free web tracker, fire_lady กิน “กะทิ” อย่างพอดี มีประโยชน์มากกว่าโทษ • สุขภาพดี

กิน “กะทิ” อย่างพอดี มีประโยชน์มากกว่าโทษ

กะทิ-ประโยชน์ โทษ

กะทิ” เป็นส่วนผสมในอาหารชนิดหนึ่งที่บางครั้งเราจะเห็นอยู่ในอาหารคาว หรือไม่ก็อยู่ในของหวาน นี่อาจถือเป็นความพิเศษของกะทิก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าจะใช้ประกอบอาหารคาวอย่างแกงเขียวหวาน ต้มยำน้ำข้น ขนมจีนน้ำยา และใส่ในห่อหมก หรือในส่วนของหวานอย่างลอดช่อง กล้วยบวชชี วุ้นกะทิ ข้าวเหนียวมูน เป็นต้น ก็ล้วนช่วยให้รสหวานมัน กลมกล่อม มีกลิ่นหอมอร่อยมากๆ ซึ่งทุกคนทราบกันดีว่ากะทินั้นเกิดขึ้นได้จากมะพร้าวแน่นอน แต่ประโยชน์ของกะทินอกจากใช้เพื่อประกอบอาหารแล้ว ยังมีอะไรดีๆ ต่อสุขภาพที่เราไม่เคยรู้หรือเปล่า นอกจากนี้แล้วกะทิมีโทษอยู่บ้างไหม เป็นสิ่งที่ทุกคนน่าจะอยากรู้กันแล้วใช่ไหม

“กะทิ” ทำมาจากอะไร?

กะทิ” เป็นของเหลวที่ได้จากการคั้นเนื้อมะพร้าวสดที่ขูดแล้วผ่านกระชอนหรือผ้าขาวบาง ซึ่งอาจเติมน้ำอุ่นเล็กน้อยลงไปผสมด้วยก็ได้ เราจะได้น้ำกะทิสีขาวข้นคล้ายน้ำนม มีกลิ่นหอมเฉพาะของกะทิ โดยน้ำกะทิที่คั้นครั้งแรกนั้นเรียกว่า “หัวกะทิ” ส่วนน้ำกะทิคั้นครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 เราเรียกว่า “หางกะทิ ทั้งนี้มะพร้าวที่เรานิยมนำมาใช้ในการทำอาหารและขนมหวานส่วนใหญ่แบ่งได้เป็น 3 แบบ ได้แก่

1. มะพร้าวอ่อน มักใช้ใส่ลงในขนมหวาน เช่น บัวลอย ข้าวเหนียวเปียก ขนมกล้วย ฯลฯ โดยจะหั่นเป็นชิ้น

2. มะพร้าวทึนทึก จะใช้โรยหน้าขนมโดยการขูดเป็นเส้น เช่น ขนมกล้วย ถั่วแปบ ข้าวต้มจิ้ม ฯลฯ

3. มะพร้าวแก่ นิยมนำมาคั้นน้ำกะทิเพื่อใช้ทำอาหารหรือขนมหวานต่างๆ

สำหรับมะพร้าวแก่ที่จะนำมาขูดและคั้นน้ำกะทิ สามารถแบ่งได้ 2 แบบ คือ มะพร้าวขูดธรรมดา จะไม่ปอกเปลือกดำๆ ออก เมื่อคั้นน้ำกะทิจึงมีสีไม่ค่อยขาว และมะพร้าวขูดขาว จะปอกเปลือกดำๆ ออก น้ำกะทิมีสีขาวนวลเหมาะกับการใช้ทำขนมที่ต้องการความขาว

“กะทิ” มีกี่แบบ ต่างกันอย่างไร?

กะทิ” สามารถนำมาใช้ในการทำอาหารและขนมได้หลายชนิด แต่บางครั้งอาจใช้กะทิต่างกัน เพราะน้ำกะทิโดยทั่วไปมีอยู่ 2 ส่วน คือ หัวกะทิ และ หางกะทิ กะทิทั้ง 2 ส่วนนี้มีคุณสมบัติและความเหมาะสมในการนำไปใช้กับอาหารต่างกัน

