free web tracker, fire_lady สรรพคุณของ “ถั่วปากอ้า” กับประโยชน์และโทษที่ต้องระวัง • สุขภาพดี

สรรพคุณของ “ถั่วปากอ้า” กับประโยชน์และโทษที่ต้องระวัง

ถั่วปากอ้า สรรพคุณ-ประโยชน์

ถั่วปากอ้า” ถือเป็นอาหารว่างชนิดหนึ่งซึ่งขาดไม่ได้เลยทีเดียวในวงสนทนาต่างๆ ด้วยรสชาติที่มัน อร่อย เคี้ยวเพลินสุดๆ จึงเป็นที่นิยมนำมารับประทานเป็นอาหารว่างนั่นเอง แต่รู้หรือไม่ว่าเจ้าถั่วปากอ้ารสชาติอร่อยนี้ นอกจากจะมีประโยชน์ต่อร่างกายแล้วยังมีโทษร้ายแรงซึ่งอาจจะทำให้ถึงแก่ชีวิตได้เลยทีเดียว ว่าแต่ว่าเจ้าถั่วหน้าตาธรรมดาๆ นี้ทำไมถึงมีโทษร้ายแรงมากขนาดนี้ มาทำความรู้จักสรรพคุณและโทษของถั่วปากอ้า เพื่อที่จะได้รับประทานกันอย่างปลอดภัยจะดีกว่า

ที่มาของถั่วปากอ้า

ถั่วปากอ้าเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งที่อยู่ในวงศ์ถั่ว อายุสั้น เป็นพืชพื้นเมืองแถบแอฟริกาเหนือและทวีปอเชียตะวันตกเฉียงใต้  แหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ที่จีน อิตาลี อียิปต์ เอธิโอเปีย สามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ พื้นดินร่วนซุยและสามารถระบายน้ำได้ดี นิยมปลูกเพื่อนำเมล็ดทั้งอ่อนและแก่มาประกอบอาหาร ในถั่วปากอ้ามีสารพิษชนิดหนึ่งที่ทำให้เมล็ดเลือดแดงแตกและเกิดภาวะโลหิตจาง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของถั่วปากอ้า

ลำต้น ถั่วปากอ้าเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง สูงประมาณ 0.5-1.7 เมตร เจริญเป็นทรงพุ่มขนาดใหญ่ ลำต้นเหลี่ยมคล้ายสี่เหลี่ยมจัตุรัส ผิวเปลือกมีสีเขียวสด ไม่มีมือเกาะสำหรับเลื้อยพัน รากเป็นระบบรากแก้ว

ใบ มีสีเขียวอมเทา ในหนึ่งกิ่งมี 2-7 ใบ โคนใบมนและเบี้ยว ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ

ดอก ดอกออกเป็นช่อ ตามซอกใบ เป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกมี 5 กลีบ มีสีขาวหรือสีขาวอมม่วง ตรงกลางมีจุดสีดำ

ผล มีลักษณะเป็นฝัก  ฝักค่อนข้างใหญ่ ฝักอ่อนสีเขียวสด ฝักแก่เป็นสีน้ำตาลดำ มีร่องตื้นๆตลอดความยาวฝัก มีขนอ่อนปกคลุม

เมล็ด ถั่วหนึ่งมีเมล็ดประมาณ 3-8 เมล็ด เมล็ดรูปร่างแบนและกว้าง เปลือกเรียบ สีเขียวอ่อน อาจจะมีรอยบุ๋มตื้นๆ ตรงกลาง มีตาติดอยู่ที่เมล็ด

7 สรรพคุณ ประโยชน์ของถั่วปากอ้า

1. ถั่วปากอ้ามีโปรตีนสูง ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในร่างกายได้เป็นอย่างดี

2. ถั่วปากอ้าบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง เพราะถั่วปากอ้ามีแคลซียมและธาตุเหล็กสูง

3. ถั่วปากอ้าช่วยบำรุงระบบประสาทและหัวใจ ป้องกันโรคเหน็บชา

4. ถั่วปากอ้ามีไฟเบอร์สูง มีส่วนช่วยในการย่อยอาหาร ลดอาการท้องผูก อุจจาระนิ่ม ขับถ่ายง่าย

5. ถั่วปากอ้าช่วยลดไขมันเลวในร่างกาย ป้องกันโรคหลอดเลือดตีบและโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ

6. ในถั่วปากอ้ามีธาตุเหล็ก สังกะสี และสารโคลีน มีส่วนช่วยในการบำรุงระบบประสาทและสมอง ทำให้ความจำดีขึ้น

7. ถั่วปากอ้าช่วยแก้อาการท้องอืด กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้แลละกระเพาะอาหาร จึงมีส่วนช่วยในการป้องกันมะเร็งลำไส้

ถั่วปากอ้าช่วยลดน้ำหนักได้จริงหรือ?

