free web tracker, fire_lady อาหารเสริมวิตามินเอ...ทานอย่างไรให้ได้ประโยชน์ ไม่เกิดโทษ • สุขภาพดี

อาหารเสริมวิตามินเอ...

ทานอย่างไรให้ได้ประโยชน์ ไม่เกิดโทษ

อาหารเสริมวิตามินเอ

หากพูดถึงวิตามินหรืออาหารเสริม สิ่งที่หลายคนคิดถึงก็คงจะหนีไม่พ้น วิตามินซี วิตามินบี วิตามินอี น้ำมันตับปลา แคลเซียม ฯลฯ ซึ่งเป็นอาหารเสริมที่มีขายทั่วไปในท้องตลาด สามารถหาซื้อมารับประทานเองได้ และให้ผลในเรื่องสุขภาพและความงามเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังมีอีกวิตามินอีกหนึ่งชนิดที่คนยังพูดถึงกันไม่มากเท่าไรนัก เนื่องจากไม่ค่อยเป็นที่นิยม และค่อนข้างหาซื้อยาก ไม่มีขายทั่วไปเหมือนวิตามินชนิดอื่นๆ นั่นก็คือ อาหารเสริมวิตามินเอ

ข้อควรรู้ก่อนซื้ออาหารเสริมวิตามินเอมาทาน

วิตามินเอเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย คนเราไม่สามารถสร้างวิตามินเอขึ้นได้เอง จำเป็นต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น ผู้ค้นพบวิตามินเอ คือ ดอกเตอร์ อี.วี. แมคคอลลัม (E.V. McCollum) นักวิทยาศาสตร์ ชาวสหรัฐอเมริกา วิตามินเอแบ่งตามแหล่งที่มาได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1 วิตามินเอที่ได้จากสัตว์ เรียกว่าวิตามินเอแท้ (Preformed Vitamin A) ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้โดยตรง มันถูกดูดซึมในรูปเรตินอล (Retinol) ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบที่พร้อมใช้งานมากที่สุดของวิตามินเอ โดยจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายบริเวณลำไส้เล็กตอนบนเช่นเดียวกับไขมัน แหล่งที่สำคัญ คือ ตับวัว ไข่แดง ชีสเชดดาร์ นม เรตินอล และยังสามารถเปลี่ยนเป็นเรตินัล (retinal) และเรติโนอิกเอซิด (retinoic acid) ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่พร้อมใช้งานของวิตามินเอในร่างกายได้อีกด้วย

2 วิตามินเอที่ได้จากพืช เรียกว่า สารตั้งต้นวิตามินเอ (provitamin A) ซึ่งจะต้องเกิดกระบวนการทางชีวเคมีในร่างกายเพื่อเปลี่ยนเป็นเรตินอลก่อน ร่างกายจึงจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ สารนี้เป็นพวกแคโรทีนอยด์ ซึ่งเป็นรงควัตถุที่มีสีเหลืองถึงแดง เช่น เบต้าแคโรทีน (beta-carotene) อัลฟาแคโรทีน (alpha-carotene) และเบต้าคริบโทแซนทีน (beta-cryptoxanthin) โดยที่เบต้าแคโรทีนเป็นสารที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการเปลี่ยนเป็น เรตินอล ส่วนอัลฟาแคโรทีนและเบต้าคริบโทแซนทีน สามารถเปลี่ยนเป็นเรตินอลได้ด้วย แต่มีประสิทธิภาพเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น เมื่อเทียบกับเบต้าแคโรทีน เบต้าแคโรทีน 6 หน่วย เท่ากับเรตินอล 1 หน่วย แคโรทีนอยด์ มี 563 ชนิด แต่มีเพียง 10 % เท่านั้นที่สามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอได้ภายในร่างกาย สารแคโรทีนอยด์ถูกดูดซึมได้น้อยกว่าเรตินอลจากสัตว์ คือร่างกายของคนเราจะสามารถดูดซึมเบต้าแคโรทีนไว้ได้เพียง 25% เท่านั้น แหล่งที่สำคัญของเบตาแคโรทีน คือ พืชผักที่มีสีเหลือง-ส้ม เช่น มันเทศ แครอท แคนตาลูป แต่หากรับประทานอาหารที่มีเบต้าแคโรทีนมาก ๆ ผิวจะเหลือง แต่ไม่ได้เป็นอันตราย หากหยุดรับประทาน ร่างกายก็จะขับออก ผิวก็จะหายเหลืองไปได้เอง

