free web tracker, fire_lady “มะแว้งต้น” สรรพคุณ-ประโยชน์เด็ดๆ บรรเทาไอ ละลายเสมหะ • สุขภาพดี

มะแว้งต้น” สรรพคุณ-ประโยชน์เด็ดๆ บรรเทาอาการไอ ช่วยละลายเสมหะ

มะแว้ง-ประโยชน์-สรรพคุณ

"มะแว้งต้น" หนึ่งสมุนไพรที่ขาดไม่ได้สำหรับตำรับยาไทยโบราณ ด้วยสรรพคุณที่โดดเด่นในเรื่องแก้ไอ แก้เจ็บคอได้อย่างชะงัด เรียกได้ว่าดีไม่แพ้ยาแผนปัจจุบันเลยทีเดียว หลายคนคงจะเคยได้ยินพวกยาอมแก้ไอต่างๆ มักมีส่วนผสมของมะแว้งอยู่เสมอ แต่จริงแล้วมะแว้งต้นมีสรรพคุณและประโยชน์ที่มากกว่านั้น จะมีอะไรกันบ้าง มาหาคำตอบกันได้เลยค่า

ที่มา ต้นกำเนิดของมะแว้งต้น

มะแว้งต้น ( Brinjal ) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Solanom indicum L. ชื่อเรียกท้องถิ่นเช่น มะแคว้ง มะแคว้งขม มะแคว้งดำ (ภาคเหนือ), หมากแข้ง หมากแข้งขม (ภาคอีสาน), แว้งคม (สงขลา) เป็นต้น ถิ่นกำเนิดเชื่อกันว่าออยู่ที่พื้นที่เขตร้อนในทวีปเอเชีย  ปัจจุบันพบได้ทั่วไป สามารถขึ้นได้เองตามธรรมชาติ พบมากตามพื้นที่ราบ ชายป่า เป็นต้น

ความแตกต่างระหว่างมะแว้งต้นและมะแว้งเครือ

มะแว้งต้นและมะแว้งเครือหากมองจากผลที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว อาจจะแยกไม่ได้เพราะลักษณะภายนอกคล้ายกันมาก แต่สามารถสังเกตได้จากผลดิบ ถ้าเป็นมะแว้งต้น ผลจะมีผิวเนียนเรียบ ไม่มีลาย แต่ถ้าเป็นมะแว้งเครือ จะมีลายริ้วตลอดความยาวของผล ซึ่งจะสังเกตได้อย่างชัดเจนถ้าหากนำมาวางเปรียบเทียบคู่กัน นอกจากผลแล้ว ลำต้นยังไม่เหมือนกันเพราะมะแว้งต้นจะเป็นไม้พุ่มแต่มะแว้งเครือนั้นเป็นไม้เถาเลื้อย ส่วนสรรพคุณทางยาจะคล้ายคลึงกัน แต่หากนำมาปรุงยามักใช้มะแว้งเครือมากกว่า แต่ในสมัยโบราณ แพทย์มักจะใช้มะแว้งทั้งสองสายพันธุ์ปรุงยาร่วมกัน โดยจะเรียกว่า “มะแว้งทั้งสอง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของมะแว้ง

  • ลำต้น เป็นไม้พุ่มสูงเฉลี่ย 2-5 เมตร อายุ 2-5 ปี เปลือกต้นสีเขียวอมเทา มี ขนอ่อนนุ่มปกคลุม ลำต้นกลมและแข็ง มีหนามทั่วลำต้น
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว แตกใบตรงข้ามกัน ใบค่อนข้างยาวรี ปลายใบแหลม มีหยักตื่นๆ 4-5 หยัก ก้านใบและท้องมีขนอ่อนปกคลุม
  • ดอก คล้ายกับดอกมะเขือมาก โดยจะออกดอกเป็นช่อตามซอกหรือปลายกิ่ง หนึ่งประกอบไปด้วยดอกย่อย 3-6 ดอก กลีบดอกมีสีม่วงอ่อน ปลายกลีบแยกเป็นแฉกคล้ายดาว มีเกสรตัวผู้สีเหลืองอยู่ใจกลางดอก กลีบเลี้ยงเชื่อกันคล้ายถ้วย ก้านดอกและกลับเลี้ยงมีขนปกคลุม
  • ผล ทรงกลม มีเรียบเกลี้ยง ผลดิบสีเขียวอ่อน ผลสุกสีส้มอมแดง ด้านมีเมล็ดเล็กๆ อยู่เป็นจำนวนมาก รสชาติขม
ต้นมะแว้ง สรรพคุณ ประโยชน์

