free web tracker, fire_lady “โรคนิ่วในถุงน้ำดี” รู้สาเหตุ-อาการ ไม่รุนแรงนัก รักษาได้ • สุขภาพดี

โรคนิ่วในถุงน้ำดี” รู้สาเหตุ-อาการ ไม่รุนแรงนัก รักษาได้

นิ่วในถุงน้ำดี สาเหตุ อาการ

นอกจากโรคนิ่วในไตที่หลายคนรู้จักแล้วนั้น ยังมีโรคนิ่วอีกชนิดหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ คือ “นิ่วในถุงน้ำดี” (Gallstones) เป็นก้อนนิ่วขนาดเล็กที่เกิดขึ้นในถุงน้ำดี มักเกิดขึ้นเมื่อส่วนประกอบของน้ำดีโดยเฉพาะคอเลสเตอรอลและบิลิรูบิน (สารให้สีในน้ำดี) ตกตะกอนผลึกเป็นก้อน โดยก้อนนิ่วที่เกิดขึ้นอาจมีขนาดเล็กเท่าเม็ดทรายหรือใหญ่เท่าลูกกอล์ฟ และอาจมีได้ตั้งแต่หนึ่งก้อนจนถึงหลายร้อยก้อนก็ได้ ส่วนใหญ่จะไม่ทำให้เกิดอาการใด ๆ และอาจไม่จำเป็นต้องรักษา แต่หากก้อนนิ่วติดค้างอยู่ที่ปากท่อของถุงน้ำดีอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องเฉียบพลันนานประมาณ 1 - 5 ชั่วโมง หรือที่เรียกว่าปวดเสียดท้อง ซึ่งบางรายอาจต้องได้รับการผ่าตัด

สาเหตุของโรคนิ่วในถุงน้ำดี

โรคนิ่วในถุงน้ำดีสามารถแบ่งตามสาเหตุจากการเกิดได้  2 ชนิด คือ

1. นิ่วในถุงน้ำดีชนิดที่เกิดจากคอเลสเตอรอล (Cholesterol Gallstones) เป็นชนิดที่พบมากที่สุด มีลักษณะเป็นก้อนสีขาว สีเหลือง หรือสีเขียว นิ่วในถุงน้ำดีชนิดนี้มักจะประกอบด้วยคอเลสเตอรอลที่ไม่ถูกละลายไปหรืออาจมีส่วนประกอบของสารอื่นๆ ด้วย

2. นิ่วในถุงน้ำดีชนิดที่เกิดจากเม็ดสีหรือบิลิรูบิน (Pigment Gallstones) ก้อนนิ่วมักจะเป็นสีน้ำตาลหรือดำซึ่งเกิดจากน้ำดีที่มีสารบิลิรูบินมากเกินไป

นอกจากนี้แพทย์สันนิษฐานว่านิ่วในถุงน้ำดีอาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้ด้วย

1. น้ำดีมีคอเลสเตอรอลมากเกินไป โดยปกติในน้ำดีของคนเราจะมีสารเคมีที่ขับออกมาโดยตับสำหรับละลายคอเลสเตอรอลอย่างเพียงพอ แต่หากขับคอเลสเตอรอลออกมามากเกินไปอาจทำให้เกิดการตกตะกอนและกลายเป็นก้อนนิ่วได้ในที่สุด หรือเกิดจากกล้ามเนื้อในถุงน้ำดีมีสมรรถภาพในการบีบตัวไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถบีบเอาสารคอเลสเตอรอลออกได้หมด

2. น้ำดีมีสารบิลิรูบินมากเกินไป สารบิลิรูบินเป็นสารเคมีที่ผลิตเมื่อเซลล์เม็ดเลือดถูกทำลาย หรืออาจเกิดจากบางภาวะที่ทำให้ตับผลิตสารบิลิรูบินมากเกินไป เช่น โรคตับแข็ง การติดเชื้อระบบทางเดินน้ำดี หรืออาจเกิดจากความผิดปกติเกี่ยวกับเลือดบางชนิด เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย

3. ถุงน้ำดีขับของเสียไม่เหมาะสม ทำให้น้ำดีมีความเข้มข้นมาก ซึ่งอาจก่อตัวเป็นนิ่วได้ในที่สุด

สาเหตุ อาการ นิ่วในถุงน้ำดี

ส่วนปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดี ได้แก่

1. อ้วนเกินไป เพราะผู้ที่อ้วนอาจมีระดับคอเลสเตอรอลในน้ำดีสูงและทำให้ถุงน้ำดีขับออกได้ไม่ดีพอ

2. ใช้ยาคุมกำเนิด หรือใช้ฮอร์โมนทดแทนในการบำบัดสำหรับผู้ที่มีอาการวัยหมดประจำเดือนหรือผู้ที่ตั้งครรภ์ เพราะอาจมีฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป ซึ่งทำให้คอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้นและถุงน้ำดีขับออกได้อย่างไม่เหมาะสม

3. ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เพราะผู้ป่วยอาจมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงและถุงน้ำดีจะบีบตัวได้ไม่ดีนัก

4. การใช้ยาบางชนิด เพราะยาบางชนิดอาจเพิ่มจำนวนตอเลสเตอรอลในน้ำดี

5. น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ตับผลิตคอเลสเตอรอลออกมามากเกินไป

6. อดอาหาร เพราะอาจทำให้ถุงน้ำดีบีบตัวได้ไม่ดีพอ

7. พันธุกรรม หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีก็มีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้น

นอกจากนี้นิ่วในถุงน้ำดีมักจะเกิดในสตรี ผู้สูงอายุ หรือคนบางเชื้อชาติ

อาการของโรคนิ่วในถุงน้ำดี

โดยปกติแล้วโรคนิ่วในถุงน้ำดีจะไม่ปรากฏอาการ ผู้ป่วยจะทราบก็ต่อเมื่อมาตรวจสุขภาพ โดยอาการของนิ่วในถุงน้ำดีมักจะเกิดขึ้นหากก้อนนิ่วไปติดค้างอยู่ที่ปากทางออกของถุงน้ำดีและเกิดการอุดตัน ซึ่งทำให้เกิดอาการต่างๆ ดังนี้

1. ปวดท้องอย่างรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณช่วงท้องส่วนบนหรือด้านขวา และอาจมีอาการปวดร้าวไปยังบริเวณกระดูกสะบักหรือบริเวณไหล่ด้านขวา

2. มีอาการปวดกลางท้องหรือบริเวณใต้กระดูกหน้าอกอย่างกะทันหันและรุนแรง

3. ปวดหลังบริเวณระหว่างไหล่และสะบัก

4. รู้สึกคลื่นไส้ หรืออาเจียน

5. อาจมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารอื่นๆ เช่น อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ แสบร้อนที่ยอดอก มีลมในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะเสียดแน่นท้องบริเวณลิ้นปี่หลังรับประทานอาหารมันๆ

6. มีอาการปวดต่างๆ เกิดขึ้นเป็นเวลาหลายนาทีไปจนถึงหลายชั่วโมง

ผู้ป่วยควรพบแพทย์หากพบว่าเกิดอาการที่ทำให้กังวลหรือมีอาการรุนแรง เช่น

1. ปวดท้องอย่างรุนแรงจนไม่สามารถนั่งในท่าที่สบายได้

2. ผิวเหลืองหรือตาขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง

3. มีไข้และหนาวสั่น

ภาวะแทรกซ้อนของโรคนิ่วในถุงน้ำดี

ภาวะแทรกซ้อนของโรคนิ่วในถุงน้ำดีที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

1. ถุงน้ำดีอักเสบ ทำให้เกิดอาการปวดรุนแรง เป็นไข้ ตัวเหลือง และตาเหลือง

2. ท่อน้ำดีอักเสบ อาจทำให้เป็นดีซ่านและเกิดการติดเชื้อในท่อน้ำดี

3. ตับอ่อนอักเสบ ทำให้เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรงและตลอดเวลา ต้องรักษาอย่างทันท่วงที

4. มะเร็งท่อน้ำดี มีโอกาสพบได้น้อยมาก

5. ติดเชื้อในกระแสเลือด และส่งผลให้เสียชีวิตได้

การวินิจฉัยโรคนิ่วในถุงน้ำดี

การวินิจฉัยโรคนิ่วในถุงน้ำดีนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่

1. การคลำถุงน้ำดี (Murphy's Sign Test) เพื่อตรวจสอบว่าถุงน้ำดีมีการอักเสบหรือไม่ โดยแพทย์จะใช้มือคลำบริเวณท้องส่วนขวาบนแล้วให้ผู้ป่วยหายใจเข้า หากมีอาการเจ็บแสดงว่าถุงน้ำดีอาจอักเสบ นอกจากนั้นแพทย์อาจแนะนำให้มีการตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อ หรือตรวจสอบการทำงานของตับด้วย

2. การอัลตราซาวด์ เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อสร้างภาพของอวัยวะภายในร่างกาย ใช้เพื่อช่วยวินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดี

3. ตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging: MRI)

4. เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computeritzed Tomography: CT-Scan) เพื่อตรวจดูภาวะแทรกซ้อนของนิ่วในท่อน้ำดี และมักจะใช้เพื่อวินิจฉัยเมื่อมีอาการปวดท้องที่รุนแรง

