อายุรวัฒน์เวชศาสตร์ โรคภัยใกล้ตัว March 17, 2018 Share 1 Tweet Pin 0 “โรคกระดูกพรุน” ภัยเงียบที่คุกคามโดยไม่รู้ตัวคนเราเมื่ออายุมากขึ้นเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บถือเป็นเรื่องใกล้ตัวมากที่สุด เพราะสามารถเกิดได้ง่ายเนื่องจากร่างกายที่ทรุดโทรมหรือเริ่มเสื่อมลงไปตามกาลเวลา และโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายมากที่สุดคือ “โรคกระดูกพรุน” แต่ไม่ใช่ว่าโรคนี้จะสามารถเกิดได้เพราะสาเหตุจากอายุที่มากขึ้น แต่โรคนี้สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุและอาจไม่ได้เกิดเฉพาะกับผู้สูงอายุเท่านั้น ดังนั้นเราจึงต้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุ อาการ และวิธีดูแลป้องกันโรคกระดูกพรุนกันดีกว่า โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) เป็นโรคที่เกิดจากมวลกระดูกลดต่ำลงกว่าค่ามวลมาตรฐานจนเสี่ยงต่อการกระดูกหัก เป็นโรคที่พบได้มากที่สุดในกลุ่มของผู้สูงอายุ และพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายสาเหตุของการเกิดโรคกระดูกพรุนโดยปกติแล้วกระดูกจะมีเซลล์สร้างกระดูกขึ้นมาใหม่จากแคลเซียมและโปรตีน ตามกระบวนการเจริญเติบโตของร่างกายและการทดแทนส่วนที่สึกหรอ แต่โรคกระดุกพรุนมีสาเหตุหลักที่เกิดมาจากการทำงานที่ไม่สมดุลกันของเซลล์กระดูก เกิดการสลายกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูก อาจเพราะมีปริมาณแคลเซียมไม่เพียงพอต่อความจำเป็นของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีสาเหตุต่างๆ ประกอบอีก ดังนี้1. อายุ ด้วยอายุที่มากขึ้น กระบวนการเจริญเติบโตของร่างกายจะช้าลง การทดแทนส่วนที่สึกหรอก็ช้าลง หากร่างกายได้รับแคลเซียมในปริมาณน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ก็เสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนได้2. ฮอร์โมน การที่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงในเพศหญิง และระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนลดลงในเพศชาย ก็ล้วนเป็นสาเหตุหนึ่งที่มีให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้3. กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีญาติใกล้ชิดทางสายเลือดมีประวัติในการป่วยด้วยโรคกระดูกพรุน ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยด้วยโรคกระดูกพรุนด้วยเช่นกัน4. ความผิดปกติของต่อมและอวัยวะต่างๆ เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมพาราไทรอยด์ ต่อหมวกไต ไต และตับทำงานผิดปกติ5. โรคและการเจ็บป่วยต่างๆ โรคบางโรคมีความเกี่ยวข้องต่อการเกิดโรคกระดุกพรุน เช่น โรคที่เกี่ยวกับตับ ไต กระเพาะ ลำไส้ หรือโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร กรดไหลย้อน โรคภูมิแพ้ หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับข้อต่อและกระดูกโดยตรง6. การรับประทาน การรับประทานอาหารที่ให้แคลเซียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือรับประทานอาหารที่ทำให้ปริมารแคลเซียมเสียสมดุล เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการสูบบุหรี่ เป็นต้น7. การใช้ยา ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็มีความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน เพราะยาในกลุ่มนี้จะมีผลไปรบกวนกระบวนการสร้างกระดูก8. การใช้ชีวิตประจำวัน