free web tracker, fire_lady “มะขามแขก” สรรพคุณ-ประโยชน์และโทษ รู้ก่อนใช้เป็นยาลดความอ้วน • สุขภาพดี

มะขามแขก” สรรพคุณ-ประโยชน์และโทษ ที่ต้องรู้ก่อนตัดสินใจใช้เป็นยาลดความอ้วน

มะขามแขก สรรพคุณ-ประโยชน์-โทษ

มะขามแขก” เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่เรารู้จักกันดีสำหรับสรรพคุณเด่นในเรื่องของยาระบาย ช่วยลดอาการท้องผูก แต่บางคนอาจจะเคยได้ยินมาว่ามะขามแขกนั้นสามารถนำมาใช้เป็นยาลดน้ำหนัก ลดความอ้วนได้? ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นความจริงหรือไม่สามารถหาคำตอบได้จาก สรรพคุณและประโยชน์ โทษของมะขามแขกที่นี่ได้เลยค่ะ

ที่มาและชนิดของมะขามแขก

มะขามแขก เป็นไม้พุ่มชนิดหนึ่งจัดอยู่ในวงศ์ถั่ว ลำต้นไม่สูงมากนัก เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่อุดมสมบูรณ์แต่น้ำต้องไม่ขังเนื่องจากจะทำให้รากเน่าตายได้ สามารถทนสภาวะแห้งแล้งได้ดี มะขามแขกเป็นพืชสมุนไพรที่ชาวอาหรับนำมาใช้เป็นยานานแล้ว และมีการนำมาใช้ในยุโรปนานกว่า 1,000 ปี

มะขามแขกมี 2 ชนิดคือ Cassia acutifolia – Alexandrian Senna และ Cassia angustifolia Tinnevely Senna ซึ่งมะขามแขกสายพันธุ์แรกนั้นเป็นพืชพื้นเมืองในแอฟริกาเขตร้อน ปลูกกันมากที่ประเทศซูดาน ส่วนอีกสายพันธุ์มีถิ่นกำเนิดที่เมืองโซมาลิแลนด์ ซึ่งเป็นดินแดนที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศโซมาเลีย รัฐปัญจาบและสินธุในประเทศอินเดีย แต่ว่าแหล่งปลูกมะขามแขกแหล่งใหญ่ชนิดนี้อยู่ที่เมือง Tinnevelly ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย ลักษณะโดยทั่วไปของมะขามแขกสองชนิดนี้คล้ายคลึงกันมากเพียงแต่สายพันธุ์แรกมีใบที่ยาวและแหลมกว่าเท่านั้น สำหรับประเทศไทยมีการปลูกมะขามแขกกันมากที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี โดยปลูกเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของมะขามแขก

ลำต้น เป็นไม้พุ่ม สูงเฉลี่ย 0.5-1.5 เมตร เปลือกลำต้นสีเขียว ส่วนยอดจะมีขนอ่อนๆ ปกคลุมเล็กน้อย เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีดินร่วนซุย น้ำไม่ขัง

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก แต่แตกใบแบบเรียงสลับกัน ใบรียาว โคนใบค่อนข้างมน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบเรียบสีเขียวแก่มีขนปกคลุม มีกลิ่นเหม็นเขียว

ดอก ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบ ก้านดอกยาว กลีบดอกสีเหลืองเข้ม

ผล มีลักษณะเป็นฝักแบนๆ ขอบฝักขนาน ฝักอ่อนสีเขียว มีเมล็ดตรงกลางฝักจึงทำให้ผิวฝักนูนเป็นระยะ

4 สรรพคุณเด่นๆ ของมะขามแขก

1. มะขามแขกมีสรรพคุณเป็นยาระบาย สรรพคุณที่เห็นเด่นชัดที่สุดของมะขามแขกคือใช้เป็นยาระบาย แก้อาการท้องผูก เนื่องจากมีสารเคมีที่ชื่อว่า แอนทราควิโนน ออกฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ทำให้รู้สึกปวดท้องอยากถ่าย โดยจะนำฝักมาต้มกับน้ำแล้วดื่มหรือนำใบมาตากแห้ง บดเป็นผงแล้วชงกับน้ำดื่มก็ได้ แต่ใบจะออกฤทธิ์มากกว่า

2. มะขามแขกมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ช่วยขับลมในลำไส้ แก้อาการริดสีดวงทวาร

3. มะขามแขกมีสรรพคุณช่วยถ่ายพิษไข้ พิษเสมหะและทำให้อาเจียน

4. ใบของมะขามแขกมีสรรพคุณใช้เป็นยาถ่ายพยาธิได้

มะขามแขกลดความอ้วนได้จริงหรือ?

มะขามแขกเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะไปกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวก่อนที่ร่างกายจะนำแป้งและน้ำตาลไปใช้ สิ่งที่ถูกระบายออกจากร่างกายคือน้ำและกากอาหาร แต่ไขมันที่มีอยู่ในร่างกายอยู่แล้วไม่ได้ถูกขับออกมาด้วย มะขามแขกจึงไม่ใช่ยาลดความอ้วน เป็นเพียงยาระบายและยาที่ช่วยในเรื่องท้องผูกเท่านั้น จึงไม่ควรใช้มะขามแขกเป็นยาลดความอ้วนเพราะอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้

มะขามแขกมีโทษต่อร่างกาย?

