free web tracker, fire_lady “โรคหอบหืด” รู้สาเหตุ-อาการ รักษาได้ไม่ยากอย่างที่คิด • สุขภาพดี

โรคหอบหืด” รู้สาเหตุ-อาการ รักษาได้ไม่ยากอย่างที่คิด

โรคหอบหืด สาเหตุ อาการ

โรคหอบหืด” (Asthma) หรืออาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “โรคหืด” เป็นโรคที่เกิดจากการหดตัวหรือตีบตันของระบบทางเดินหายใจ เยื่อบุผนังหลอดลมอักเสบ ทำให้ไวต่อสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย จึงเกิดการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อบริเวณหลอดลม ทำให้หายใจลำบาก อากาศเข้าสู่ปอดน้อยลง อาจมีอาการไอและเจ็บหน้าอก ทั้งนี้โรคหอบหืดยังสามารถเกิดได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่อีกด้วย

สาเหตุของโรคหอบหืด 

ดังที่ได้กล่าวมาในเบื้องต้นแล้วว่าสาเหตุของโรคหอบหืดนั้นเกิดจากการที่หลอดลมมีภาวะไวต่อการกระตุ้นจากสารก่อภูมิแพ้ ทำให้กล้ามเนื้อของหลอดลมหดเกร็ง มีการอาการบวมของเยื่อบุบริเวณหลอดลม ทำให้เกิดการอักเสบ ตีบ และหายใจลำบาก ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการมีดังนี้

1. พันธุกรรม หากมีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคหอบหืดก็มีโอกาสสูงมากที่จะป่วยเป็นโรคหอบหืดเหมือนกัน

2. โรคภูมิแพ้ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้และได้รับสารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญ เช่น ขนสัตว์เลี้ยง ไรฝุ่น  สปอร์เชื้อรา และเกสรดอกไม้ มีโอกาสก่อให้เกิดโรคหอบหืดได้

3. สารเคมี สารเคมีบางอย่างที่ใช้ในชีวิตประจำวันอาจกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น เช่น กลิ่นสี ยาฆ่าแมลง สเปรย์แต่งผม รวมไปถึงควันบุหรี่

4. การออกกำลังกาย การที่ต้องออกแรงในการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างหนัก รวมถึงการออกกำลังกายในที่ที่มีอากาศเย็น

5. ภาวะทางอารมณ์ โรคหอบหืดมักเกิดขึ้นในผู้ที่มีความเครียด ส่งผลให้หายใจผิดปกติ ซึ่งหายใจแบบลึกบ้างตื้นบ้างสลับกันไปมา

6. สารในกลุ่มซัลไฟต์ (Sulfites) สารกันบูด และสารที่เจือปนในอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด เช่น ผลไม้แห้ง เบียร์ ไวน์ เป็นต้น

7. โรคกรดไหลย้อน ภาวะที่มีกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการแสบร้อนในอก ยิ่งป่วยเป็นโรคหอบหืดอยู่จะทำให้มีอาการบ่อยขึ้นและรุนแรงมากขึ้น

8. ไวรัสทางเดินหายใจ

9. ไซนัสอักเสบเรื้อรัง

สาเหตุของโรคหอบหืด

อาการของโรคหอบหืด

โดยทั่วไปอาการของโรคหอบหืดจะเกิดแตกต่างกันไป บางรายมีอาการเป็นพักๆ บางรายก็มีอาการอย่างต่อเนื่อง แต่อาการโดยทั่วไปของผู้ป่วยโรคหอบหืดจะมีอาการ ดังนี้

1. มีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ เช่น หายใจลำบาก หรือหายใจแล้วมีเสียงวี้ด เป็นต้น
2. มีอาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก และมักมาพร้อมกับอาการเหนื่อยหอบ
3. มีอาการไอ
4. นอนหลับไม่สนิท เนื่องจากหายใจติดขัด

นอกจากนี้ยังมีอาการหอบหืดที่รุนแรงซึ่งมีอันตรายถึงชีวิต โดยจะปรากฏอาการ ดังนี้

1. มีอาการหายใจหอบถี่ หายใจลำบาก หายใจมีเสียง และมีอาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว
2. ถึงแม้จะใช้อุปกรณ์พ่นยา เช่น อัลบิวเทอรอล แล้วก็ไม่ช่วยให้อาการดีขึ้นเลย
3. มีอาการหายใจหอบ แม้จะทำเพียงกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังเล็กน้อยเท่านั้น

