free web tracker, fire_lady “เลือดออกตามไรฟัน” สัญญาณอันตรายจากภายในช่องปาก • สุขภาพดี

เลือดออกตามไรฟัน” สัญญาณอันตรายจากภายในช่องปาก

เลือดออกตามไรฟัน สาเหตุ อาการ วิธีแก้

เบื่อไหมทุกครั้งที่คุณแปรงฟันแล้วมีเลือดออกมาด้วย...หากมีแน่นอนเลยว่าตอนนี้คุณกำลัง
เป็นผู้ประสบปัญหาอาการ “เลือดออกตามไรฟัน” หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “โรคลักปิดลักเปิด” ซึ่งจะเป็นอาการที่มีเลือดไหลออกมาจากบริเวณเหงือกและไรฟัน โดยอาจเกิดขึ้นขึ้นจากหลายสาเหตุ นอกจากนี้อาการเลือดออกตามไรฟันอาจยังเกิดขึ้นร่วมด้วยกับอาการเหงือกบวม ปวดเหงือก ปวดไรฟัน

 ดังนั้นเราจึงควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเหงือกและฟันของเราด้วยเพื่อที่จะสามารถป้องกัน และแก้ไขได้ทันท่วงทีหากผู้ที่มีอาการเลือดออกตามไรฟันแล้วมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที

1. มีอาการเลือดออกตามไรฟันอย่างรุนแรงและเรื้อรัง

2. มีอาการเลือดไหลตามไรฟันออกมาไม่หยุด แม้ว่าจะได้รับการรักษาแล้วก็ตาม

3. มีอาการอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วยและหาสาเหตุไม่พบว่าเกิดจากอะไร

เลือดออกตามไรฟันมีสาเหตุมาจากอะไรกัน?

จริงๆ แล้วสาเหตุของอาการเลือดออกตามไรฟันมีหลายสาเหตุมาก ซึ่งแต่ละคนที่มีอาการนี้อาจมีหลายสาเหตุร่วมกัน จึงเกิดอาการเลือดออกตามไรฟันออกมาได้ ดังนั้นสาเหตุเหล่านี้จึงเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คุณยังต้องประสบกับปัญหานี้อยู่

1. คุณเป็นผู้ที่มีปัญหาเกล็ดเลือดต่ำ โดยโรคที่มีความเสี่ยงในการที่จะทำให้เกล็ดเลือดต่ำ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไขกระดูกฝ่อ ดังนั้นเมื่อมีอาการเกล็ดเลือดต่ำ ปัญหาที่ตามมาอีกอย่างหนึ่งแน่นอนก็คือ อาการเลือดออกตามไรฟัน

2. คุณคือผู้ป่วยด้วยโรคลูคีเมีย หากคุณป่วยด้วยโรคลูคีเมียอยู่แล้วนั้น ซึ่งโรคลูคีเมียนี้เป็นการป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง ดังนั้นเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับเลือดก็จะทำให้เกิดปัญหาเลือดออกตามไรฟันมาด้วย เพราะเป็นความผิดปกติของเลือด

3. การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์ เป็นที่ทราบกันดูอยู่แล้วว่าในขณะที่ผู้หญิงตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนค่อนข้างมาก นำมาซึ่งอาการต่างๆ เช่น ผมร่วง และเลือดออกตามไรฟัน เป็นต้น

4. คุณอาจแปรงฟันแรงเกินไป หรืออาจใช้ไหมขัดฟันไม่ถูกวิธี เพราะสิ่งเหล่านี้อาจไปทิ่มหรือบาดบริเวณเหงือกและไรฟันของเราได้ ทำให้มีอาการเลือดออกตามไรฟันได้นั่นเอง

5. เกิดการติดเชื้อภายในเหงือกและฟัน หรือที่เรียกกันว่า “โรคปริทันต์” โดยมีอาการเหงือกอักเสบอย่างเรื้อรัง และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากการติเชื้อแบคทีเรีย และแน่นอนว่าจะมีอาการเลือดออกตามไรฟันร่วมด้วย

6. การก่อตัวของคราบพลัคตามแนวเหงือก ซึ่งมีผลทำให้เกิดอาการเหงือกอักเสบ เหงือกบวมและมีอาการเลือดออกตามไรฟันตามมา

7. ขาดสารอาหารจำพวกวิตามินซี และวิตามินเค เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าหากเราขาดวิตามินซีจะทำให้เรามีอาการเลือดออกตามไรฟันอย่างแน่นอน หรือที่เราเรียกกันว่าโรคลักปิดลักเปิด และการขาดวิตามินเคจะทำให้เรามีอาการเลือดแข็งตัวช้า ซึ่งอาจทำให้เรามีอาการเลือดออกตามไรฟันและไหลไม่หยุดได้

