free web tracker, fire_lady “โรคปากนกกระจอก” ไม่ใช่โรคกระจอกๆ อย่างที่คิด • สุขภาพดี

โรคปากนกกระจอก” ไม่ใช่โรคกระจอกๆ อย่างที่คิด

โรคปากนกกระจอก

หลายครั้งที่เรารู้สึกว่าปากลอกหรือแสบๆ ที่บริเวณมุมปาก เราอาจคิดว่าไม่ใช่ปัญหาอะไรมากมาย แค่ปากแห้งแตกเท่านั้น ทาสีผึ้งหรือลิปมันก็จะดีขึ้นแต่ไม่ใช่อย่างที่เราคิด เพราะอาการที่มีแผลแสบบริเวณมุมปากเป็นอาการของโรคหนึ่งนั่นก็คือ “โรคปากนกกระจอก

โรคปากนกกระจอก หรือโรคแผลที่มุมปากเป็นอาการแผลเปื่อยที่เกิดขึ้นที่บริเวณมุมปากทั้ง 2 ข้าง ซึ่งโรคนี้มีหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคนี้ ทั้งภาวะการขาดแร่ธาตุต่าง ๆ และการติดเชื้อ โรคปากนกกระจอกเป็นโรคที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่โรคนี้ไม่ใช่โรคที่อันตราย ไม่ใช่โรคติดต่อ และถ้าปล่อยไว้ก็สามารถหายเองได้ในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์

สาเหตุการเกิดโรคปากนกกระจอก

โรคปากนกกระจอกเป็นโรคที่หลายคนก็รู้จักกันดี และเข้าใจมาเสมอว่าเกิดจากการขาดวิตามินบีเท่านั้น แต่ความจริงแล้วมีหลายสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคปากนกกระจอก ดังนี้

1. เกิดจากโรคผิวหนัง ซึ่งอาการของโรคผิวหนังในรูปแบบต่างๆ นับเป็นสาเหตุหลักในการเกิดโรคปากนกกระจอก

2. เกิดจากการขาดสารอาหาร ซึ่งเป็นสารอาหารประเภท วิตามินบี 2 ธาตุเหล็ก วิตามินซี และโปรตีน

3. เกิดจากการติดเชื้อบางชนิด เช่น การติดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส

4. เกิดจากการไม่มีฟัน เกิดขึ้นกับผู้ป่วยในกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุที่ไม่มีฟันจะทำให้รูปปากผิดรูป ก่อให้เกิดการกดทับ ซึ่งอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแคทีเรียได้

5. เกิดจากภาวะน้ำลายออกมาก การที่มีน้ำลายออกมากผิดปกติ น้ำลายนั้นจะมาเอ่ออยู่ที่มุมปากซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคือง และทำให้เกิดโรคปากนกกระจอกได้

6. เกิดจากการแพ้สารบางชนิด เช่น การแพ้อาหาร ลิปสติก หรือยาสีฟัน เป็นต้น

7. เกิดจากนิสัยส่วนตัว ซึ่งนิสัยนี้คือนิสัยที่ชอบเลียปากตัวเอง การเลียปากตัวเองเป็นสาเหตุที่ทำให้ปากยิ่งแห้งและแตกมากขึ้น ยิ่งถ้าเป็นช่วงที่มีอากาศหนาวอาการจะยิ่งหนักมากขึ้น

8. เกิดจากผลข้างเคียงจากการใช้ยา โดยเฉพาะยาในกลุ่มยารักษาสิวประเภทกรดวิตามินเอ

อาการของโรคปากนกกระจอก

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคปากนกกระจอกนั้นจะมีอาการคือ เป็นแผลเปื่อยมีลักษณะแตกเป็นร่องที่บริเวณมุมปากทั้ง 2 ข้าง มีสีขาวเหลือง โดยเริ่มต้นจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนที่ริมฝีปากก่อน ต่อมาจึงจะมีแผลเปื่อยแตกที่บริเวณมุมปากทั้ง 2 ข้าง เมื่ออ้าปากจะมีอาการตึง เจ็บ และมีเลือดไหลออกมาที่บริเวณแผล นอกจากนี้หากผู้ป่วยคนใดที่มีอาการรุนแรงจะพบการอักเสบที่เยื่อบุริมฝีปากและลิ้นร่วมด้วย นอกจากนี้อาจมีภาวะซีด และอักเสบที่ผิวหนังในบริเวณอื่นๆ

วิธีการรักษาโรคปากนกกระจอก

จริงๆ แล้ววิธีการรักษาที่ถูกต้องที่สุดคือ การหาสาเหตุของการเกิดโรคนี้ก่อนแล้วรักษาที่ต้นเหตุ เพื่อให้การรักษานั้นได้ผลดีที่สุดและไม่กลับมาเป็นโรคนี้อีก แต่โดยทั่วไปก็มีวิธีการรักษาโรคปากนกกระจอกอยู่หลายวิธี ดังนี้

อาการโรคปากนกกระจอก

1. ถ้ารู้สาเหตุว่าเกิดจากการขาดวิตามินบี 2 ก็ให้หาวิตามินบี 2 มารับประทานวันละ 1 – 3 เม็ด จนกว่าจะหาย และให้รับประทานข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ผักผลไม้ที่มีวิตามินบี 2 เป็นประจำ

2. ถ้ารู้สาเหตุว่าเกิดมาจากเชื้อเริม ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการแผลแบบเป็น ๆ หาย ๆ ให้รักษาความสะอาดของริมฝีปากและช่องปากอยู่เสมอ ทั้งการแปรงฟันและการบ้วนปากให้สะอาด