โดยอาการของโรคหอบหืดอาจกำเริบขึ้นได้ตามสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. โรคหอบหืดขณะออกกำลังกาย ผู้ป่วยควรออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย โดยหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในที่ที่มีอากาศแห้งและเย็น
2. โรคหอบหืดจากการทำงาน มักเกิดกับผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในบรรยากาศที่มีสารก่อโรค เช่น แก๊ส ฝุ่น และควันจากสารเคมี
3. โรคหอบหืดที่เกิดจากการแพ้ โดยอาจเกิดในผู้ป่วยที่แพ้แตกต่างกันไป เช่น แพ้เกสรดอกไม้ แพ้เชื้อราที่ลอยในอากาศ หรือแพ้อากาศเย็น

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหอบหืด

โดยทั่วไปแล้วโรคหอบหืดจะไม่ปรากฏภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง แต่ในบางรายก็มีอาการรุนแรง เช่น เมื่อมีเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนอาจทำให้เป็นไซนัสอักเสบ บางรายเป็นเนื้องอกในโพรงจมูก บางรายได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาเป็นเวลานาน หรือบางรายหลอดลมตีบอย่างถาวร ทำให้มีปัญหาในการหายใจ

การวินิจฉัยโรคหอบหืด

การวินิจฉัยโรคหอบหืดในเบื้องต้นสามารถทำได้จากการซักประวัติของผู้ป่วยและการตรวจร่างกาย นอกจากนี้แพทย์จะตรวจสมรรถภาพของปอด เพื่อดูอาการซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

1. สไปโรเมทรีย์ (Spirometry) เป็นเครื่องตรวจสมรรถภาพปอด ซึ่งเป็นการวัดปริมาตรของอากาศที่หายใจเข้าและออกจากปอด
2. พีค โฟลว์ มิเตอร์ (Peak Flow Meter) เป็นเครื่องวัดความเร็วสูงสุดของลมที่เป่าออกได้
3. การทดสอบทางหลอดลม (Bronchial Provocation Test) เป็นการวัดความไวของหลอดลมต่อสิ่งกระตุ้น จะใช้ก็ต่อเมื่อทดสอบโดย 2 วิธีแรกแล้วยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ โดยจะใช้สารสารเมธาโคลีน (Methacholine) เป็นตัวกระตุ้น
4. การใช้เครื่องตรวจวัดความอิ่มตัวออกซิเจนของฮีโมโกลบินในชีพจร (Pulse Oximetry) เป็นการวัดและประเมินภาวะการขาดออกซิเจนได้อย่างรวดเร็ว

ระดับความรุนแรงของโรคหอบหืด

ระดับความรุนแรงของโรคหอบหืดนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 4 ขั้น คือ

1. มีอาการนานๆ ครั้ง (Intermittent Asthma) โดยจะมีอาการน้อยกว่า 1 ครั้ง/สัปดาห์ หรือมีอาการตอนกลางคืนน้อยกว่า 2 ครั้ง/ เดือน
2. มีอาการรุนแรงน้อย (Mild Persistent Asthma) โดยมีอาการมากกว่า 1 ครั้ง/สัปดาห์ หรือมีอาการตอนกลางคืนมากกว่า 2 ครั้ง/ เดือน
3. มีอาการรุนแรงปานกลาง (Moderate Persistent Asthma) โดยจะมีอาการเกือบทุกวัน หรือมีอาการตอนกลางคืนมากกว่า 2 ครั้ง/ สัปดาห์
4. มีอาการรุนแรงมาก (Severe Persistent Asthma) โดยจะมีอาการตลอดเวลา

การรักษาโรคหอบหืด

โรคหอบหืดโดยทั่วไปแล้วเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือ ควบคุมอาการให้เป็นปกติได้นานที่สุด ในผู้ป่วยที่มีอาการบ่อยๆ จะรักษาด้วยการใช้ยาที่เหมาะสมกับอาการ โดยยาที่ใช้รักษาหอบหืดสามารถจำแนกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

วิธีรักษาโรคหอบหืด

1. ยาที่ใช้ควบคุมโรคหอบหืด (Controllers) เป็นยาที่ต้องใช้เป็นประจำ เพื่อรักษาอาการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ยาที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดคือ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูด (Inhaled Corticosteroid) หรือยากลุ่มอื่น ๆ ที่สามารถใช้ได้ เช่น ยาต้านลิวโคไทรอีน (Leukotriene Modifier Antagonist) เป็นต้น

2. ยาที่ใช้บรรเทาอาการโรคหอบหืด (Relievers) จะใช้ยานี้เฉพาะเมื่อมีอาการหอบหืดเท่านั้น ได้แก่ ยาพ่นขยายหลอดลมชนิดเบต้า 2 (Beta2-agonists) หากผู้ป่วยมีการใช้ยาพ่นบ่อยครั้งหรือเป็นประจำ อาจทำให้มีอาการเรื้อรังและควบคุมอาการได้ไม่ดีเท่าที่ควร

