อายุรวัฒน์เวชศาสตร์ โรคภัยใกล้ตัว August 20, 2018 Share 2 Tweet Pin 0 “ไซนัสอักเสบ” ภัยร้ายทำลายระบบทางเดินหายใจบางคนอาจเคยสงสัยว่าทำไมตัวเองเป็นหวัดแล้วถึงได้เป็นหวัดเรื้อรัง หายช้าเหลือเกิน คัดจมูก มีน้ำมูกข้นๆ อยู่ตลอด รู้หรือไม่ว่านี้อาจไม่ใช่อาการหวัดธรรมดาอย่างที่เข้าใจ แต่นี้อาจเป็นสัญญาณบอกว่าคุณอาจจะกำลังป่วยเป็น “ไซนัสอักเสบ” ไซนัสอักเสบ คือ?ไซนัสอักเสบ (Sinusitis) เป็นภาวะที่เยื่อบุบริเวณโพรงอากาศข้างจมูกเกิดการอักเสบบวมจากการติดเชื้อ ทำให้มีอาการคัดจมูก มีน้ำมูกข้น ปวดบริเวณจมูก ตา โหนกแก้ม หน้าผาก ฟัน มีอาการไอ และลมหายใจมีกลิ่นเหม็นสาเหตุของการเกิดไซนัสอักเสบไซนัสอักเสบเกิดจากเยื่อบุไซนัสติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียที่ผ่านเข้ามาทางกระบวนการหายใจ จนเนื้อเยื่อเกิดอาการบวม สารคัดหลั่งเมือกเหลวจึงเกิดการอุดตันกลายเป็นหนองหรือน้ำมูกเขียวข้น ทำให้เกิดการคัดจมูก น้ำมูกไหล มีอาการปวดบริเวณไซนัสที่อักเสบ และมีอาการป่วยอื่นๆ ตามมาไซนัส (Sinus) คือ โพรงอากาศบริเวณกระดูกใบหน้า มี 4 คู่ คือ1. ไซนัสแมกซิลลา (Maxillary sinus) เป็นโพรงอากาศในกระดูกโหนกแก้ม2. ไซนัสเอธมอยด์ (Ethmoid sinus) เป็นโพรงอากาศที่อยู่ระหว่างเบ้าตาและด้านข้างของจมูก3. ไซนัสฟรอนตัล (Frontal sinus) เป็นโพรงอากาศที่อยู่ในกะโหลกส่วนหน้าผากระหว่างคิ้วสองข้าง4. ไซนัสสฟีนอยด์ (Sphenoid sinus) เป็นโพรงอากาศอยู่ในกระดูกส่วนที่เป็นฐานสมอง โดยภายในโพรงไซนัสแต่ละจุดจะมีเยื่อบุไซนัสทำหน้าที่ผลิตเมือกสำหรับดักจับฝุ่นและเชื้อโรคไซนัสอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส หากผู้ป่วยไม่มีภาวะแทรกซ้อนอาการจะทุเลาลงและหายเองภายในเวลาประมาณ 10 วัน แต่ถ้าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจะพบได้ไม่บ่อยนักและต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านเชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะ มักมีอาการนานกว่า 10 วัน ส่วนสาเหตุที่ทำให้อาการอักเสบยังคงอยู่ หรือลุกลามยาวนานมีหลายปัจจัย เช่น การป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะภูมิแพ้อากาศ หอบหืด การเกิดเนื้องอกในจมูก การเกิดผนังกั้นช่องจมูกคด การมีภูมิคุ้มกันต่ำ และการสูบบุหรี่ เป็นต้นอาการของไซนัสอักเสบเนื่องจากไซนัสอักเสบเกิดขึ้นบริเวณเยื่อบุไซนัสที่บริเวณโหนกแก้ม โพรงจมูก และกระดูกหน้าผาก อาการของไซนัสส่วนใหญ่จึงเกี่ยวข้องกับอวัยวะในระบบทางเดินหายใจ ดังนี้ หายใจติดขัด รู้สึกอึดอัด และคัดจมูก มีน้ำมูกสีเขียวหรือสีเหลืองข้นประสาทรับกลิ่นทำงานได้ไม่ดีปวดบริเวณไซนัส ได้แก่ โหนกแก้ม หน้าผาก จมูกตรงระหว่างคิ้ว และหัวตาปวดฟัน ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น และมีกลิ่นปากมีไข้ และรู้สึกอ่อนเพลียมีอาการไอ เจ็บคอ มีมูกข้นในลำคอหรือมูกไหลลงลำคออาการของไซนัสอักเสบมีระยะเวลาฟื้นตัวและหายดีได้แตกต่างกันตามชนิดของการอักเสบ ซึ่งมีด้วยกัน 4 ชนิด คือ1. Acute เป็นไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลัน มักเกิดร่วมกับโรคหวัด มีระยะเวลาในการป่วยประมาณ 2 - 4 สัปดาห์2. Subacute เป็นไซนัสอักเสบกึ่งเฉียบพลัน การอักเสบมักเกิดขึ้นยาวนานประมาณ 4 - 12 สัปดาห์3. Chronic เป็นไซนัสอักเสบชนิดเรื้อรัง การอักเสบเกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป มักพบร่วมกับการป่วยเป็นโรคภูมิแพ้4. Recurrent เป็นไซนัสอักเสบชนิดซ้ำซ้อน การอักเสบเกิดขึ้นมากกว่า 3 ครั้งใน 1 ปี โดยแต่ละครั้งจะมีอาการนานมากกว่า 10 วันภาวะแทรกซ้อนของไซนัสอักเสบ นอกจากอาการของไซนัสที่จะเกิดขึ้นตามรูปแบบต่างๆ แล้วนั้น ผู้ที่ป่วยเป็นไซนัสอักเสบยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนี้1. เกิดภาวะประสาทรับกลิ่นแย่ลงหรือสูญเสียประสาทรับกลิ่น 2. การติดเชื้อซ้ำซ้อน บริเวณเยื่อบุไซนัสอาจอักเสบซ้ำได้ด้วยสาเหตุอื่น หรืออาจเกิดการอักเสบขึ้นกับไซนัสบริเวณอื่นได้ 3. ต่อมน้ำลายอุดตัน เพราะเกิดการติดเชื้อลุกลามไปยังโครงสร้างอื่น ๆ ที่ใกล้เคียง4. การติดเชื้อที่อวัยวะและโครงสร้างเซลล์บริเวณใกล้เคียงกับไซนัส อาจเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก แต่เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น การอักเสบที่ดวงตา เส้นเลือดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และการอักเสบของกระดูกและไขกระดูก เป็นต้นการวินิจฉัยไซนัสอักเสบการวินิจฉัยไซนัสอักเสบนั้นสามารถทำได้ 2 ทาง คือ1. การวินิจฉัยด้วยตนเอง อาการของไซนัสอักเสบจะคล้ายกับอาการของไข้หวัด ดังนั้นควรสังเกตว่ามีน้ำมูกอุดตันจนหายใจลำบาก มีมูกข้นไหลลงสู่ลำคอ มีอาการปวดตามจุดต่างๆ ที่เป็นตำแหน่งของไซนัสหรือไม่ หากมีควรมาพบแพทย์ทันที นอกจากนี้อาจมีอาการป่วยรุนแรงอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะมาก ไข้สูง มองเห็นภาพซ้อน ปวดบวมบริเวณดวงตา จมูก หน้าผาก แก้ม มีอาการเรื้อรังยาวนานเกินกว่า 10 วัน2. การวินิจฉัยโดยแพทย์ ในเบื้องต้นแพทย์จะซักถามอาการและประวัติการป่วยร่วมกับการตรวจร่างกาย ตรวจมูกหนองในลำคอ และกดตามจุดบริเวณใบหน้าเพื่อตรวจหาตำแหน่งอักเสบของไซนัสส่วนการตรวจพิเศษเพื่อให้ทราบผลที่แน่ชัด แพทย์มักใช้วิธีวินิจฉัยด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้1. วินิจฉัยภาพที่ได้จาก CT Scan โดยแพทย์จะฉีดสารทึบรังสีเข้าไปทางหลอดเลือดดำ แล้วฉายรังสีเอกซ์ให้คอมพิวเตอร์สร้างภาพออกมา ซึ่งในระหว่างการฉายรังสีผู้ป่วยจะไม่เจ็บปวดแต่อย่างใด2. MRI เป็นเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า โดยจะส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปกระตุ้นอวัยวะส่วนที่จะตรวจแล้วสร้างเป็นภาพออกมา เป็นวิธีที่มีความละเอียดและแม่นยำสูง โดยแพทย์จะวินิจฉัยจากภาพที่ได้ว่ามีสารเหลวอยู่ในบริเวณไซนัสหรือไม่ แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป3. การตรวจเลือดเพื่อหาความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เป็นการตรวจเพื่อดูการทำงานและปริมาณของเม็ดเลือดขาว หาอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง และตรวจหา C – Reactive Protein ในเลือด4. Nasal Endoscopy เป็นการส่องกล้อง Endoscope เข้าไปทางจมูกแล้วตรวจดูจุดต่างๆ ว่ามีการอักเสบหรือมีหนองที่ไซนัสหรือไม่วิธีการรักษาไซนัสอักเสบการรักษาไซนัสอักเสบสามารถทำได้ด้วยตนเอง หรือรักษาด้วยวิธีการของแพทย์ก็ได้ขึ้นอยู่กับชนิดของไซนัสที่ผู้ป่วยเป็น ดังนั้นเราสามารถดูแลตนเองในเบื้องต้นได้ หากป่วยเป็นไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลัน เพราะอาการจะทุเลาลงและหายดีเองภายใน 2 - 4 สัปดาห์ ในระหว่างนั้นผู้ป่วยก็สามารถดูแลรักษาอาการด้วยตนเองที่บ้านได้ ดังนี้1. ซื้อยารับประทาน ยาที่รับประทานได้สำหรับรักษาอาการไซนัสอักเสบ คือ กลุ่มยาแก้ปวดและลดไข้ เช่น พาราเซตามอลและไอบูโปรเฟน จะช่วยลดไข้และบรรเทาอาการปวดบวมอักเสบ รวมถึงกลุ่มยาลดน้ำมูกและแก้คัดจมูกจะช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกและหายใจติดขัด ข้อควรระวัง คือ ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์2. การใช้แผ่นประคบร้อน