คลินิกสุขภาพจิต สุขภาพแม่และเด็ก December 9, 2014 Share 0 Tweet Pin 0 7 เคล็ดลับ การให้ยาเด็ก เมื่อเด็กน้อยไม่สบาย หรือป่วยไข้ที่เกิดขึ้นบ่อยสำหรับเด็กเล็ก พ่อแม่หลายๆ คนมีความกังวลใจในการให้ยาบรรเทาอาการป่วยไข้เพื่อดูแลเบื้องต้นก่อนไปพบแพทย์ จากนั้นเมื่อไปหาหมอกลับมาพร้อมกับยาชุดใหญ่ ก็จะเริ่มหนักใจกับการป้อนยา เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจและคลายความกังวลใจของพ่อแม่ และสุขภาพที่ดีของลูกน้อย ลองมาเรียนรู้ 7 เคล็ดลับการให้ยาเด็กอย่างปลอดภัยกันไว้ดีกว่าค่ะ 1 มีไข้แบบไหน เลือกใช้ยาเอง หรือไปพบแพทย์ หากลูกตัวร้อนมีไข้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใช้มือแตะหน้าผากหรือเนื้อตัวแล้วสรุปว่า ลูกตัวร้อนแต่ควรวัดอุณหภูมิร่างกายโดยใช้ปรอทวัดไข้เพื่อจะได้ทราบค่าอุณหภูมิที่แน่นอน ด้วยการนำปรอทวัดไข้มาสลัดให้ปรอทลงไปที่กระเปาะแล้วสอดไว้ที่รักแร้ของลูก ทิ้งไว้ประมาณ 3 นาที จึงนำออกมาอ่าน หากอ่านค่าอุณหภูมิได้มากกว่าหรือเท่ากับ 37.8 องศาเซลเซียล ควรเริ่มให้ยาลดไข้พาราเซตามอนร่วมกับการเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น โดยเช็ดย้อนรูขุมขน และเช็ดเน้นบริเวณข้อพับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับแขนและขา ควรเช็ดตัวไปเรื่อยๆ จนกว่าไข้จะลด หากไข้ไม่ลดหลังจากการให้ยาครั้งแรกนาน 4 ชั่วโมง สามารถใช้ยาลดไข้ซ้ำได้ และให้ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่หากมีไข้เกิน 3 วัน หรือมีไข้สูงมากเช่น เกิน 40 องศาขึ้นไป หลังจากให้ยาแล้วไข้ไม่ลดควรพาไปพบแพทย์โดยด่วน อย่าปล่อยไว้ เพราะอาจทำให้เกิดอาการชักได้ 2 อย่าผสมยาลงในขวดนม เนื่องจากเด็กเล็กกินนมเป็นอาหารหลัก ประกอบกับพฤติกรรมการกินยายาก การผสมยาลงในขวดนมจึงเป็นเทคนิคการป้อนยาที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่จริงๆ แล้วเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากแคลเซียมในนมอาจจับกับยาบางชนิด ทำให้ยาไม่ออกฤทธิ์ อีกปัญหาที่อาจเกิดตามมาก็คือ หากเด็กกินนมไม่หมดในครั้งเดียวก็จะทำให้เด็กได้รับยาไม่ครบตามขนาดที่ควรได้รับ ยิ่งไปกว่านั้น หากยาทำให้นมมีรสชาติเปลี่ยนไป เด็กก็อาจจะไม่ยอมกินนม กลายเป็นปัญหาในการดื่มนมต่อไป ดังนั้นอย่าผสมยาในนมเด็ดขาด หากต้องการผสมให้ใช้น้ำหวานหรือน้ำผึ้งแทน 3 หากลูกอาเจียนควรให้ยาซ้ำหรือไม่ คุณแม่หลายๆ คนอาจเจอเหตุการณ์นี้บ่อยๆ เพราะในขณะป้อนยา หากเด็กกำลังร้องไห้อาจทำให้เกิดการสำลักหรืออาเจียนยาออกมาได้ ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายท่านเกิดความสงสัยว่า จะต้องป้อนยาให้ลูกซ้ำหรือไม่ เพราะหากป้อนซ้ำก็กลัวลูกจะได้รับยามากเกินไป หากไม่ป้อนลูกก็อาจจะได้รับยาไม่ครบ จึงอยากแนะนำให้ยึดหลักการง่ายๆ คือ หากป้อนยาแล้วลูกอาเจียนทันที ก็ให้ข้ามยามื้อนั้นไปเลย ไม่ต้องป้อนซ้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กได้รับยาเกินขนาด 4 ให้ป้อนยาทีละขนาน ในกรณีที่เด็กได้รับยาหลายขนาน คุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านอาจผสมหรือบดยาทุกชนิดรวมกันแล้วป้อนเด็กในครั้งเดียวเพื่อความสะดวก ทั้งๆ ที่อาจจะทำให้รสชาติและสีของยาเปลี่ยนไปจนเด็กไม่ยอมกิน ยิ่งกว่านั้นอาจทำให้คุณสมบัติทางกายภาพของยาเปลี่ยนไป หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา เช่น อาจทำให้ยามีฤทธิ์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นอันตราย หรือมีฤทธิ์ลดลง ซึ่งจะให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรป้อนยาให้ลูกทีละชนิดจะปลอดภัยกว่า 5 อุปกรณ์ป้อนยาเด็ก หากเด็กเล็กกว่า 1 ขวบหรือในเด็กที่กินยายาก การใช้หลอดดูดยา (syringe) แทนช้อนจะทำให้การป้อนยาทำได้สะดวกขึ้น โดยที่หลอดดูดยาจะมีตัวเลขบอกปริมาตรเป็นซีซีแสดงอยู่ ซึ่งหากว่าเด็กต้องกินยา 1 ช้อนชา ก็จะเท่ากับ 5 ซีซี และขอย้ำว่า “ช้อนชา” ในที่นี้ไม่ใช่ช้อนที่ใช้ในการชงชาตามบ้าน แต่เป็นช้อนที่แถมมาพร้อมกับขวดยา สำหรับในเด็กโตอาจต้องใช้ “ช้อนโต๊ะ” ซึ่งก็ไม่ใช่ช้อนที่ใช้บนโต๊ะอาหารตามบ้านเช่นกัน แต่ 1 ช้อนโต๊ะจะเท่ากับ 3 ช้อนชา ดังนั้นหากบนฉลากเขียนไว้ว่า ป้อนยาครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ ก็ควรใช้ช้อนโต๊ะที่แถมมาพร้อมกับขวดยาเท่านั้น หรือใช้ช้อนชาป้อน 3 ช้อนก็ได้ 6 เทคนิคการป้อนยาเด็ก ปัญหาการกินยายากเป็นเรื่องปกติสำหรับเด็กทุกคนบางครอบครัวจึงใช้วิธีการบีบจมูกเพื่อให้เด็กกลืนยาซึ่งอาจจะทำให้ลูกกลืนยาได้ง่ายขึ้น แต่เป็นการกระทำที่อันตรายมากเพราะเสี่ยงต่อการที่เด็กจะสำลัก คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรใช้วิธีการดังกล่าวและหันมาใช้วิธีที่ถูกต้องแทนคือ การใช้หลอดดูดยาค่อยๆ ฉีดยาเข้าข้างกระพุ้งแก้มเด็กแต่ถ้าหากเด็กปฎิเสธและต่อต้านมาก อาจต้องขอให้สมาชิกคนอื่นในบ้านช่วยกันจับมือและเท้าของเด็กไว้ไม่ให้ดิ้น แล้วจึงค่อยๆ ฉีดยาเข้าข้างกระพุ้งแก้มก็จะสามารถป้อนยาได้สำเร็จ และหากระหว่างการป้อนยามียาหก (ซึ่งอาจจะทำให้เด็กได้ยาไม่ครบ) ก็ไม่ต้องให้ยาซ้ำ เนื่องจากเราไม่ทราบว่ายาที่หกไปมีปริมาณเท่าใดกันแน่ 7 วิธีเก็บรักษายาที่ถูกต้อง การเก็บรักษาที่ถูกวิธี คือ ควรเก็บยาไว้ในตู้ยาสามัญประจำบ้าน และตรวจสอบอายุยาทุกครั้งก่อนหยิบใช้ โดยเราจะเก็บยาที่หมดอายุก่อนไว้ด้านหน้าและหยิบไว้ก่อน ส่วนยาที่หมดอายุทีหลังจะเก็บไว้ด้านใน และควรตรวจสอบอายุยาอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้มียาหมดอายุค้างอยู่ในตู้ยา หากไม่มีตู้ยา ควรเก็บในที่ที่พ้นมือเด็ก ห่างไกลแสงแดดและความชื้น ส่วนการที่หลายๆ บ้านมักเก็บยาที่เปิดใช้แล้วไว้ในตู้เย็นนั้น ต้องบอกว่าอาจจะเหมาะกับยาบางชนิดเท่านั้น เช่น ยาปฏิชีวนะที่ผสมน้ำแล้ว ซึ่งจะใช้ได้ไม่เกิน 7 วัน แต่ยาบางชนิด เช่น ยาน้ำเชื่อมอาจจะไม่เหมาะที่จะเก็บในตู้เย็นเพราะจะเกิดการตกตะกอน และทำให้ยาเปลี่ยนสภาพได้ ดังนั้นขอให้ดูฉลาก รวมถึงมีข้อควรระวังในกรณีที่เก็บยาไว้ในตู้เย็นคือ ต้องไม่วางยารวมไว้กับขวดน้ำดื่ม เพราะเด็กอาจหยิบยาไปกินด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นน้ำหวานหรือน้ำผลไม้ได้ บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องน่ารู้...คู่สุขภาพเด็ก 4 วิธีแก้ปัญหาทารกแรกเกิดสะอึก 5 เคล็ดลับ…เสริมสร้างวินัยให้ลูกรัก เหมือนเด็กญี่ปุ่น 4 วิธี-การดูแลฟันลูกรักให้แข็งแรง เด็กอมข้าว ทำให้ฟันผุจริงเหรอ?
0comments Click here to add a comment Leave a comment: Name * Email * Website Save my name, email, and website in this browser for the next time I comment. Comment Current ye@r * Leave this field empty