free web tracker, fire_lady โรคที่มากับน้ำแข็ง…ภัยร้ายที่แอบซ่อนมากับความเย็น • สุขภาพดี

โรคที่มากับน้ำแข็ง...ภัยร้ายที่แอบซ่อนมากับความเย็น

โรคที่มากับน้ำแข็ง

อากาศร้อนๆ แบบนี้ ขนมหวานจำพวกน้ำผลไม้ปั่น น้ำแข็งไส รวมถึงของเย็นๆ หวานๆ ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า บางคนไม่ต้องการรสชาติใดๆ ขอแค่น้ำแข็งก้อนเล็กมากัดมาอมไว้ก็ชื่นใจแล้ว ก็ช่วยดับร้อน แก้กระหายได้ดีไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ทว่า...คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่า น้ำแข็งที่คุณทานนั้นสะอาด ปลอดภัย ไม่เสี่ยงนำโรคภัยมาให้คุณ...วันนี้เรามาตรวจเช็คกันดีกว่าว่า โรคที่มากับน้ำแข็ง ที่เราต้องระวังนั้นมีอะไรบ้าง ป้องกันได้อย่างไร

น้ำแข็งกับความสะอาด

"น้ำแข็ง" เป็นอาหารควบคุมคุณภาพโดยกระทรวงสาธารณะสุข ซึ่งทางผู้ผลิตจะต้องควบคุมไม่ให้มีสารปนเปื้อนมากไปกว่าที่กระทรวงกำหนด แต่ทว่าการผลิตน้ำแข็งในปัจจุบันจะผลิตในรูปแบบอุตสาหกรรมครัวเรือนมากกว่า จึงทำให้น้ำแข็งที่จำหน่ายในท้องตลาดไม่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยจากแหล่งน้ำที่นำมาผลิตไม่สะอาด ภาชนะใส่น้ำหรือน้ำแข็งใช้ซ้ำโดยไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ  การปนเปื้อนของดิน ฝุ่นละอองหรือแย่ที่สุดคือเชื้อโรคจากมือที่ไม่ได้ล้างของผู้ลิตหลังออกจากห้องน้ำ อีกทั้งการขนส่งโดยรถบรรทุกที่ไม่ป้องกันเชื้อโรค ความไม่สะอาดของสถานที่ผลิต เครื่องจักร รวมถึงขั้นตอนการผลิตต่างๆ ที่กว่าจะถึงมือผู้บริโภคทำให้ง่ายต่อการปนเปื้อนของเชื้อโรคที่อยู่ในก้อนน้ำแข็ง

 มาตรฐานของน้ำแข็ง

 การตรวจสอบมาตรฐานของน้ำแข็งมักจะตรวจในเรื่องการปนเปื้อนของเชื้อโรคบางชนิด เช่น แบคทีเรียกลุ่มคอลิฟอม (Coliforms Bacteria) และแบคทีเรียกลุ่มเชื้ออีโคไล แบคทีเรีย 2 กลุ่มนี้มักพบอยู่ในลำไส้ของคนและสัตว์เลือดอุ่น ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงเมื่อได้รับเชื้อเข้าไป สำหรับมาตรฐานน้ำแข็งในประเทศไทย แบคทีเรียโคลิฟอมต้องไม่เกิน 2.2 MPN/100 มิลลิกรัม และต้องไม่พบแบคทีเรียอีโคไลหรือแบคทีเรียชนิดอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหารได้ เช่น เชื้อซัลโมเนลล่า เชื้อสแตปไฟโลคอคคัส ออเรียส เป็นต้น แต่จากการที่สถาบันอาหารและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สุ่มตรวจน้ำแข็งจากร้านต่างๆ ทั้งในต่างจังหวัดและกทม.พบว่ายังมีน้ำแข็งที่ไม่ได้มาตรฐานมีเชื้อโรคปนเปื้อนมากถึง 60% ของจำนวนที่สุ่มตรวจ และน้ำแข็งที่มีคุณภาพน้อยที่สุดคือน้ำแข็งบด

โรคที่มากับน้ำแข็ง รู้ไว้เพื่อป้องกันภัยจากเชื้อโรค

1. โรคอาหารเป็นพิษ

โรคอาหารเป็นพิษ เป็นโรคที่สามารถพบได้บ่อยที่สุดที่มีสาเหตุมาจากการทานน้ำแข้งที่ไม่สะอาด เมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เวลาและความรุนแรงของอาการจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าได้รับชนิดใด โดยอาจจะแสดงอาการภายใน 2-6 ชั่วโมงหลังรับเชื้อ หรือเชื้อฟักตัวนานเป็นวัน เป็นสัปดาห์หรือนานเป็นเดือน กว่าจะแสดงอาการให้เห็น โดยอาการของโรคอาหารเป็นพิษ มีดังนี้

  • ท้องเสีย
  • เป็นไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • ปวดท้อง ปวดบิด คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีผื่นขึ้น
  • บางรายอาจจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง

