อายุรวัฒน์เวชศาสตร์ โรคภัยใกล้ตัว September 24, 2018 Share 0 Tweet Pin 0 “โรคปริทันต์” ปัญหาในช่องปากที่รักษายากหากปล่อยไว้เหงือกและฟันเป็นอวัยวะอย่างหนึ่งที่คนเราใช้อย่างสมบุกสมบันไม่แพ้แขนขา เพราะการรับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อในทุกวันและปัจจัยอื่น ๆ ก็ล้วนสร้างความเสื่อมให้กับเหงือกและฟันของเราและก่อให้เกิดปัญหาในช่องปากตามมาได้ ซึ่ง “โรคปริทันต์” เป็นอีกโรคหนึ่งที่ใครหลายคนอาจกำลังประสบปัญหานี้อยู่ โรคปริทันต์ (Periodontal Disease) หมายถึงโรคที่เกิดกับเนื้อเยื่อหรืออวัยวะรอบ ๆ ตัวฟัน ได้แก่ เหงือก เนื้อเยื่อปริทันต์ และกระดูกหุ้มรากฟัน ในระยะแรกโรคนี้จะไม่ปรากฏอาการใด ๆ แต่ต่อมาจะทำลายอวัยวะเหล่านี้ ทำให้กระดูกหุ้มรากฟันละลายและเหงือกร่น อาจมีอาการปวดบวม ฟันโยกและหลุดในที่สุด ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “โรครำมะนาด”สาเหตุของการเกิดโรคปริทันต์การเกิดโรคปริทันต์นั้นสามารถจำแนกสาเหตุสำคัญในการเกิดได้ 2 ประการ คือ1. สาเหตุโดยตรง คือ เกิดจากสารพิษที่เป็นของเสียจากเชื้อจุลินทรีย์ในแผ่นคราบจุลินทรีย์ถูกขับออกมาตามขอบเหงือก ทำให้เหงือกอักเสบ บวมแดง เนื้อเยื่อปริทันต์ฉีกขาด และกระดูกหุ้มรากฟันละลายตัว ซึ่งอาการนี้จะเป็นไปอย่างช้าๆปัจจัยเสริมที่มีผลต่อการเกิดโรคปริทันต์ คือ หินน้ำลายหรือหินปูน ซึ่งเกิดจากการตกตะกอนของแคลเซียมและฟอสฟอรัสในน้ำลายรวมกับแผ่นคราบจุลินทรีย์ แล้วค่อยๆ เปลี่ยนสภาพจากอ่อนนุ่มเป็นแข็งขึ้นตามระยะเวลา จนในที่สุดก็จับเป็นก้อนแข็ง ไม่อาจขจัดออกได้ด้วยการแปรงฟัน จึงทำให้การอักเสบของเหงือกรุนแรงขึ้น จนเป็นหนองหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “รำมะนาด” ส่งผลให้มีกลิ่นปาก ฟันโยก และหลุดไป2. สาเหตุทางอ้อม มีอยู่ด้วยกันหลายสาเหตุ ได้แก่การขาดสารอาหาร โดยเฉพาะการขาดวิตามินซี วิตามินบี และวิตามินดีฟันซ้อนเก ฟันเรียงตัวไม่เป็นระเบียบ หรือมีลักษณะฟันผิดปกติ ทำให้ทำความสะอาดยากใส่ฟันปลอมไม่ถูกสุขลักษณะการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนของร่างกาย หรือร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงบางสภาวะ เช่น หญิงมีครรภ์ การเข้าสู่วัยหนุ่มสาว เป็นต้นลักษณะของอาหารที่รับประทาน ถ้าอาหารติดฟันได้ง่ายหรือมีส่วนผสมของน้ำตาลมากๆ จะทำให้มีการสะสมของแผ่นคราบจุลินทรีย์มากขึ้นการเคี้ยวอาหารโดยใช้ฟันเพียงข้างเดียว ฟันข้างที่ไม่ได้ใช้จะไม่ได้รับการขัดสีจากอาหาร ทำให้แผ่นคราบจุลินทรีย์และหินน้ำลายสะสมมากขึ้นการหายใจทางปาก หรือริมฝีปากปิดไม่สนิทการระคายเคืองจากสารเคมีอาการของโรคปริทันต์โดยปกติเหงือกของเราจะมีลักษณะแน่น แนบกับคอฟัน มีสีชมพูอ่อนหรือสีคล้ำตามสีผิว และมีร่องฟันตื้นๆ โดยรอบลึกประมาณ 1 - 2 มิลลิเมตร