อายุรวัฒน์เวชศาสตร์ โรคภัยใกล้ตัว August 11, 2018 Share 1 Tweet Pin 0 “โรคนิ่วในไต” รักษาได้ง่ายๆ ด้วยการดื่มน้ำมากๆโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบขับถ่ายปัสสาวะโรคหนึ่งที่สร้างความทรมานให้กับผู้ป่วยอย่างมากนั่นคือ “โรคนิ่วในไต” (Kidney Stones) เป็นโรคที่เกิดจากแร่ธาตุแข็งชนิดต่างๆ รวมตัวกันเป็นก้อน มักเกิดขึ้นบริเวณไต แต่พบได้ตลอดระบบทางเดินปัสสาวะ และมีโอกาสเกิดสูงหากปัสสาวะมีความเข้มข้นจนแร่ธาตุต่างๆ ตกตะกอนจับตัวเป็นนิ่ว นิ่วในไตอาจสร้างความเจ็บปวดอย่างมากหากก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่จนไปปิดกั้นและสร้างแผลบาดที่ท่อไต โดยอาจส่งผลให้ปัสสาวะออกมาเป็นเลือด สาเหตุของการเกิดโรคนิ่วในไตโรคนิ่วในไตเกิดขึ้นได้จากปริมาณของเกลือ แร่ธาตุ และสารต่างๆ ที่อยู่ในปัสสาวะเปลี่ยนแปลงไป โดยมีปริมาณมากเกินกว่าของเหลวในปัสสาวะจะละลายได้ จนเกิดการเกาะตัวเป็นก้อนนิ่วในที่สุดนอกจากนี้การเกิดนิ่วในไตอาจมีปัจจัยจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารบางชนิด เช่น เกลือ น้ำตาล และอาหารที่มีโปรตีนสูง ดื่มน้ำไม่มากพอในแต่ละวัน หรือเป็นผลมาจากโรคอื่นที่เป็นอยู่ เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ โรคเมตาบอลิก รวมถึงการใช้ยารักษาโรคบางชนิด และการรับประทานวิตามินดีเสริมมากเกินไป ทั้งนี้สาเหตุของนิ่วในไตยังอาจแบ่งได้ตามประเภทของก้อนนิ่วที่เกิดจากสารหลักๆ 4 ชนิด ดังนี้1. แคลเซียม ก้อนนิ่วจากแคลเซียมเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด และส่วนมากแคลเซียมมักรวมกับออกซาเลต ซึ่งเป็นสารที่มักพบในอาหารและเครื่องดื่ม เช่น สตรอว์เบอร์รี่ ส้ม ผักใบเขียว ถั่ว เต้าหู้ น้ำนม โซดา ชา เบียร์ กาแฟ เป็นต้น หรืออาจมีฟอสเฟต หรือกรดมาลิกมารวมกับแคลเซียมก็ได้2. กรดยูริก ก้อนนิ่วชนิดนี้พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง พบในผู้ป่วยโรคเกาท์ หรือผู้ป่วยที่กำลังเข้ารับการเคมีบำบัด โดยก้อนนิ่วจากกรดยูริกจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อปัสสาวะมีความเป็นกรดมากเกินไป3. สตรูไวท์ เป็นนิ่วที่ส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงที่มีการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ ก้อนนิ่วชนิดนี้เป็นก้อนนิ่วที่เกิดจากการติดเชื้อที่ไต และอาจมีขนาดใหญ่จนไปขัดขวางการขับปัสสาวะ4. ซีสทีน นิ่วชนิดนี้พบได้ไม่บ่อย สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับเพศชายและเพศหญิงที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมของซีสทีน ซึ่งเป็นกรดที่เกิดขึ้นในร่างกายโดยธรรมชาติ แล้วเกิดการรั่วจากไตมายังปัสสาวะอาการของโรคนิ่วในไตโดยปกติแล้วก้อนนิ่วที่มีขนาดเล็กมากๆ อาจหลุดออกไปพร้อมกับการขับปัสสาวะ โดยไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใดๆ อาการของนิ่วในไตอาจไม่ปรากฏให้เห็นจนกระทั่งก้อนนิ่วเริ่มเคลื่อนตัวไปรอบๆ ไตหรือไปยังท่อไต ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ตามมา1. มีอาการปวดบีบเป็นระยะๆ บริเวณหลังหรือช่องท้องด้านล่างข้างใดข้างหนึ่ง และอาจปวดร้าวลงไปถึงบริเวณขาหนีบ2. ปัสสาวะเป็นเลือด