ในรายที่อาการไม่รุนแรง ก็อาจจะแค่ท้องเสีย ปวดท้องเล็กน้อย เนื่องจากเชื้อโรคจะมีผลต่อลำไส้เล็กเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อส่วนอื่นๆ ของร่างกาย แต่ก็อาจจะทำให้ร่างกายสูญเสียได้มากเช่นกัน ถ้าถ่ายบ่อยครั้ง ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรงอาจพบว่าถ่ายแล้วมีมูกเลือดปน มีไข้สูง คลื่นไส้อาเจียน เนื่องจากเชื้อไม่เพียงเข้าสู่ลำไส้เท่านั้น แต่ลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ แบคทีเรียบางประเภททำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพาต หายใจไม่ได้ มีอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้

2.ไวรัสตับอักเสบเอ

โรคนี้ในแง่การปฏิบัตินั้นเป็นไปได้ค่อนข้างยาก แต่ในทางทฤษฎีนั้นสามารถเป็นไปได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสตับอักเสบเอเป็นเชื้อโรคที่อยู่ในลำไส้ของคน การติดเชื้อเกิดจากการขับถ่ายแล้วไม่รักษาความสะอาด เชื้อจึงปนเปื้อนลงไปในน้ำแข็ง ง่ายๆ คือหากคนที่ผลิตน้ำแข็งนั้นป่วยเป็นโรคนี้ไปขับถ่ายแล้วไม่ล้างมือ แล้วมาสัมผัสกับน้ำ หรือน้ำแข็ง เชื้อก็สามารถปนเปื้อนอยู่ในน้ำแข็ง และส่งผลต่อผู้บริโภคน้ำแข็งได้ โรคไวรัสตับอักเสบเอโดยปกติแล้วบางคนอาจจะไม่แสดงอาการ หรือบางคนมีอาการเล็กน้อย เช่น

  • มีไข้
  • ครั่นเนื้อครั่นตัว
  • อ่อนเพลีย
  • มีอาการดีซ่าน เช่น ตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • จุกแน่นที่ชายโครง
  • เบื่ออาหาร
  • ตับวาย (อัตราการพบน้อยมาก เพียงร้อยละ 0.5 )

โรคนี้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะสามารถหายเองได้ในเวลาประมาณ 2 เดือนโดยไม่ต้องรักษาอะไรมากนัก แต่มีบางรายที่อาการหนักมาก อาจจะพบภาวะตับวาย เสียชีวิตได้

การเลือกซื้อน้ำแข็ง

1. ถังแช่น้ำแข็งจะต้องสะอาด ไม่นำอาหารหรือสิ่งของอย่างอื่นๆ มาแช่รวมกันกับน้ำแข็ง

2. ก้อนน้ำแข็งดูภายนอกจะต้องใสสะอาด ไม่มีเศษผง หรือสิ่งสกปรกเจือปน

3. น้ำแข็งที่อยู่ในถุง ถุงที่บรรจุต้องมีชื่อผู้ผลิต สถานที่รวมถึงข้อมูลที่แสดงการอนุญาตให้ผลิตน้ำแข็งจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

4. ถุงใส่น้ำแข็งจะต้องไม่รั่วซึม

 การป้องกันตัวเองจากโรคที่มากับน้ำแข็ง

ถ้าหากยังซื้อน้ำแข็งมารับประทานอยู่ ก็ยังหลีกเลี่ยงได้ยากเพราะผู้ซื้อไม่สามารถทราบได้ว่าที่ร้านผลิตน้ำแข็งได้มาตรฐานหรือไม่ เพราะบางแหล่งใช้ที่เจาะที่เป็นสนิมลากน้ำแข็ง ใช้เท้าดันก้อนน้ำแข็งหรือใช้ถุงปุ๋ยในการขนส่ง ดังนั้นวิธีการป้องกันตัวเองที่ดีที่สุดคือการทำน้ำแข็งรับประทานเอง ซึ่งสามารถทำได้ง่ายมากๆ โดยใช้น้ำดื่มสะอาดในบ้าน มาใส่บล็อกทำน้ำแข็งที่แถมมากับตู้เย็นหรือหาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป จากนั้นนำไปแช่ในช่องแช่แข็ง ไม่นานก็ได้น้ำแข็งก้อนเล็กมาทาน หรือถ้ากลัวละลายไว อยากได้ก้อนใหญ่ๆ ไว้แช่น้ำดื่ม แนะนำให้ใช้ขันตักน้ำสแตนเลส ใส่น้ำจนเกือบเต็มแล้วนำไปแช่ เมื่อแข็งค่อยมาแช่น้ำเพื่อให้น้ำแข็งหลุด เพียงเท่านี้เราก็ไม่ต้องไปเสี่ยงภัยกับเชื้อโรคร้ายที่มากับน้ำแข็งอีกต่อไป

เพราะว่าอากาศบ้านเรามันร้อน จึงจะเห็นได้ว่าน้ำแข็งกับคนไทยอยู่คู่กันมานานแสนนาน จะให้เลิกทานน้ำแข็งก็ไม่ได้ ชีวิตต้องเสี่ยงกับโรคที่มากับน้ำแข็งโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นใครที่ไม่อยากทำความรู้จักกับเจ้าเชื้อโรคตัวร้ายนี้ ควรเลือกร้านน้ำแข็งที่สะอาด เชื่อถือได้ แต่ถ้าพิจารณาแล้วพบว่าไม่มีร้านที่น่าไว้วางใจเลย ก็ทำน้ำแข็งทานเองจะปลอดภัยที่สุดจ้า