free web tracker, fire_lady 12 ประโยชน์…สรรพคุณของกุยช่าย ตัวช่วยสร้างเม็ดเลือด บำรุงน้ำนม • สุขภาพดี

12 ประโยชน์...สรรพคุณของกุยช่าย

ตัวช่วยสร้างเม็ดเลือด บำรุงน้ำนม

สรรพคุณ ประโยชน์ของกุยช่าย

"กุยช่ายตลาดพลู" เป็นของขึ้นชื่อที่หลายคนอยากไปลิ้มลอง ด้วยแป้งที่นุ่ม หอมกลิ่นกุยช่าย จิ้มน้ำจิ้มรสเด็ด อร่อยติดใจ แต่นอกจากจะนำมาทำขนมกุยช่ายได้อร่อยแล้ว กุยช่ายยังนำมาทำอาหารได้อีกหลากหลายเมนู และมีประโยชน์ต่อการบำรุงร่างกายในหลายด้าน แต่กลิ่นที่ฉุนอาจทำให้บางคนไม่ค่อยชอบกุยช่ายนัก วันนี้เราลองมาทำความรู้จักกับสรรพคุุณและประโยชน์ของกุยช่ายให้มากขึ้น แล้วจะรู้ว่าพืชใบเรียวแหลมนี้มีดีมากกว่าที่คาดคิด

กุยช่าย...ช่อดอกกลม กลิ่นหอม มากสรรพคุณ

กุยช่าย (Garlic chives) เป็นพืชสมุนไพรล้มลุกจำพวกผัก แต่ละท้องถิ่นจะมีชื่อเรียกต่างกันไป ภาคเหนือเรียกผักชนิดนี้ว่า “หัวซู” ภาคอีสานเรียก “หอมแป้น กูไฉ่ หรือผักแป้น” เป็นต้น ลำต้นของกุยช่ายมีความสูงประมาณ 30-45 เซนติเมตร ใบแบนเป็นรูปขอบขนาน ที่โคนของกุยช่ยจะมีกาบบางๆ ซ้อนสลับกันไปมา ออกดอกเป็นช่อสีขาว ก้านช่อดอกกลม มีใบประดับหุ้มช่อดอกไว้ ดอกมีกลิ่นหอม ส่วนผลของกุยช่ายเป็นทรงกลม เวลาแก่จะแตกตามตะเข็บ ช่องผนังด้านในมีเมล็ดสีน้ำตาลแบนๆ ขรุขระอยู่ช่องละ 1-2 เมล็ด

ความแตกต่างระหว่าง กุยช่ายขาว กับ กุยช่ายเขียว

"กุยช่าย" จัดเป็นพืชวงศ์เดียวกับหอมและกระเทียม โดยทั่วไปกุยช่ายมี 2 ประเภท คือ กุยช่ายขาว และกุยช่ายเขียว ทั้งสองประเภทนี้ไม่ได้แตกต่างกันเลย แต่สีที่ต่างกันเกิดจากการปลูกและการดูแลรักษา

หากปลูกกุยช่ายในสภาพแวดล้อมที่ให้ได้รับแสงแดดตามปกติ ใบกุยช่ายจะมีสีเขียวเข้ม ผลผลิตที่ได้จึงเป็นกุยช่ายเขียว แต่หากปลูกแบบไม่ให้โดนแสงแดด ซึ่งอาจใช้ภาชนะหรือกระบอกไม้ไผ่ครอบไว้ ใบกุยช่ายที่ได้จะมีสีขาวซีด ใบอวบ กรอบ และหวานกว่ากุยช่ายเขียว และหากปลูกตามวิธีปกติจนกุยช่ายออกดอก ก็จะได้ดอกกุยช่ายมาทำเป็นอาหารได้อีก กุยช่ายเขียวจะให้เบตาแคโรทีนมากกว่ากุยช่ายขาว

กุยช่ายขาว-กุยช่ายเขียว

ทั้งนี้กุยช่ายที่ผ่านการปรุงด้วยความร้อนจะทำให้รสชาติหวานขึ้น และกลิ่นฉุนลดลง แต่หากอยากได้รับวิตามินซีมากควรกินแบบสดๆ

12 ประโยชน์จากกุยช่าย มากคุณค่า ล้นสรรพคุณ

1. กุยช่ายมีสารอาหารที่สำคัญมากมาย อาทิ วิตามินเอ ช่วยบำรุงเซลล์ของดวงตาให้แข็งแรง ช่วยในการมองเห็น และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย

2. กุยช่ายมีธาตุเหล็กสูง จึงช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง ที่เป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง

3. ประโยชน์ของกุยช่ายช่วยลดความดัน กลิ่นฉุนของกุยช่ายเกิดจาก “อัลลิซิน” ซึ่งเป็นสารประกอบกำมะถัน มีฤทธิ์ในการช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในเลือด และช่วยลดความดันเลือด