3. ถ้ารู้สาเหตุว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเริ่มต้นเป็นเพียงแค่เซลล์ที่หลุดลอกออกเท่านั้น แต่ดันเกิดเป็นแผลแล้วติดเชื้อแบคทีเรีย ถ้าเป็นกรณีแบบนี้ให้ไปพบแพทย์เพื่อรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

4. ให้ดื่มน้ำมากๆ ในที่นี้หมายถึงการดื่มน้ำเปล่าที่สะอาด ไม่ใช่ดื่มอะไรก็ได้และงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา เพราะจะลดการดูดซึมวิตามิน

5. พยายามดูแลรักษามุมปากให้สะอาดและแห้งอยู่ตลอดเวลา

6. ไม่ควรเลียริมฝีปาก ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่าการเลียริมฝีปากจะยิ่งทำให้ริมฝีปากแห้งมากกว่าเดิม และทำให้เป็นแผลเกิดโรคปากนกกระจอกในที่สุด

7. หมั่นทำความสะอาดช่องปากอยู่เสมอ ทั้งการแปรงฟันและการบ้วนปากหลังมื้ออาหาร

8. ควรทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ โดยเฉพาะเครื่องใช้ที่อยู่ใกล้เคียงกับปาก เช่น ปลอกหมอน หรือผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น

9. หากแผลมีอาการเจ็บและตึงมาก ให้ใช้ครีมทาปาก เช่น ปิโตรเลี่ยมเจลลี่ ลิปบาล์มที่มีส่วนผสมของวิตามินอี เพราะวิตามินอีจะช่วยสมานแผลให้หายเร็วขึ้น ผิวมีความชุ่มชื้น และยืดหยุ่นได้ดี

10. ใช้ยาป้ายแผลในปาก จะช่วยบรรเทาอาการอักเสบหรือแผลเปื่อยได้ดี

11. ควรงดใช้ผลิตภัณฑ์ที่อาจก่อให้เกิดการแพ้เพิ่มเติมได้ เช่น ลิปสติก หรือยาสีฟันบางชนิด

วิธีการป้องกันโรคปากนกกระจอก

โรคปากนกกระจอกเป็นโรคที่หากเป็นแล้วสามารถหายเองได้ แต่หากเรารู้วิธีการป้องกันการเกิดโรคนี้ก็จะดีไม่ใช่น้อย ซึ่งวิธีการป้องกันการเกิดโรคปากนกกระจอกก็จะคล้ายกับวิธีการรักษา ดังนี้

1. รับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 2 เช่น ปลา ตับ ถั่ว นม ไข่แดง และผักใบเขียว ธาตุเหล็ก เช่น เนื้อแดง หอย หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วฝักยาว เห็ดฟาง และธัญพืชชนิดต่างๆ ในปริมาณที่เพียงพอ

2. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เป็นประจำทุกวัน

3. หากมีพฤติกรรมที่ชอบเลียปาก ต้องหยุดพฤติกรรมนี้ให้ได้อย่างถาวร

4. หากใช้ผลิตภัณฑ์ใดก็ตามที่เกี่ยวกับริมฝีปากแล้วก่อให้เกิดการแพ้ ให้เลิกใช้ผลิตภัณฑ์นั้นทันที
แล้วไม่กลับมาใช้อีก

5. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ร่างกายจะได้มีภูมิคุ้มกันที่ดี

สมุนไพรรักษาโรคปากนกกระจอก

สมุนไพรไทยบางชนิดก็มีสรรพคุณในการรักษาโรคปากนกกระจอกได้ หากจะนำมาลองก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แม้ว่าโรคนี้จะสามารถหาเองได้ในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ก็ตาม แต่อย่างน้อยๆ ก็อาจจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดของแผลได้บ้าง

1. ใบมะรุม ให้นำใบมะรุมสดมาตำให้ละเอียดแล้วพอกบริเวณที่เป็นแผลจะช่วยสมานแผลได้ดี

2. ต้นตองแตก โดยนำน้ำยางจากยอดอ่อนของต้นตองแตกนี้มาทาที่บริเวณสามารถบรรเทาอาการได้

3. ใบอัคคีทวาร นำใบสดของต้นอัคคีทวารมาขยี้ๆ แล้วใส่แผลจะช่วยให้อาการดีขึ้น

4. ยางสดจากต้นน้ำนมราชสีห์ใหญ่

5. ยางจากก้านใบของต้นสบู่ดำ

6. เปลือกชั้นในของต้นมะขามเทศ โดนำเปลือกชั้นในของต้นมะขามเทศมาผสมกับเกลือป่น นำมาต้มกับน้ำในปริมาณที่พอท่วมเปลือกต้นมะขามเทศ นำน้ำที่ได้มาอมหลังจากการแปรงฟัน

7. ใบของต้นกระเจี๊ยบเขียว

จากที่กล่าวมาทั้งหมดเกี่ยวกับ "โรคปากนกกระจอก" นั้น แม้ว่าโรคปากนกกระจอกจะไม่ใช่โรคที่มีอันตรายร้างแรง แต่สร้างความเจ็บปวดไม่น้อย ทั้งยังเป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกว่าสุขภาพร่างกายของคุณเริ่มไม่ดีแล้ว ดังนั้นควรป้องกันตัวเองไม่ให้เกิดโรคนี้หรือหากเป็นโรคนี้แล้วก็ควรรักษาให้ถูกวิธี เพราะโรคปากนกกระจอกจะได้ไม่กลับมากวนใจคุณอีกต่อไป