การที่ทำท่าใดท่าหนึ่งอยู่เป็นเวลานานๆ หรือการที่ต้องใช้ร่างกายอย่างหักโหมก็ส่งผลต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ทั้งสิ้น หรือแม้แต่การออกกำลังกายที่หักโหมเกินไปกว่าพละกำลังที่เรามีก็ผลก่อให้เกิดโรคนี้ด้วยเช่นกันอาการของโรคกระดูกพรุนโดยปกติแล้วโรคนี้จะไม่ค่อยปรากฏอาการ ยกเว้นอาการของโรคนี้ที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการกระดูกหัก และเมื่อเกิดภาวะกระดูกหักแล้วก็จะทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือความผิดปกติในส่วนของโครงสร้างของกระดูก ซึ่งผู้ที่ป่วยด้วยโรคกระดุกพรุนนี้จะมีความเสี่ยงต่อการกระดูกแตกหักได้ง่ายกว่าปกติ แม้ว่าจะไม่ได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงภาวะแทรกซ้อนของโรคกระดูกพรุนโรคกระดูกพรุนเป็นโรคหนึ่งที่ไม่ได้อันตรายรุนแรงมาก แต่ก็สร้างความลำบากในการดำเนินชีวิตไม่น้อย และภาวะแทรกซ้อนนี้ก็คือตัวการที่ทำให้อาการของโรคนี้ปรากฏ เพราะโดยปกติแล้วเพียงโรคนี้อย่างเดียวจะไม่ปรากฏอาการ สำหรับภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ กระดูกหักง่ายมาก ซึ่งมีผลทำให้เกิดความพิการ เคลื่อนไหวได้น้อยลง หรือโครงสร้างของกระดูกผิดรูปร่างไปได้ในกรณีของกระดูกสันหลังสามารถเกิดขึ้นได้อย่างเฉียบพลัน ทำให้มีอาการปวดหลังอย่างเรื้อรังและรูปหลังจะมีความผิดรูปออกไป นอกจากกระดูกสันหลังที่สามารถเป็นได้ง่ายแล้วนั้นยังมีส่วนของกระดูกสะโพกที่พบได้ง่ายเช่นกัน ซึ่งการรักษาต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อกระดูก ดังนั้นการรักษาจึงเป็นไปได้ยากและต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้ไม่น่าเชื่อว่าการป่วยด้วยโรคกระดูกพรุนจะสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างอาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ติดเชื้อที่ปอด ติดเชื้อในกระแสเลือด และแผลกดทับได้อีกด้วยวิธีการรักษาโรคกระดูกพรุนผู้ที่มีความน่าสงสัยว่าจะป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนหรือแม้แต่ผู้ที่ปรากฏภาวะแทรกซ้อนจากการป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนสิ่งที่ควรกระทำมากที่สุดคือ การไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้อง เพราะโรคกระดุกพรุนนี้หากพบในระยะแรกก็สามารถที่จะหายหรือมีอาการที่ดีขึ้นได้วิธีการรักษาที่ง่ายและพบได้บ่อยที่สุดคือ การให้ผู้ป่วยรับประทานแคลเซียมให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยอาจมาจากการดื่มนม การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง หรือการรับประทานแคลเซียมเม็ด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สำหรับแคลเซียมเหล่านี้จะมีอัตราละลายไม่เท่ากัน โดยแคลเซียมที่ละลายได้เร็วกว่าก็จะถูกดูดซึมได้เร็วกว่าด้วย ดังนั้นผู้สูงอายุจึงควรรับประทานแคลเซียมซิเตรตและควรรับประทานก่อนอาหารด้วย เพราะกรดในกระเพาะอาหารจะช่วยละลายแคลเซียมได้ดีผลิตภัณฑ์แคลเซียมมีด้วยกันหลายรูปแบบ ทั้งแบบเม็ดแข็ง ยาเม็ดฟู่ และยาแคปซูล ซึ่งไม่ว่าจะแบบใดก็มีประสิทธิภาพเท่ากัน และบางผลิตภัณฑ์ก็การผสมวิตามินดีหรือวิตามินซีลงไปด้วย เพื่อให้แคลเซียมถูกดูดซึมได้ดี การรับประทานแคลเซียมก็อาจมีผลเสียอยู่บ้าง คือ ทำให้เกิดอาการท้องผูก ดังนั้นเมื่อรับประทานแคลเซียมเข้าไปแล้วนั้นแนะนำว่าควรดื่มน้ำให้มากๆ และรับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น