free web tracker, fire_lady “เผือก” สรรพคุณ-ประโยชน์ของสุดยอดพืชทานหัว • สุขภาพดี

"เผือก" สรรพคุณ-ประโยชน์ของสุดยอดพืชทานหัว...ที่คนรักสุขภาพต้องไม่พลาด

เผือก สรรพคุณ-ประโยชน์

"เผือก" (Taro) พืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกและรับประทานกันทั่วโลก มีรสชาติมันอมหวานนิดๆ เผือกเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารแบบเดียวกับอาหารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตทั้งหลาย รับประทานอิ่มและได้ประโยชน์เหมือนกับข้าว แต่เผือกสามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากชนิดมากกว่าทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน สำหรับคนที่ชอบทานเผือก เรามีสรรพคุณและประโยชน์ของเผือกมาบอกกันค่ะ

ที่มา และถิ่นกำเนิดของเผือก

เผือกเป็นพืชที่ใช้ทานหัว จัดอยู่ในวงศ์บอน มีถิ่นกำเนิดที่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ แต่ในปัจจุบันมีการเพาะปลูกแพร่ไปหลายพื้นที่เช่น จีน อินเดีย และหมู่เกาะในอเมริกากลาง

ประเภทของเผือก

1. เผือกเอดโด (eddoe) เป็นเผือกหัวขนาดกลางและมีเผือกหัวเล็กๆ อยู่ล้อมรอบ สามารถรับประทานหรือนำมาทำพันธุ์ได้ทุกหัว

2. เผือกแดซีน (dasheen) เป็นเผือกหัวขนาดใหญ่ รอบๆมีลูกเผือกติดอยู่เล็กน้อยหรืออาจจะไม่มีเลย เป็นประเภทที่คนนิยมปลูก โดยปลูกกันทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย

สายพันธุ์เผือกในประเทศไทย

เผือกที่พบทั่วโลกมีมากกว่า 200 สายพันธุ์ แต่เผือกที่พบและเป็นที่รู้จักในไทยมีอยู่ 4 ชนิดคือ

1. เผือกหอม เป็นเผือกหัวใหญ่ มีลูกเผือกรอบๆน้อยมากหรือไม่มีเลย มีลำต้นและใบขนาดใหญ่ เป็นพืชเศรษฐกิจ นิยมปลูกเพื่อการค้า เมื่อสุกแล้วจะมีกลิ่นหอม รสชาติมันอร่อย นิยมปลูกและรับประทานกันมากในบ้านเรา

2. เผือกเหลือง หัวเผือกมีเหลือง ขนาดเล็ก ไม่นิยมปลูกและรับประทาน

3. เผือกไม้ เป็นเผือกขนาดเล็ก หัวเผือกเล็กเป็นทรงกระบอก ไม่ค่อยนิยมรับประทาน

4. เผือกตาแดง หัวเผือกจะมีตาสีแดง กาบใบและเส้นใบเป็นสีแดง มีลูกเผือกจำนวนมาก ไม่นิยมรับประทาน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของเผือก

ลำต้น เผือกเป็นพืชล้มลุก มีอายุหลายปี ลำต้นแท้เป็นหัวซึ่งสะสมอาหารอยู่ใต้ดิน ลักษณะหัวจะกลมป่องตรงกลาง ส่วนหัวและท้ายละเล็กเรียวกว่า หรือมีลักษณะคล้ายๆกับลูกข้าง เปลือกมีขน ผิวขรุขระสีน้ำตาลดำ อาจจะมีสะเก็ดหรือเส้นใยสีดำ มีขนาดที่แตกต่างกันไปตามความอุดมสมบูรณ์ของดินที่ปลูก เนื้อในหัวมีหลายสีแล้วแต่สายพันธุ์เช่น สีอมม่วง มีขาว สีเหลือง เป็นต้น หัวเผือกจะมีเส้นวงเป็นขั้นๆ ตลอดทั้งหัว เมื่อหัวเผือกโตเต็มที่ อาจจะมีลูกเผือกเจริญเติบโตตาม แต่บางสายพันธุ์ก็ไม่มี

ใบ เป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ เรียงวนเป็นชั้น ใบเป็นรูปหัวใจคล้ายกับใบบอน โคนใบหยักลึก ปลายใบเรียวแหลม เห็นเส้นใบชัดเจนทั้งผิวใบและท้องใบ สีใบจะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ ปลายม้วนเป็นคลื่นเล็กน้อย ก้านใบกลมเรียวยาว ด้านในเป็นเนื้อเยื่อที่มีลักษณะเป็นโพรงอากาศ เปลือกของก้านเป็นเส้นใย สามารถลอกเป็นเส้นได้

