free web tracker, fire_lady 8 วิธีรับมือ…ลูกน้อยงอแง อาละวาด เอาแต่ใจ • สุขภาพดี

8 วิธีรับมือ...ลูกน้อยงอแง อาละวาด เอาแต่ใจ

เด็กอาละวาด งอแง

บ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่เจอกับพฤติกรรมลูกงอแง เอาแต่ใจ โวยวายอาละวาด ซึ่งจะเกิดขึ้นบ่อยกับเด็กวัย 1 – 3 ขวบ เด็กจะร้องไห้ เมื่อเขาต้องการบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งอาการจะแตกต่างกันตั้งแต่มีอาการธรรมดาคือร้องไห้ จนถึงมีอาการหนักคือตีอกชกตัว ล้มนอนลงกับพื้นเพื่อเรียกความสนใจ สร้างความปวดเศียรเวียรเกล้าให้กับเหล่าพ่อแม่เป็นอย่างมาก ซึ่งหากเด็กทำแล้วได้ผล พ่อแม่หรือผู้ปกครองยอมทำตามที่เด็กต้องการ พฤติกรรมนี้ก็จะเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วเราจะหยุดพฤติกรรมลูกงอแง เอาแต่ใจนี้อย่างไรดี เรามีวิธีจัดการกับปัญหานี้มาแนะนำค่ะ

8 วิธีเด็ด แก้นิสัยลูกงอแง เอาแต่ใจ

1 เมินเฉย ทำเป็นไม่สนใจเมื่อลูกน้อยเกิดอาการอาละวาด วิธีการเมินเฉยต่อพฤติกรรมนั้นเป็นวิธีการจัดการปัญหาที่ได้ผลดีอีกวิธีหนึ่ง ให้ทำเป็นมองไม่เห็น หรืออุ้มเขาเข้าไปในห้องด้วยท่าทางสงบ ไม่แสดงกิริยาเกรี้ยวกราดหรือดุเขา ที่สำคัญห้ามตามเกมของลูกคุณเป็นอันขาด อย่าสัญญาว่าจะซื้อสิ่งของให้เพื่อเป็นเงื่อนไขให้เขาหยุดร้องไห้ เพราะนั่นยิ่งจะไปกระตุ้นพฤติกรรมที่การอาละวาดเมื่อต้องการทำตามใจตนเองให้มากขึ้น ซึ่งหากลูกน้อยของคุณได้เรียนรู้ว่าถึงแม้เขาจะโวยวายอาละวาดอย่างไร ก็ไม่มีทางได้ในสิ่งที่ต้องการ พฤติกรรมลูกงอแง เอาแต่ใจแบบนี้จะค่อยๆ ดีขึ้นจนหายไปเองในที่สุด

2 กอดช่วยได้ ด้วยอารมณ์ของเด็กที่ยังไม่รู้ประสีประสา บางครั้งอาจจะอาละวาดทุบตีทำร้ายตนเอง หรือเตะต่อยผู้อื่น การกอดให้ความอบอุ่นแก่เขาจะช่วยบรรเทาอาการรุนแรงนี้ลงได้ โดยให้ทำเป็นประจำเมื่อลูกงอแง เอาแต่ใจ อาระวาด ผลที่ได้คืออารมณ์ลูกน้อยของคุณจะค่อยๆ เย็นขึ้น

3 อย่าใช้วิธีการรุนแรง กับลูกพ่อแม่หลายคนเมื่อลูกงอแง เอาแต่ใจ อาละวาดก็มักจะระงับอารมณ์ร้อนของตนเองไม่อยู่ เผลอทำร้ายตีแรงๆ ไปหลายครั้ง แต่คุณรู้หรือไม่ว่าวิธีการนี้เป็นวิธีการที่ผิดและถือเป็นวิธีการที่ไร้ประสิทธิภาพที่สุดในการแก้ปัญหา ดังนั้นการใช้เหตุผลคุยกับเขาเป็นสิ่งที่ควรทำหากเด็กโตแล้ว เช่น เมื่อลูกงอแง เอาแต่ใจ อาละวาดอยากได้ของเล่น ทุกครั้งที่เขาอาละวาดเราอาจจะให้เหตุผลว่า ของเล่นของเขามีเยอะแล้ว ให้เล่นของเก่าก่อน หนูไม่สงสารของเล่นเหรอที่จะปล่อยมันไว้แบบนั้น การพูดเรื่องความเห็นอกเห็นใจ และการให้เหตุผลกับลูกบ่อยๆ เป็นการช่วยปลูกฝังจิตสำนึกของลูกไปในตัว และทำให้เขากลายเป็นเด็กมีเหตุผลในที่สุด

