free web tracker, fire_lady “อัลไซเมอร์” โรคใกล้ตัวผู้สูงวัย…รู้เท่าทันสาเหตุ อาการ วิธีป้องกัน • สุขภาพดี

อัลไซเมอร์” โรคใกล้ตัวผู้สูงวัย...รู้เท่าทันสาเหตุ อาการ วิธีป้องกัน

โรคอัลไซเมอร์

หนึ่งช่วงชีวิตของคนเรานับเป็นเรื่องราวดี ๆ ที่ใครก็ล้วนอยากจดจำ ไม่มีใครที่อยากจะลืมเลือนมันไป หรือไม่มีใครที่อยากจะไม่สามารถจดจำอะไรได้เลย แต่ก็ไม่มีใครอีกเช่นกันที่จะหลีกเลี่ยงได้หากมันจะต้องเกิดกับตัวคุณ

การสูญเสียความทรงจำ ที่เราเรียกกันว่า “อัลไซเมอร์” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “อัลซไฮเมอร์เป็นภาวะสมองเสื่อมที่พบได้ง่ายที่สุด โรคนี้จัดเป็นโรคที่รักษาไม่หายและถือเป็นอาการป่วยระยะสุดท้าย โดยผลการวินิจฉัยการเกิดกับผู้ป่วยพบว่ามักเกิดกับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป และมีแนวโน้มว่าจะพบผู้ป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สาเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์

การค้นหาสาเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์นั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากพอสมควร แม้ว่าจะมีผู้ระบุถึงสมมติฐานสาเหตุการเกิดไว้แล้ว แต่ยังมีการระบุถึงสมมติฐานสาเหตุไว้เพิ่มเติมอีก สมมติฐานที่อธิบายถึงสาเหตุการเกิดโรคอัลไซเมอร์นี้มีอยู่ด้วยกัน 3 สมมติฐาน ดังนี้

สาเหตุโรคอัลไซเมอร์

1. สมมติฐานโคลิเนอร์จิก เป็นสมมติฐานเก่าซึ่งยาที่รักษาโรคนี้ในปัจจุบันยึดเป็นพื้นฐาน สมมติฐานนี้มีความเชื่อว่าโรคนี้เกิดจากการลดการสังเคราะห์สารสื่อประสาทชนิดแอซิทิลโคลีน แต่เมื่อมีการให้ยาเพื่อรักษาการขาดแอซิทิลโคลีน กลับไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคอัลไซเมอร์แต่อย่างใด ดังนั้นสมมติฐานนี้จึงไม่ค่อยได้รับการยอมรับในปัจจุบัน

2. สมมติฐานแอมีลอยด์ สมมติฐานนี้ถือเป็นสมมติฐานที่มีความน่าสนใจมาก สมมติฐานนี้เชื่อว่าการสะสมของแอมีลอยด์บีตาเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ เพราะยีนของสารตั้งต้นแอมีลอยด์บีตาอยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 21 และผู้ที่มีโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา พอถึงอายุประมาณ 40 ปี ก็จะแสดงอาการของการป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ออกมาอย่างชัดเจน รวมทั้งการมีแอมีลอยด์บีตาในปริมาณมากเกินก็ก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ จึงมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอัลไซเมอร์ขึ้น พบว่าสามารถกำจัดแอมีลอยด์ได้แต่ยังไม่มีผลโดยตรงต่อการรักษาอาการสมองเสื่อม

3. สมมติฐานโปรตีนเทา จากการกำจัดแอมีลอยด์ พบว่า ไม่มีผลต่อการรักษาอาการสมองเสื่อม จึงทำให้เกิดการสนับสนุนสมมติฐานในข้อนี้ ซึ่งเชื่อว่าความผิดปกติของโปรตีนเทาก่อให้เกิดความผิดปกติมาตามลำดับ โดยเชื่อว่าเมื่อโปรตีนเทามีฟอสเฟตมากผิดปกติ จะไปจับคู่กับโปรตีนเทาสายปกติ เกิดเป็นนิวโรไฟบริลลารี แทงเกิล สะสมในเซลล์ประสาท ทำให้ไมโครทิวบูลสลายตัว ทำลายการขนส่งสารเซลล์ประสาท ก่อให้เกิดความผิดปกติและเซลล์สมองตายในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นผลที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์นั่นเอง

อาการของโรคอัลไซเมอร์

อาการของโรคอัลไซเมอร์ก็มีลำดับเฉกเช่นเดียวกับโรค อื่นๆ ที่แบ่งเป็นระยะๆ และค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้น โดยอาการของโรคอัลไซเมอร์แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

1. ระยะก่อนสมองเสื่อม

ระยะนี้เป็นระยะแรกสุด ที่ต้องทำการทดสอบทางจิตประสาทวิทยา พบว่าแสดงความบกพร่องการรู้เพียงเล็กน้อย และต้องใช้เวลาถึง 8 ปี จึงจะปรากฏอาการครบตามเกณฑ์ของโรคอัลไซเมอร์ อาการเริ่มแรกที่ถือว่ามีกระทบต่อการดำเนินชีวิตมากที่สุดก็คือ การสูญเสียความจำ หมายถึง จำข้อมูลที่เพิ่งได้รับรู้ไปไม่ได้และไม่สามารถรับรู้ข้อมูลใหม่ได้ และอาจพบภาวะไร้อารมณ์ด้วย อาการในระยะนี้จะปรากฏอยู่ทุกเวลา ซึ่งอาการเหล่านี้ยังเป็นที่สงสัยอยู่ว่าเป็นโรคที่ควรได้รับการวินิจฉัยต่างหากหรือเป็นโรคอัลไซเมอร์ในระยะแรกกันแน่

2. ระยะสมองเสื่อมระยะแรก

 ในระยะนี้เป็นระยะที่ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะปรากฏอาการความบกพร่องของความจำและการเรียนรู้ได้อย่างชัดเจน ผู้ป่วยบางส่วนอาจเกิดภาวะเสียการระลึกรู้และภาวะเสียการรู้ปฏิบัติ อย่างไรก็ตามความจำเชิงเหตุการณ์ ความรู้ทั่วไป และความจำโดยปริยายกลับได้รับผลกระทบน้อยกว่าความจำใหม่หรือความรู้ใหม่ ความสามารถทางภาษาจะลดลงกว่าเดิม การเคลื่อนไหวร่างกายอาจจะช้าหรือเงอะงะกว่าเดิม เนื่องจากสมองไม่มีการจัดการที่เป็นระบบเหมือนเดิม แต่ในระยะนี้ยังดีที่ผู้ป่วยยังสามารถสื่อสารความคิดของตนเองให้ผู้อื่นรับรู้ได้ ทั้งนี้ในระยะนี้อาจจะต้องอาศัยผู้ดูแลผู้ป่วยแล้ว

3. ระยะสมองเสื่อมระยะปานกลาง

ในระยะสมองเสื่อมระยะปานกลางนี้ถือเป็นระยะที่ปรากฏอาการออกมาอย่างชัดเจนถึงขั้นที่จะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยเฉพาะความบกพร่องในเรื่องของการพูดจะปรากฏชัดเจนมากที่สุด รวมทั้งทักษะการอ่านและการเขียนก็จะแย่ลงไปเรื่อย ๆ การทำกิจวัตรประจำวันก็ไม่สามารถที่จะทำได้ด้วยตนเอง และปัญหาในเรื่องของความจำจะแย่ลงมาก อาการที่พบบ่อยคือ การหนีออกจากบ้าน เกิดภาพหลอน หงุดหงิดง่าย และอารมณ์แปรปรวน ซึ่งอาการในระยะนี้อยู่ในช่วงที่ค่อนข้างจะเริ่มรุนแรง ซึ่งมีผลมากต่อผู้ที่ดูแลผู้ป่วย ดังนั้นญาติอาจต้องตัดสินใจให้ผู้ป่วยไปอยู่ในสถาบันที่ดูแลผู้ป่วยโรคนี้โดยตรง

4. ระยะสมองเสื่อมระยะสุดท้าย

ระยะนี้เป็นระยะที่ผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลยแม้แต่เรื่องง่าย ๆ ทักษะต่าง ๆ ที่เคยทำได้จะไม่สามารถทำได้เลยอีกต่อไป เมื่ออาการเริ่มหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขั้นผู้ป่วยจะนอนนิ่งอยู่บนเตียง และสุดท้ายอาจจะเสียชีวิตด้วยภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น แผลกดทับ หรือโรคปอดบวม เป็นต้น แต่ไม่มีใครเสียชีวิตจากโรคนี้โดยตรง

การป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์

การศึกษาจากทั่วโลกยังไม่มีวิธีที่จะป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างเห็นผล 100  % มีแต่เพียงวิธีที่ได้รับความนิยมสำหรับป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งก็มีอยู่ด้วยกันหลายวิธีด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราจึงควรศึกษารายละเอียดของแต่ละวิธี เพื่อที่จะสามารถป้องกันตนเองได้ในเบื้องต้น

1. การรับประทานอาหาร จำพวก ผักผลไม้ ขนมปัง ข้าวสาลี ธัญพืชชนิดต่างๆ น้ำมันมะกอก ปลา และไวน์ มีส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์

2. การรับประทานวิตามิน หลายชนิด เช่น วิตามินบี 12 วิตามินบี 3 วิตามินซี และกรดโฟลิก มีความเชื่อว่าจะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้

3. การยาในกลุ่มของยาแก้อักเสบ ชนิดไม่ใช่สเตอรอยด์ เช่น แอสไพริน ไอบูโปรเฟน เชื่อกันว่าสามารถที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน

4. การใช้กิจกรรมทักษะทางสติปัญญา เช่น อ่านหนังสือ เล่นหมากกระดาน ปริศนาอักษรไขว้ เล่นดนตรี หรือรู้จักเข้าสังคม สิ่งเหลี้เชื่อว่าจะสามารถช่วยลดปัญหาการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้

จากวิธีการป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนั้น อาจเป็นเพียงวิธีที่เชื่อกันว่าจะสามารถป้องกันได้ แต่ยังไม่มีผลการวิจัยที่ฟันธงว่าจะสามารถป้องกันการเกิดได้อย่างแน่นอนจนไม่เกิดโรคนี้ แต่ก็ไม่เสียหายอะไรหากจะลองใช้วิธีเหล่านี้ไว้ก่อนเพื่อความสบายใจ

การบำบัดและการจัดการโรคอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หาย มีเพียงการป้องกันให้เกิดโรคนี้น้อยที่สุดหรือไม่ก็เป็นวิธีการจัดการกับโรคนี้ เพื่อไม่ให้โรคนี้เป็นปัญหาที่หนักเกินไปสำหรับผู้ดูแล ปัจจุบันแบ่งวิธีการจัดการที่ดีที่สุดสำหรับโรคนี้อยู่ด้วยกัน 3 วิธี ดังนี้

1. การรักษาด้วยยา

สำหรับวิธีการรักษาด้วยยานั้น ปัจจุบันมียาอยู่ 5 ชนิด ที่ได้รับการรับรองให้สามารถที่จะบรรเทาอาการของโรคอัลไซเมอร์ในขั้นรุนแรงได้ ซึ่งยาทั้ง 5 ชนิดนั้นได้แก่ ชนิดเป็นแอนติโคลีนเอสเทอเรส คือ tacrine rivastigmine galantamine และ donepezil ส่วนอีกหนึ่งชนิด คือ เมแมนทีน กล่าวได้ว่าการใช้ยาเหล่านี้ยังไม่มีหลักฐานรับรองแน่ชัดว่าจะสามารถรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ เพียงแต่จะสามารถรักษาอาการของโรคในระยะที่เป็นน้อยหรือขั้นปานกลางได้เท่านั้น ส่วนในขั้นรุนแรงยังไม่สามารถทำได้ การใช้ยานี้มีผลข้างเคียงอยู่บ้าง และผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุด คือ อาการคลื่นไส้ อันเนื่องมาจากมีปริมาณโคลิเนอร์จิกมากเกินไป ส่วนอาการตะคริว หัวใจเต้นช้า เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และเกิดกรดในกระเพาะอาหารจะพบค่อนข้างน้อย แต่หากมีการใช้เมแมนทีนและ donepezil ร่วมกันจะพบผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง เช่น เวียนศีรษะหรือปวดศีรษะเท่านั้น ดังนั้นวิธีการรักษาด้วยยาจึงเป็นวิธีหนึ่งที่ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างละเอียดและต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์โดยตลอด

2. การรักษาทางจิตสังคม

วิธีการรักษาแบบนี้เป็นอีกวิธีหนึ่งที่คล้ายกับวิธีอื่นๆ นั่นคือ ไม่ได้มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ เพียงแต่เป็นการบำบัดความรู้สึกของผู้ป่วยมากกว่า การรักษาด้วยวิธีการนี้ผู้ป่วยจะต้องอยู่ในห้องในห้องที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อการบำบัด เรียกว่า “สโนซีเลน” ซึ่งเป็นการบำบัดผู้ป่วยด้วยจิตสังคมนั่นเอง

การรักษาทางจิตสังคมมักจะต้องใช้ร่วมกับวิธีการรักษาด้วยยา ซึ่งการรักษาทางจิตสังคมจะมีวิธีการมุ่งเน้นที่แตกต่างกัน คือ มุ่งเน้นด้านพฤติกรรม มุ่งเน้นด้านอารมณ์ มุ่งเน้นด้านการรู้ และมุ่งเน้นการกระตุ้น

1. มุ่งเน้นด้านพฤติกรรม คือ การพยายามค่อยๆ แก้ไขพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เป็นปัญหา เช่น การกั้นปัสสาวะไม่ได้ การชอบหนีออกจากบ้าน เป็นต้น

2. มุ่งเน้นด้านอารมณ์ ได้แก่ การบำบัดด้วยความทรงจำ การบำบัดด้วยการให้เหตุผล จิตบำบัดแบบประคับประคอง การบูรณาการการรับความรู้สึก และการบำบัดด้วยการจำลองการมีอยู่

3. มุ่งเน้นด้านการรู้ คือ การลดความบกพร่องในการรู้ และพยายามส่งเสริมการรู้ความเป็นจริง เพื่อให้รู้ข้อมูลที่มีความจำเป็น เช่น วัน เวลา สถานที่ หรือบุคคล ซึ่งจะทำให้การรับรู้ดีขึ้นแต่ก็มีข้อเสียอยู่บ้าง คือ อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความคับข้องใจ สงสัย กลายเป็นความกังวลได้

4. มุ่งเน้นการกระตุ้น เช่น ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด การบำบัดด้วยการอาศัยสัตว์เลี้ยง กายภาพบำบัด และนันทนาการบำบัดชนิดอื่นๆ

3. การดูแลผู้ป่วย

ผู้ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์เท่าที่รู้กันดีว่าจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เท่าที่ควร ผู้ดูแลผู้ป่วยถือว่ามีความสำคัญมาก ซึ่งผู้ดูแลนี้จะต้องศึกษาวิธีการดูแลผู้ป่วยอย่างละเอียดและต้องดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยเป็นพิเศษ อีกทั้งผู้ดูแลอาจจะต้องส่งเสริมผู้ป่วยให้สามารถดูแลตัวเองในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ได้ เช่น การติดป้ายบอกหรือเตือนบนของใช้ต่างๆ  ภายในบ้าน  เป็นต้น ดังนั้นผู้ดูแลผู้ป่วยจึงเป็นบุคคลที่มีความสำคัญสำหรับผู้ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์มากที่สุด

"โรคอัลไซเมอร์" เป็นโรคที่ใครหลายคนอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ และแม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ แต่การรักษาด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การศึกษาโรคนี้อย่างละเอียด และการดูแลและพัฒนาผู้ป่วยด้วยความเอาใจใส่เป็นพิเศษ ก็จะสามารถทำให้การป่วยเป็นโรคนี้ไม่ใช่ปัญหาที่หนักหนาเกินไปสำหรับทั้งผู้ดูแลและตัวผู้ป่วยเองด้วย