4. สรรพคุณของกุยช่ายมีเส้นใยอาหารสูงมาก จึงช่วยเพิ่มปริมาณกากใยในระบบทางเดินอาหาร ช่วยให้ขับถ่ายคล่องลดปริมาณของเสียที่สะสมในลำไส้ และลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้ แต่สำหรับผู้ที่ระบบย่อยไม่ดีไม่ควรกินกุยช่ายมาก โดยเฉพาะกุยช่ายแก่ เพราะมีเส้นใยมากและเหนียว ทำให้ย่อยยาก รวมถึงเส้นใยในกุยช่ายอาจไปกระตุ้นให้ลำไส้เคลื่อนไหวมากจนเกิดอาการท้องเสียได้

5. กุยช่ายมีประโยชน์ต่อหญิงตั้งครรภ์ โดยนำกุยช่ายมาใส่ในแกงเลียงใช้เป็นอาหารบำรุงน้ำนมสำหรับแม่ลูกอ่อนได้ หรือเมื่อผู้หญิงเริ่มท้องควรกินใบกุยช่ายผัดกับตับหมู และเมื่อมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร สามารถเอาน้ำคั้นกุยช่ายครึ่งถ้วยผสมกับน้ำขิงครึ่งถ้วย นำไปต้มจนเดือดเติมน้ำตาลตามใจชอบดื่มแก้อาการได้ นอกจากนั้นยังนำมาปรุงเป็นอาหารใช้เพิ่มความอบอุ่นแก่ร่างกายสำหรับผู้ที่มีอาการขี้หนาว ปัสสาวะบ่อย และร่างกายอ่อนเพลีย

6. กุยช่ายมีสรรพคุณช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และขับลมได้ดี โดยใช้ใบสดตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำดื่ม

7. ตำรายาจีนเชื่อว่ากุยช่ายมีฤทธิ์แก้อักเสบได้ดี โดยให้ตำใบกุยช่ายให้แหลก เติมเกลือเล็กน้อย นำมาพอกบริเวณที่ฟกช้ำ หรือเคล็ดขัดยอก นอกจากนั้นยังฆ่าเชื้อโรคในแผลสด หรือแผลหนองเรื้อรังได้ โดยให้ใช้ใบสดล้างน้ำให้สะอาดนำมาพอกที่แผล หรือจะผสมดินสอพองในอัตราส่วนใบกุยช่าย 3 ส่วน ดินสองพอง 1 ส่วน บดให้ละเอียดจนเหลวข้น นำมาทาบริเวณที่เป็นวันละ 2 ครั้ง

8. ประโยชน์ของใบกุยช่ายใช้รักษาแผลริดสีดวงทวารได้ โดยใช้ใบกุยช่ายสดใส่น้ำต้มให้ร้อน จากนั้นนั่งเหนือภาชนะให้ไอน้ำร้อนรมที่หัวริดสีดวงจนน้ำอุ่น และใช้น้ำต้มล้างที่แผลวันละ 2 ครั้ง หรือนำใบกุยช่ายมาหั่นฝอยคั่วให้ร้อน แล้วใช้ผ้าห่อนำมาประคบบริเวณที่เป็น จะช่วยให้หัวริดสีดวงหดเข้า

9. ใบกุยช่ายนำมาคั้นน้ำจากใบสด ใช้ทาในรูหูเพื่อรักษาโรคหูน้ำหนวกได้ หรือหากมีแมลงหรือตัวเห็บเข้าหู ห้ามใช้นิ้วหรือของแข็งแคะออก ให้เอาน้ำคั้นกุยช่ายหยอดเข้าไปในหูจะทำให้แมลงหรือเห็บไต่ออกมาเอง

10. สรรพคุณของเมล็ดกุยช่าย ใช้แก้อาการปวดเอว บำรุงตับ บำรุงไต ช่วยขับระดูขาว แก้อาการปัสสาวะรดที่นอน หรือปัสสาวะกะปริบกะปรอย และยังช่วยขับนิ่วได้ โดยใช้เมล็ดแห้งต้มดื่มหรือจะทำเป็นยาเม็ดกินก็ได้

11. เมล็ดของกุยช่ายใช้เป็นยาขับพยาธิเส้นด้าย หรือพยาธิแส้ม้า ที่เป็นสาเหตุของโรคท้องร่วงได้

12. สรรพคุณของเหง้ากุยช่าย ใช้แก้อาการเจ็บหน้าอก แก้ไอเป็นเลือด ช่วยขับประจำเดือน ระดูขาว รวมถึงสิ่งที่คั่งค้างในร่างกาย

เห็นสรรพคุณและประโยชน์ของกุยช่ายหรือยังว่ามีดีมากกกว่าที่เรารู้กัน อยากมีสุขภาพดี ลองให้กุยช่ายไปเป็นหนึ่งในสมุนไพรในมื้ออาหารของเราดู แล้วจะรู้ว่ากุยช่ายนั้นให้คุณแก่ร่างกายแบบที่เราคาดไม่ถึงกันเลย

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสรรพคุณ...ประโยชน์ของสมุนไพรน่ารู้