free web tracker, fire_lady “โรคไวรัสตับอักเสบ” สาเหตุ-อาการ-วิธีรักษา...โรคร้ายที่ป้องกันได้ • สุขภาพดี

ไวรัสตับอักเสบ” สาเหตุ-อาการ-วิธีรักษา...โรคร้ายที่ป้องกันได้

โรคไวรัสตับอักเสบ สาเหตุ อาการ

โรคชนิดหนึ่งที่ใครหลายคนอาจเคยได้ยินมาก่อน แต่ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วโรคนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร มีอาการอะไรบ้าง และต้องรักษาอย่างไร ดังนั้นวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับโรคนี้กันให้มากขึ้นนั่นคือ “โรคไวรัสตับอักเสบ

ไวรัสตับอักเสบ คือ?

ไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis) คือ โรคที่เกิดการอักเสบของเซลล์ตับจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มไวรัสตับอักเสบ โดยการติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นการอักเสบแบบเฉียบพลัน โดยส่วนใหญ่เมื่อหายแล้วร่างกายจะกลับมาเป็นปกติ แต่บางคนที่โรคไม่หายอาจกลายเป็นการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งมักเกิดโรคตับแข็งตามมา นอกจากนี้บางคนมีเชื้อไวรัสนี้อยู่ในตัวโดยไม่มีอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้

ไวรัสตับอักเสบเป็นโรคที่พบได้ในทุกอายุและมีโอกาสเกิดโรคได้ใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ไวรัสตับอักเสบจัดเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง บางชนิดติดต่อทางทางเดินอาหาร เช่น ไวรัสตับอักเสบ เอ บางชนิดติดต่อทางสารคัดหลั่ง เช่น ไวรัสตับอักเสบ บี บางชนิดติดต่อจากการรับเลือดในการรักษาโรคต่าง ๆเช่น ไวรัสตับอักเสบ บี และไวรัสตับอักเสบ ซี และบางชนิดติดต่อจากแม่สู่ลูกจากการคลอดบุตร เช่น ไวรัสตับอักเสบ บี เป็นต้น

สาเหตุของการเกิดไวรัสตับอักเสบ

ไวรัสตับอักเสบอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุขึ้นอยู่กับว่าป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบชนิดไหน ซึ่งมีสาเหตุแตกต่างกัน ดังนี้

1. ไวรัสตับอักเสบ เอ เกิดจากการรับเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอ (Hepatitis A Virus: HAV) ผ่านทางการรับประทานอาหารหรือการดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสซึ่งออกมาจากอุจจาระของผู้ที่ติดเชื้อ โดยส่วนใหญ่มักพบในที่ที่มีการจัดการสาธารณูปโภคไม่ดี

2. ไวรัสตับอักเสบ บี เกิดจากการติดต่อผ่านทางเลือดหรือของเหลวในร่างกาย จากแม่สู่ลูก จากการมีเพศสัมพันธ์ หรือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี (Hepatitis B Virus: HBV)

3. ไวรัสตับอักเสบ ซี เกิดจากการได้รับของเหลวจากร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดซี(Hepatitis C Virus: HCV) โดยตรง ทั้งจากการมีเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ หรือติดต่อผ่านทางเลือดจากแม่สู่ลูก ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี อาจป่วยเรื้อรังหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

4. ไวรัสตับอักเสบ ดี เป็นไวรัสตับอักเสบชนิดที่รุนแรงและพบได้น้อย เกิดจากการรับเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดดี (Hepatitis D Virus: HDV) จากเลือดของผู้ที่ติดเชื้อโดยตรง และเกิดขึ้นกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี อยู่แล้วเท่านั้น เพราะไวรัสตับอักเสบชนิดดีไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ หากไม่มีไวรัสตับอักเสบชนิดบีในร่างกาย

5. ไวรัสตับอักเสบ อี เป็นการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดอี (Hepatitis E Virus: HEV) จากการบริโภคน้ำดื่มหรืออาหารที่มีอุจจาระที่ติดเชื้อปนเปื้อนอยู่ โดยส่วนใหญ่พบได้ในพื้นที่ที่มีปัญหาด้านสาธารณสุข หรือการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการปรุงสุกก่อน

6. ตับอักเสบจากการดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากอาจเป็นเหตุให้ตับอักเสบได้ หากปล่อยไว้นานและไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่ภาวะตับวายและโรคตับแข็งได้

