free web tracker, fire_lady 8 โรคที่มากับหน้าร้อน…ระวัง-ป้องกันตัวเองอย่างไร ไม่ให้ป่วย • สุขภาพดี

8 โรคที่มากับหน้าร้อน...ระวัง-ป้องกันตัวเองอย่างไร ไม่ให้ป่วย

โรคที่มากับหน้าร้อน

เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน อุณหภูมิก็พุ่งปรี๊ดจนปรอทแทบแตก สมกับเป็นประเทศเมืองร้อนจริงๆ นอกจากอากาศร้อนระอุต้องพบเจอกันทุกวัน ยังต้องเผชิญกับโรคร้ายที่มักจะกลับมาเยี่ยมเยียนในทุกๆ หน้าร้อนเสมอ ด้วยสภาพอากาศที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคหลายชนิด ทำให้มีการแพร่ระบาดได้ง่าย ยิ่งถ้าอยู่ในพื้นที่ถิ่นทุรกันดาร อาจจะพบเจอโรคเหล่านี้ได้ง่ายขึ้นเนื่องจากชาวบ้านขาดความรู้ในการป้องกันตัวเอง ซึ่งโรคที่มากับหน้าร้อนบางโรคอาจแค่ก่อให้เกิดความรำคาญแต่บางโรคมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นหน้าร้อนนี้นอกจากต้องป้องกันผิวไหม้จากการถูกแดดเผาแล้ว ยังต้องป้องกันตัวเองจากโรคอะไรกันบ้าง มาดูกันค่ะ

โรคที่มากับหน้าร้อนและการป้องกันตัวเอง

โรคส่วนใหญ่ในฤดูร้อน จัดเป็นกลุ่มใหญ่ได้ 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่สาเหตุหลักมาจากอาหาร กลุ่มที่มีสาเหตุมาจากอากาศ และกลุ่มที่มีสาเหตุมาจากสัตว์เลี้ยง ซึ่งแต่ละกลุ่มมีรายละเอียดดังนี้

โรคที่เกิดจากสุขอนามัยในเรื่องการรับประทานอาหาร

1.โรคอุจจาระร่วง เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในหน้าร้อน โดยสาเหตุมาจากการเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารและน้ำดื่ม เช่น เชื้อไวรัส เชื้อโปรโตซัว รวมถึงแบคทีเรีย เนื่องจากในหน้าร้อนอาหารเน่าเสียได้ง่าย เชื้อโรคเหล่านี้จึงมีโอกาสปนเปื้อนเปื้อนสูง อาการของโรคคือ ท้องร่วงอย่างรุนแรง ถ่ายอุจาระเหลวหรือถ่ายเป็นมูกเลือด ผู้ป่วยบางรายอาจจะพบการอาเจียนร่วมด้วย สำหรับในรายที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถบรรเทาอาการเองได้โดยดื่มเกลือแร่ชนิดที่เหมาะกับผู้ป่วย ห้ามดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับผู้เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย หากอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ ห้ามซื้อยามาทานเองเด็ดขาด

2. โรคบิด   สาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียเข้าไป ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนปวดอุจาระอยู่ตลอดเวลา เหมือนถ่ายไม่สุด บวดเบ่งที่ทวารหนัก ถ่ายเป็นมูกเลือดบ่อย อาจจะพบว่ามีไข้ร่วมด้วย เป็นโรคที่พบได้มากตามพื้นที่ชนบท โดยเฉพาะพื้นที่ที่น้ำประปาเข้าไม่ถึง

3. โรคอหิวาตกโรค  อหิวาตกโรค (Cholera) คือภาวะที่เกิดท้องร่วงรุนแรงเฉียบพลัน มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียภายในลำไส้ แบคทีเรียชนิดนี้มีชื่อว่า Vibrio cholerae ซึ่งพบมากในอาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารทะเล หากได้รับเชื้อแล้ว ร่างกายสามารถแสดงอาการได้ตั้งแต่ 24 ชั่วโมงแรก อาการคือ ท้องเดิน อุจจาระวันละหลายๆ ครั้ง อุจจาระมีลักษณะคล้ายน้ำซาวข้าว มีมูกและกลิ่นคาว บางรายอาจจะถ่ายออกมาโดยไม่รู้ตัว ทั้งที่ไม่มีอาการปวดท้องอยากถ่าย

 เมื่อท้องร่วงเฉียบพลัน จะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจจะทำให้ระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว หากรู้ไม่เท่าทัน ไม่ได้รับการรักษาอย่างตรงเวลา อาจเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว จัดเป็นโรคติดต่อที่อันตรายมาก และต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่สาธารณะสุขตาม พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2523  ดังนั้นเราควรศึกษารายละเอียดและทำความเข้าใจโรคนี้ไว้ให้ดีๆ

