อายุรวัฒน์เวชศาสตร์ โรคภัยใกล้ตัว December 15, 2015 Share 0 Tweet Pin 0 ใส่ใจ"อาการท้องผูก"สักนิด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี "ท้องผูก" เป็นอาการที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากเจอ แต่เชื่อเถอะว่าในช่วงชีวิตหนึ่งของทุกคนต้องเคยเป็น แต่ถ้าเราได้รู้และเข้าใจต้นสายปลายเหตุของอาการนี้อย่างถูกต้อง ก็น่าจะช่วยลดโอกาสการเกิดและบรรเทาอาการท้องผูกได้อย่างมากเลยทีเดียว อาการแบบไหนที่เรียกว่าท้องผูก สิ่งสำคัญสิ่งแรกคือเราต้องเข้าใจก่อนว่าอาการท้องผูกนั้นไม่ใช่โรคนะ แต่เป็นอาการของลำไส้ที่ไม่สามารถขับถ่ายอุจจาระได้หรือทำได้ลำบาก เพราะอุจจาระมีลักษณะแข็งเป็นก้อนเล็ก ๆ เหมือนขี้แพะ แล้วมันเกี่ยวกับการต้องถ่ายอุจจาระทุกวันหรือเปล่า ก็บอกให้เข้าใจกันใหม่เลย ในทางการแพทย์บอกว่าสำหรับบางคนที่ไม่ถ่ายทุกวันยังไม่ถือว่ามีอาการท้องผูก เนื่องจากสภาพร่างกายของแต่ละคนแตกต่างกัน ถ้าร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง การถ่ายอุจจาระวันละ 1 ครั้งจัดได้ว่าดีแล้ว แต่การถ่ายอุจจาระ 2-3 วันต่อ 1 ครั้ง ก็ยังคงปกติอยู่ (อาจมีสาเหตุมาจากระบบย่อยช้าหรือย่อยยาก) หากทำเป็นประจำและเวลาถ่ายอุจจาระเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่รู้สึกเจ็บปวด ไม่ต้องออกแรงเยอะ และถ่ายหมด ในทางกลับกันหากถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ประกอบกับถ่ายลำบาก อุจจาระแข็ง แน่นท้อง และรู้สึกยังถ่ายไม่หมด ถ้าเป็นในระยะสั้น ๆ จะส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องอืด ลำไส้ทำงานได้ไม่ดี ไม่สบายตัว เราเรียกว่าอาการท้องผูกแบบครั้งคราว แต่ถ้ามีอาการติดต่อกันนานกว่า 6 เดือนขึ้นไปถือเป็นท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งจะนำไปสู่โรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้หลายแบบ แต่ที่ชัดเจนคือโรคริดสีดวงทวาร หรืออาจบ่งชี้ได้ว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ แถมยังทำให้สุขภาพโดยรวมไม่ดีในกรณีที่ร่างกายอาจดูดน้ำจากอุจจาระกลับไปใช้อีกซึ่งนั่นเป็นสารพิษดี ๆ นี่เอง 7 สาเหตุ ทำให้เกิดอาการท้องผูก1 มีนิสัยขี้เกียจเข้าห้องน้ำและชอบอั้นอุจจาระเป็นประจำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีเพราะอุจจาระจะตกค้างอยู่บริเวณลำไส้ใหญ่เป็นเวลานาน และน้ำในอุจจาระก็ถูกร่างกายดูดกลับไปใช้ อุจจาระจึงแห้งและแข็ง2 รับประทานอาหารไม่สม่ำเสมอ ไม่มีกากใยอาหาร และดื่มน้ำน้อย3 ขาดการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง4 การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้โรคซึมเศร้า ยาบำรุงเลือด ยารักษาโรคหัวใจ ฯลฯ ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงให้เกิดอาการท้องผูก5 ใช้ยาระบายช่วยในการขับถ่ายเป็นนิสัย จนต้องพึ่งยาตลอดจะหยุดใช้ไม่ได้6 ผู้สูงอายุจะมีโอกาสเกิดอาการท้องผูกได้มากขึ้น รวมทั้งในกลุ่มผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่าเพราะผู้ชายมีลำไส้ใหญ่ที่สั้นกว่าผู้หญิง7 ผู้ป่วยในกลุ่มโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และโรคของต่อมไทรอยด์8 แนวทางป้องกันและรักษาอาการท้องผูก1 ควรเริ่มปรับตั้งแต่พฤติกรรมการถ่ายอุจจาระ เมื่อรู้สึกว่าปวดต้องรีบเข้าห้องน้ำทันที เพราะถ้าปล่อยไว้อุจจาระจะตกค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่จนแข็งและแห้งมากขึ้น และเมื่อมีสัญญาณขับถ่ายแล้วไม่สนใจ พอผ่านไปนาน ๆ เข้าก็ยิ่งทำให้สัญญาณนั้นลดลงจนไม่มีเลย2 ปรับเปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับการขับถ่ายใหม่ว่า ไม่จำเป็นต้องถ่ายทุกวัน เพราะการขับถ่ายที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับความถี่ที่ต้องขับถ่ายทุกวัน (แต่ไม่ควรเกิน 2-3 วัน) แต่เป็นสภาพของอุจจาระที่ไม่แข็งและแห้ง ขับถ่ายได้อย่างราบรื่น ไม่ต้องใช้แรงเบ่งมาก3 หากอยากฝึกนิสัยการขับถ่ายให้เป็นเวลา แนะนำว่าควรเป็นตอนเช้าและให้เวลาเพียงพอสำหรับการขับถ่ายประมาณ 5-10 นาที เบ่งเบาๆ ไม่ออกก็ไม่เป็นไร อย่าฝืน ให้ลองใหม่ไปเรื่อยๆ ถ้าพยายามฝึกถ่ายได้ทุกวันจนเป็นนิสัยจะดีมาก เพราะในความเป็นจริงเราควรเอาของเสียออกจากร่างกายทุกวันนั่นเอง4 ในแต่ละวันควรรับประทานอาหารอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอาหารที่มีกากใยเพราะจะทำให้อุจจาระมีขนาดใหญ่และนุ่มซึ่งจะไหลผ่านลำไส้ออกมาได้ง่ายขึ้น อาหารที่มีกากใยอยู่มาก อาทิ ผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง ถั่วเปลือกแข็ง โฮลเกรน ซีเรียล ที่สำคัญหากเพิ่งเริ่มรับประทานอาจยังไม่เห็นผลทันที ต้องใช้เวลาสัก 7-10 วัน ถึงจะเห็นผลชัดเจน5 การดื่มน้ำก็เป็นสิ่งจำเป็น ควรดื่มน้ำสะอาดให้ได้ 8 แก้วต่อวัน หากร่างกายขาดน้ำจะทำให้ต้องไปดูดน้ำจากอุจจาระกลับมาใช้ อุจจาระจึงแข็งทำให้ถ่ายลำบาก ในทางกลับกันการดื่มน้ำที่เพียงพอช่วยให้อุจจาระนิ่มขึ้น รวมทั้งแม้จะรับประทานกากใยอาหารเยอะแค่ไหน ถ้าไม่มีน้ำไปช่วยเสริมก็ทำให้ท้องผูกได้6 อีกสิ่งที่ควรทำควบคู่กับการกินอาหารและดื่มน้ำ คือ การออกกำลังกาย เพราะจะช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหารและบริเวณกล้ามเนื้อท้อง ส่งผลให้ลำไส้เคลื่อนไหวและบีบตัวได้ดี สามารถขับเอาอุจจาระออกจากร่างกายง่ายยิ่งขึ้น7 ระวังการใช้ยาระบาย ข้อนี้อยากให้เป็นตัวเลือกสุดท้ายในกรณีที่จำเป็นจริงๆ และควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์จะดีที่สุด เพราะเมื่อใช้ยาระบายไปนานๆ ลำไส้จะเคยชินกับยากระตุ้นทำให้ต้องใช้เป็นประจำ และอาจต้องเพิ่มปริมาณของยาด้วย8 แนะนำ "พรุน" แทนยาระบาย เพราะมีกากใยอาหารมากเป็นพิเศษ และในทางการแพทย์นิยมนำมาใช้เป็นยาระบายธรรมชาติเพื่อช่วยแก้ไขอาการท้องผูกที่ดี โดยสามารถกินได้ทั้งพรุนสดและพรุนสกัดเข้มข้น แต่ไม่แนะนำพรุนแห้ง เพราะมีน้ำตาลค่อนข้างมาก หากกินในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้เป็นโรคอ้วนตามมาได้สำหรับคนที่มีอาการท้องผูกลองปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตกันใหม่ดู เชื่อว่าหากได้ทำตามคำแนะนำในข้างต้นแล้วจะช่วยบรรเทาและป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอย่างแน่นอนบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ โรคภัยใกล้ตัวที่ควรระวัง "ติดเชื้อในกระแสโลหิต" น่ากลัวกว่าที่คิด "ไข้เลือดออก" ยุงลายเพชรฆาตตัวร้าย โดนกัดครั้งเดียวอาจถึงตาย เมื่อไส้ติ่งของฉัน “เรียกร้องความสนใจ!!” ต้องผ่าตัดแบบไม่ทันตั้งตัว “ตับแข็ง” แม้ไม่กินเหล้า…คุณก็มีความเสี่ยงเป็นได้