สรรพคุณของมะแว้งต้น

1. มะแว้งต้นมีสรรพคุณแก้ไอ ตามตำรายาไทย มะแว้งต้นนำมาปรุงเป็นไอได้อย่างชะงัดนัก โดยนำผลแห้งและสด 5-10 มาบดรวมกัน คั้นแต่น้ำ จากนั้นเอาไปผสมเกลือเล็กน้อย แล้วจิบ บรรเทาอาการไอ ช่วยขับเสมหะ แก้เสมหะเหนียวข้น แก้เจ็บคอ จากการศึกษาวิจัยพบว่าในมะแว้งต้นมีสารอัลคาลอยด์หลายชนิด เช่น สารโซลาโซดีน (Solasodine) สารโซลามารีน (Solamarine สารโซลานิดีน (Solanidine) เป็นต้นที่อาจมีฤทธิ์ช่วยบรรอาการเจ็บคอ ละลายเสมหะได้ แต่ถ้าหากไม่อยากทานมะแว้งต้นเพราะรสชาติที่ขมจัดของมันแล้วละก็ ทานมะเขือเปราะทดแทนได้ เพราะมีสรรพคุณช่วยแก้ไอได้เช่นเดียวกัน

2. มะแว้งต้นรักษาโรคที่เกี่ยวทางเดินหายใจ รากนำมารักษาโรคหอบหืด โรคไซนัสอักเสบ โรคหลอดลมอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ เป็นต้น

3. มะแว้งต้นรักษาโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร ใช้เป็นยาขับลม แก้จุกเสียดแน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ รักษาลำไส้ แก้ปวดกระเพราะ รวมทั้งช่วยรักษาแผลในกระเพราะอาหาร เนื่องจากจะไปยับยั้งการหลั่งกรด ทำให้แสบร้อนและปวดท้องน้อยลง

4. สรรพคุณมะแว้งต้นป้องกันอาหารเป็นพิษ อาหารเป็นพิษมีสาเหตุหลักมาจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้ออีโคไล ( E.coli ) เชื้อซาลโมเนลลา ไทฟี (Salmonella Typhi) เป็นต้น มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่นำสารสกัดมะแว้งต้นมาทดลองกับเชื้อโรค 11 ชนิด พบว่ามะแว้งต้นนั้นต่อต้านเชื้อได้ถึง 9 ชนิด เชื้อที่กล่าวถึงไปด้านบนก็เป็น 2 ใน 9 ชนิดด้วยเช่นกัน

5. มะแว้งต้นรักษานิ่ว มะแว้งต้นมีสรรพคุณช่วยละลายก้อนนิ่ว ขับปัสสาวะ ช่วยรักษาป้องกันโรคที่เกี่ยวกระเพราะปัสสาวะและไต

6. มะแว้งต้นแก้ปวด สารสกัดจากมะแว้งต้นมีสารชนิดหนึ่งที่ออกฤทธิ์คล้ายกับสาร Cortisone จึงช่วยบรรเทาอาการปวดและการอักเสบได้เป็นอย่างดี

7. มะแว้งต้นแก้ไข้ มีฤทธิ์เป็นยาเย็น แก้ปวดหัว ลดไข้ ระบายความร้อน ทำให้ร่างกายเย็นลง

8. มะแว้งต้นแก้ฟกช้ำ ช่วยลดการปวดบวมอักเสบและรอยฟกช้ำตามผิวหนังได้

9. มะแว้งต้นรักษาโรคเบาหวาน มะแว้งต้นรับประทานแล้วช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เล็กน้อย

ประโยชน์ของมะแว้งต้น

นำมารับประทานเป็นอาหารได้ โดยผลอ่อนดิบรับประทานเป็นผักสดได้ ส่วนยอดอ่อนก็ทานได้แต่ต้องเอามาลวกให้สุกเสียก่อน ทานจิ้มกับน้ำพริก เป็นผักเคียงกับปลาร้า หรือจะใส่เพิ่มรสขมให้กับอาหารบางชนิดได้เช่น แกงอ่อม น้ำพริก เป็นต้น

ข้อควรระวังในการรับประทาน

1. ไม่ควรทานติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะมะแว้งต้นมีความเป็นพิษเล็กน้อย มีสเตียรอยด์อยู่ในปริมาณที่สูง การใช้เป็นยานานๆ หรือการถอนยาแบบเฉียบพลันอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

2. ผลมะแว้งต้นแก่ดิบ มีสาร Solanine อยู่ค่อนข้างสูง หากร่างกายได้รับมากเกินไป เซลล์เม็ดเลือดอาจถูกทำลาย ทำให้ปวดหัว ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย ดวงตาพร่ามัว หัวใจเต้นเร็วเกินไปจากนั้นค่อยๆ ลดลง หรืออาจจะหยุดเต้นได้ หมดสติหรือเสียชีวิตได้

"มะแว้งต้น" จัดเป็นสมุนไพรอันดับต้นๆ ที่ถูกนำมาใช้รักษาโรคตั้งแต่สมัยโบราณ ด้วยสรรพคุณและประโยชน์อันดีงามของมะแว้งต้น ทำให้ยังมีการนำมะแว้งต้นมาใช้รักษาโรคกันจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการทานยา ไม่ว่าจะแผนปัจจุบันหรือแผนโบราณ สิ่งที่ต้องใคร่ครวญให้ดีก่อนทานคือ ความปลอดภัย ดังนั้นปรึกษาแพทย์และเภสัชกรให้มั่นใจก่อนใช้ทุกครั้ง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : เว็บ sukkaphap-d.com