การป้องกันโรคหอบหืด 

เบื้องต้นผู้ป่วยควรสังเกตอาการของตนเอง และพยายามควบคุมไม่ให้อาการกำเริบ ทั้งนี้ต้องดูแลตนเองและให้ความร่วมมือกับแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งการป้องกันและควบคุมอาการของโรคหอบหืด มีดังนี้

1. ตรวจสอบการหายใจของตนเอง ถึงสัญญาณเตือนว่าอาการหอบจะกำเริบ เช่น การไอ หายใจมีเสียง หายใจสั้น เป็นต้น
2. รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันปอดบวม เพื่อป้องกันการเกิดโรคเหล่านี้ที่เป็นตัวกระตุ้นอาการของโรคหอบหืด
3. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นโรค และหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ
4. พบแพทย์และรับการตรวจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน และควบคุมอาการของโรคให้เป็นปกติ รวมทั้งควรใช้ยาตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น
5. ผู้ป่วยควรมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรค เช่น การใช้ยาให้ถูกต้อง การใช้อุปกรณ์พ่นยา และการดูแลตัวเองเมื่อป่วยเป็นโรคหอบหืด
6. รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ รวมทั้งรับประทานอาหารที่ช่วยลดการอักเสบและการอุดตันบริเวณทางเดินหายใจ ได้แก่ ผักผลไม้สด เมล็ดธัญพืช และเนื้อปลา ที่สำคัญควรดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ

สมุนไพรรักษาโรคหอบหืด

1. ดอกปีบ หรือ ดอกกาสะลอง ในดอกและใบของปีบนั้นมีสาร Hispidulin ที่ช่วยขยายหลอดลมของผู้ป่วยโรคหอบหืดได้ ไม่ส่งผลกระทบหรือสารตกค้างในร่างกาย จึงนิยมนำมาต้มเพื่อรักษาอาการไอ และหอบหืด

2. หอมแดง หอมแดงมีคุณสมบัติในเรื่องของการเป็นน้ำมันหอมระเหยและมีสารไบโอฟลาโวนอยด์ ที่สามารถขยายหลอดลมได้ นอกจากนี้หอมแดงยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก อุดมไปด้วยวิตามิน และยังมี
กรดกำมะถัน ซึ่งทำให้มีกลิ่นฉุนจึงช่วยรักษาอาการภูมิแพ้ ไข้หวัด และหอบหืดได้ วิธีการคือ เอาหอมแดงสด ขิง และกระเทียมอย่างละ 1 กำมือ ปอกเปลือกแล้วล้างให้สะอาด จากนั้นปั่นให้ละเอียดผสมน้ำลงไป 1 แก้ว
แล้วกรองเอาเฉพาะน้ำ รับประทานก่อนนอนครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ จะรู้สึกว่าอาการดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์

3. หนุมานประสานกาย หรือ สังกรณี การรับประทานสมุนไพรชนิดนี้จะใช้ส่วนของใบที่กึ่งอ่อนกึ่งแก่มาเคี้ยวสดๆ จนจืด หรือเอาใบไปตากแห้งแล้วนำมาต้มกับน้ำร้อน ทั้งสองสูตรรับประทานเช้า – เย็นเหมือนกัน สมุนไพรตัวนี้มีผลข้างเคียงอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตต่ำ โรคหัวใจ และหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทาน เพราะอาจเกิดอาการเวียนศีรษะ อาเจียน และแน่นหน้าอกได้

4. ผีเสื้อดำ หรือ คนทีเขมา เป็นสมุนไพรที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถรักษาโรคหอบหืดได้มาอย่างยาวนาน มีลักษณะเป็นน้ำมันหอมระเหยคล้ายหอมแดง โดยส่วนที่นำมาใช้คือ ส่วนของเมล็ดที่เอามาตากแห้งแล้วบดชงกับน้ำร้อนดื่ม

5. ไพล ไพลเป็นสมุนไพรที่มีลักษณะคล้ายๆ ขิง แต่มีสีเหลืองเข้มกว่า มีสารเวอราทอลที่ช่วยในการขยายหลอดลมได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อใช้นานๆ จะทำให้เกิดผลอันตรายต่อตับ

ใครก็ตามที่กำลังป่วยเป็นโรคหอบหืดลองปฏิบัติตามแนวทางการรักษาและการป้องกันดู หรืออาจลองนำสมุนไพรต่างๆ ที่กล่าวข้างต้นมาใช้ อาจทำให้อาการป่วยของโรคหอบหืดดีขึ้นจนเป็นที่น่าพอใจ