1. การใช้มะขามแขกเป็นยาระบายหากใช้มากเกินไป อาจจะทำให้ปวดท้องหรือท้องเสียได้

2. สำหรับผู้ที่ใช้มะขามแขกผิดวิธีเช่น ใช้ลดความอ้วนนั้น การรับประทานมะแขกบ่อยๆ ติดต่อกันนานๆ จะทำให้ร่างกายทรุดโทรม ขาดสารอาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักลดจนไม่มีแรง ขับถ่ายบ่อยเกินไปจนร่างกายเสียน้ำมาก อาจจะทำให้ช็อคจนเสียชีวิตได้

3. การใช้มะขามแขกเป็นยาระบายบ่อยๆ จะทำให้ลำไส้เคยชิน เกิดการดื้อยาหรือเมื่อเลิกใช้ยาจึงท้องผูกอีก และไม่สามารถขับถ่ายได้เองหากไม่ได้รับประทานยา ดังนั้นการใช้มะขามแขกควรใช้เมื่อจำเป็นจริงๆ และใช้ในปริมาณที่พอดี การรักษาโรคท้องที่ได้ผลดีในระยะยาวคือ รับประทานอาหารที่มีกากใยมาก ดื่มน้ำเยอะๆและขับถ่ายเป็นเวลา

4. การใช้มะขามแขกเป็นระยะเวลานานๆ มีพิษต่อตับ อาจทำให้ร่างกายสูญเสียโพแทสเซียม ทำให้ภาวะความเป็นกรดด่างของเลือดไม่สมดุล อ่อนเพลีย น้ำหนักลด และทำลายเซลล์ประสาทในลำไส้ได้

5. การใช้มะขามแขกแบบผิดๆ อาจจะทำให้กระดูกบริเวณข้อเจริญเติบโตอย่างผิดปกติได้รวมทั้งทำให้นิ้วมือ นิ้วเท้าใหญ่และหนาขึ้น

ข้อแนะนำ ควรระวังในการใช้มะขามแขก

1. ห้ามใช้มะขามแขกในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี

2. ห้ามใช้มะขามแขกกับสตรีมีครรภ์ สตรีที่กำลังให้นมบุตรและสตรีที่กำลังมีประจำเดือน

3. มะขามแขกมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบเกร็งของลำไส้ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาธาตุเบา ท้องเสียง่าย ลำไส้อุดตัน ลำไส้ส่วนล่างอักเสบ หรือปวดท้องบ่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุไม่ควรรับประทานมะขามแขก

4. การใช้มะขามแขกเป็นยาระบายนั้น ควรใช้ก่อนนอน เพราะมะขามแขกจะออกฤทธิ์ใน 8-10 ชั่วโมงหลังรับประทาน

5. ไม่ควรใช้มะขามแขกร่วมกับยาแก้แพ้ (ยาต้านฮีสตามีน) เพราะจะลดประสิทธิภาพในการเป็นยาระบาย

6. ผู้ที่ใช้มะขามแขกแล้วมีอาการปวดท้อง ให้ใช้ยามะขามแขกผสมกับยาอื่นที่มีฤทธิ์ขับลมเช่น ขิง กานพลู เป็นต้น มาผสมกันในปริมาณเล็กน้อย จะช่วยลดอาการปวดท้องได้

7. ผู้ที่จำเป็นต้องใช้มะขามแขกเป็นระยะเวลานานๆ มีความเสี่ยงที่ร่างกายจะขาดโพแทสเซียม ดังนั้นควรรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมสูงๆ ควบคู่ไปกับการใช้มะขามแขก

ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากมะขามแขก

1. มะขามแขกชนิดแคปซูล โดยทั่วไปแคปซูลมะขามแขกที่วางขายตามท้องตลาดมักผลิตมจากส่วนใบของมะขามแขก ซึ่งสรรพคุณก็เหมือนกับนำมาต้มรับประทานเองคือ เป็นยาระบาย ลดอาการท้องผูก การรับประทานควรรับประทานตามขนาดที่ระบุไว้ในฉลากข้างขวดยา ปกติแล้วการใช้ยามะขามแขกนั้นมีความปลอดภัยมากพอสมควร เพียงแต่ว่าไม่ควรรับประทานในปริมาณเกินกว่าที่ฉลากระบุและไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานเกิน 5-7 วัน

2. ยาชงสมุนไพรมะขามแขก เป็นนำส่วนของใบและผักมาตากแห้งแล้วบดเป็นผง นำมาชงดื่มกับน้ำ สรรพคุณเหมือนรับประทานแบบแคปซูล ข้อควรระวังคือไม่ควรดื่มมากหรือดื่มติดกันเป็นเวลานานๆ และไม่ใช้เป็นยาสำหรับลดน้ำหนัก

มะขามแขกชนิดชงดื่ม

ได้รู้ถึง สรรพคุณ ประโยชน์และโทษของมะขามแขกกันไปแล้ว....สรุปว่ามะขามแขกนั้นใช้เป็นยาระบายที่ได้ผลเป็นอย่างดีสำหรับช่วยบรรเทาอาการท้องผูก แต่สำหรับความเชื่อเรื่อง "มะขามแขกลดความอ้วน" นั้นไม่เป็นความจริงเพราะมะขามแขกไม่ใช่ยาสำหรับลดน้ำหนัก การใช้มะขามแขกอย่างผิดวิธีอาจจะส่งผลอันตรายรุนแรงต่อร่างกายได้ ดังนั้นก่อนรับประทานยา ควรศึกษาวิธีการใช้ให้ถี่ถ้วนและใช้อย่างถูกวิธีดีที่สุด