เบต้าแคโรทีน ในอาหารเสริมวิตามินเอ

วิตามินเอ carotene

เบต้าแคโรทีนจัดเป็นสารแอนตี้ออกซิแดนท์ (Antioxidant) ซึ่งคอยกำจัดอนุมูลอิสระ (FreeRadicals) ก่อนที่มันจะไปทำปฏิกิริยาทำลายส่วนประกอบต่าง ๆ จนทำให้เซลล์เหล่านั้นเจริญเติบโตผิดปกติ เป็นต้นเหตุให้เกิดโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งในช่องปาก มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งตับ หรือโรคกระเพาะอาหาร โรคเส้นเลือด หัวใจอุดตัน และโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุ เป็นต้น 

นอกจากนี้เรายังพบว่า เบต้าแคโรทีน สามารถกระตุ้นเซลล์ภูมิต้านทานในร่างกายให้มีประสิทธิภาพการทำงานต้านสิ่งแปลกปลอมได้ดีขึ้น จึงให้ผลดีกับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งดังกล่าว อีกทั้งเบต้าแคโรทีน ยังส่งผลให้เซลล์ผิวพรรณที่สร้างขึ้นใหม่มีสุขภาพดีขึ้นด้วย และให้ผลในการลดความเสื่อมของเซลล์จากอนุมุลอิสระ ทำให้ชะลอขบวนการแก่

ปริมาณวิตามินเอกับความต้องการของร่างกาย

การรับประทานวิตามินเอเป็นอาหารเสริมนั้น หากต้องการรับประทานเพื่อหวังผลในด้านสุขภาพ ป้องกันความเสื่อมของร่างกาย โดยทั่วไปสามารถทานได้ วันละ 4,000 - 5,000 IUs (International Unit , หน่วยสากลของวิตามินเอ) แต่หากต้องการรับประทานเพื่อการรักษาภาวะความเสื่อมที่เป็นอยู่สามารถทานได้ถึง 10,000-20,000 IUs ต่อวัน โดยให้อยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

วิตามินเอ อาหารเสริม

ในปัจจุบันมีอาหารเสริมจำพวกวิตามินต่างๆ รวมทั้งอาหารเสริมวิตามินเอออกมาใหม่ๆมากมาย แต่การเลือกบริโภคต้องระมัดระวัง เพราะผลสรุปส่วนใหญ่ออกมาคล้าย ๆ กันว่า การบริโภควิตามินเอเป็นอาหารเสริมในปริมาณที่มากเกินความจำเป็นนั้น นอกจากจะไม่ช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ยังอาจทำให้เกิดมะเร็งมากขึ้นอีกด้วย

ประโยชน์ของวิตามินเอในอาหารเสริม

1. เพื่อผลิตโรดอปซิน (Rhodopsin) ซึ่งเป็นสารมีสีที่ไวต่อแสงในเซลล์รูปแท่ง (rod cell) ภายในม่านตา (retina) ทำให้สามารถมองเห็นได้ในเวลาที่มีแสงน้อย หรือในที่มืดสลัวได้

2. ช่วยบำรุงรักษาเซลล์เยื่อบุของอวัยวะต่าง ๆ โดยกระตุ้นการสร้างไกลโคโปรตีนช่วยหล่อเลี้ยงเซลล์ให้ชุ่มชื้น

3. ช่วยในกระบวนการสร้างกระดูกและฟัน

4. ช่วยในการรักษาสมดุลของระบบสืบพันธุ์ โดยช่วยในการสร้างเซลล์สืบพันธ์ุในเพศชายและควบคุมระบบประจำเดือนในเพศหญิงให้ทำงานเป็นปกติ

5. เบต้าแคโรทีน ทำหน้าที่เป็นสารต้านออกซิเดชัน (antioxidant) คอยกำจัดอนุมูลอิสระ(free radicals) ช่วยให้เซลล์ในร่างกายเจริญเติบโตเป็นปกติ

6. สร้างความต้านทานให้ระบบหายใจ

7. ช่วยสร้างภูมิชีวิตให้ดีขึ้น และทำให้หายป่วยเร็วขึ้น

8. ช่วยในเรื่องของผิวพรรณ ลดการอักเสบของสิว และช่วยลบจุดด่างดำ

9. ช่วยบรรเทาโรคเกี่ยวกับไทรอยด์

อาหารเสริมวิตามินเอ กับการรักษาสิว

ในแง่ของสิว สุขภาพผิว และความสมดุลของฮอร์โมนนั้น วิตามินเอมีความจำเป็นเป็นอย่างมาก โดยได้มีงานวิจัยยืนยันว่า ผู้ที่เป็นสิวรุนแรงนั้นมีระดับวิตามินเอในเลือดต่ำกว่าปกติ มีรายงานว่า หญิงที่มีภาวะฮอร์โมนไม่สมดุลและเป็นสิว เมื่อได้รับได้รับอาหารเสริมวิตามินเอ สิวจะมีอาการดีขึ้นภายใน 4 – 7 สัปดาห์ รวมถึงรอยแผลสิวก็เริ่มลดลงหลังจากได้รับอาหารเสริมวิตามินเออีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การรักษาสิวด้วยวิตามินเอต้องอยู่ภายใต้การวินิจฉัยและดูแลรักษาของแพทย์เท่านั้น

