คลินิกสุขภาพจิต ธรรมชาติบำบัด July 5, 2015 Share 4 Tweet Pin 0 การนั่งสมาธิ แบบง่ายๆ สบายๆ(จากประสบการณ์จริง) เชื่อว่าทุกคนรู้ว่าการทำสมาธิ หรือนั่งสมาธิเป็นสิ่งที่ดี และเกิดผลที่ดีต่อร่างกายและจิตใจ แต่ที่หลายๆ คนไม่ฝึกนั่งสมาธิเพราะคิดว่าเป็นเรื่องยาก เมื่อย เหนื่อย จนทำให้ขี้เกียจที่จะลองนั่งสมาธิ จากการฝึกนั่งสมาธิหลายๆวิธีในช่วงที่ไปปฎิบัติธรรมที่วัด ได้มีโอกาสเรียนรู้ ลองผิด ลองถูก ที่ว่าลองผิดหมายถึงนั่งสมาธิผิดท่าผิดวิธี พอนั่งๆไปก็เริ่มปวดเมื่อยตัว ปวดเอว ปวดหลัง ปวดต้นคอ ปวดลูกนัยน์ตา จนพาลปวดหัวไปด้วย ยิ่งนั่งก็ยิ่งทรมาน ต่อมาได้ฝึกนั่งให้ถูกหลัก ถูกวิธี อยากบอกว่าอาการปวดเมื่อย ทรมานเหล่านั้นไม่มีเลย กลับกลายเป็นว่ายิ่งนั่งแล้วยิ่งรู้สึกผ่อนคลาย เบา สบาย สงบ สดชื่น แจ่มใส มีความสุขอย่างบอกไม่ถูก จึงอยากถ่ายทอดวิธีการนั่งของตนเองให้หลายๆ คนได้ลองฝึกนั่ง เพื่อจะได้พบประสบการณ์ที่ดี มีความสุขง่ายๆ ด้วยตัวคุณเอง การทำสมาธิคืออะไร การทำสมาธิ หมายถึง การฝึกทำจิตให้ว่าง นิ่ง สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน หยุดความคิดทุกอย่าง และคลายกล้ามเนื้อในร่างกายทุกส่วนให้ผ่อนคลาย ซึ่งจะทำให้เกิดการพักผ่อนที่แท้จริงทั้งร่างกายและสมอง โดยสังเกตว่าหลังจากทำสมาธิแล้วจะรู้สึกสดชื่น แจ่มใส อารมณ์ดี มีความสุข (ต้องลองถึงจะรู้ว่าอารมณ์สุข สดชื่น เป็นอย่างไร) การนั่งสมาธิแบบง่ายๆ สบายๆ ทำอย่างไร 1. ปรับอารมณ์ให้รู้สึกสบายๆ คลายความคิด ความกังวล แม้จะมีเรื่องต่างๆ ปัญหาต่างๆ ที่ต้องคิดต้องจัดการ แต่ก่อนการนั่งสมาธิ เราควรพักทุกอย่างเอาไว้ (หลายคนอาจคิดว่า พูดง่ายแต่ทำยาก ซึ่งยอมรับว่าจริง ดังนั้นเราต้องมุ่งมั่น ตั้งใจ คิดว่าจะใช้เวลา 15-30 นาทีในการนั่งสมาธิก่อน อย่างอื่นค่อยว่ากันทีหลัง ก็จะทำให้เราตัดเรื่องโน่นนี่ออกไปจากความคิดได้ชั่วขณะ) 2. จัดสถานที่ที่ปลอดโปร่ง โล่ง สบาย เพื่อให้เกิดความผ่อนคลายในการนั่งสมาธิ หรืออาจหาเบาะรองนั่ง หรือเก้าอี้นั่งสำหรับคนสูงวัย หรือผู้มีปัญหาสุขภาพไม่สามารถนั่งขัดสมาธิกับพื้นได้ 3. นั่งขัดสมาธิ โดยเอาเท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย นั่งให้อยู่ในท่าที่สบาย พอดี ไม่ให้หลังโค้งงอเพราะจะทำให้เมื่อย จัดทุกส่วนในร่างกายให้ผ่อนคลาย ไม่ฝืน ไม่เกร็งกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นแขน ขา หัวไหล่ คอ ศีรษะ นิ้วมือ 4. หลังจากจัดท่านั่งให้ถูกส่วน สบายๆแล้ว ค่อยๆ หลับตาเบาๆ เพียงแค่เอาขนตาบนกับล่างมาแตะกันเบาๆ ทำให้หนังตาปิดประมาณ 90% ปรือๆ เหมือนคนใกล้จะหลับ ไม่บีบกล้ามเนื้อตา ไม่ข่มลูกนัยน์ตา ไม่ขมวดคิ้ว คลายทุกส่วนบนใบหน้าให้รู้สึกสบาย 5. เมื่อนั่งและหลับตาอย่างสบายๆแล้ว จากนั้นไห้กำหนดจิตให้เป็นสมาธิ โดยการตั้งสติไม่ให้เกิดการวอกแวก