และควรรับประทานแคลเซียมนี้ให้ห่างจากยาชนิดอื่นๆ สักประมาณ 2 ชั่วโมง นอกจากนี้การรับประทานแคลเซียมยังมีความเสี่ยงในการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหลอดเลือดในสมองอีกด้วยในผู้ป่วยรายที่อยู่แต่ในที่ร่มหรือไม่ค่อยได้รับแสงแดด แพทย์อาจให้วิตามินดีร่วมด้วย ส่วนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนแพทย์อาจให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเข้ามาทดแทน และสำหรับในผู้ชายที่ระดับฮอร์โมนเทสโทสแตอโรนต่ำแพทย์ก็จะต้องให้ฮอร์โมนชนิดนี้เพิ่มด้วยเช่นกัน ในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจพิจารณาให้ยากระตุ้นการดูดซึมแคลเซียมหรือลดการสลายกระดูก เช่น ยากลุ่มบิสฟอตโฟเนต แต่ข้อเสียของยานี้คือ ราคาค่อนข้างแพงและก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร เพราะยาในกลุ่มนี้จะต้องรับประทานในช่วงที่ท้องว่างทำให้ถูกดูดซึมได้ดี และเมื่อรับประทานยานี้เข้าไปจะต้องนั่นหรือยืนอยู่ในท่าตรงเท่านั้นเป็นเวลา 30 – 60 นาที การรับประทานยาในกลุ่มนี้มีวิธีการใช้หลายแบบ ได้แก่ รับประทานทุกวัน วันละ 1 ครั้ง รับประทานสัปดาห์ละ 1 ครั้ง รับประทานเดือนละ 1 ครั้ง ฉีดเดือนละ 1 ครั้ง ฉีดทุก 3 เดือน และฉีดปีละครั้งแคลซิโทนิน มีทั้งแบบพ่นเข้าจมูกและฉีดเข้าผิวหนัง ยาสร้างกระดูก เช่น พาราไทรอยด์ฮอร์โมน ฟลูออไรด์ เป็นต้น การรักษาโรคกระดูกพรุนจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาที่ค่อนข้างนานพอสมควร และนอกจากนี้ยังเกิดผลข้างเคียงต่างๆ ตามมาจากการใช้ยา ดังนั้นการรักษาที่ดีจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญวิธีป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนนอกจากวิธีการรักษาที่มีความสำคัญแล้ว วิธีการป้องกันการเกิดโรคก็มีความสำคัญไม่น้อย เพราะเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้เราไม่ต้องป่วยเป็นโรคนี้ หรืออย่างน้อยก็บรรเทาความรุนแรงในการเกิดโรคขึ้นมาได้ โดยมีวิธีการ ดังนี้1. การเสริมสร้างมวลกระดูก ให้มีค่าความหนาแน่นสูงสุดในช่วงก่อนอายุ 30 ปี เพื่อให้กระดูกมีความแข็งแรงและมีคุณภาพที่ดีในวัยผู้ใหญ่ต่อไป2. รับประทานให้ครบ 5 หมู่ และรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย3. หมั่นดื่มนมให้เป็นประจำ ในวัยเด็กและวัยรุ่นควรดื่มวันละ 2 – 3 แก้วต่อวัน ส่วนวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุควรดื่มวันละ 1 – 2 แก้วต่อวัน4. หมั่นรับแสงแดด เพราะจะช่วยให้ร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดี เพื่อไปใช้ในการสร้างกระดูก5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและพอดีกับพละกำลังของตัวเรา จะช่วยให้กระดูกและร่างกายของเราแข็งแรงขึ้น6. ควบคุมน้ำหนักตัว อย่าให้ผอมเกินไป เพราะคนผอมจะมีมวลกระดูกต่ำ7. หลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่หลายคนมองว่าไม่ได้น่ากลัว และไม่น่าจะเกิดขึ้นกับทุกคน แต่เรื่องของโรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเกิดหรือไม่และจะเกิดเมื่อไร ดังนั้นการดูแลรักษาตัวเองให้ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งเรื่องของกระดูกเป็นเรื่องของโครงสร้างทางร่างกาย หากเกิดความผิดปกติของกระดูก ส่วนอื่นๆ ในร่างกายก็ล้วนได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นคุณอย่าชะล่าใจ