หรืออาจมีสีแดง ชมพู และน้ำตาล3. รู้สึกเจ็บเมื่อปัสสาวะ4. ปวดปัสสาวะบ่อย5. ปัสสาวะออกน้อย6. ปัสสาวะขุ่นหรือมีกลิ่นแรง7. รู้สึกคลื่นไส้ และอาเจียน8. หนาวสั่น เป็นไข้ภาวะแทรกซ้อนของโรคนิ่วในไตเมื่อนิ่วในไตที่มีขนาดใหญ่เกินไป แล้วเคลื่อนจากไตไปสู่ท่อไตที่เล็กและบอบบาง อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนในลักษณะของการหดเกร็งและการระคายเคืองต่อไต ผู้ป่วยอาจมีเลือดปนออกมาให้ในปัสสาวะ นอกจากนี้นิ่วในไตยังอาจไปปิดกั้นการไหลของปัสสาวะ ทำให้ท่อปัสสาวะอุดตันนำไปสู่การติดเชื้อ และอาจมีการบาดเจ็บที่ไตทำให้มีภาวะไตวายได้การวินิจฉัยโรคนิ่วในไตการวินิจฉัยโรคนิ่วในไตต้องอาศัยข้อมูลด้านสุขภาพและผลการตรวจร่างกายของผู้ป่วย ได้แก่1. การตรวจเลือด เพราะผลการตรวจเลือดสามารถบอกถึงสุขภาพไต และช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคต่างๆ ได้ รวมทั้งตรวจวัดระดับของสารที่อาจทำให้เกิดนิ่ว2. การตรวจปัสสาวะ เพื่อดูการขับแร่ธาตุที่รวมตัวเป็นก้อนนิ่วหรือมีสารป้องกันการเกิดนิ่วมากน้อยเพียงใด ตลอดจนตรวจหาภาวะติดเชื้อ ซึ่งสามารถทำได้โดยการเก็บปัสสาวะของผู้ป่วยทั้งหมดในช่วง 24 ชั่วโมง3. การตรวจจากภาพถ่ายไต วิธีนี้จะช่วยให้สามารถมองเห็นก้อนนิ่วที่เกิดขึ้นตามทางเดินปัสสาวะ การถ่ายภาพไตมีหลายวิธีให้เลือกใช้ เช่น การฉายรังสีเอกซ์เรย์ในช่องท้อง การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวน์ไต หรือใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)4. การตรวจไตและทางเดินปัสสาวะโดยการฉีดสี (IVP) โดยจะฉีดสีเข้าไปที่เส้นเลือดใหญ่บริเวณแขน แล้วถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อให้เห็นสิ่งกีดขวางในขณะที่ไตกรองสีออกจากเลือด แล้วขับถ่ายไปเป็นปัสสาวะ โดยจะให้ผู้ป่วยขับปัสสาวะผ่านเครื่องกรอง เพื่อดักจับนิ่วที่ออกมาแล้วนำไปวิเคราะห์หาสาเหตุของการเกิดก้อนนิ่วการรักษาโรคนิ่วในไตโรคนิ่วในไตเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ โดยขึ้นอยู่กับชนิดของก้อนนิ่วและสาเหตุการเกิดนิ่วการรักษานิ่วในไตขนาดเล็กการรักษานิ่วขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 5 มิลลิเมตร อาจทำได้ด้วยการดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยขับก้อนนิ่วออกมาพร้อมปัสสาวะ แต่นิ่วอาจหลุดลงมาเป็นนิ่วในทอไตได้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยด้วยนิ่วชนิดนี้ แพทย์อาจพิจารณาให้ผ่าตัดเอาก้อนนิ่วออกก็ได้ การตรวจพบก้อนนิ่วเล็กๆ ก็สามารถทำให้เกิดความเจ็บปวดได้เช่นกัน แพทย์จึงอาจใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวด เช่น ไอบูโพรเฟน อะเซตามิโนเฟ่นหรือที่รู้จักในชื่อพาราเซตามอล และนาพรอกเซนนอกจากนี้การใช้ยาช่วยขับก้อนนิ่วอย่างยาในกลุ่มแอลฟา-บล็อกเกอร์ จะทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย และทำให้ก้อนนิ่วในไตถูกขับออกมาได้เร็วและเจ็บน้อยกว่าการรักษานิ่วในไตขนาดใหญ่ก้อนนิ่วที่มีขนาดใหญ่กว่า 5 มิลลิเมตรขึ้นไป ทำให้มีเลือดออก เกิดแผลที่ท่อไต หรือติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ และไม่สามารถหลุดออกมาเองได้ อาจต้องใช้การรักษาอื่นๆ ดังต่อไปนี้1. การใช้คลื่นเสียงแตกตัวก้อนนิ่ว เหมาะกับนิ่วที่มีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร โดยจะรักษาด้วยเครื่อง “Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy” (ESWL) แรงสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงจะทำให้นิ่วแตกตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ จนสามารถผ่านออกมาทางการขับปัสสาวะได้ วิธีนี้ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บปวดระดับปานกลาง แพทย์จึงต้องใช้ยาระงับประสาทเพื่อให้ผู้ป่วยสงบหรือสลบแบบตื้น ใช้เวลาประมาณ 45 - 60 นาที ซึ่งอาจส่งผลข้างเคียงทำให้ปัสสาวะเป็นเลือด มีแผลฟกช้ำด้านหลังช่องท้อง เลือดออกรอบไตและอวัยวะรอบข้างรวมถึงรู้สึกเจ็บเมื่อก้อนนิ่วเคลื่อนผ่านทางเดินปัสสาวะออกมา การรักษาวิธีนี้อาจต้องสลายนิ่วซ้ำอีก ไม่สามารถรับรองผลการรักษาได้ทุกราย2. การผ่าตัดก้อนนิ่วออก (Percutaneous Nephrolithotomy) เหมาะกับนิ่วที่มีขนาดไม่เกิน 3 เซนติเมตร ใช้เมื่อรักษาด้วยวิธีใช้คลื่นเสียงแตกตัวก้อนนิ่วไม่ได้ผล แพทย์อาจใช้การผ่าตัดนิ่วด้วยการใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กและเครื่องมือสอดเข้าไปบริเวณหลังของผู้ป่วย หลังการผ่าตัดจะต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 1 - 2 วัน แต่มีประสิทธิภาพสูง3. การส่องกล้อง เหมาะกับก้อนนิ่วที่มีขนาดไม่เกิน 3 เซนติเมตร แพทย์อาจใช้กล้อง Ureteroscope ฉายลำแสงแคบผ่านหลอดปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ จากนั้นใช้เครื่องมือชนิดพิเศษจับหรือทำให้ก้อนนิ่วแตกตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ จนสามารถขับออกมาทางปัสสาวะได้ เพื่อลดอาการบวมหลังผ่าตัดและช่วยให้หายเร็วขึ้น จึงอาจมีการใช้ท่อเล็ก ๆ ยึดไว้ที่หลอดปัสสาวะด้วย มีประสิทธิภาพในการรักษาสูง หากเป็นนิ่วมีกิ่งก้านมากกว่า 2 กิ่ง หรือนิ่วที่มีขนาดใหญ่กว่า 3 เซนติเมตร แพทย์อาจพิจารณาให้ผ่าตัดเปิด4. การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ เมื่อฮอร์โมนพาราไทรอยด์มีมากผิดปกติก็เป็นสาเหตุให้เกิดก้อนนิ่วจากแคลเซียมฟอสเฟตได้ง่าย และหากมีสาเหตุมาจากเนื้องอกที่เติบโตบนต่อมไทรอยด์ แพทย์อาจผ่าตัดเอาเนื้องอกออกเพื่อช่วยลดการเกิดนิ่วในไตการป้องกันการเกิดนิ่วในไตโรคนิ่วในไตสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง โดยวิธีที่ดีที่สุดคือ การดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อลดความเข้มข้นของปัสสาวะ แต่มีข้อยกเว้นในกรณีหลังตื่นนอนตอนเช้า ปัสสาวะของคนเรามักจะเป็นสีเหลืองเข้มอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกังวลใดๆการรับประทานอาหารก็อาจช่วยป้องกันการเกิดนิ่วในไตได้ โดยผู้ป่วยที่มีแนวโน้มจะเป็นนิ่วที่เกิดจากแคลเซียมออกซาลิก ควรเลี่ยงอาหารที่มีกรดออกซาลิกสูง เช่น ช็อกโกแลต นมถั่วเหลือง ชา มันฝรั่งหวาน บีทรูท กระเจี๊ยบเขียว หน่อไม้ฝรั่ง เบอร์รี่ ผักโขม ถั่วเปลือกแข็ง และเมล็ดธัญพืชต่างๆ แต่ห้ามงดรับประทานแคลเซียมเด็ดขาดให้รับประทานตามปกติ โดยให้ระวังการรับประทานแคลเซียมเสริม ซึ่งควรรับประทานไปพร้อมกับมื้ออาหารเลย