1. หัวกะทิ คือน้ำกะทิที่คั้นครั้งที่ 1 ซึ่งอาจจะใส่น้ำเพียงเล็กน้อยหรือบางครั้งก็ไม่ใส่เลย น้ำกะทิที่ได้จึงมีความเข้มข้น กลิ่นหอมและมัน จะใช้ทำอาหารที่ต้องการความมันจากกะทิมาก และใช้หยอดหน้าขนมหรืออาหาร

2. หางกะทิ คือน้ำกะทิที่คั้นครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 จะมีส่วนผสมของน้ำมากกว่า ทำให้น้ำกะทิมีความเข้มข้น รวมทั้งมีกลิ่นหอมและความมันน้อยกว่าหัวกะทิ ส่วนใหญ่จะใส่ผสมลงในอาหารและขนม อาทิ แกงเผ็ดต่างๆ สาคูหรือแกงบวด

กะทิมีกี่แบบ

นอกจากนี้ในปัจจุบันก็มีกะทิกล่องสำเร็จรูป ทำให้เราสามารถใช้งานได้ง่ายและสะดวกขึ้น ซึ่งมักเป็นหัวกะทิ 100% แล้วถ้าต้องการหางกะทิล่ะจะทำอย่างไร วิธีการคือให้นำกะทิกล่องผสมกับน้ำในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ก็จะได้หางกะทิ

สรรพคุณดีๆ...ประโยชน์ของกะทิ

กะทิ” เป็นส่วนผสมในอาหารที่อุดมด้วยไขมันสูง แต่เป็นกรดไขมันอิ่มตัวขนาดปานกลาง ซึ่งย่อยง่ายทำให้ไม่เกิดการสะสมเป็นไขมันเหมือนกรดไขมันขนาดใหญ่ รวมทั้งมีสารอาหารอื่นทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต เส้นใยอาหาร วิตามินและแร่ธาตุอีกมากมาย จึงมีส่วนสำคัญในการช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงจากโรคภัยไข้เจ็บ

- กะทิมีกรดลอริก ที่จะช่วยต่อต้านเชื้อโรคต่างๆ กระตุ้นการทำงานระบบภูมิคุ้มกันให้ดีเป็นปกติ

- กะทิช่วยเผาผลาญสารอาหาร ที่เรากินเข้าไปเป็นพลังงานให้แก่ร่างกาย ลดการสะสมของไขมันและลดน้ำหนักได้

- กะทิช่วยเสริมสร้างการทำงานของต่อมไทรอยด์ให้ดีขึ้น

- กะทิมีฤทธิ์ช่วยป้องกันอนุมูลอิสระ ช่วยให้ร่างกายไม่เสื่อมถอยเร็ว ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง

- กะทิช่วยบรรเทาอาการของโรคต่างๆ เช่น เจ็บคอ เหน็บชา ลดความเครียด ระบบประสาทและสมองปกติ ฯลฯ

- กะทิช่วยบำรุงผิวพรรณให้ชุ่มชื้น มีสุขภาพดี แก้อาการผิวแห้งหรือเป็นผื่น

- ะทิมีแคลเซียมช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง

- กะทิช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย บรรเทาอาการของโรคภูมิแพ้ได้

โทษของ“กะทิ” เกิดขึ้นได้...หากทานมากไป

เนื่องจากกะทิมีฤทธิ์ร้อนหากกินเข้าไปในปริมาณมากเกิน อาจทำให้ร่างกายรู้สึกร้อนไปด้วย ซึ่งจะไม่ดีต่อร่างกาย หรือทางแก้ให้กินอาหารที่มีฤทธิ์เย็นควบคู่ไปด้วยก็ได้ นอกจากนี้คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน ไม่ควรกินกะทิบ่อยๆ เพราะอาจทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูงและไขมันอุดตันในหลอดเลือด ซึ่งจะส่งผลให้อาการของโรคกำเริบขึ้นมา

กะทิแม้จะสามารถใช้เป็นส่วนผสมในการประกอบอาหารได้สารพัดทั้งคาวหวาน ทำให้รสชาติอาหารอร่อยแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลายๆ ด้านด้วย แต่ก็ควรกินอย่างพอดีไม่มากจนเกินไป เพราะอาจก่อให้เกิดโทษแทน โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีอาการของโรคเรื้อรังหลายๆ โรคยิ่งควรระวังเป็นพิเศษ จะทำให้เราได้กิน "กะทิ" อย่างมีความสุขและสุขภาพก็ดีด้วย

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องน่ารู้...คู่สุขภาพดี