อายุรวัฒน์เวชศาสตร์ โรคภัยใกล้ตัว May 31, 2018 Share 0 Tweet Pin 0 15 โรคที่มากับหน้าฝน...โรคที่ต้องเฝ้าระวังยามเมื่อฝนมาเมื่อเข้าฤดูฝน อากาศชื้น ฝนตกบ่อย สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยให้เชื้อโรคบางชนิดเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้ดี นอกจากการพกพาร่มเพื่อป้องกันฝนแล้ว กระทรวงสาธารณะสุขยังประกาศให้เตรียมตัวรับมือกับโรคภัยที่แบ่งเป็น 5 กลุ่มโรค รวมทั้งหมด 15 โรค ส่วนจะมีโรคอะไรบ้าง มีวิธีป้องกันตัวเองอย่างไร มาตรวจเช็ค 15 โรคร้ายที่มากับหน้าฝนได้ที่นี่เลยค่ะ 5 กลุ่ม-15 โรคที่มาพร้อมกับฤดูฝนกลุ่มที่ 1 โรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจกลุ่มโรคนี้ประกอบไปด้วย โรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนโดยเฉพาะโรคไข้หวัดนั้นมีการแพร่ระบาดอยู่ทุกปี โรคในกลุ่มนี้มักมีอาการพื้นฐานคือ เป็นหวัด คัดจมูก เป็นไข้ เจ็บคอ บางโรคอาจจะอาการปวดเมื่อยตามกระดูกและกล้ามเนื้อร่วมด้วยการป้องกัน รักษาสุขอนามัยพื้นฐานเช่น ล้างมือและไม่ใช้ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ไม่สูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีควันบุหรี่ ใส่หน้ากากอนามัย เมื่อมีการแพร่ระบาดของโรค ควรไปฉีดวัคซีนป้องกัน เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในพื้นที่แออัดกลุ่มที่ 2 โรคติดต่อที่เกิดจากยุงโรคติดต่อจากยุงที่สำคัญมี 3 โรคได้แก่โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดต่อที่มีพาหะคือยุงลาย ยุงลายส่วนใหญ่มักจะแพร่พันธ์ตามแหล่งน้ำขังในบ้านหรือรอบบ้านๆ เช่น จานรองขาตู้ ตุ่มน้ำ โดยอาการของโรคไข้เลือดจะเริ่มที่มีไข้สูง แต่ไม่เป็นหวัด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ต่อมาไข้จะลดลง อาจจะมีอาการเลือดออก เช่น เลือดออกตามไรฟัน จุดเลือดใต้ผิวหนัง เลือดกำเดาไหล เป็นต้น เมื่ออาการรุนแรงอวัยวะภายในอาจติดเชื้อและล้มเหลว จนถึงแก่ชีวิตได้โรคไข้สมองอักเสบเจอี มียุงรำคาญเป็นพาหะนำโรค ยุงนี้มักวางไข่ในแหล่งน้ำตามทุ่งนา เมื่อได้รับเชื้ออาจจะแสดงอาการป่วยหรือไม่ก็ได้ โดยจะมีอาการประมาณ 1 ใน 300 ของผู้ติดเชื้อ อาการจะเริ่มจากปวดศีรษะ เป็นไข้ อ่อนเพลีย จากนั้นจะเริ่มมีอาการทางสมอง เช่น ซึม ชัก เพ้อ ความจำสับสน คอแข็ง อัมพาต ซึ่งในระยะแสดงอาการทางสมองมีอัตราการตายมากถึง 15-30% ของผู้ป่วย หากพ้นช่วงนี้ไปได้อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น ส่วนอาการทางสมองจะลดลง แต่ผู้ป่วยที่รอดชีวิตราวๆ ครึ่งหนึ่งจะยังมีอาการทางสมองเหลืออยู่ เช่น ปัญญาอ่อน พูดไม่ชัด ชักเกร็ง เป็นต้นโรคมาลาเรีย มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค โรคมาลาเรีย หรือไข้จับสั่น เป็นโรคที่มักระบาดอยู่ในป่าหรือตามแนวชายแดน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ตัวซีดจากการที่เม็ดเลือดแดงแตก หากเป็นชนิดที่มีความรุนแรง อาจจะสมองบวม โลหิตจาง ตับอักเสบ ไตวาย อวัยวะภายในทำงานผิดปกติ อาจจะเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิตการป้องกัน ติดมุ้งลวดที่ประตูและหน้าต่าง นอนกางมุ้ง หากอยู่ในบริเวณที่ยุงเยอะควรทายากันยุง คว่ำภาชนะต่างๆ เช่น กะลามะพร้าว อ่างน้ำ ภาชนะแตกๆ ที่สามารถมีน้ำขังได้ ใส่ทรายป้องกันยุงในโอ่งหรือถังน้ำแล้วปิดฝาเพื่อป้องกันยุงวางไข่ หากเจ็บป่วยไม่ควรหาซื้อยามาทานเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งยาแอสไพริน เพราะอันตรายมากต่อโรคบางโรค เมื่อทานยาเข้าไปความรุนแรงของโรคจะเพิ่มมากขึ้น เพิ่มโอกาสการเสียชีวิตกลุ่มที่ 3 โรคที่เกิดจากการติดเชื้อทางบาดแผลโรคในกลุ่มนี้ที่พบได้บ่อยมี 1 โรคคือ โรคฉี่หนู เป็นโรคที่ติดจากการได้รับเชื้อกลุ่ม Leptospira