เมื่อเป็นโรคนี้จะเริ่มมีอาการอักเสบของขอบเหงือก เหงือกมีสีแดงจัด เป็นมันวาว ขอบเหงือกไม่แนบกับคอฟัน บวม และมีเลือดออกง่าย บางครั้งอาจมีหนองไหลเมื่อใช้มือกด ถ้ามีการทำลายเนื้อเยื่อปริทันต์และกระดูกหุ้มรากฟันมากขึ้นร่องปริทันต์ก็อาจจะลึกมากขึ้นโดยโรคปริทันต์จะสามารถแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้ระยะที่ 1 สารพิษของเชื้อจุลินทรีย์จะทำให้เกิดการอักเสบของเหงือกและเนื้อเยื่อปริทันต์ เหงือกจะบวมแดง ขอบเหงือกไม่แนบสนิทกับคอฟัน และอาจมีเลือดออกขณะแปรงฟันระยะที่ 2 เมื่อเหงือกอักเสบนานๆ เหงือกที่บวมจะขยับเผยอออก มีคราบจุลินทรีย์สะสมหนาขึ้น เกิดหินน้ำลายต่อมาเหงือกอักเสบจะแยกตัวจากฟันมากขึ้น กระดูกหุ้มรากฟันจะถูกทำลาย ลักษณะเหงือกจะมีสีแดงคล้ำ บวม มีเลือดไหลออกจากเหงือกที่บวม เหงือกร่น และมีกลิ่นปากระยะที่ 3 หินน้ำลายจะเกาะหนาและขยายไปยังปลายรากฟัน กระดูกหุ้มรากฟันถูกทำลาย เหงือกร่นมากขึ้น ฟันโยก มีอาการเจ็บขณะเคี้ยวอาหาร มีหนองและเลือดไหลบริเวณเหงือกที่อักเสบ และมีกลิ่นปากรุนแรงระยะที่ 4 ในระยะนี้โรคจะลุกลามมาก อาจมีฝีที่เหงือก ทำให้เหงือกบวม มีอาการปวดมากจนไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ ฟันโยกมาก และไม่สามารถรักษาฟันให้กลับคืนสภาพเดิมได้ ทำให้ต้องถอนหรือปล่อยให้หลุดไปเองผลเสียของโรคปริทันต์1. ติดเชื้อ เป็นหนอง เจ็บปวดทรมานและมีกลิ่นปาก2. ฟันโยก เคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียด3. สูญเสียฟันหลายซี่พร้อมๆ กัน4. เชื้อโรคแพร่กระจายสู่ส่วนอื่นๆ ของร่างกายการรักษาโรคปริทันต์วิธีการรักษาโรคปริทันต์นั้นสามารถทำได้ด้วยตนเองร่วมกับการรักษาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีวิธีการรักษา ดังนี้1. การรักษาจะต้องมีการขูดหินปูนและเกลารากฟันร่วมด้วย โดยจะขูดหินปูนทั้งบนตัวฟันและส่วนที่อยู่บนผิวรากฟันภายในร่องปริทันต์ ส่วนการเกลารากฟันคือ การทำให้ผิวรากฟันเรียบเพื่อให้เนื้อเยื่อเหงือกสามารถกลับมายึดติดกับผิวฟันได้เหมือนเดิม ซึ่งขั้นตอนนี้จะต้องทำซ้ำหลายๆ ครั้ง2. หลังจากการรักษาด้วยการขูดหินปูนและเกลารากฟันเสร็จแล้วประมาณ 4 - 6 สัปดาห์ ทันตแพทย์จะดูอาการอีกครั้งว่าหายดีหรือไม่ ถ้ายังมีร่องลึกปริทันต์เหลืออยู่หรือมีการละลายของกระดูกไปมาก อาจจำเป็นต้องใช้วิธีการผ่าตัดเหงือก3. ต้องทำความสะอาดฟันและซอกฟันอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอ อย่างน้อยจะต้องใช้แปรงสีฟันและไหมขัดฟันทุกวัน เพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ที่เกิดในทุกวันให้หมดไป4. ควรไปพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจดูว่ามีคราบจุลินทรีย์และหินปูนหลงเหลือจากการทำความสะอาดเองหรือไม่ เพื่อที่จะได้รับการรักษาในระยะแรกให้ถูกต้องหากผู้ที่ป่วยเป็นโรคปริทันต์มากๆ จำเป็นต้องพบทันตแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษาและใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปากอย่างจริงจัง และเพียงพอต่อการควบคุมโรค แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคสำหรับคนไข้ที่เป็นโรคเหงือกมากๆ การรักษาแค่นี้อาจจะไม่ได้ผล ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัด ในการรักษาโรคนี้ในแต่ละรายจะมีระดับที่แตกต่างกันออกไปตามความรุนแรงของโรค ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยเองและแพทย์ประกอบกันการป้องกันโรคปริทันต์เนื่องจากสาเหตุหลักของโรคนี้คือ เชื้อแบคทีเรียในช่องปากที่เกาะอยู่บนตัวฟัน ซึ่งจะสามารถเกาะได้แน่นขึ้นและก่อโรคได้ง่ายขึ้นหากมีหินปูนเป็นที่อยู่อาศัย เพราะฉะนั้นวิธีการป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือ การดูแลรักษาช่องปากของตัวเอง แปรงฟันให้สะอาด ใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดที่เหมาะสมกับลักษณะช่องปากและขูดหินปูนอย่างสม่ำเสมอสมุนไพรรักษาโรคปริทันต์สมุนไพรไทยหลายชนิดสามารถนำมารักษาหรือบรรเทาอาการของโรคปริทันต์ได้ โดยมีวิธีดังนี้สูตรที่ 1 นำหัวข่ามาหั่นเป็นแว่นๆ ล้างให้สะอาด โขลกกับเกลือมากๆ จนมีรสเค็มจัด เมื่อตื่นนอนใช้นิ้วแตะสมุนไพรนำมาสีฟันให้ทั่ว แล้วอมไว้ประมาณ 5 นาที จึงค่อยแปรงฟันตามปกติสูตรที่ 2 นำต้นชะพลูทั้งรากประมาณ 6 - 9 ต้น ผสมกับเกลือ 1 กำมือ ใส่น้ำให้ท่วม แล้วต้มเคี่ยวประมาณครึ่งชั่วโมง เอาน้ำที่ได้มาอมไว้สักพัก สูตรที่ 3 นำผลมะขามป้อมทุบพอแตก 1 ถ้วย ผสมกับเกลือ 1 ถ้วย ต้มเคี่ยวให้เหลือประมาณ 1 ใน 4 ส่วน กรอกใส่ขวดไว้ เมื่อตื่นนอนตอนเช้าอมสักพัก แก้ฟันเป็นรำมะนาด และแก้ฟันโยกคลอนสูตรที่ 4 นำรากอัญชันขาวทุบพอช้ำผสมกับการบูร 1 ใน 4 ส่วนของรากอัญชันขาว ใส่เหล้าหรือแอลกอฮอล์ (ชนิดกินได้) ให้ท่วม แล้วแช่ไว้ประมาณ 3 วัน นำมาอมแก้รำมะนาดสูตรที่ 5 นำเปลือกต้นข่อยผสมกับเกลือให้เค็มจัด ต้มกับน้ำ 3 ส่วน เคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน ใส่ขวดเก็บไว้ อมวันละครั้งเวลาเช้าสูตรที่ 6 ใช้สำลีชุบน้ำมันกานพลูอุดลงไปบริเวณฟันที่ปวดหรือเคี้ยวสำลีไว้ในปากบริเวณที่ปวดฟัน และสำหรับจะกำจัดกลิ่นปากก็ทำได้โดยการอมดอกตูมแห้งของกานพลูไว้ 2 - 3 ดอก นาน 1 - 2 นาที แล้วบ้วนทิ้งโรคปริทันต์เป็นโรคที่เริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ แต่หากปล่อยไว้ก็อาจลุกลามจนไม่สามารถรักษาให้หายและกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ ดังนั้นทางที่ดีควรรักษาสุขภาพในช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอและหมั่นตรวจสุขภาพในช่องปากตามคำแนะนำของแพทย์จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคปริทันต์ได้