การตรวจหานิ่วในถุงน้ำดี

5. การถ่ายภาพรังสีท่อน้ำดี (Cholangiography) วิธีนี้จะช่วยเพิ่มรายละเอียดของนิ่วในท่อน้ำดี โดยแพทย์จะฉีดสีเข้าไปทางหลอดเลือดหรือเข้าไปที่ท่อน้ำดีในระหว่างผ่าตัด หรือใช้กล้องส่องตรวจผ่านเข้าไปทางปาก แล้วจึงเอกซเรย์ ซึ่งจะช่วยให้เห็นความผิดปกติภายในท่อน้ำดีหรือการทำงานของตับอ่อนได้ หากพบว่าเกิดการปิดกั้นในระหว่างการตรวจดังกล่าว แพทย์อาจใช้กล้องส่องตรวจ (Endoscope) ช่วยกำจัดนิ่วในท่อน้ำดีออกก่อน หรือที่เรียกว่าการส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (Endoscopic Retrograde Cholangio-Pancreatography: ERCP)

การรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดี

การรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดีมักต้องได้รับการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี ได้แก่

1. การผ่าตัดถุงน้ำดีแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Cholecystectomy) เป็นวิธีการผ่าตัดรูปแบบใหม่ที่ให้ผลเหมือนการผ่าตัดวิธีเปิดช่องท้อง เป็นวิธีที่นิยมใช้เพราะสามารถลดภาวะแทรกซ้อน ลดความอันตราย ลดระยะเวลาในการผ่าตัด ลดเวลาในการนอนพักฟื้นในโรงพยาบาล ลดระยะเวลาการหยุดงาน ลดค่าใช้จ่าย ลดจำนวนแพทย์และทีมงาน รวมทั้งบาดแผลจะมีขนาดเล็ก แต่ควรทำโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญไม่เช่นนั้นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ตัดโดนท่อน้ำดี ท่อน้ำดีรั่ว หรือท่อน้ำดีตัน เป็นต้น

2. การผ่าตัดถุงน้ำดีแบบเปิดช่องท้อง (Open Cholecystectomy) เป็นการผ่าตัดด้วยการเปิดแผลทางหน้าท้องบริเวณใต้ซี่โครงด้านขวา จะใช้วิธีนี้ในผู้ป่วยถุงน้ำดีอักเสบรุนแรง ก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ หรือเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน นอกจากนั้นการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยจะต้องใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลนานกว่าการผ่าตัดถุงน้ำดีแบบส่องกล้อง

หากผู้ป่วยมีภาวะทางร่างกายบางอย่างที่แพทย์ไม่แนะนำให้ผ่าตัด แพทย์อาจให้ยารักษา เช่น ยา Chenodiol และยา Ursodiol หรือใช้พร้อมกันทั้ง 2 ชนิด โดยยาจะช่วยละลายก้อนนิ่วคอเลสเตอรอล แต่อาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา คือ อาการท้องเสียแต่ไม่รุนแรงนัก และการใช้ยานี้อาจต้องใช้ระยะเวลานานเป็นปีก้อนนิ่วจึงจะสลายไป และมีโอกาสกลับมาเป็นได้อีกหลังจากหยุดใช้ยา

สำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการแสดงแต่ตรวจพบโดยบังเอิญ อาจยังไม่จำเป็นต้องรีบผ่าตัด แต่แพทย์อาจจะนัดมาติดตามอาการเป็นระยะๆ จนกว่าผู้ป่วยจะมีอาการ เช่น ปวดท้อง หรือมีโรคแทรกซ้อนจากถุงน้ำดี แล้วจึงค่อยผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ซึ่งจะพิจารณาผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป 

การป้องกันโรคนิ่วในถุงน้ำดี

การป้องกันโรคนิ่วในถุงน้ำดีหรือลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดี อาจปฏิบัติได้ดังนี้

1. ไม่ควรข้ามมื้ออาหารหรืออดอาหาร ควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลาและครบมื้อในทุกวัน

2. หากต้องการจะลดน้ำหนัก ควรค่อย ๆ ลดอย่างช้า ๆ โดยควรลดน้ำหนักให้ได้ประมาณ 0.5 - 1 กิโลกรัมต่อ 1 สัปดาห์

3. รักษาน้ำหนักตัวให้มีความสมดุล ควรลดปริมาณแคลอรี่ในการรับประทานอาหาร เพิ่มการออกกำลังกาย และหากมีน้ำหนักตัวพอดีแล้วก็ควรรักษาเอาไว้ให้ได้อย่างต่อเนื่อง

ธรรมชาติบำบัด ท้องอืด อาหารไม่ย่อย​​​ได้รู้ถึง สาเหตุ อาการ วิธีรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดี กันไปแล้ว อีกทั้งมีวิธีป้องกันไม่ให้ต้องเจ็บตัว ทรมานกับโรคนี้ ก็อย่าลืมนำไปปฎิบัติตามกันนะค่ะ