สภาวะการขาดวิตามินเอ..ต้องหาอาหารเสริมมาทานโดยด่วน

1. ตาฟาง หน้าที่ของวิตามินเอคือช่วยในการสร้างสารที่ใช้ในการมองเห็น หากขาดจะทำให้ มองเห็นได้ยากในเวลากลางคืนหรือในที่แสงสว่างน้อย ทำให้เกิดอาการตาแห้ง กระจกตาเป็นแผลในกรณีที่ร่างกายขาดวิตามินเออย่างรุนแรงอาจทำให้ตาบอด

2. ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ผิวหนัง และเซลล์เยื่อบุของอวัยวะในผิวหนังเกิดอาการ ผิวหนาแห้ง หยาบเป็นเกล็ด และเกิดเป็นตุ่มบริเวณรูขุมขน เกิดอาการอักเสบและติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร และระบบทางเดินปัสสาวะ

3. ในเด็กทำให้กระดูกไม่เจริญเติบโต เกิดการเจริญที่ผิดปกติผิดรูปร่าง รูปร่างแคระแกรน เคลือบฟันไม่แข็งแรง ฟันผุง่าย

4. ความต้านทานโรคต่ำ ทำให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ง่าย เกิดการอักเสบในโพรงจมูก ช่องปาก คอ และที่ต่อมน้ำลาย

สภาวะได้รับวิตามินเอมากเกินความต้องการ...ต้องงดทานอาหารเสริม

จากการวิจัยพบว่าวิตามินเออาจเป็นพิษได้ถ้ารับประทานในปริมาณที่สูงกว่า 25,000 หน่วยสากล (IU) ต่อวัน ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงดังต่อไปนี้

1. ผิวหนังแห้งหยาบ คัน เป็นขุย ผมร่วง

2. สำหรับหญิงที่กำลังตั้งครรภ์นั้น การได้รับปริมาณวิตามินเอที่สูงเกินไป อาจทำให้เกิดการแท้งลูกหรือทำให้เด็กมีความผิดปกติที่ทางเดินปัสสาวะ กระดูกผิดรูป หรือมีติ่งปูดออกมาที่บริเวณหูได้

3. อ่อนเพลีย หากร่างกายได้รับวิตามินเอเกินครั้งละ 15,000 ไมโครกรัม จะมีผลทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและอาเจียน

4. เจ็บกระดูกและข้อต่อ เบื่ออาหาร เซื่องซึม มึนงง คลื่นไส้ นอนไม่หลับ กระวนกระวาย ปวดศีรษะ และนัยน์ตาเห็นภาพซ้อน

แหล่งวิตามินเอที่พบในอาหาร

อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า วิตามินเอมีอยู่ในผักผลไม้ที่มีสีเหลือง – ส้ม เช่น แค ข้าวโพด มันฝรั่ง ฟักทอง คะน้า และผักใบเขียวต่างๆ เช่น คะน้า ผักโขม เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบมากในเนื้อสัตว์ เช่น น้ำมันตับปลา เครื่องในสัตว์ ไข่แดง นมและผลิตภัณฑ์จากนม

อาหารวิตามินเอ

การสูญเสียคุณค่าวิตามินเอในอาหาร

ปริมาณวิตามินเอในอาหารแปรเปลี่ยนไปตามพืชพันธุ์ฤดูกาล วิธีการในการเก็บรักษาอาหาร การหุงต้มหรือใช้ความร้อนกับอาหารด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ ต่างก็เป็นสาเหตุหนึ่งทีทำให้วิตามินเอลดน้อยลง ดังนั้นหากอยากได้ปริมาณวิตามินเอจากอาหารมากที่สุดก็พยายามทานอาหารที่ปรุงแต่งหรือใช้ความร้อนน้อยที่สุด โดยเฉพาะผักผลไม้ หากรับประทานสดๆได้จะดีที่สุด แต่ควรคำนึงถึงเรื่องความสะอาดปลอดภัยจากสารเคมีด้วย

สำหรับผู้ที่รีบเร่ง ไม่มีเวลาตระเตรียมอาหารที่มีวิตามินเอ สามารถเลือกซื้ออาหารเสริมวิตามินเอที่มีจำหน่ายในท้องตลาดมาทานเสริมได้ แต่ต้องเลือกยี่ห้อที่มีคุณภาพ ปลอดภัย มี อย. รับประกัน และควรทานในปริมาณที่พอดีกับความต้องการของร่างกาย เพียงเท่านี้เราก็จะมีสุขภาพที่ดี มีปริมาณวิตามินเอในร่างกายที่เหมาะสม เพียงพอต่อสุขภาพร่างกาย ผิวพรรณ กันแล้วละคะ

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ อาหารเสริมที่จำเป็นต่อร่างกาย