ถั่วเกือบทุกชนิดรวมถึงถั่วปากอ้า เป็นอาหารที่ไฟเบอร์สูง มีไขมันไม่อิ่มตัวซึ่งดีต่อร่างกาย โดยไขมันในถั่วจะช่วยลดคอเลสเตอรอลและไขมันเลวออกจากร่างกาย จึงมีผลทางอ้อมในการลดน้ำหนัก และเนื่องจากไฟเบอร์สูงจึงทำให้อิ่มนาน ลดความอยากอาหารลง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การลดน้ำหนักควรทำควบคู่ไปการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย จึงจะได้ผลยั่งยืนที่สุด

ข้อควรระวังในการรับประทานถั่วปากอ้า

1. ต้องทำให้สุกก่อนที่จะทำมารับประทาน เนื่องจากถั่วปากอ้าดิบมีสารทำให้เม็ดเลือดแดงแตก อาจจะทำให้เกิดภาวะเลือดจางเฉียบพลัน ดังนั้นจึงไม่ควรรับประทานถั่วปากอ้าดิบ

2. สำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักโดยการรับประทานถั่วปากอ้า ควรลดปริมาณแป้งและคาร์โบไฮเดรตในอาหารมื้ออื่นลงด้วย ไม่เช่นนั้นแทนที่น้ำหนักจะลดลงอาจจะพุ่งพรวดขึ้นแทน

3. สำหรับผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์ ภาวะพร่องเอนไซม์ glucose-6-phosphate dehydrogenase (G6PD) งดรับประทานถั่วปากอ้าอย่างเด็ดขาด เพราะถั่วปากอ้าจะไปกระตุ้นเม็ดเลือดแดงให้แตก อันตรายถึงชีวิตได้โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กๆ โดยผู้ที่แพ้ถั่วปากอ้าจะมีอาการตัวเหลือง หน้า ปากและดวงตาซีดขาว ปัสสาวะมีสีเข้ม หลังรีบประทานถั่วปากอ้าแล้วพบผู้ที่มีอาการเช่นนี้ ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยด่วนที่สุดเพื่อรับการรักษาด้วยการให้เลือด หากช้าอาจจะช็อคจนถึงแก่ชีวิตได้

4. ผู้ที่ลำไส้และกระเพาะอาหารผิดปกติ รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคริดสีดวงทวารหนัก ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วปากอ้า

ถั่วปากอ้าทำอะไรรับประทานได้บ้าง

การรับประทานถั่วปากอ้าสามารถรับประทานได้ตั้งแต่ยังเป็นฝักอ่อน โดยนำมาต้มหรือนึ่งใส่เกลือเล็กน้อย หากเป็นฝักแก่ให้แกะเมล็ดออก นำไปต้ม คั่วเกลือ หรือต้มสุกแล้วแกะเอาเปลือกเมล็ดออกอีกที เมล็ดที่ได้สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายชนิดโดยนำมาผัดกับผักอื่นหรือเนื้อสัตว์ต่างๆ หรือจะนำมารับประทานเปล่าๆ เป็นอาหารว่างก็ได้เช่นกัน

เป็นอันว่าเจ้าอาหารว่างยอดนิยมอย่าง "ถั่วปากอ้า" นี้เป็นอันตรายกับผู้ที่เป็นโรค G6PD นั่นเอง สำหรับคนปกติที่สุขภาพแข็งแรงไม่ได้มีภาวะโลหิตจางและไม่ได้เป็นโรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารก็สามารถรับประทานได้ตามปกติ ส่วนผู้ที่ป่วยนั้นต้องระวังอย่างมาก เพราะอันตรายอย่างสูง หากเผลอรับประทานเข้าไปควรไปพบแพทย์เร็วที่สุด