8. การใส่ฟันปลอมหรือเครื่องมือจัดฟันที่ไม่พอดีกับฟัน เพราะเครื่องเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความผิดปกติของเหงือกและฟันได้ ดังนั้นจึงทำให้เรามีอาการเลือดออกตามไรฟันได้

9. มีภาวะเลือดออกผิดปกติ หากคุณมีภาวะเลือดออกผิดปกติอยู่แล้ว ทำให้มีความเสี่ยงมากที่จะเกิดอาการเลือดออกตามไรฟันได้ง่าย และภาวะนี้จะทำให้เลือดออกง่ายแต่แข็งตัวช้า เลือดที่ออกจึงมีปริมาณมากแต่กลับหยุดช้า

10. การใช้ยากลุ่มยาต้านทานการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน แอสไพริน และเฮพาริน เป็นต้น

หากไปพบแพทย์จะมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?

หากมีอาการเลือดออกตามไรฟันที่รุนแรงและมีความต้องการที่จะไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษา การตรวจรักษาจะมีด้วยกัน 2 ช่วง คือ ช่วงการวินิจฉัยอาการ และช่วงหลังการวินิจฉัยอาการ

สาเหตุเลือดออกตามไรฟัน

ช่วงการวินิจฉัยอาการ

เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการตรวจบริเวณเหงือกและฟัน และคุณจะต้องตอบคำถามสุขภาพ เช่น ตอบคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการแปรงฟัน การดูแลสุขภาพช่องปาก การบริโภคอาหาร หรือแม้แต่การรับประทานยาต่างๆ หลังจากนั้นแพทย์อาจจะส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดของอาการเลือดตามไรฟัน โดยการส่งตรวจเพิ่มเติมจะมีขั้นตอนดังนี้

  • เอกซเรย์ช่องปาก โดยคุณจะต้องเข้าเครื่องเอกซเรย์แล้วให้เครื่องฉายภาพบริเวณฟันและเหงือกภายในช่องปากออกมา แล้วแพทย์จะทำหน้าที่ในการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้น
  • การตรวจเลือด โดยแพทย์จะนำตัวอย่างเลือดไปตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด หรือตรวจเม็ดเลือดขาว เพื่อตรวจดูการติดเชื้อและความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด
  • ช่วงหลังการวินิจฉัยอาการ

    เมื่อแพทย์ทำการวินิจฉัยอาการเรียบร้อยแล้วนั้น แพทย์จะแนะนำแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยเป็นรายกรณี โดยการรักษาก็จะมีวิธีการเหล่านี้

    1. แพทย์อาจนัดให้มาตรวจฟันและเหงือกเป็นระยะๆ เพื่อทำความสะอาดอย่างถูกวิธีโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้งตรวจดูอาการให้มั่นใจว่าไม่ได้มีอาการเลือดออกตามไรฟันอันมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพอื่นๆ

    2. แพทย์อาจสอนวิธีการแปรงฟันและการใช้ไหมขัดฟันที่ถูกวิธีให้ เพื่อลดปัญหาคราบพลัคที่จะเกิดขึ้น และปัญหาแปรงสีฟันทิ่มหรือไหมขัดฟันบาด

    3. แพทย์อาจแนะนำการเลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงนุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการเลือดออกตามไรฟันนั้นยิ่งต้องใช้แปรงสีฟันที่มีความนุ่มเป็นพิเศษ

    4. แพทย์อาจแนะนำการเลือกใช้แปรงสีฟันไฟฟ้า ซึ่งแปรงสีฟันนี้จะถูกออกแบบมาให้สามารถทำความสะอาดตามซอกฟันและแนวเหงือกได้ดีกว่าแปรงสีฟันทั่วๆ ไป

    5. แพทย์อาจแนะนำให้ใช้น้ำยาบ้วนปากสูตรฆ่าเชื้อ หรือใช้น้ำเกลืออุ่นๆ บ้วนปาก เพื่อลดคราบพลัคและบรรเทาอาการเหงือกบวมที่นำมาซึ่งอาการเลือดออกตามไรฟันนั่นเอง

    เลือดออกตามไรฟัน ป้องกันก่อนจะเกิดได้ไหม?

    จริงๆ แล้ววิธีการป้องการอาการเลือดออกตามไรฟันสามารถทำได้ง่ายๆ ดังนั้นถ้าเป็นไปได้เราควรป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอาการนี้เสียก่อน ดีกว่าจะต้องมานั่งรักษาทีหลัง มีวิธีการดังนี้

    1. การแปรงฟันหรือการใช้ไหมขัดฟันควรทำอย่างถูกต้องภายใต้การแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

    2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงขนมขบเคี้ยวและของหวาน ซึ่งก่อให้เกิดคราบพลัคได้ง่าย นำมาซึ่งอาการเลือดออกตามไรฟัน

    3. รับประทานอาหารที่มีวิตามินซี และวิตามินเคในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อป้องกันโรคลักปิดลักเปิดและอาการเลือดแข็งตัวช้า

    4. ไม่สูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้เกิดอาการเลือดออกตามไรฟันได้ง่าย และมีอาการที่แย่ลงเรื่อยๆ

    5. ไม่ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะความแรงของน้ำยาบ้วนปากอาจทำให้เกิดอาการเหงือกอักเสบ และมีอาการเลือดออกตามไรฟันตามมาได้

    ถ้ารักษาอาการที่บ้านจะต้องทำอย่างไร?