4. โรคอาหารเป็นพิษ  เป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยอีกโรคหนึ่งในช่วงฤดูร้อน เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีสิ่งปนเปื้อนในหลายลักษณะ เช่น อาหารที่ทำค้างคืนไว้นานๆ อาหารที่มีส่วนผสมที่เน่าเสีย อาหารแปรรูปที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ซึ่งเชื้อชนิดนี้ค่อนข้างทนความร้อน เช่น ไส้กรอก กุนเชียง สามารถแสดงอาการของโรคได้ภายใน 26 ชั่วโมงหลังทานอาหาร โดยจะมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ในบางรายมีไข้ ปวดศีรษะ สำหรับอาการถ่ายและอาเจียน อาจเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ ซึ่งหากอาการหนัก ไม่ได้พบแพทย์ อาจช็อค หมดสติและเสียชีวิตได้

5. โรคไทฟอยด์  โรคไทฟอยด์หรือโรคไข้รากสาดน้อย เป็นโรคติดต่อที่ได้รับเชื้อมาจากอาหารและเครื่องดื่มเช่นกัน แต่ว่าอาหารส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคนั้นมาจากอาหารประเภทนม ไข่ หอย เนื้อสัตว์และน้ำดื่ม เมื่อร่างกายติดเชื้อนี้ โรคนี้ในระยะแรกจะมีอาการมีไข้ไม่สูงมาก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อาจจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหารและปวดเมื่อยตามร่างกาย หากยังไม่ได้รับการรักษาโรคจะเข้าสู่ระยะที่สอง ไข้จะสูงขึ้นถึง 40 องศา ถึงแม้ว่าจะทานยาไข้ก็ไม่ลด กระสับกระส่าย หัวใจเต้นช้าลง เพ้อ ท้องเสียและถ่ายเป็นสีเขียว อาจปรากฏจุดแดงคล้ายรอยยุงกัดที่หน้าอกด้านล่างและท้อง กดเจ็บชายโครงขวาเนื่องจากตับและม้ามโตกว่าปกติ

การป้องกันโรคที่มาจากอาหาร  สำหรับการป้องกันที่มีสาเหตุมาจากอาหาร สามารถป้องกันได้ไม่ยาก โดยต้องคอยระมัดระวังในเรื่องความสะอาดของอาหารและเครื่องดื่ม รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ใช้วัตถุดิบที่สะอาดในการปรุง หากเป็นอาหารตามสั่ง ให้ดูว่าร้านถูกสุขลักษณะหรือไม่ ถาดอาหารมีตู้กระจกครอบหรือไม่ เป็นต้น ลด ละ เลิก อาหารแปรรูปจำพวกไส้กรอก หมูยอ ลูกชิ้น กุนเชียง เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อโรคทนความร้อนที่เป็นสาเหตุของอาหารเป็นพิษ ส่วนอาหารสดอย่างเนื้อสัตว์ ไข่ไก่ อาหารทะเล ต้องซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ น้ำดื่มห้ามดื่มจากลำห้วย ลำธารหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติโดยไม่ผ่านการกรองและฆ่าเชื้อ ส่วนขยะสิ่งปฏิกูลต่างๆ ห้ามทิ้งลงแหล่งน้ำเด็ดขาดเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค

โรคที่มีสาเหตุมาจากสภาพอากาศร้อน

1. โรคลมแดด  เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดทำให้ผู้ที่ร่างกายไม่แข็งหรือไม่คุ้นชินกับอากาศร้อนไม่สามารถปรับตัวได้ โรคลมแดดหรือโรคฮีทสโตรคจึงเป็นโรคที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอยู่ทุกปี อาการของโรคนี้เริ่มที่อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีเหงื่อออก กระหายน้ำ วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน หายใจเร็ว หากอาการหนักอาจมีอาการทางสมองเช่น เห็นภาพหลอน มึนงง สับสนหรือหมดสติเนื่องจากการตากแดดนานๆจนเป็นโรคลมแดด ทำให้สมองไม่ทำงาน ไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้ จึงทำให้อุณหภูมิของร่างสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและมีอาการทางสมองนั่นเอง บางคนอาจสับสนระหว่างโรคเพลียแดด ซึ่งอาจจะมีอาการบางอย่างคล้ายๆ กัน แต่เพลียแดดนั้นจะมีเหงื่อออกและไม่อันตรายเท่าโรคลมแดด

โรคนี้อันตรายมาก โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ เด็กและชาวต่างชาติที่ไม่คุ้นชินกับสภาพอากาศในเมืองไทย ถ้าหากพบใครที่มีอาการของโรคนี้ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยทันที เพราะหากรักษาไม่ทันท่วงที ผู้ป่วยมีอัตราเสียชีวิตสูงถึง 17-70%

โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke)

การป้องกันโรคลมแดด  หากต้องออกไปนอกบ้าน ในขณะที่อากาศร้อนจัด ควรพกร่มไปด้วย โดยร่มที่ใช้ต้องเป็นร่มสีอ่อน เสื้อผ้าที่ใช้ก็ต้องเป็นสีอ่อนเช่นกัน เนื่องจากจะไม่ดูดความร้อนเท่าสีเข้ม เนื้อผ้าควรเป็นผ้าบาง ระบายความร้อนได้ดี ก่อนออกจากบ้านต้องดื่มน้ำให้ได้ 1-2 แก้ว รวมทั้งพยายามดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตรหรือจิบตลอดทั้งวันแม้จะไม่อยากดื่มก็ตาม เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ ช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกาย หากไม่จำเป็นพยายามอย่าอยู่ข้างนอกเป็นเวลานานๆ

2. ผดผื่นร้อน กลาก เกลื้อน  อากาศที่ร้อน ทำให้เหงื่อออกมาก ผิวหนังเปียกและอับชื้น เป็นปัจจัยที่เอื้อให้เกิดผดผื่นคัน รวมทั้งโรคผิวหนังอย่างกลาก เกลื้อน เนื่องจากคนเราไม่สามารถรักษาความสะอาดได้ทุกซอกทุกมุมอยู่ตลอดเวลา โรคนี้ไม่อันตรายแต่ก่อให้เกิดความรำคาญต่อผู้ป่วยได้ ส่วนโรคกลากเกลื้อนเมื่อเป็นแล้ว ผู้ป่วยอาจจะอายกับสายตาผู้อื่นเพราะเข้าใจไปว่า ไม่รักษาความสะอาด แต่จริงๆ แล้วโรคนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ รวมทั้งความอับชื้นและอากาศร้อนด้วย จึงไม่ใช่เรื่องน่าอาย สามารถรักษาให้หายได้โดยใช้เวลาไม่นาน

การป้องกันโรคผดผื่นร้อน กลาก เกลื้อน  หลีกเลี่ยงการออกไปอยู่กลางแดด หากอยู่ที่บ้านใส่เสื้อผ้าบางที่ระบายอากาศได้ดี ถ้าออกไปข้างนอกให้ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาวเพื่อป้องกันแสงแดด รักษาความสะอาดโดยการอาบน้ำเช้า-เย็น และอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก

โรคที่มีสาเหตุมาจากสัตว์

1. โรคพิษสุนัขบ้า  โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวเป็นโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ สัตว์ที่สามารถส่งผ่านโรคมาสู่คนได้ไม่ใช่มีแค่เฉพาะสุนัขเท่านั้น แต่สามารถติดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ทุกชนิด เช่น แมว หนู วัว กระรอก กระต่าย รวมไปถึงติดจากคนสู่คนเองก็ได้เช่นกัน เพียงแต่คนที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่มีสาเหตุหลักมาจากการโดนสุนัขกัดหรือข่วน เพราะสุนัขเป็นสัตว์ที่มีความเกี่ยวข้องกับคนมากที่สุด

เมื่อโดนสัตว์พาหะกัด ข่วนหรือเลีย ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล หากติดเชื้อจนปรากฏอาการของโรค ผู้ติดเชื้อจะเสียชีวิตทุกราย เนื่องจากไม่มียารักษา โรคนี้พบได้ค่อนข้างมากในประเทศที่ด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาเช่น ประเทศอินเดีย มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ปีละประมาณ 20,000 ส่วนประเทศไทยมีการระบาดกันทุกปี แต่อัตราผู้เสียชีวิตนั้นต่ำมาก ไม่ถึง 10 รายต่อปี

โรคพิษสุนัขบ้า

การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า  อย่าเล่นกับสุนัข แมวรวมถึงสัตว์อื่นๆ ที่ไม่คุ้นเคย ไม่แยกสัตว์ที่กำลังกัดดันด้วยมือเปล่า อย่ายุแหย่ให้สัตว์โกรธ เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกสัตว์ทำร้าย หากถูกกัด ข่วนหรือเลีย ให้รีบทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่าและสบู่ จากนั้นรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีน แล้วให้กักสัตว์เหล่านั้นไว้ดูอาการ 10 วัน หากใครที่อยู่ในพื้นที่ระบาดสามารถไปฉีดวัคซีนป้องกันได้ แม้ว่าจะยังไม่โดนกัดก็ตาม

ถึงแม้ว่าโรคที่มากับหน้าร้อนนั้นจะมีหลายโรค แต่ก็สามารถป้องกันตัวเองได้ โรคที่ติดต่อมาจากอาหารให้ระมัดระวังโดยการรับประทานอาหารที่สด สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ ใช้ช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาดเมื่อปรุงหรือรับประทานอาหาร ส่วนโรคที่ติดต่อมาจากสัตว์ ป้องกันตัวเองโดยพยายามอยู่ให้ห่างไกลจากสัตว์จรจัด หากถูกกัดให้กักสัตว์ไว้ดูอาการ แล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกัน นอกจากนี้ควรดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงโดยการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