7. ตับอักเสบจากยาและได้รับสารพิษ การใช้ยาเกินปริมาณและระยะเวลาที่กำหนด หรือแม้แต่การใช้ยาบางชนิดในปริมาณน้อยเกินไปก็สร้างความเสียหายต่อตับได้ เช่น ยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของพาราเซตามอลยากลุ่มเอ็นเสด ยาคุมกำเนิด ยาแก้อักเสบอะม็อกซีซิลลินที่มีส่วนผสมของคลาวูลาเนท ยากลุ่มซัลฟา ยากลุ่มสแตติน ยาอะมิโอดาโรน ยาอะนาบอลิกสเตียรอยด์ ยาคลอร์โปรมาซีน ยาอิริโทรมัยซิน ยาเมทิลโดปา ยาไอโซไนอาซิด ยาเมโธเทรกเซท ยาเตตราไซคลีน และยากันชักบางชนิด เป็นต้น

นอกจากนี้การได้รับสารเคมีบางชนิดเข้าสู่ร่างกายก็อาจทำให้ตับอักเสบได้ เช่น สารคาร์บอนเตตระคลอไรด์ สารกำจัดศัตรูพืชพาราคว็อท และสารโพลีคลอริเนตไปฟีนิล รวมถึงสมุนไพรและอาหารเสริมบางชนิด หากบริโภคไม่ถูกวิธีก็ทำให้ตับอักเสบได้ เช่น ว่านหางจระเข้ แบลคโคฮอส คอมเพรย์ อีเฟรดา คาวา เป็นต้น

8. ตับอักเสบจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน หากระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานผิดพลาด ขัดขวางการทำงานของตับอาจเกิดการอักเสบได้ โดยสาเหตุนี้มีโอกาสเกิดขึ้นกับเพศหญิงได้มากกว่าเพศชาย

ชนิดของไวรัสตับอักเสบ

ชนิดของไวรัสตับอักเสบ

ดังที่ได้กล่าวไปในเบื้องต้นแล้วว่า ไวรัสตับอักเสบมีหลายชนิดหรือหลายสายพันธุ์ย่อย โดยมีตั้งแต่ไวรัสตับอักเสบชนิด เอ ไล่ไปจนถึงไวรัสตับอักเสบชนิด เอช และยังมีอื่น ๆ อีกหลายชนิด แต่ที่พบบ่อยที่สุด คือ ไวรัสตับอักเสบ เอ ไวรัสตับอักเสบ บี และไวรัสตับอักเสบ ซี โดยไวรัสตับอักเสบทุกชนิดจะปรากฏอาการที่คล้ายคลึงกัน แต่จะแยกชนิดจากกันโดยการตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทานโรคต่อเชื้อชนิดต่างๆ นั่นเอง

อาการของไวรัสตับอักเสบ

ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่าอาการของไวรัสตับอักเสบทุกสายทุกชนิดจะปรากฏอาการคล้ายกัน ซึ่งจะรุนแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณไวรัสที่ร่างกายได้รับและสุขภาพเดิมของผู้ป่วยด้วย โดยอาการที่พบบ่อยของไวรัสตับอักเสบ ได้แก่

1. มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว คล้ายอาการของโรคไข้หวัด แต่จะอ่อนเพลียมากกว่าไข้หวัดมาก
2. มีอาการคลื่นไส้ และอาเจียน
3. อาจมีอาการท้องเสีย
4. เจ็บบริเวณใต้ชายโครงขวา ซึ่งเป็นตำแหน่งของตับ
5. มักตาเหลืองและตัวเหลือง (โรคดีซ่าน) ปัสสาวะมีสีเข้ม
6. ตับอาจโตจนสามารถคลำได้

ภาวะแทรกซ้อนของตับอักเสบ

ในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และซี ชนิดเรื้อรัง อาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้มากกว่าไวรัสชนิดอื่นๆ เช่น โรคตับเรื้อรัง โรคตับแข็ง และโรคมะเร็งตับ นอกจากนี้หากเกิดความเสียหายจนกระทบต่อการทำงานของตับ อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะตับวาย รวมทั้งมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายอื่นๆ ได้ เช่น

1. ภาวะเลือดออกผิดปกติ
2. ท้องมาน
3. ภาวะความดันสูงในระบบหลอดเลือดดำของตับ
4. ภาวะไตวาย
5. อาการทางสมองที่มีสาเหตุจากโรคตับ
6. โรคมะเร็งตับ
7. หากรุนแรงมากอาจเสียชีวิตได้

การวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบ

แพทย์จะวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบได้จากประวัติของผู้ป่วย ประวัติการสัมผัสโรค เช่น การรับประทานอาหาร การได้รับเลือด การมีเพศสัมพันธ์ที่สำส่อน หรือการใช้ยาเสพติด ประกอบกับการตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดูการทำงานของตับและดูสารภูมิต้านทาน เพื่อแยกว่าเป็นการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดใด นอกจากนี้อาจมีการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจภาพตับด้วยการอัลตราซาวด์ เป็นต้น

การรักษาไวรัสตับอักเสบ

แนวทางการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบทุกชนิดมักเป็นการประคับประคองตามอาการ ไม่มีการรับประทานยาปฏิชีวนะ เพราะยาปฏิชีวนะฆ่าไวรัสไม่ได้ ดังนั้นการดื่มน้ำสะอาดในปริมาณมากกว่าปกติและพักผ่อนให้มากๆ ร่างกายจะค่อยๆ ฟื้นตัวจนหายไปเอง หรืออาจมีการใช้ยาเพิ่มภูมิต้านทานและการใช้ยาอื่นๆ ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์

วิธีรักษาไวรัสตับอักเสบ

การป้องกันไวรัสตับอักเสบ

วิธีการป้องกันไวรัสตับอักเสบที่สำคัญที่เราสามารถทำได้ด้วยตัวเอง คือ
1. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่าง ๆ และเพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง
2. ล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังการเข้าห้องน้ำ
3. รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ดื่มน้ำสะอาด และระวังการรับประทานน้ำแข็ง
4. รักษาความสะอาดของภาชนะที่ใช้ใส่อาหาร เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน เป็นต้น
5. ระมัดระวังการสัมผัสเลือดและสารคัดหลั่งของบุคคลอื่น รวมถึงการใช้เครื่องมือบางอย่างร่วมกันเช่น เข็มฉีดยา เครื่องมือสัก และกรรไกรตัดเล็บ
6. ผู้ชายควรใช้ถุงยางอนามัยเสมอเมื่อมีเพศสัมพันธ์
7. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ เช่น วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี เป็นต้น

การดูแลตัวเองเมื่อป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบ

เมื่อมีอาการต่างๆ ที่อาจพอคาดเดาได้ว่าอาจป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบควรดูแลตนเองให้ดี หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 - 2 วัน โดยเฉพาะเมื่อมีไข้สูง ดื่มน้ำได้น้อย คลื่นไส้มาก อาเจียนมาก เจ็บใต้ชายโครงขวามาก ปวดท้องมาก หรือมีตาและตัวเหลือง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ส่วนการดูแลตนเองหลังพบแพทย์สามารถทำได้ ดังนี้

1. ปฏิบัติตนตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
2. พักผ่อนให้เต็มที่ ควรหยุดงานหรือหยุดโรงเรียนตามคำแนะนำของแพทย์
3. ดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8 - 10 แก้ว
4. รับประทานยาบรรเทาอาการต่าง ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์
5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ แต่ควรเป็นอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย และเพิ่มผักผลไม้ในมื้ออาหารให้มากๆ
6. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
7. ไม่ซื้อยารับประทานเอง เพราะอาจส่งผลให้ตับอักเสบเพิ่มขึ้น หรืออาจมีผลข้างเคียงจากยาเพิ่มขึ้น เพราะตับไม่สามารถกำจัดยาส่วนเกินออกจากร่างกายได้ตามปกติ
8. ล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังการเข้าห้องน้ำ
9. แยกเครื่องใช้ของใช้ส่วนตัว โดยเฉพาะแก้วน้ำและช้อน
10. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อลดความรุนแรงของโรคและลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น
11. พบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม
12. ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัดหรือเป็นการฉุกเฉินเมื่อรับประทานอาหารไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ เกิดอาการสับสน หรือรู้สึกซึมๆ ลง เพราะเป็นอาการของตับวาย

การรักษาสุขอนามัยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะถือเป็นสาเหตุหลักๆ ในการเกิดโรคต่างๆ มากมาย รวมถึงโรคไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ ด้วย ดังนั้นคงไม่ใช่เรื่องยากเลยที่เราจะหันมาใส่ใจรักษาสุขอนามัยให้ดี เพราะสุขอนามัยที่ดีเริ่มที่ตัวคุณ