4 อย่าใส่ใจกับคำว่า"ไม่" ของลูกมาก หลายครั้งที่พ่อแม่เจอคำตอบปฏิเสธจากปากลูก เช่น ไม่กินข้าว ไม่อาบน้ำ ไม่ไปโรงเรียน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามระหว่างพ่อแม่และเด็กจนลูกงอแง เอาแต่ใจ อาละวาดออกมาในที่สุด ดังนั้น คุณต้องหัดเมินเฉยกับคำปฏิเสธของลูกบ้าง หากลูกบอกว่าไม่กินข้าว อย่าไปคะยั้นคะยอหรือว่ากล่าวเขา ควรนิ่งเฉยและทำตามที่ลูกต้องการ และหาวิธีการลดระดับอารมณ์ขัดขืนของลูก เช่น ชวนลูกเล่นเกมส์ป้อนข้าวน้องตุ๊กตา หากน้องไม่ยอมกินข้าวจะไม่โต แล้วให้ลูกน้อยของคุณทำเป็นตัวอย่าง จะทำให้ลูกน้อยของคุณรู้สึกสนุกสนานที่ได้แสดงบทบาทสมมุติและยอมกินข้าวเพื่อเป็นแบบอย่างกับน้องตุ๊กตาของเขาในที่สุด

5 พูดคุยกับผู้ใหญ่ในบ้านเพื่อหยุดพฤติกรรมอาละวาด หากในบ้านของคุณมีทั้งปู่ย่า ตายาย ญาติพี่น้องที่คอยเลี้ยงลูกของคุณอยู่ละก็ จงทำความเข้าใจกับทุกคนเพื่อให้ปฏิบัติกับเด็กเมื่อเขาเกิดอาการอาละวาดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะหากมีใครคอยตามใจแล้วล่ะก็ เด็กจะไม่เลิกพฤติกรรม เด็กงอแง เอาแต่ใจอาละวาดอย่างแน่นอน

6 ฝึกลูกน้อยให้รู้จักการรอคอย การฝึกให้ลูกของคุณรู้จักการรอคอยจะช่วยลดพฤติกรรมใจร้อนของเด็กลง ให้เขาเรียนรู้ว่าเขาไม่สามารถได้ทุกอย่างที่ต้องการ หรือได้ทุกอย่างในทันที ซึ่งผู้ปกครองต้องใจแข็งเพื่อละลายพฤติกรรมนั้น ถึงแม้ว่าเขาจะดิ้นร้องไห้กลายเป็น เด็กงอแง เอาแต่ใจ อาละวาดมากแค่ไหน เมื่อเขาทำได้และหยุดร้องไห้ ควรให้รางวัลเพื่อเสริมแรงบวก เช่น สติ๊กเกอร์ที่เขาชอบ เมื่อเขาทำดี หรือการแสดงออกทางร่างกาย กอด หอม เพื่อชมเชยในสิ่งที่เขาทำ ทั้งนี้ต้องทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

7 ฝึกให้เด็กหัดพูด หัดช่วยเหลือตนเอง การสอนให้เด็กช่วยเหลือตนเองจะทำให้เด็กเรียนรู้และพัฒนาความสามารถในการเล่นและการรับฟังคนอื่นได้มากขึ้น โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยช่วยเหลืออยู่ใกล้ๆ เมื่อจำเป็น ซึ่งคุณควรอดทนรอลูกเมื่อเขายังไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เช่น การติดกระดุม หรือใส่เสื้อผ้าเอง ควรเข้าไปช่วยเมื่อจำเป็นเท่านั้น เป็นอีกวิธีแก้นิสัยลูกงอแง เอาแต่ใจ อาละวาดได้

8 ห้ามยั่วยุให้เด็กโกรธ มีผู้ปกครองหลายท่านที่ยังทำตัวเป็นเด็กมากกว่าลูกน้อยหรือหลานของตัวเอง เช่น เมื่อเด็กงอแง เอาแต่ใจ ร้องไห้ ก็เข้าไปแหย่ หรือไปแกล้งให้เด็กร้องไห้หนักขึ้น ซึ่งวิธีการนี้เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่แย่ เพราะนอกจากจะไม่สามารถลดพฤติกรรมอาละวาดได้แล้ว ยังไปเพิ่มอารมณ์ร้อนให้กับเด็ก ซึ่งส่งผลถึงอารมณ์ของเขาเมื่อโกรธให้เกรี้ยวกราดมากขึ้น กลายเป็นเด็กอารมณ์ร้ายในที่สุด

ซึ่งสาเหตุที่ลูกน้อยงอแง เอาแต่ใจ ในวัยเตาะแตะ 1 – 3 ขวบ เป็นการแสดงอารมณ์ของเด็กซึ่งเขายังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ดังนั้นผู้ปกครองจึงมีหน้าที่ชี้แนะและค่อยๆ อบรมปรับปรุงและคอยสังเกตพฤติกรรมของลูกน้อยควบคู่กันไป และนอกจากนั้นยังพบว่าปัญหาหลักๆ ที่ทำให้เด็กอาละวาดเกิดจากพ่อแม่เองขาดทักษะในการอบรมเลี้ยงดู ไม่รู้จักสังเกตลูกว่าต้องการอะไร หรือมักจะใช้อำนาจของพ่อแม่ไม่ว่าจะเป็นการบงการ การดุด่าว่ากล่าว ไปในทิศทางที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นก่อนจะฝึกลูกน้อยไม่ให้เป็นเด็กงอแง เอาแต่ใจ อาละวาด พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติของตนเองเสียก่อน

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมลูกน้อย