เชื้อนี้พบมากในสัตว์พาหะที่เป็นสัตว์ตระกูลกัดแทะ เช่นหนู แต่ก็อาจจะพบได้ในสัตว์อื่นๆ อย่างสุนัขและแมวได้เช่นกัน เชื้อนี้จะอยู่ในปัสสาวะของหนู โดยหนูจะฉี่ลงในแหล่งน้ำหรือพื้นที่ทั่วไป ผู้ป่วยมักจะได้รับเชื้อจากการที่ต้องย่ำอยู่ในน้ำเป็นเวลานานๆ เมื่อผิวเปื่อยหรือมีบาดแผลเชื้อโรคก็เข้าสู่ร่างกายได้อย่างง่ายดาย โรคนี้จะพบมากในบริเวณที่มีหนูมากอย่าง ทุ่งนา ฟาร์ม เหมือง ท่อระบายน้ำ เป็นต้น เมื่อได้รับเชื้อแล้ว อาการจะมี 2 ระดับคือไม่รุนแรงกับรุนแรง ดังนี้ระดับไม่รุนแรง เป็นไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อที่ขาและน่อง หากกดจะเจ็บมาก คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย ปวดท้องระดับรุนแรง แสดงอาการดีซ่าน เช่น ตาเหลือง ตัวเหลือง อุจจาระสีซีด ปัสสาวะสีเข้ม ตับวาย ไตวาย และเสียชีวิตได้ในที่สุดการป้องกัน หลีกเลี่ยงการย่ำในพื้นที่น้ำท่วมขัง หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้ใส่ชุดกันน้ำและรองเท้าบูทเพื่อไม่ให้ร่างกายสัมผัสน้ำโดยตรงกลุ่มที่ 4 โรคติดต่อในระบบทางเดินอาหารโรคในกลุ่มนี้ที่พบได้บ่อยๆ เช่น โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน อาหารเป็นพิษ บิด ไทฟอยด์ เป็นต้น สาเหตุที่สำคัญเกิดจากการติดเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับอาหารและน้ำดื่มที่ไม่สะอาด อาการที่พบร่วมกันคือ ท้องเสีย อุจจาระเป็นน้ำ อาจมีการปวดท้องและมูกเลือกออกมากับอุจจาระถ้าหากมีการติดเชื้อ บางครั้งจะมีไข้ร่วมด้วย นอกจากโรคที่กล่าวมาแล้วยังมีโรคไวรัสตับอักเสบชนิดเอและบีที่สามารถติดเชื้อได้จากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค โรคไวรัสตับอักเสบเอและบี จะมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน เป็นไข้ อ่อนเพลีย ในรายที่มีอาการหนักอาจจะมีภาวะดีซ่านร่วมด้วย ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีซีดการป้องกัน รักษาความสะอาดตลอดขั้นตอนการทำอาหาร ล้างภาชนะ อุปกรณ์และวัตถุดิบที่จะใช้ประกอบอาหาร แยกเขียงรวมไปถึงมีดที่ใช้หั่นผักและเนื้อสัตว์ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ หากต้องการเก็บอาหารต้องเก็บในที่มิดชิด และนำมาอุ่นด้วยความร้อนอย่างทั่วถึงก่อนรับประทาน(ไม่ควรอุ่นด้วยไมโครเวฟ) ใช้ช้อนกลางและไม่ควรใช้แก้วน้ำร่วมกัน ล้างมือก่อนปรุงและก่อนรับประทานอาหารให้สะอาดกลุ่มที่ 5 โรคเยื่อบุตาอักเสบโรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย โดยอาจจะสัมผัสกับสิ่งมาหรือสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรงแล้วมาขยี้ตา จึงติดเชื้อ จะมีอาการคันและเคืองตา ปวดตา ตาพร่ามัว มีขี้ตาเยอะมากผิดปกติ จะเห็นได้ชัดในตอนเช้าหลังตื่นนอนโดยขี้ตาจะติดตาเยอะมาก มีลักษณะคล้ายหนองการป้องกัน ไม่เอามือสกปรกมาขยี้ตา หลีกเลี่ยงการใช้ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้นเมื่อฝนมา สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ดังนั้นจึงมักมีโรคตามติดมากับฤดูฝนด้วย แต่โรคเหล่านี้สามารถป้องกันได้ ซึ่งต้องเตรียมตัวเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองและคนที่คุณรักเจ็บป่วย คนที่ต้องใส่ใจดูแลเป็นพิเศษคือเด็กเล็ก คนชราและผู้หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ปกติทั่วไป นอกจาก 15 โรคที่มากับฤดูฝนที่กล่าวมาแล้ว ยังต้องระวังในอีก 2 เรื่องคือ สัตว์มีพิษที่หนีน้ำเมื่อฝนตกน้ำ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง เป็นต้นและผดผื่นคัน ผิวหนังอักเสบจากการแช่น้ำนานๆ นอกจากการป้องกันที่แนะนำไปข้างต้นแล้วต้องดูแลในด้านอื่นอีกคือ รับประทานอาหารที่ประโยชน์ ออกกำลังกายบ่อยๆ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายและนอนหลับให้เพียงพอ