free web tracker, fire_lady “โรคไส้เลื่อน” สาเหตุ-อาการจากภาวะลำไส้เคลื่อนตัวผิดปกติ • สุขภาพดี

โรคไส้เลื่อน” สาเหตุ-อาการจากภาวะลำไส้เคลื่อนตัวผิดปกติ อันตรายไหม?

โรคไส้เลื่อน สาเหตุ อาการ

หากพูดถึงโรคๆ หนึ่งอย่าง “โรคไส้เลื่อน” เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักโรคนี้กันพอสมควร โรคไส้เลื่อน (Hernia) คือ ภาวะที่ลำไส้เคลื่อนตัวออกมาจากตำแหน่งเดิม ทำให้เห็นเป็นลักษณะคล้ายก้อนตุง ซึ่งเกิดจากความอ่อนแอของผนังช่องท้องที่มีมาตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดภายหลังก็ได้ เช่น จากการผ่าตัด ภาวะแรงดันที่มากผิดปกติภายในช่องท้อง การเบ่งจากภาวะท้องผูก การไอหรือจาม และการยกของหนัก 

สาเหตุของโรคไส้เลื่อน

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไส้เลื่อนนั้นเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนแอของเยื่อบุช่องท้อง ความอ่อนแอของกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้อง นอกจากนี้แรงดันภายในช่องท้องก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะไส้เลื่อนได้ เพราะเมื่อแรงดันในช่องท้องมากขึ้น ลำไส้ที่อยู่ภายในจะถูกดันออกมาตุงอยู่บริเวณผนังช่องท้อง โดยสาเหตุที่ทำให้แรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นมีดังนี้

1. การยกของหนักๆ ซึ่งต้องออกแรงมาก ทำให้เกิดอาการเกร็ง ปอดขยาย และดันกระบังลมลงมา ทำให้เกิดแรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น

2. การตั้งครรภ์

3. มีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย เช่น อาการท้องผูก

4. มีของเหลวอยู่ภายในช่องท้องที่เกิดขึ้นอย่างผิดปกติ

5. การไอหรือจามแรงๆ

สาเหตุของโรคไส้เลื่อน

ทั้งนี้ภาวะไส้เลื่อนยังอาจเกิดขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้

1. ผู้ป่วยเคยเป็นไส้เลื่อนมาก่อนแล้ว หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นไส้เลื่อน

2. อ้วน มีน้ำหนักเกิน

3. ผู้ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรังจากสาเหตุต่างๆ เช่น การสูบบุหรี่

4. ผู้ที่ป่วยด้วยโรคซีสติกไฟโบรซีส (Cystic fibrosis) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดความผิดปกติในการผลิตเมือกในร่างกาย โดยเฉพาะในปอดส่งผลให้หายใจลำบาก จนเป็นสาเหตุให้ไอเรื้อรัง

ประเภทของโรคไส้เลื่อน

โรคไส้เลื่อนมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทจะมีความแตกต่างกันออกไป โดยสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

1. ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ (Inguinal hernias) เกิดจากความผิดปกติของผนังช่องท้องตั้งแต่กำเนิด โดยลำไส้เคลื่อนมาติดคาที่บริเวณขาหนีบหรือถุงอัณฑะ อาการไส้เลื่อนที่ขาหนีบมักมาพร้อมกับอาการปวดหน่วงๆ หรืออาการปวดแสบปวดร้อน และจะยิ่งปวดมากขึ้นหากออกกำลังกาย ไอ หรือจาม

2. ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ (Umbilical hernias) คือภาวะที่ลำไส้เคลื่อนตัวออกมาตุงอยู่ที่บริเวณกลางหน้าท้อง ทำให้เห็นเป็นก้อนนูนบริเวณสะดือ

3. ไส้เลื่อนเนื่องจากการผ่าตัด (Incisional hernias) หากผู้ป่วยเคยได้รับการผ่าตัดที่บริเวณช่องท้องมาก่อน อาจทำให้เกิดความอ่อนแอของผนังหน้าท้องได้

4. ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ (Femoral hernias) โอกาสในการเกิดบริเวณนี้จะพบน้อยกว่าบริเวณขาหนีบ มีอาการปวดบริเวณต้นขาและขาหนีบร่วมด้วย

นอกจากนี้ยังมีภาวะไส้เลื่อนบริเวณอื่นๆ ที่สามารถพบได้ เช่น ไส้เลื่อนบริเวณกระบังลม ไส้เลื่อนบริเวณหน้าท้องเหนือสะดือ หรือไส้เลื่อนบริเวณข้างกล้ามเนื้อหน้าท้อง ซึ่งก็เกิดจากความอ่อนแอของผนังช่องท้องเช่นกัน