    1. พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและทำการขูดหินปูนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง หรือทุกๆ 6 เดือน

    2. เมื่อทันตแพทย์แนะนำควรทำตามอย่างเคร่งครัด และหากมีข้อสงสัยให้รีบปรึกษาทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที

    3. หากเกิดอาการเลือดออกตามไรฟันขึ้นมา ให้ใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเย็นจัดมากดบริเวณที่มีอาการเลือดออกตามไรฟัน

    4. การแปรงฟันควรแปรงอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หรือหลังมืออาหาร ที่สำคัญควรแปรงเบา ๆ
    และใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม

    5. ควรป้องกันการเกิดคราบพลัคด้วยการใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดตามซอกฟันประมาณ 2 ครั้งต่อวัน แต่ควรใช้อย่างถูกวิธีหรือตามคำแนะนำของทันตแพทย์

    6. ควรใช้เครื่องฉีดน้ำในระดับเบาฉีดนวดบริเวณเหงือกบ้าง

    7. หากพบว่าฟันปลอมหรืออุปกรณ์ในการจัดฟันไม่พอดีกับฟัน หลวมไปหรือคับไป ให้รีบปรึกษาทันตแพทย์โดยทันที

    8. หากเป็นผู้ที่มีอาการเลือดออกตามไรฟันอยู่แล้วหรือไม่มีก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาแอสไพรินหรือยากลุ่มที่ต้านทานการแข็งตัวของเลือด เพราะจะทำให้เลือดออกได้ง่ายและแข็งตัวช้า หากจำเป็นควรปรึกษาแพทย์ก่อน

    9. ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลีกเลี่ยงอาหารบางประเภท เช่น ขนม ของหวาน ชา กาแฟ เป็นต้น

    10. หากอาการเลือดออกตามไรฟันนั้นเกิดจากการรับประทานวิตามินซีไม่เพียงพอ ให้รับประทานอาหารที่มีวิตามินซีเพิ่มเข้าไป เช่น ส้ม สตรอว์เบอร์รี่ มะเขือเทศ พริกหวาน บล็อกโคลี่ เป็นต้น

    11. หากอาการเลือดออกตามไรฟันนั้นเกิดจากการรับประทานวิตามินเคไม่เพียงพอ ให้รับประทานอาหารที่มีวิตามินเคเพิ่มเข้าไป เช่น ผักคะน้า ผักกาด ผักโขม ผักสลัดน้ำ ถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก เป็นต้น

    สมุนไพรอื่น ๆ ที่บรรเทาอาการเลือดออกตามไรฟัน

    สมุนไพรใกล้ตัวที่เราสามารถนำมาบรรเทาอาการเลือดออกตามไรฟันได้นั้น เป็นสิ่งที่เราสามารถหาได้ง่ายๆ ดังนี้

    1. มะขามป้อม นับเป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งที่มีวิตามินซีสูงมาก ดังนั้นการรับประทานมะขามป้อมจะสามารถรักษาอาการเลือดออกตามไรฟันหรือโรคลักปิดลักเปิดได้

    2. มะนาว การรับประทานมะนาวสามารถทำได้ 2 วิธี เพื่อให้รับประทานได้ง่ายขึ้น คือ ใช้ผิวมะนาวแห้งมาต้มน้ำรับประทาน และใช้น้ำมะนาว 1 ถ้วยชา ผสมน้ำตาทราย 1 ช้อนโต๊ะ และเกลือเล็กน้อยชงกับน้ำอุ่นแล้วจิบ

    3. มะละกอสุก การรับประทานมะละกอสุกนั้นสามารถแก้อาการเลือดออกตามไรฟันได้ แต่สำหรับผู้ที่รับประทานมะละกอสุกในปริมาณมากและเป็นเวลางาน อาจมีผลทำให้ผิวมีสีเหลืองได้

    อาการเลือดออกตามไรฟันเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่าสุขภาพเหงือกและฟันไม่ดี ดังนั้นอย่าปล่อยไว้จนเป็นอันตรายรุนแรง เพราะเหงือกและฟันก็เป็นอวัยวะหนึ่งที่มีความสำคัญในการดำเนินชีวิตของเรา ควรหมั่นดูแลรักษาความสะอาดอย่างถูกวิธี นอกจากนี้อย่ากลัวที่จะไปพบทันตแพทย์เด็ดขาด เพราะปัญหาสุขภาพในช่องปากสามารถป้องกัน รักษาได้ หากใส่ใจ แก้ไขอย่างทันท่วงที