free web tracker, fire_lady “ไอศกรีม” ของกินหน้าร้อนที่มีประโยชน์และโทษ • สุขภาพดี

ไอศกรีม” ของกินหน้าร้อนที่มีประโยชน์และโทษ

ประโยชน์ของไอศกรีม

แต่ละคนอาจชื่นชอบอาหารที่แตกต่างกันไป บางคนชอบกินของหวานมากกว่าของคาว แต่บางคนอาจไม่ชอบกินของหวาน ทว่า “ไอศกรีม” จัดเป็นของกินซึ่งเกือบทุกคนมักโปรดปรานเป็นอย่างมาก คนที่ชอบกินไอศกรีมเป็นชีวิตจิตใจไม่ว่าจะอากาศเย็นขนาดไหนก็ยังกินได้ ไม่ใช่เฉพาะในหน้าร้อนเท่านั้นที่ทุกคนทุกเพศทุกวัยจะต้องหาไอศกรีมมากินเพื่อคลายความร้อน แล้วทราบกันหรือไม่ว่า เบื้องหน้าของไอศกรีมรสชาติหวานเย็นหอมอร่อยละมุนลิ้นนั้นมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร และที่สำคัญเบื้องหลังของมันก็ยังมีโทษรวมอยู่อีกด้วย

ข้อดี-ประโยชน์ของ “ไอศกรีม”

เนื่องจากไอศกรีมมีคุณสมบัติของความเย็นเพราะมีน้ำแข็งเป็นส่วนประกอบหลัก ประโยชน์เด่นของไอศกรีมที่ทำให้หลายคนชอบทานคือช่วยดับกระหายคลายร้อนได้ดีกว่าน้ำในหน้าร้อน และการได้กินไอศกรีมก็มีผลต่อจิตใจและอารมณ์จะทำให้รู้สึกมีความสุข มีผลการวิจัยในสถาบันจิตวิทยา กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พบว่า การกินไอศกรีมจะช่วยลดความตึงเครียดลงได้ เปรียบเทียบได้กับการฟังดนตรีที่สามารถช่วยลดอุณหภูมิและทำให้เกิดความเคลิบเคลิ้มผ่อนคลาย

ประโยชน์ของไอศกรีมอีกข้อที่สำคัญคือ ในไอศกรีมมีคุณค่าทางโภชนาการและให้พลังงานแก่ร่างกาย เนื่องจากมีนมเป็นส่วนผสมหลักอีกชนิดหนึ่งทำให้มีทั้งโปรตีนและแคลเซียมที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของเด็ก โดยปริมาณการดื่มนมที่เด็กๆ ควรได้รับในแต่ละวันคือ 2 แก้ว ดังนั้น หากวันไหนที่เด็กๆ ดื้อไม่ยอมกินนมในปริมาณที่เพียงพอ เราก็สามารถจะให้เขากินไอศกรีมแทนได้บ้าง เพราะมีโปรตีนและแคลเซียมเช่นเดียวกับนม โดยเฉพาะไอศกรีมที่มีส่วนผสมของผลไม้ชนิดต่างๆ ล้วนมีคุณค่าทางโภชนาการที่เพิ่มขึ้นด้วย

ข้อเสีย-โทษของ “ไอศกรีม” สีสวยรสอร่อย

ตามที่บอกไปแล้วในข้างต้นว่าหน้าร้อนทีไรใครไม่กินไอศกรีมเนี่ยสิแปลก ซึ่งนอกจากความเย็นที่ช่วยดึงดูดความสนใจแล้ว หน้าตาสีสันของบรรดาไอศกรีมทั้งหลายก็ชวนให้น่าลิ้มลอง นี่แหละที่เป็นสิ่งพึงระวัง เพราะความอร่อยที่ทุกคนติดอกติดใจมีสารสังเคราะห์จากสารเคมีบางชนิดถูกนำมาใช้เติมแต่งรสชาติ และแต่งแต้มสีสันให้ไอศกรีมดูน่ากิน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค

ที่สำคัญไอศกรีมจากผู้ผลิตบางรายยังมีการนำไขมันเหลือจากโรงฆ่าสัตว์มาเป็นส่วนผสมด้วย ไขมันจากสัตว์เป็นไขมันด้อยคุณภาพ แถมมีไขมันอิ่มตัวสูงกว่าที่ร่างกายต้องการ เมื่อได้รับเข้าไปในปริมาณมากเกินก็อาจก่อให้เกิดโรคอ้วนและโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้ ทั้งนี้สารเคมีสังเคราะห์ดังกล่าวได้แก่

โทษของไอศกรีม

- ไดเอตทิลกลูคอล (Diethyl Glucol) เป็นสารเคมีที่ใช้สำหรับตีไขมันให้กระจายแทนการใช้ไข่ ส่วนใหญ่จะใช้ในน้ำยากัดสีและใช้เป็นสารเยือกแข็งเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำแข็งละลายเร็วเกินไป มีราคาถูก

- อัลดีไฮด์-ซี 71 (Aldehyde-C71) สำหรับสารเคมีชนิดนี้ไม่ค่อยมีใช้ในประเทศไทยมากนัก มีคุณสมบัติในการสร้างกลิ่น อาทิ กลิ่นเชอร์รี นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำไปใช้ทำสีอะนิลีนประเภทพวกพลาสติกและยาง

- ไปเปอร์โอรัล (Piperoral) ในการทำไอศกรีมจะนำเอาสารตัวนี้มาใช้เพื่อแต่งกลิ่นวานิลลา ทว่ามันเป็นสารเคมีชนิดเดียวกับที่ใช้ผสมในยาฆ่าหมัดและเหา

- เอตทิลอะซีเตต (Ethyl Acetate) เป็นสารเคมีที่ใช้ในการทำความสะอาดผ้าทอ หนัง การทำไอศกรีมจะนิยมใช้เพื่อสร้างกลิ่นสับปะรด แต่สารชนิดนี้อันตรายอาจมีความเสี่ยงโรคปอดเรื้อรัง ตับ และทำให้หัวใจเต้นผิดปกติได้

- บิวทีรัลดีไฮด์ (Butyraldehyde) เป็นสารประกอบสำคัญที่ใช้ทำกาวยาง ส่วนในอุตสาหกรรมไอศกรีมจะใช้เพื่อช่วยสร้างกลิ่นและรสของพืชเมล็ดเปลือกแข็ง เช่น ถั่วต่างๆ ฯลฯ

- แอนิลอะซีเตต (Anyle Acetate) สารเคมีที่ใช้สำหรับการทำลายล้างไขมัน ซึ่งมักถูกใช้ในการทำไอศกรีมเพื่อให้กลิ่นกล้วยหอม

- เบนซิลอะซีเตต (Benzyle Acetate) เป็นสารละลายไนเตรต ทำให้รู้สึกเกิดความอยากอาหาร เมื่อใช้ทำไอศกรีมจะให้กลิ่นและรสของสตรอว์เบอร์รี

- สารให้ความหวานหรือน้ำตาลเทียม อาทิ สารแซกคารีน (Saccharin) ถ้าใช้ในปริมาณมากอาจมีส่วนทำให้เกิดโรคมะเร็งได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอาจมีผู้ผลิตไอศกรีมเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ยังคงมีการใช้สารเคมีเหล่านี้ซึ่งไม่เหมาะกับการทำไอศกรีม นั่นก็เพราะความมักง่ายและเห็นแก่ตัวของผู้ผลิตโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ดังนั้น ตัวเราเองในฐานะของผู้บริโภคจึงควรเลือกกินไอศกรีมจากผู้ผลิตที่มีความน่าเชื่อถือ หากเป็นสินค้าที่ผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร เช่น GMP HACCP ISO ฯลฯ ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจได้มากขึ้น

แม้ไอศกรีมจะมีประโยชน์ทั้งด้านโภชนาการและอารมณ์ แต่ขอย้ำว่า....ไม่ว่าอากาศจะร้อนหรือไม่ร้อนก็ตาม ควรกินไอศกรีมในปริมาณที่พอดีจะได้ไม่เกิดโทษแก่สุขภาพ เพราะถ้ากินในสัดส่วนที่ไม่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายอาจทำให้เกิดโรคอ้วนตามมา

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องน่ารู้...รับมือหน้าร้าน