ฟุ้งซ่าน คิดเรื่องโน่นนี่ในระหว่างที่หลับตาทำสมาธิ ดังนั้นการให้นึกถึงอะไรเพียงอย่างเดียวแบบเบาๆ หรือที่เรียกว่า “บริกรรมนิมิต” โดยแต่ละคนอาจมีบริกรรมนิมิตที่แตกต่างกัน บางคนอาจนึกถึงดวงแก้วกลมใสเล็กๆ บางคนนึกถึงลมหายใจเข้าออก เพื่อให้ใจเข้ามาตั้งมั่นในกาย 6. เมื่อใจเข้ามาหยุดนิ่งในกายแล้ว สิ่งที่นึกคิดเบาๆ ก็จะหยุด หายไปโดยอัตโนมัติ จะมีความรู้สึกโล่งๆ ว่างๆ เย็นๆภายในกายและจิตใจอย่างสงบ 7. อยู่ในสมาธิไปเรื่อยๆ จนกว่าร่างกายและจิตจะบอกให้สัญญาณว่าอยากออกจากสมาธิแล้ว (ความรู้สึกตื่นโดยอัตโนมัติ เหมือนกับการตื่นนอนในตอนเช้า) จึงค่อยๆลืมตา 8. ให้หมั่นฝึกนั่งสมาธิเป็นประจำ จนเป็นนิสัย แรกๆ อาจรู้สึกขัดๆ นั่งได้ไม่ดี ไม่นิ่ง แต่หากทำบ่อยๆ จะเกิดความเคยชิน และรวมสมาธิได้ง่าย ได้เร็วขึ้น นั่งสมาธิ ได้ประโยชน์อย่างไร 1. เกิดภาวะสมดุลของร่างกาย ลดอัตราการเต้นการทำงานหนักของหัวใจ 2. ช่วยการไหลเวียนอากาศเข้าสู่ปอดได้ดีขึ้น ชีพจรช้าลง หายใจสะดวกขึ้น ยิ่งเป็นผลดีสำหรับผู้เป็นหืดหอบ มีปัญหาทางเดินหายใจ 3. ลดความดันโลหิต คอเลสเตอรอล ต้านอนุมูลอิสระจากการคลายความวิตกกังวล ยิ่งเป็นผลดีสำหรับผู้มีอาการหงุดหงิด อาการซึมเศร้า 4. สมองได้รับการพัก การผ่อนคลาย ช่วยลดความตึงเครียด แก้ปัญหานอนไม่หลับได้ถึง 75% และบรรเทาอาการปวดไมเกรนได้ถึง 32 % 5. มีอารมณ์ที่มั่นคงขึ้น ใจเย็น ไม่หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย เป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใส อัธยาศัยดี และมีเหตุมีผลมากขึ้น เพราะสมองในส่วนที่เกี่ยวกับอารมณ์และความคิดด้านบวกทำงานได้ดีขึ้น 6. สมองปลอดโปร่ง มีสมาธิในการเรียน/การทำงาน ทำให้ผลการเรียน/การทำงานออกมามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เห็นแล้วใช่ไหม ว่าการนั่งสมาธิไม่ได้ยุ่งยาก ซับซ้อนอย่างที่คิดเลย เป็นการนั่งแบบสบายๆ ผ่อนคลาย เหมือนการนอนหลับพักผ่อนในอิริยาบทของการนั่งเท่านั้นเอง แต่ผลที่ได้รับกลับได้ประโยชน์มากมายกว่าการนอนหลับซะอีก เลยอยากเชิญชวนให้ทุกๆ คนหาเวลาวันละ 10-20 นาที (เริ่มต้นช่วงแรก) หลับตา นั่งสมาธิ คลายความคิด ความกังวล แล้วคุณจะรู้ว่าความสุขสดชื่นที่แท้จริงเป็นอย่างไร หาได้ง่ายๆ ด้วยตัวคุณเอง บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับธรรมชาติบำบัด สุคนธบำบัด (Aroma Therapy)…กลิ่นแห่งการรักษา ศิลปะบำบัด...สื่อสร้างสรรค์พัฒนาอารมณ์ อาชาบำบัด (Hippo Therapy)...ขี่ม้ารักษาโรค ดนตรีบำบัดสมอง…จูนสมองด้วยคลื่นเสียง
0comments Click here to add a comment Leave a comment: Name * Email * Website Save my name, email, and website in this browser for the next time I comment. Comment Current ye@r * Leave this field empty