free web tracker, fire_lady “มะปราง” สรรพคุณ-ประโยชน์ของผลไม้แห่งความงาม • สุขภาพดี

"มะปราง" สรรพคุณ-ประโยชน์ของผลไม้แห่งความงาม

สรรพคุณ ประโยชน์ของมะปราง

มะปราง” เป็นผลไม้ตามฤดูกาล ถือเป็นของที่หากินได้ไม่บ่อย ถ้าเจอต้องรีบหาซื้อมาลิ้มลองให้ชื่นใจ เพราะด้วยความที่เป็นผลไม้รสหวานอมเปรี้ยว เนื้อละมุนลิ้นใครได้ชิมเป็นต้องติดใจ แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าผลไม้รสหอมอร่อยอย่าง “มะปราง” มีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ในการบำรุงร่างกายได้อย่างดี

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของมะปราง

ต้น ลำต้นเป็นไม้ยืนต้นเนื้อแข็งแรง ทรงค่อนข้างแหลม มีกิ่งก้านสาขาแน่นทึบ มีใบมากและไม่ผลัดใบนอก

ลักษณะต้นมะปราง

ใบ ใบเป็นใบเดี่ยว รูปทรงเรียวแหลม สีเขียว ผิวใบเรียบ ขอบใบมน มีเส้นกลางใบ ขนาดใบกว้างประมาณ 3.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 14 เซนติเมตร จะแตกใบอ่อนเพียง 2-3 ครั้งต่อปีเท่านั้น

ดอก ดอกมะปรางจะออกเป็นช่อ โดยช่อดอกจะยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร แทงช่อดอกออกมาจากบริเวฯกิ่งแขนง มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน เมื่อดอกบานจะมีสีเหลือง ออกดอกช่วงเดือนพฤษจิกายน-เดือนธันวาคม

ผล มีรูปทรงคล้ายไข่ ผิวเนียนเรียบ เปลือกบาง หากสุกเปลือกจะนิ่ม ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีเหลืองหรือเหลืองอมส้ม ส่วนเนื้อก็มีสีเหลืองเช่นกัน เนื้อมีรสชาติหวาน เปรี้ยว หรือหวานอมเปรี้ยวขึ้นอยู่กับชนิดของสายพันธุ์

ชนิดของมะปราง

หากแบ่งมะปรางตามลักษณะทางกายภาพจะแบ่งได้ 3 ประเภท คือ

1. Bouaemicrophylla เป็นมะมะปรางขนาดเล็ก รสเปรี้ยวจัด เรียกว่ามะปรางป่าหรือมะปริงทางภาคใต้ นิยมนำมาทานแบบดิบๆโดยใช้ตำน้ำพริก ทานกับพริกเกลือ พบได้ทั่วไปตามภาคใต้

2. Bouaemacrophylla เป็นมะปรางที่มีผลขนาดใหญ่ อาจใหญ่ได้เกือบเท่าผลมะม่วง แต่มีการปลูกในเขตมลายูเท่านั้น

3. Bouaeburmanica เป็นมะปรางที่ปลูกกันทั่วไป เรียกว่ามะปรางบ้านหรือมะปรางสวนนั่นเอง

มะปรางกลุ่มที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ คือ Bouaeburmanicaซึ่งแบ่งได้อีก3 ประเภท ดังนี้

  • มะปรางเปรี้ยว  มะปรางที่มีรสเปรี้ยวจัดไม่ว่าจะเป็นผลดิบหรือผลสุกก็ตาม มีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ชาวสวนบางพื้นที่เรียกมะปรางชนิดนี้ว่า กาวาง เหมาะสำหรับทานแบบมีเครื่องเคียงเช่น กะปิหวาน น้ำปลาหวาน พริกเกลือ หรือนำไปดองหรือแช่อิ่ม
  • มะปรางหวาน มีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ เมื่อผลยังอ่อนจะมีรสออกมัน เมื่อสุกจะหวานแบบหวานสนิท มะปรางหวานบางพันธุ์ ผลมียาง ทานแล้วอาจจะทำให้คัน ระคายเคืองคอได้
  • มะยง แบ่งได้อีก 2 ชนิดคือ มะยงชิด ซึ่งจะมีรสหวานอมเปรี้ยว และมะยงห่างรสจะออกเปรี้ยวมากกว่ามะยงชิด ผลมีขนาดค่อยข้างใหญ่แต่คนจะนิยมทานมะยงชิดเพราะอร่อยกว่า มะยงห่างจึงไม่ค่อยปลูกเพื่อการค้ามากเท่าใดนัก

พันธุ์มะปรางและพื้นที่ที่นิยมปลูก

ชื่อพันธุ์มะปราง จะถูกเรียกจากหลายๆสาเหตุเช่น เรียกตามพื้นที่ที่ปลูก ตามชื่อคนปลูก ตามลักษณะผลหรือรสชาติ เป็นต้น อาทิเช่น

  • มะปรางหวานพันธุ์ท่าอิฐ มีลักษณะหวานสนิท เมล็ดเล็ก เนื้อหนาปลูกที่ ต.ท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
  • มะปรางหวานพันธุ์ลุงชิด เนื้อหนา เมล็ดเล็ก ผลใหญ่กว่าพันธุ์ท่าอิฐเล็กน้อย ปลูกที่สวนนายชิด ต.ปากแคว อ.เมือง จ.สุโขทัย เป็นต้น

พื้นที่ที่ปลูกมะปรางที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ จ.สุโขทัย พบได้จากหลายพื้นที่ในตัวจังหวัดและพบมากที่สุดที่อ.สวรรคโลก มีมะปรางหลากหลายพันธุ์แต่พันธุ์ที่ขายได้ราคาดีที่สุดคือ มะปรางพันธุ์มะยงชิด(จัมโบ้) เพราะลูกใหญ่ ผิวเรียบสีสวย รสชาติอร่อย นอกจากนั้นยังพบได้ที่ จ.อุตรดิตถ์ พิจิตร นนทบุรี นครนายก พิษณุโลก ปราจีนบุรี และ กรุงเทพมหานคร

รู้จักสรรพคุณของ “มะปราง” ผลไม้จิ๋วแต่แจ๋ว

มะปรางเป็นผลไม้ผลเล็กรูปทรงกลมรีคล้ายไข่ไก่ ชาวต่างชาติเรียกมะปรางว่า Plum Mango มีสีเหลืองอมส้ม ออกผลเป็นช่อประมาณช่อละ 1-15 ผล มะปรางเป็นผลไม้ที่มีทั้งแบบเปรี้ยวและแบบหวาน เหมือนกับมะม่วง แต่มะปรางจะมียางมาก เวลารับประทานให้ปอกเปลือกแล้วล้างน้ำก่อนรับประทานจะช่วยให้ไม่ระคายคอจากน้ำยาง

เนื้อของผลไม้ชนิดนี้มีสีเหลืองเข้ม ซึ่งมีสารเบตาแคโรทีนสูง ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ โดยในมะปรางหวาน 100 กรัม มีเบตาแคโรทีน 230 ไมโครกรัม นอกจากนั้นในมะปรางยังมีวิตามินซี ที่เป็นสารตั้งต้นให้ร่างกายสร้างคอลลาเจนและโปรตีน โดยในผลมะปรางดิบจะมีวิตามินซีสูงกว่ามะปรางสุก เรียกได้ว่ามะปรางเป็นผลไม้ที่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อความงามทั้งสิ้น รู้แบบนี้แล้วคุณผู้หญิงทั้งหลายรีบไปหามะปรางมารับประทานกันได้เลย

"มะปราง" กับ "มะยงชิด" ต่างกันอย่างไร?

ผลของมะปราง ถ้าสังเกตให้ดีจะมีขนาดเล็กกว่ามะยงชิด แต่มะปรางบางสายพันธุ์ก็มีขนาดใหญ่เกือบจะพอๆ กับมะยงชิด ให้สังเกตที่รสชาติและเนื้อสัมผัสจะต่างกัน ข้อแตกต่างอีกประการคือมะยงชิดจะไม่มียาง แต่มะปรางนั้นมียางมาก รับประทานแล้วจะระคายคอเล็กน้อย ผลดิบของทั้งมะยงชิดและมะปรางจะเป็นสีเขียวเหมือนกัน แต่มะยงชิดจะเขียวเข้มกว่าเล็กน้อย ซึ่งถ้าไม่ใช่เกษตรกรผู้เชี่ยวชาญก็อาจจะแยกผลไม้ทั้งสองชนิดนี้ไม่ออกเลยทีเดียว

15 สรรพคุณ- ประโยชน์ของ “มะปราง”

1. มะปรางมีวิตามินซีสูง ช่วยให้ผิวสวยใส และดูมีเลือดฝาด

2. มะปรางมีวิตามินบีช่วยแก้อาการอ่อนเพลียจากการอดนอน

3. มะปรางมีเบตาแคโรทีนสูงทำให้ผิวเนียนละเอียด ลดรอยดำ

4. มะปรางเป็นผลไม้มีประโยชน์ ช่วยบำรุงดวงตาให้สดใส

5. มะปรางมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยชะลอวัย และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย

6. มะปรางเป็นผลไม้ที่มีแคลเซียม และฟอสฟอรัสที่ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน

7. มะปรางเป็นผลไม้ที่ช่วยลดความเสี่ยงการเป็นความดันโลหิตสูง

8. ประโยชน์ของมะปรางเป็นผลไม้บำรุงเลือด

9. มะปรางมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง

10. มะปรางเป็นผลไม้ที่ช่วยให้อิ่มท้องแต่ไม่มีไขมัน

11. สรรพคุณของมะปรางช่วยบำรุงเลือดให้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตร

12. มะปรางช่วยลดการเกิดเส้นเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ

13. มะปรางมีสรรพคุณช่วยเพิ่มการดูดซึมของธาตุเหล็ก

14. มะปรางช่วยเรียกความสดชื่นหลังฟื้นไข้ แก้อาการปวดหัว

15. มะปรางเป็นผลไม้ที่เหมาะกับคนธาตุดิน ช่วยปรับสมดุลในร่างกายให้กับคนธาตุดิน

“มะปราง” ไม่ได้มีดีแค่รสชาติ แต่ส่วนอื่นยังนำไปทำเป็นยาได้ด้วย

เมล็ด เมล็ดของมะปรางที่หลายคนโยนทิ้งไป ทราบหรือไม่ว่านั่นคือส่วนประกอบของยาที่เอาไว้ยับยั้งการเกิดเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว เนื่องจากมีสารในกลุ่ม “โพลีฟีนอล” ในเมล็ดมะปราง สารนี้จะช่วยยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งปอดชนิดที่ไว และดื้อยา โดยสามารถช่วยแก้ปัญหาการดื้อยาได้อย่างมาก

ราก รากของมะปรางช่วยแก้ไข้หวัดได้ โดยถูกนำมาเป็นส่วนผสมของยาแผนโบราณ เนื่องจากมีฤทธิ์เย็น ช่วยดับร้อนในตัว ช่วยลดพิษไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ โดยการนำรากล้างให้สะอาดแล้วต้ม นำน้ำต้มรากมะปรางดื่มแก้ไข้ หมอแผนโบราณจะผสมตัวยาสมุนไพรอื่นๆ ตามอาการของผู้ป่วย เช่น น้ำอ้อย หรือ น้ำมะระ เพื่อขับเสมหะ เป็นต้น

มะปรางเป็นผลไม้ที่นำไปประยุกต์ได้หลายหลาก ทั้งนำไปแช่อิ่ม นำไปลอยแก้ว หรือจะเลือกรับประทานกับข้าวเหนียวกะทิแบบเดียวกับมะม่วงก็ยังได้ นอกจากสรรพคุณและประโยชน์ของมะปรางที่กล่าวไปแล้วนั้น ยังไม่หมดแค่นี้....เพราะสีของเปลือกมะปรางก็ยังมีประโยชน์สามารถนำไปทำสีย้อมผ้าได้อีกด้วย โดยสีที่ได้จะเป็นสีเหลืองหรือส้ม คนโบราณจะนำมาย้อมผ้าผสมน้ำปูนขาวกับแก่นขนุน จะได้ออกมาเป็นสีกากี แบบที่เราเห็นคนโบราณสวมใส่กันนั่นเอง...

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับผลไม้น่ารู้...คู่สุขภาพดี