อายุรวัฒน์เวชศาสตร์ โรคภัยใกล้ตัว August 7, 2018 Share 0 Tweet Pin 0 “ไวรัสตับอักเสบ” สาเหตุ-อาการ-วิธีรักษา...โรคร้ายที่ป้องกันได้โรคชนิดหนึ่งที่ใครหลายคนอาจเคยได้ยินมาก่อน แต่ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วโรคนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร มีอาการอะไรบ้าง และต้องรักษาอย่างไร ดังนั้นวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับโรคนี้กันให้มากขึ้นนั่นคือ “โรคไวรัสตับอักเสบ” ไวรัสตับอักเสบ คือ?ไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis) คือ โรคที่เกิดการอักเสบของเซลล์ตับจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มไวรัสตับอักเสบ โดยการติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นการอักเสบแบบเฉียบพลัน โดยส่วนใหญ่เมื่อหายแล้วร่างกายจะกลับมาเป็นปกติ แต่บางคนที่โรคไม่หายอาจกลายเป็นการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งมักเกิดโรคตับแข็งตามมา นอกจากนี้บางคนมีเชื้อไวรัสนี้อยู่ในตัวโดยไม่มีอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้ไวรัสตับอักเสบเป็นโรคที่พบได้ในทุกอายุและมีโอกาสเกิดโรคได้ใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ไวรัสตับอักเสบจัดเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง บางชนิดติดต่อทางทางเดินอาหาร เช่น ไวรัสตับอักเสบ เอ บางชนิดติดต่อทางสารคัดหลั่ง เช่น ไวรัสตับอักเสบ บี บางชนิดติดต่อจากการรับเลือดในการรักษาโรคต่าง ๆเช่น ไวรัสตับอักเสบ บี และไวรัสตับอักเสบ ซี และบางชนิดติดต่อจากแม่สู่ลูกจากการคลอดบุตร เช่น ไวรัสตับอักเสบ บี เป็นต้นสาเหตุของการเกิดไวรัสตับอักเสบไวรัสตับอักเสบอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุขึ้นอยู่กับว่าป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบชนิดไหน ซึ่งมีสาเหตุแตกต่างกัน ดังนี้1. ไวรัสตับอักเสบ เอ เกิดจากการรับเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอ (Hepatitis A Virus: HAV) ผ่านทางการรับประทานอาหารหรือการดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสซึ่งออกมาจากอุจจาระของผู้ที่ติดเชื้อ โดยส่วนใหญ่มักพบในที่ที่มีการจัดการสาธารณูปโภคไม่ดี2. ไวรัสตับอักเสบ บี เกิดจากการติดต่อผ่านทางเลือดหรือของเหลวในร่างกาย จากแม่สู่ลูก จากการมีเพศสัมพันธ์ หรือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี (Hepatitis B Virus: HBV)3. ไวรัสตับอักเสบ ซี เกิดจากการได้รับของเหลวจากร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดซี(Hepatitis C Virus: HCV) โดยตรง ทั้งจากการมีเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ หรือติดต่อผ่านทางเลือดจากแม่สู่ลูก ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี อาจป่วยเรื้อรังหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้4. ไวรัสตับอักเสบ ดี เป็นไวรัสตับอักเสบชนิดที่รุนแรงและพบได้น้อย เกิดจากการรับเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดดี (Hepatitis D Virus: HDV) จากเลือดของผู้ที่ติดเชื้อโดยตรง และเกิดขึ้นกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี อยู่แล้วเท่านั้น เพราะไวรัสตับอักเสบชนิดดีไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ หากไม่มีไวรัสตับอักเสบชนิดบีในร่างกาย5. ไวรัสตับอักเสบ อี เป็นการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดอี (Hepatitis E Virus: HEV) จากการบริโภคน้ำดื่มหรืออาหารที่มีอุจจาระที่ติดเชื้อปนเปื้อนอยู่ โดยส่วนใหญ่พบได้ในพื้นที่ที่มีปัญหาด้านสาธารณสุข หรือการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการปรุงสุกก่อน6. ตับอักเสบจากการดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากอาจเป็นเหตุให้ตับอักเสบได้ หากปล่อยไว้นานและไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่ภาวะตับวายและโรคตับแข็งได้7. ตับอักเสบจากยาและได้รับสารพิษ การใช้ยาเกินปริมาณและระยะเวลาที่กำหนด หรือแม้แต่การใช้ยาบางชนิดในปริมาณน้อยเกินไปก็สร้างความเสียหายต่อตับได้ เช่น ยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของพาราเซตามอลยากลุ่มเอ็นเสด ยาคุมกำเนิด ยาแก้อักเสบอะม็อกซีซิลลินที่มีส่วนผสมของคลาวูลาเนท ยากลุ่มซัลฟา ยากลุ่มสแตติน ยาอะมิโอดาโรน ยาอะนาบอลิกสเตียรอยด์ ยาคลอร์โปรมาซีน ยาอิริโทรมัยซิน ยาเมทิลโดปา ยาไอโซไนอาซิด ยาเมโธเทรกเซท ยาเตตราไซคลีน และยากันชักบางชนิด เป็นต้นนอกจากนี้การได้รับสารเคมีบางชนิดเข้าสู่ร่างกายก็อาจทำให้ตับอักเสบได้ เช่น สารคาร์บอนเตตระคลอไรด์ สารกำจัดศัตรูพืชพาราคว็อท และสารโพลีคลอริเนตไปฟีนิล รวมถึงสมุนไพรและอาหารเสริมบางชนิด หากบริโภคไม่ถูกวิธีก็ทำให้ตับอักเสบได้ เช่น ว่านหางจระเข้ แบลคโคฮอส คอมเพรย์ อีเฟรดา คาวา เป็นต้น8. ตับอักเสบจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน หากระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานผิดพลาด ขัดขวางการทำงานของตับอาจเกิดการอักเสบได้ โดยสาเหตุนี้มีโอกาสเกิดขึ้นกับเพศหญิงได้มากกว่าเพศชายชนิดของไวรัสตับอักเสบดังที่ได้กล่าวไปในเบื้องต้นแล้วว่า ไวรัสตับอักเสบมีหลายชนิดหรือหลายสายพันธุ์ย่อย โดยมีตั้งแต่ไวรัสตับอักเสบชนิด เอ ไล่ไปจนถึงไวรัสตับอักเสบชนิด เอช และยังมีอื่น ๆ อีกหลายชนิด แต่ที่พบบ่อยที่สุด คือ ไวรัสตับอักเสบ เอ ไวรัสตับอักเสบ บี และไวรัสตับอักเสบ ซี โดยไวรัสตับอักเสบทุกชนิดจะปรากฏอาการที่คล้ายคลึงกัน แต่จะแยกชนิดจากกันโดยการตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทานโรคต่อเชื้อชนิดต่างๆ นั่นเองอาการของไวรัสตับอักเสบดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่าอาการของไวรัสตับอักเสบทุกสายทุกชนิดจะปรากฏอาการคล้ายกัน ซึ่งจะรุนแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณไวรัสที่ร่างกายได้รับและสุขภาพเดิมของผู้ป่วยด้วย โดยอาการที่พบบ่อยของไวรัสตับอักเสบ ได้แก่1. มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว คล้ายอาการของโรคไข้หวัด แต่จะอ่อนเพลียมากกว่าไข้หวัดมาก2. มีอาการคลื่นไส้ และอาเจียน3. อาจมีอาการท้องเสีย4. เจ็บบริเวณใต้ชายโครงขวา ซึ่งเป็นตำแหน่งของตับ5. มักตาเหลืองและตัวเหลือง (โรคดีซ่าน) ปัสสาวะมีสีเข้ม6. ตับอาจโตจนสามารถคลำได้ภาวะแทรกซ้อนของตับอักเสบในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และซี ชนิดเรื้อรัง อาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้มากกว่าไวรัสชนิดอื่นๆ เช่น โรคตับเรื้อรัง โรคตับแข็ง และโรคมะเร็งตับ นอกจากนี้หากเกิดความเสียหายจนกระทบต่อการทำงานของตับ อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะตับวาย รวมทั้งมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายอื่นๆ ได้ เช่น1. ภาวะเลือดออกผิดปกติ2. ท้องมาน3. ภาวะความดันสูงในระบบหลอดเลือดดำของตับ4. ภาวะไตวาย5. อาการทางสมองที่มีสาเหตุจากโรคตับ 6. โรคมะเร็งตับ 7. หากรุนแรงมากอาจเสียชีวิตได้การวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบแพทย์จะวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบได้จากประวัติของผู้ป่วย ประวัติการสัมผัสโรค เช่น การรับประทานอาหาร การได้รับเลือด การมีเพศสัมพันธ์ที่สำส่อน หรือการใช้ยาเสพติด ประกอบกับการตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดูการทำงานของตับและดูสารภูมิต้านทาน เพื่อแยกว่าเป็นการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดใด นอกจากนี้อาจมีการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจภาพตับด้วยการอัลตราซาวด์ เป็นต้นการรักษาไวรัสตับอักเสบแนวทางการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบทุกชนิดมักเป็นการประคับประคองตามอาการ ไม่มีการรับประทานยาปฏิชีวนะ เพราะยาปฏิชีวนะฆ่าไวรัสไม่ได้ ดังนั้นการดื่มน้ำสะอาดในปริมาณมากกว่าปกติและพักผ่อนให้มากๆ ร่างกายจะค่อยๆ ฟื้นตัวจนหายไปเอง หรืออาจมีการใช้ยาเพิ่มภูมิต้านทานและการใช้ยาอื่นๆ ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์การป้องกันไวรัสตับอักเสบวิธีการป้องกันไวรัสตับอักเสบที่สำคัญที่เราสามารถทำได้ด้วยตัวเอง คือ1. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่าง ๆ และเพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง2. ล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังการเข้าห้องน้ำ3. รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ดื่มน้ำสะอาด และระวังการรับประทานน้ำแข็ง 4. รักษาความสะอาดของภาชนะที่ใช้ใส่อาหาร เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน เป็นต้น5. ระมัดระวังการสัมผัสเลือดและสารคัดหลั่งของบุคคลอื่น รวมถึงการใช้เครื่องมือบางอย่างร่วมกันเช่น เข็มฉีดยา เครื่องมือสัก และกรรไกรตัดเล็บ6. ผู้ชายควรใช้ถุงยางอนามัยเสมอเมื่อมีเพศสัมพันธ์7. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ เช่น วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี เป็นต้นการดูแลตัวเองเมื่อป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบเมื่อมีอาการต่างๆ ที่อาจพอคาดเดาได้ว่าอาจป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบควรดูแลตนเองให้ดี หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 - 2 วัน โดยเฉพาะเมื่อมีไข้สูง ดื่มน้ำได้น้อย คลื่นไส้มาก อาเจียนมาก เจ็บใต้ชายโครงขวามาก ปวดท้องมาก หรือมีตาและตัวเหลือง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ส่วนการดูแลตนเองหลังพบแพทย์สามารถทำได้ ดังนี้1. ปฏิบัติตนตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด2. พักผ่อนให้เต็มที่ ควรหยุดงานหรือหยุดโรงเรียนตามคำแนะนำของแพทย์3. ดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8 - 10 แก้ว4. รับประทานยาบรรเทาอาการต่าง ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ แต่ควรเป็นอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย และเพิ่มผักผลไม้ในมื้ออาหารให้มากๆ6. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด7. ไม่ซื้อยารับประทานเอง เพราะอาจส่งผลให้ตับอักเสบเพิ่มขึ้น หรืออาจมีผลข้างเคียงจากยาเพิ่มขึ้น เพราะตับไม่สามารถกำจัดยาส่วนเกินออกจากร่างกายได้ตามปกติ8. ล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังการเข้าห้องน้ำ9. แยกเครื่องใช้ของใช้ส่วนตัว โดยเฉพาะแก้วน้ำและช้อน10. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อลดความรุนแรงของโรคและลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น11. พบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม 12. ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัดหรือเป็นการฉุกเฉินเมื่อรับประทานอาหารไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ เกิดอาการสับสน หรือรู้สึกซึมๆ ลง เพราะเป็นอาการของตับวายการรักษาสุขอนามัยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะถือเป็นสาเหตุหลักๆ ในการเกิดโรคต่างๆ มากมาย รวมถึงโรคไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ ด้วย ดังนั้นคงไม่ใช่เรื่องยากเลยที่เราจะหันมาใส่ใจรักษาสุขอนามัยให้ดี เพราะสุขอนามัยที่ดีเริ่มที่ตัวคุณ