free web tracker, fire_lady 10 วิธีเพื่อหัวใจแข็งแรง • สุขภาพดี

10 วิธีเพื่อหัวใจแข็งแรง

วิธีดูแลหัวใจ

โรคหัวใจเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย...เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย ทั้งๆ ที่เราสามารถป้องกันโรคนี้ได้ด้วยตัวคุณเอง...อย่ารอช้า เรามารู้จักวิธีการดูแลหัวใจ ป้องกันตนเองให้ห่างไกลโรคหัวใจกันเถอะ

รู้ป้องกัน ดูแลหัวใจ ด้วย...10 วิธี นี้กันเถอะ

1. เรียนรู้ปัจจัยเสี่ยง

มีปัจจัยเสี่ยงมากมายที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหัวใจ ยิ่งมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น โอกาสเกิดโรคหัวใจก็มากขึ้น แต่ปัจจัยเสี่ยงบางอย่างแก้ไขได้ ฉะนั้นมาทำความเข้าใจในสาเหตุปัจจัยเสี่ยงกันดีกว่า

  • อายุ เพศ และพันธุกรรม คือ อายุมากกว่า 45 ปีในผู้ชายหรือมากกว่า 55 ปีในผู้หญิง และมีพ่อแม่ หรือพี่น้องจากพ่อแม่เดียวกันเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมองตีบ
  • พฤติกรรมการดำเนินชีวิต ได้แก่ การสูบบุหรี่ มีน้ำหนักตัวเกินกว่าน้ำหนักมาตรฐาน 10% ชอบกินอาหารรสเค็ม อาหารทอด หรืออาหารที่มีไขมันสูง ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ มีความเครียดสูงตลอดเวลา ไม่ออกกำลังกาย หรือไม่ค่อยเคลื่อนไหว
  • ประวัติการเจ็บป่วย เช่น มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เป็นโรคเบาหวาน หรือมีระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารมากกว่า 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หรือหัวใจวาย เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ เป็นโรคไตหรือมีโปรตีนในปัสสาวะ

2 เลือกกินอาหารและควบคุมน้ำหนัก

เพื่อสุขภาพที่ดีของหัวใจ ควรกินอาหารที่มีเส้นใย วิตามิน และแร่ธาตุสูง อย่างผักและผลไม้มากขึ้น ลดอาหารจำพวกไขมัน น้ำตาล และเกลือ

3 กระฉับกระเฉงและออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ถ้าไม่ชอบออกกำลังกายให้เพิ่มกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงาน เช่น การทำงานบ้าน ทำสวน ใช้บันไดแทนการใช้ลิฟต์

4 นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนไม่เพียงพอทำให้เหนื่อยล้า และเกิดการหลั่งฮอร์โมนที่เพิ่มความเครียดให้แก่ร่างกาย ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อหัวใจ

5 หยุดสูบบุหรี่หรือไม่เริ่มสูบบุหรี่

ถึงแม้ว่าการเลิกบุหรี่จะเป็นสิ่งที่ยาก แต่ทราบหรือไม่ว่าการพักฟื้นหลังเป็นโรคหัวใจ โรคปอด โรคหลอดเลือด สมองตีบที่เกิดจากการสูบบุหรี่เป็นสิ่งที่ยากและทรมานกว่า

6 ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์

การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากทำให้ร่างกายได้รับแคลอรีมากขึ้น นำไปสู่โรคอ้วน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองตีบ

7 ลดความเครียด

ความเครียดส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ พยายามลดกิจกรรมที่ทำให้เครียดและดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขทุกๆ วัน

8 ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ

การตรวจสุขภาพเป็นประจำจะช่วยให้พบความผิดปกติตั้งแต่ในระยะต้น ควรวัดความดันโลหิตเป็นประจำ และรักษาระดับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติ คือ 120/80 มิลลิเมตรปรอท หากมีความดันโลหิตมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ควรไปพบแพทย์ แต่ถ้าความดันโลหิตอยู่ระหว่าง 120-139/80-89 มิลลิเมตรปรอท และมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ก็ควรปรึกษาแพทย์เช่นกัน

9 หาข้อมูลเกี่ยวกับโรคหัวใจ

ถ้ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับการดูแลตัวเองควรหาข้อมูลหรือถามผู้ที่มีความรู้ เพื่อคุณจะได้มีความมุ่งมั่นในการดูแลสุขภาพ

10 กินยาอย่างสม่ำเสมอ

ถ้ามีโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน คอเลสเตอรอลสูง จะต้องกินยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง มิฉะนั้นอาจทำให้อาการกำเริบ และหากระดับความดันโลหิตเพิ่มขึ้นอย่างเฉียบพลันอาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือหัวใจวายได้ แพทย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้สั่งลดขนาดยาหรือหยุดยาให้คุณ

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องน่ารู้...คู่สุขภาพดี

Click here to add a comment

Leave a comment: