free web tracker, fire_lady 8 โรคที่มากับน้ำท่วม…รับมือไม่ทัน อาจตายเฉียบพลันโดยไม่รู้ตัว!! • สุขภาพดี

8 โรคที่มากับน้ำท่วม...รับมือไม่ทัน อาจตายเฉียบพลันโดยไม่รู้ตัว!!

โรคที่มากับน้ำท่วม

ในบางพื้นที่ ทุกๆ ปีเมื่อถึงฤดูฝนมักเกิดน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง เพราะพื้นที่เป็นที่รับน้ำหรืออยู่ต่ำกว่าพื้นที่อื่นๆ นอกจากประชาชนต้องเผชิญความยากลำบากจากการที่บ้านเรือน ไร่นาถูกน้ำท่วมแล้ว ยังต้องมาทุกข์ซ้ำสองกับโรคร้ายที่แฝงตัวมากับน้ำ บางโรคไม่อันตรายมากนัก แต่บางโรคอาจคร่าชีวิตผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์แบบไม่ทันตั้งตัวได้เลยทีเดียว ส่วนโรคที่มากับน้ำท่วม จะมีโรคอะไรกันบ้าง และมีวิธีรับมืออย่างไรไปดูกันเลยค่ะ

8 โรคร้ายที่มาพร้อมกับน้ำท่วม

1.โรคน้ำกัดเท้า  “ที่ไหนมีน้ำท่วม ที่นั่นมีโรคน้ำกัดเท้า” โรคนี้จัดเป็นโรคที่อยู่คู่กับน้ำท่วมเลยก็ว่าได้ เพราะการย่ำอยู่ในที่เปียกชื้นเป็นเวลานานๆ ทำให้ซอกเท้าอับชื้น พุพอง เมื่อมีบาดแผล เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย เกิดการอักเสบและเป็นหนอง สร้างความเจ็บปวดไม่น้อยเลยทีเดียว

การป้องกันโรคน้ำกัดเท้า ในสภาวะน้ำท่วมอาจจะเป็นสถานการณ์ที่ป้องกันได้ค่อนข้างยากสำหรับโรคน้ำกัดเท้า แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหลีกเลี่ยงได้ อย่าแช่เท้าอยู่ในน้ำเป็นเวลานานๆ เมื่อขึ้นมาจากน้ำให้ล้างเท้าด้วยน้ำสะอาด ถ้ามีบาดแผลบริเวณเท้าให้เช็ดด้วยแอลกอฮอล์แล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อ

2. ตับอักเสบชนิดเอ  เป็นโรคตับอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอ ซึ่งสามารถติดต่อกันได้โดยการรับเชื้อมาจากการปนเปื้อนของอาหารและน้ำดื่มที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ในสภาวะน้ำท่วมมีโอกาสติดโรคได้ค่อนข้างมากเพราะการประกอบอาหารและการหาน้ำดื่มที่สะอาดเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก อีกทั้งน้ำที่ท่วมอาจมีการปนเปื้อนอุจาระของผู้ติดเชื้อ ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปได้ง่ายขึ้น อาการของโรคมีตั้งแต่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง คือ มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องผูกหรือท้องเสีย ปวดตามข้อและกระดูก ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจพบอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้มแต่อุจจาระมีสีซีดจาง หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ตัวโรคอาจพัฒนาจนมีอาการตับวาย รุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้

การป้องกันโรคตับอักเสบเอ ล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ดื่มน้ำสะอาด ไม่ใช้ช้อนและแก้วน้ำร่วมกัน

3. โรคตาแดง  เกิดจากการสัมผัสเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย Chlamydia Trachomatis และ Bacterial Conjunctivitis โดยอาจสัมผัสจากผู้ติดเชื้อโดยตรง การเอามือสกปรกไปขยี้ตา การใช้ผ้าเช็ดหน้าสกปรกเช็ดหน้าเช็ดตา อาการของโรคนี้คือ คันตา เคืองตา บางคนอาจคัน ขยี้ตาบ่อยจนตาแดง มีขี้ตามากคล้ายหนองปิดที่ตาในตอนเช้าหลังตื่นนอน บางคนเป็นมากอาจปวดตา ตามัว มองอะไรไม่ชัด โรคนี้สามารถหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าปวดมากหรือเป็นนานกว่านี้ให้รีบไปพบแพทย์

วิธีป้องกันโรคตาแดง ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เครื่องสำอาง ยาหลอดยา  หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตาและพยายามล้างมือให้สะอาด

4. โรคไทฟอยด์  โรคไทฟอยด์หรือโรคไข้รากสาดน้อย เป็นโรคติดต่อทางเดินอาหาร โดยเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Salmonella Typhi ซึ่งปนเปื้อนมากับน้ำและอาหาร หากติดโรคนี้จะไม่แสดงอาการในทันที แต่จะเริ่มมีอาการหลังได้รับเชื้อไปแล้ว 1 สัปดาห์ อาการของโรคจะมี 2 ระยะ โดยในระยะแรกจะมีไข้ไม่สูงมาก ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตามร่างกาย เมื่อโรคเข้าสู่ระยะที่สอง ไข้จะขึ้นสูงถึง 40 องศา ทานยาลดไข้ก็ไม่ลด อาจมีอาการกระสับกระส่าย หายใจช้า เพ้อ พบจุดแดงคล้ายรอยยุงกัดที่อกด้านล่าง ตับและม้ามโตจนกดเจ็บที่บริเวณชายโครงขวา โรคนี้สามารถหายเองได้ภายใน 1 เดือน แต่เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยเอง ควรไปพบแพทย์ เพราะถ้าหากปล่อยไว้นานอาจมีอาการปอดบวมจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

การป้องกันโรคไทฟอยด์ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ล้างมือก่อนทาน ใช้ช้อนกลาง ไม่ใช้แก้วน้ำร่วมกัน

5. โรคฉี่หนู  เป็นโรคติดต่อที่ระบาดจากสัตว์มาสู่คน โดยเชื้อนี้ชื่อว่า Leptospira sp. เป็นเชื้อที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ โดยปกติแล้วพบในสัตว์ฟันแทะ อย่าง "หนู" โดยหนูจะเก็บเชื้อโรคไว้ที่ไตแล้วปัสสาวะออกมาโดยที่ตัวเองนั้นไม่เป็นโรค ส่วนเชื้อโรคจะแพร่กระจายไปตามแหล่งน้ำ นอกจากนี้ยังมีสัตว์ชนิดอื่นที่มีเชื้อชนิดนี้ ได้แก่ วัว ควาย สุนัข และแมว การติดเชื้อเกิดจากการแช่อยู่ในน้ำนานๆ แล้วเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล การสัมผัสดวงตาและปาก และยังสามารถรับเชื้อได้ทางการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนเชื้อเข้าไป อาการของโรคฉี่หนูมี 2 แบบคือแบบไม่รุนแรงและรุนแรง อาการแบบไม่รุนแรงจะมีตั้งแต่ปวดศีรษะ เป็นไข้ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ สามารถรักษาให้หายได้ถ้าไปพบแพทย์ตั้งแต่แรกๆ ที่ติดเชื้อ ส่วนแบบรุนแรงจะมีอาการ ตาอักเสบแดง น้ำตาลไหล สู้แสงไม่ได้ ถ้าเชื้อเข้าสู่สมองจะทำให้เพ้อ ไม่รู้สึกตัว บางรายถ้าอาการรุนแรงมากอาจมีอาการตับวาย ไตวายและเสียชีวิต

การป้องกันโรคฉี่หนู หลีกเลี่ยงการลงไปย่ำในน้ำหรือแช่น้ำนานๆ เพราะเสี่ยงต่อการทำให้ผิวหนังเปื่อย จะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย และควรใส่รองเท้าบูททุกครั้งที่ต้องลงน้ำ หากมีอาการปวดหัว ตัวร้อน ควรไปพบแพทย์ทันที

6. โรคไข้เลือดออก  โรคไข้เลือดออกมีพาหะนำโรคคือ "ยุงลาย" มักแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝน เนื่องจากมีน้ำขังอยู่มาก ทำให้ยุงลายแพร่พันธ์ได้ง่าย โรคนี้เกิดจากเชื้อที่ชื่อว่า เดงกี่ เชื้อเดงกี่มีทั้งหมด 4 สายพันธ์ หากติดเชื้อแล้วอาการของโรคมี 3 ระดับคือ Dengue Fever, Dengue Hemorrhagic Fever และ Dengue Shock Syndrome โดยแต่ละระดับจะมีอาการดังนี้

  • Dengue Fever มีไข้สูง 2-3 วัน ปวดตา ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดตามกล้ามเนื้อ หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง โรคจะไม่พัฒนาไปในระดับอื่นและอาการจะดีขึ้นอน่างรวดเร็ว
  • Dengue Hemorrhagic Fever อาจจะเกิดจากการพัฒนาของโรคในระยะที่ 1 หรืออาจจะเกิดจากการติดเชื้อไข้เลือดออกในสายพันธ์ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกัน ทำให้โรคมีอาการรุนแรง โดยจะมีไข้สูงมาก ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เบื่อหาร คลื่นไส้อาเจียน เลือดออกง่าย โดยอาจออกมากับอาเจียน ออกตามไรฟันหรือเลือดกำเดาไหล มีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง เลือดออกที่อวัยวะภายใน มีอาการตับอักเสบ ตับโตจนกดเจ็บที่ชายโครงขวา ความดันดลหิตต่ำ ความเข้มข้นเลือดสูง ในระยะแพทย์ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันไม่ให้เข้าสู่ระยะช็อค
  • Dengue Shock Syndrome เป็นช่วงที่มีเลือดในเนื้อเยื่อมาก อวัยวะภายในมีการติดเชื้ออย่างรุนแรง เกล็ดเลือดต่ำ น้ำท่วมปอด ความดันโลหิตลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว อวัยวะภายในทำงานผิดปกติ สมองบวม ไตวาย มีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก

การป้องกันโรคไข้เลือดออก ใส่ทรายป้องกันยุงตามภาชนะในบ้าน จามรองขาตู้ โอ่งน้ำ เพื่อป้องกันยุงลายวางไข่ ถ้าหากน้ำท่วมไม่สามารถหลีกเลี่ยงการแพร่พันธ์ของยุงลายได้ ก็ต้องป้องกันตัวเองโดยพยายามไม่ให้ยุงกัด นอนกางมุ้ง และทายากันยุง  อย่านอนในที่อับเช่น นอนใกล้ๆ ตู้ ถ้าหากมีสมาชิกในครอบครัวกำลังเป็นโรคไข้เลือดออก ต้องระวังมากยิ่งขึ้นเพราะยุงอาจจะไปกัดผู้ป่วยแล้วจะกัดผู้อื่นต่อ ทำให้ติดโรคเพิ่มได้

7. โรคไข้มาลาเรีย  โรคมาลาเรียก็เป็นอีกหนึ่งโรคติดต่อที่มีพาหะนำโรคคือยุง เพียงแต่โรคนี้เกิดจาก "ยุงก้นปล่อง" ไม่ใช่ยุงลายอย่างโรคไข้เลือดออก มักพบมากตามแนวชายแดนและพื้นที่ที่มีน้ำขังตามธรรมชาติมาก โรคมาลาเรียเกิดจากการถูกยุงก้นปล่องเพศเมียที่มีเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียมกัด เชื้อนี้ที่ทำให้เกิดโรคในคนจะมี 4 สายพันธ์ อาการของโรคขึ้นอยู่กับระยะที่ได้รับเชื้อและชนิดของเชื้อที่ก่อโรค แต่อาการที่พบมากคือ ไข้สูง หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องร่วง ปวดศีรษะ มีภาวะโลหิตจาง อุจาระเป็นเลือด ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการอวัยวะภายในล้มเหลว สมองบวม ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน เป็นอันตรายจนถึงขั้นหมดสติ โคม่าถึงแก่ชีวิตได้

การป้องกันโรคไข้มาลาเรีย ป้องกันไม่ให้ตัวเองถูกยุงกัดโดยการทายากันยุง นอนกางมุ้ง ติดมุ้งลวดที่ประตูหรือหน้าต่าง หากมีใครมรครอบครัวกำลังเป็นไข้มาลาเรีย ระวังอย่าให้ยุงกัด เพราะยุงอาจจะเอาเชื้อมาลาเรียมาติดคนอื่นได้เหมือนกันกับโรคไข้เลือดออก

8. โรคอหิวาตกโรค  เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงมาก เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Vibrio Cholerae ที่ปนเปื้อนมากับน้ำดื่มและอาหารที่ไม่สะอาดโดยมี "แมลงวัน" เป็นตัวนำโรค นอกจากอาหารที่ไม่สะอาดแล้วยังพบเชื้อได้ในอาหารสุกๆ ดิบๆ ด้วยเช่นกัน ในสมัยก่อนอหิวาตกโรคเป็นโรคที่มีอัตราการตายสูงมากจนคนเรียกว่า “โรคห่า” เพราะแพร่กระจายและติดเชื้อกันได้ง่ายมากๆ โดยผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการคือ ท้องเสีย อุจจาระวันละหลายๆ ครั้ง อาจพบร่วมกับการคลื่นไส้อาเจียน ในระยะนี้สามารถรักษาให้หายได้ภายในระยะเวลา 3-5 วัน แต่ถ้าติดเชื้อแบบรุนแรงจะมีอาการอุจจาระเป็นน้ำ มีกลิ่นคาว อุจจาระได้โดยที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ทำให้ในร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว ทำให้หน้ามืด หมดสติ อาจช็อคจนเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

การป้องกันโรคอหิวาตกโรค รักษาสุขอนามัยในการรับประทานอาหาร ล้างมือ ใช้ช้อนกลาง ทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ หลีกเลี่ยงการนำน้ำที่ท่วมมาดื่มหรือใช้ล้างจาน ไม่สัมผัสหรือใช้สิ่งของร่วมกันกับผู้ติดเชื้อ แต่ถ้าหากตัวเองติดเชื้อต้องพบแพทย์ ทานยาตามที่แพทย์สั่งและหลีกเลี่ยงการสัมผัสตัวผู้ไม่ป่วยจนกว่าตัวเองจะหายดี

จาก 8 โรคที่เกิดในช่วงน้ำท่วมที่กล่าวมานี้ สรุปได้ว่าเมื่อน้ำท่วม โรคร้ายหลายๆ โรคมักจะมาพร้อมกับน้ำด้วย สามารถป้องกันตัวเองได้ตามวิธีที่แนะนำไปแล้ว แต่ในสถานการณ์จริงอาจจะป้องกันตัวเองได้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากปัจจัยอาจไม่เอื้ออำนวย ดังนั้นหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆได้ เมื่อเจ็บป่วยแม้ว่าจะเป็นอาการที่เล็กควรรีบไปพบแพทย์ทันที เรียกว่า "กันไว้ดีกว่าแก้" นะค่ะ