluorescein Angiography) ซึ่งจะทำให้เห็นภาพหลอดเลือดและการไหลเวียนของเลือดอย่างชัดเจน โดยจะฉีดสีซึ่งเรียกว่า “ฟลูออเรสเซน” เข้าไปในเส้นเลือดผ่านทางแขนวิ่งผ่านหลอดเลือดไปยังจอประสาทตา แล้วแพทย์จะถ่ายภาพเก็บไว้เป็นชุดภาพซึ่งจะทำให้เห็นว่าสีที่ฉีดไว้รั่วไหลออกจากหลอดเลือดบริเวณใดบ้าง เพื่อจะได้ระบุชนิดของโรคจอประสาทตาเสื่อมต่อไป

วิธีการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อม

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาเพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็นและชะลออาการป่วยของโรคได้ ดังนี้

การรักษาจอประสาทเสื่อมชนิดแห้ง
1. ติดตามการรักษาตามแพทย์นัดอย่างเคร่งครัด
2. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรืออยู่ในที่ที่มีควันบุหรี่
3. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีแสงแดดจ้า ควรสวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต
4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี สังกะสี และลูทีน (Lutein) เพราะอาจช่วยชะลอการเสื่อมของจอประสาทตาได้
5. การรักษาด้วยเลเซอร์ แต่อาจใช้ได้ในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น

การรักษาจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก
1. การใช้ยาประเภทยับยั้งการสร้างหลอดเลือดจำพวก เบวาซิซูแมบ อะฟลิเบอร์เสบ แรนิบิซูแมบ ยาอาวาสติน ยาอายลี ยาลูเซนทิส ยามาคูเจน เป็นต้น
2. การรักษาด้วยโฟโตไดนามิก เป็นการรักษา 2 ขั้นตอน โดยใช้ยาไวต่อแสงไปทำลายหลอดเลือดที่ผิดปกติ โดยแพทย์จะฉีดยาเข้าไปในกระแสเลือดเพื่อให้ซึมบริเวณหลอดเลือดที่มีความผิดปกติของดวงตา แล้วจึงฉายแสงเลเซอร์เย็นเข้าไปในตาเพื่อกระตุ้นยาให้ทำลายหลอดเลือดที่ผิดปกติอีกทีหนึ่ง
3. การผ่าตัด เป็นการผ่าตัดเอาเส้นเลือดเกิดใหม่ออกมา

การป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อม

โรคจอประสาทตาเสื่อมยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผลมากนัก แต่ก็พอจะมีวิธีช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคได้ โดยการรักษาสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง เช่น ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดี ควบคุมน้ำหนัก และหากสูบบุหรี่ก็ควรเลิกบุหรี่

แม้ว่าโรคจอประสาทตาเสื่อมจะไม่สามารถป้องกันหรือรักษาให้หายขาดได้ แต่หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่นๆ และได้รับการรักษาทันท่วงที จะสามารถชะลอความรุนแรงของโรค และลดโอกาสการสูญเสียการมองเห็นได้