ลักษณะของเผือก

ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบเชิงลด โดยมีทั้งช่อเดี่ยวและหลายๆช่อ มีกาบหุ้มช่อดอกใหญ่หนา ตั้งตรง ปลายกาบเรียวแหลม ผิวกาบเรียบเป็นมัน ก้านช่อยาวแต่สั้นกว่าก้านใบ ดอกย่อยจะทยอยบาน ส่วนใหญ่มักเป็นดอกตัวผู้

ผล ผลอ่อนผิวเรียบ เปลือกสีขาว ผลแก่ผิวขรุขระ มีลักษณะคล้ายวงๆ หรือปล่องเป็นขั้นๆ ตลอดหัวเผือก และเผือกโดยส่วนใหญ่ไม่มีเมล็ด

7 สรรพคุณของเผือกที่ดีต่อสุขภาพ

1. เผือกมีสรรพคุณใช้บำรุงกำลัง สำหรับผู้ที่ป่วย ผู้ที่ร่างกายอ่อนแรง โดยนำมาปรุงอาหารหรือต้มรับประทาน เผือกจะช่วยบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง ทำให้มีแรง ช่วยฟื้นฟูร่างกาย

2. เผือกใช้ทานลดไข้ นำเผือกมาต้มผสมกับข้าวสวย โดยต้มให้นิ่มเละเหมือนโจ๊ก ทานช่วยลดไข้ได้ดี

3. เผือกช่วยป้องกันฟันผุ เนื่องจากเผือกมีฟอสฟอรัสสูงมาก จึงช่วยป้องกันฟันผุ นอกจากนี้ยังบำรุงฟันและกระดูกให้แข็งแรงอีกด้วย

4. เผือกแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย โดยการนำหัวเผือกมาโขลกผสมน้ำมันงา หรือเอาน้ำยางจากเผือกมาทาบริเวณที่โดนกัดต่อย ช่วยลดอาการปวดบวมและอักเสบได้

5. เผือกแก้ท้องเสีย การทานเผือกเมื่อท้องเสียจะช่วยบรรเทาอาการท้องเสียและช่วยบำรุงลำไส้ได้

6. เผือกแก้ปวดเมื่อย นำหัวเผือกไปโขลกผสมกับน้ำมันงา นำไปทา บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและกระดูก

7. เผือกแก้โรคผิวหนัง โดยการนำใบมาต้มกับน้ำแล้วมาผสมกับน้ำใช้อาบ

4 คุณประโยชน์ของเผือก

1. หัวเผือก นำมาแปรรูปเป็นอาหารและขนมได้อย่างหลากหลาย เช่น เผือกเส้น เผือกทอด เผือกกวน สังขยาเผือก เค้กเผือก หรือนำไปกวนทำไส้ขนมเช่น ข้าวเหนียวไส้เผือก ข้าวหลาม ข้าวต้มมัด เป็นต้น นอกจากนี้ยังไปนำไปทำแป้งเผือกเพื่อนำไปทำอาหารชนิดอื่นๆอย่าง ขนมปัง เค้ก หรือเครื่องดื่มได้ เผือกเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง มีคุณค่าทางโภชนาการมาก เนื้อนิ่มอร่อย ย่อยง่าย เหมาะสำหรับคนทุกวัย แต่ไม่เหมาะกับคนที่กำลังควบคุมน้ำหนักเพราะแคลอรี่สูง

2. ยอดเผือก รวมไปถึงใบและก้าน สามารถนำมารับประทานเป็นผักได้ โดยนำไปแกงหรือทำผักดอง

3. ใบเผือก มีขนาดใหญ่ นำมาห่ออาหาร ห่อข้าวรวมไปทั้งห่อหมกต่างๆ เป็นต้น

4. ต้นเผือก ปลูกตามบ่อหรือริมคลอง ริมแหล่งน้ำต่างๆ ใช้บำบัดน้ำเสียได้

บวดเผือก

ข้อควรระวังในการรับประทานเผือก

1.ไม่ควรรับประทานในปริมาณมากๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจจะทำให้ม้ามทำงานผิดปกติ

2. หัวเผือกมีสารออกซาเลตสูง ดังนั้นต้องผ่านการทำให้สุกด้วยความร้อนก่อน ไม่อย่างนั้นจะทำให้คันได้

3. เผือกอาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยจะมีอาการปากและลิ้นชา แสบร้อนตามปาก ลิ้น กระพุ้งแก้มและทางเดินอาหาร ดังนั้นผู้ที่แพ้อาหารบางประเภทควรระมัดระวังในการเผือก

เผือกจัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญทีเดียว เนื่องจากอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ ผู้คนจึงนิยมนำเผือกมารับประทานกันตั้งแต่สมัยโบราณ ใครที่เป็นสายเฮลตี้ลองเปลี่ยนมารับประทานเผือกบ่อยๆ รับรองสุขภาพดีมาเต็มแน่นอนจ้า