อาการของโรคไส้เลื่อน

อาการของโรคไส้เลื่อนที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ มีก้อนตุงอยู่บริเวณที่มีลำไส้เคลื่อนตัวออกมา และมีอาการเจ็บโดยเฉพาะเวลาที่ก้มตัว ไอ หรือยกสิ่งของ บางรายอาจมีความผิดปกติที่ช่องท้อง รู้สึกแน่นท้อง หรือมีอาการปวดแสบปวดร้อน หากมีอาการไส้เลื่อนที่บริเวณกระบังลม อาจทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน เจ็บหน้าอก หรือมีปัญหาในการกลืน แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีเพียงอาการให้เห็นภายนอกเท่านั้น

หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บบริเวณที่เป็นไส้เลื่อนอย่างเฉียบพลันหรืออาการหนักขึ้น เช่น มีอาการอาเจียน ท้องผูก มีแก๊สในกระเพาะอาหาร หรือก้อนตุงที่ผนังหน้าท้องมีลักษณะแข็งจนไม่สามารถกดบริเวณที่เป็นก้อนลงไปได้ ควรรีบพบแพทย์อย่างเร็วที่สุด เพราะอาจเป็นสัญญาณว่าเลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงลำไส้ในบริเวณที่เป็นไส้เลื่อนได้ อาจก่อให้เกิดอาการบวมและเสี่ยงต่อภาวะลำไส้ตาย ซึ่งจะต้องได้รับการผ่าตัด

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไส้เลื่อน

หากปล่อยอาการไว้จนเรื้อรังอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น อาการเจ็บหรือปวดบริเวณที่เป็นไส้เลื่อน เกิดอาการท้องผูก รู้สึกคลื่นไส้ อีกทั้งเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวอาจเกิดการติดเชื้อและเนื้อเยื่อตายในที่สุด ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

การวินิจฉัยโรคไส้เลื่อน

การวินิจฉัยโรคไส้เลื่อนสามารถทำได้ด้วยตนเอง หรือให้แพทย์ทำการวินิจฉัยก็ได้ ซึ่งมีวิธีการ ดังนี้

การวินิจฉัยด้วยตัวเอง

การวินิจฉัยด้วยตัวเองสามารถทำได้โดยการสังเกตความผิดปกติภายนอกของร่างกาย หากมีส่วนใดในบริเวณหน้าท้องหรือบริเวณขาหนีบมีลักษณะนูนเป็นก้อนออกมามากผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอย่างละเอียด

​การวินิจฉัยโดยแพทย์

แพทย์จะตรวจร่างกายภายนอกก่อนเป็นอันดับแรก โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยลุกขึ้นยืนและลองไอออกมา เพื่อให้เห็นอาการไส้เลื่อนได้ชัดเจนมากขึ้น หากอาการไส้เลื่อนไม่สามารถเห็นได้ชัดจากภายนอก อาจมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอัลตราซาวด์ ซึ่งเป็นวิธีการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนปรากฏเป็นภาพ และการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หากสงสัยว่าเป็นไส้เลื่อนที่ช่องอก แพทย์อาจทำการส่องกล้องผ่านทางลำคอลงไปยังหลอดอาหารและช่องท้องเพื่อตรวจวินิจฉัย

ในกรณีที่มีอาการข้างเคียง เช่น มีไข้ หรือมีอาการปวดมากผิดปกติ อาจมีการตรวจเพิ่มเติม ดังนี้

1. การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง (CBC)

2. การตรวจเลือดเพื่อหาระดับกรดยูเรีย ไนโตรเจน ระดับเกลือแร่ และค่าการทำงานของไต

3. การตรวจปัสสาวะ

4. การตรวจหากรดแลคติกที่เกิดจากการอักเสบ

5. การตรวจทางพยาธิวิทยาในกรณีที่ได้ชิ้นเนื้อจากการผ่าตัด

การรักษาโรคไส้เลื่อน

โรคไส้เลื่อนสามารถรักษาได้โดยวิธีการผ่าตัด ในระหว่างรอการผ่าตัดแพทย์อาจใช้ยาเพื่อประคับประคองอาการไม่ให้รุนแรงไปกว่าเดิม เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาขยายหลอดลมเพื่อลดอาการไอในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ หรือยาขับปัสสาวะเพื่อลดระดับของเหลวในช่องท้อง เป็นต้น ซึ่งการใช้ยาสามารถประคับประคองอาการไส้เลื่อนได้ชั่วคราวเท่านั้น เพราะเมื่อถึงระยะหนึ่งแพทย์จะพิจารณาให้ทำการผ่าตัดโดยเร็วที่สุด โดยปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณามีดังนี้

  • ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นเด็ก แพทย์จะพิจารณาจากขนาดของไส้เลื่อน อายุ อาการของผู้ป่วย และชนิดของไส้เลื่อนที่เป็น เช่น เด็กที่เป็นไส้เลื่อนที่สะดือ สามารถรอดูอาการจนถึงอายุ 2 ขวบแล้วค่อยพิจารณาผ่าตัดรักษา เนื่องจากสามารถหายได้เอง แต่หากเด็กมีอาการไส้เลื่อนที่ขาหนีบก็ควรได้รับการผ่าตัดเร็วที่สุด เพราะหากทิ้งไว้จะยิ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะลำไส้ติดค้างมากขึ้น
  • ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ แพทย์จะพิจารณาจากอายุของผู้ป่วย ขนาดของไส้เลื่อนด้วยการ
    อัลตราซาวด์ สีของผิวหนังบริเวณที่เป็นไส้เลื่อน หรือปริมาณน้ำในช่องท้อง หากเริ่มมีอาการปวด แพทย์จะวินิจฉัยให้มีการผ่าตัดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะบริเวณที่เป็นไส้เลื่อนเริ่มมีอาการอักเสบอย่างรุนแรงแล้ว

หากต้องได้รับการผ่าตัดในทันทีเพื่อทำการรักษา แพทย์จะเสนอการผ่าตัด 2 วิธี ดังนี้

1. การผ่าตัดแบบเปิด (Open surgery) เป็นวิธีการผ่าตัดแบบมาตรฐาน โดยแพทย์จะผ่าที่บริเวณหน้าท้องแล้วดันส่วนที่เคลื่อนออกมากลับเข้าไปสู่ตำแหน่งเดิม จากนั้นแพทย์จะใส่วัสดุคล้ายตาข่ายเพื่อเสริมความแข็งแรง วิธีการผ่าตัดนี้เป็นวิธีมาตรฐานที่นิยมใช้ และหากต้องทำการผ่าตัดไส้เลื่อนเป็นการด่วนก็จะใช้วิธีนี้

วิธีผ่าตัดรักษาโรคไส้เลื่อน

2. การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic surgery) เป็นการผ่าตัดโดยเครื่องมือเฉพาะ แผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเปิดมาก สามารถฟื้นตัวได้ไว แต่มีข้อเสียคือ ผู้ป่วยอาจกลับมาเป็นไส้เลื่อนซ้ำที่บริเวณเดิมได้ และมีค่าใช้จ่ายสูง

โดยส่วนใหญ่แล้ววิธีการผ่าตัดทั้งสองแบบผู้ป่วยสามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ทันทีหลังการผ่าตัด และสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติภายในไม่กี่สัปดาห์

วิธีการป้องกันการเกิดโรคไส้เลื่อน

โรคไส้เลื่อนสามารถป้องกันได้ โดยการรักษาระดับแรงดันภายในช่องท้องให้เป็นปกติ และลดการเกร็ง
ของกล้ามเนื้อที่บริเวณช่องท้อง ซึ่งสามารถทำได้ด้วยวิธีเหล่านี้

1. ควบคุมน้ำหนักตนเองให้เหมาะสม ไม่อ้วนจนเกินไป

2. รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเป็นประจำ เพื่อลดอาการท้องผูก

3. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือควรยกให้ถูกวิธีด้วยการย่อตัวลงและหยิบของ

4. ไม่สูบบุหรี่ เพื่อลดอาการไอ

5. ควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการไอติดต่อกันจนผิดปกติ

"โรคไส้เลื่อน" ก็ถือว่าเป็นอีกโรคหนึ่งที่มีความอันตรายและสร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้ป่วยอยู่ไม่น้อย ดังนั้นหากสงสัยหรือสังเกตอาการของตนเองแล้ว พบว่าน่าจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคไส้เลื่อน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด และหาทางรักษาที่ถูกต้อง เพราะสาเหตุ อาการ และวิธีรักษาโรคไส้เลื่อนค่อนข้างชัดเจน จึงไม่ใช่โรคร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต เพียงใส่ใจกับอาการและรับการรักษาอย่างทันท่วงที