โดยจะใช้แผ่นประคบร้อนประคบตามจุดต่างๆ ที่มีอาการปวดบนใบหน้า ช่วยบรรเทาอาการปวด และทำให้มูกเหลวที่อักเสบไหลออกมามากขึ้น3. การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ โดยใช้กระบอกฉีดยาฉีดน้ำเกลือเข้าโพรงจมูกข้างหนึ่งอย่างช้าๆ น้ำเกลือจะชะล้างหนองที่อักเสบและสิ่งสกปรกที่อยู่ภายในโพรงจมูกให้ไหลออกมาทางโพรงจมูกอีกข้างหนึ่งส่วนการรักษาทางการแพทย์ หากเวลาผ่านไปอาการไซนัสอักเสบยังไม่ทุเลาลงหรือเป็นไซนัสอักเสบซ้ำหลายครั้ง ควรไปพบแพทย์ แพทย์จะมีวิธีการรักษา ดังนี้1. การให้ยา แพทย์จะให้ยาบางชนิดซึ่งต้องอยู่ภายใต้คำสั่งและการดูแลของแพทย์เท่านั้น ได้แก่ ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก เป็นยาออกฤทธิ์เฉพาะที่ ใช้พ่นเข้าไปเพื่อลดอาการอักเสบ ลดการบวมของเยื่อบุโพรงจมูก ในบางกรณีหากสเตียรอยด์แบบสเปรย์รักษาไม่ได้ผล แพทย์จะใช้สเตียรอยด์แบบหยด โดยผสมสเตียรอยด์ในน้ำเกลือที่ใช้ล้างจมูก ผลข้างเคียง คือ อาจเกิดการระคายเคืองจมูก มีเลือดไหลออกจากจมูก หรือมีอาการเจ็บคอร่วมด้วย ส่วนยาสเตียรอยด์แบบรับประทาน แพทย์จะใช้ในรายที่มีอาการป่วยรุนแรงเท่านั้น และไม่ควรใช้สเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานยาอีกกลุ่มคือ ยาลดอาการคัดจมูกแบบรับประทาน เช่น pseudoephedrine และ phenylephrine แพทย์จะจ่ายยาให้รับประทาน 10 - 14 วัน ส่วนยาลดอาการคัดจมูกแบบพ่นหรือหยด เช่น Oxymetazoline และ Hydrochloride แพทย์จะจ่ายยาให้ใช้รักษาภายใน 3 - 5 วันส่วนยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) จะใช้ในกรณีที่ไซนัสอักเสบจากแบคทีเรีย แพทย์จะให้ยาโดยพิจารณาจากความรุนแรงของโรคเป็นเวลา 10 - 14 วัน เช่น ยากลุ่ม Amoxicillin, Clarithromycin และ Azithromycin แต่หากผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อสูงหรืออาการไม่ดีขึ้นหลังรับยาไปแล้ว 2 - 3 วัน แพทย์จะใช้ยารักษาในขั้นถัดไป เช่น Amoxicillin-clavulanate, Cephalosporins, Macrolides, Fluoroquinolones และ Clindamycin เป็นต้น2. การผ่าตัด หากการรักษาด้วยวิธีต่างๆ ที่กล่าวมายังไม่ได้ผล แพทย์จะใช้การผ่าตัดด้วยวิธี Functional Endoscopic Sinus Surgery (FESS) เป็นการผ่าตัดผ่านทางรูจมูกด้วยกล้องเอ็นโดสโคป และแพทย์จะใช้เครื่องมือที่ถูกออกแบบมาพิเศษในการผ่าตัดและมองภาพขณะผ่าตัดผ่านกล้อง ผู้ป่วยจะได้รับยาชาหรือยาสลบในขณะผ่าตัดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการป่วยการป้องกันไซนัสอักเสบจุดเริ่มต้นในการป้องกันตนเองจากการเป็นไซนัสอักเสบ คือ การป้องกันตนเองจากไข้หวัด ซึ่งถือเป็นสาเหตุสำคัญของการเป็นไซนัสอักเสบ และควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รักษาสุขอนามัย และหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้หรือสัมผัสผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคไข้หวัด หลีกเลี่ยงฝุ่นควันและมลภาวะ หากป่วยเป็นภูมิแพ้ก็ควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้หรือสัมผัสสารที่ตนแพ้ ไม่สูบบุหรี่หรืออยู่ใกล้คนที่กำลังสูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ผักผลไม้และอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ส้ม องุ่น ถั่ว ผักคะน้า ธัญพืช เนื้อปลา เป็นต้นเมื่อใดก็ตามที่คุณเป็นไข้หวัดควรรีบรักษาให้หาย ก่อนที่จะเรื้อรังจนกลายเป็นไซนัสอักเสบ ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดไซนัสอักเสบได้ เพราะการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะโรคอะไรก็มีโอกาสหายได้ทั้งสิ้น