เคล็ดลับสุขภาพ เรื่องน่ารู้ February 16, 2018 Share 21 Tweet Pin 0 ประโยชน์ของ “เต้าเจี้ยว” เครื่องปรุงรสกลิ่นหอม อุดมไปด้วยโปรตีน“เต้าเจี้ยว” เป็นเครื่องปรุงรสชนิดหนึ่งที่เกิดจากการถนอมอาหารด้วยวิธีหมักดอง หลายๆ ประเทศในเอเชียนิยมนำเต้าเจี้ยวไปปรุงรสอาหารเพื่อให้รสอร่อยกลมกล่อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารต่างๆของชาวจีนซึ่งแทบจะขาดเต้าเจี้ยวไปไม่ได้เลยทีเดียว สำหรับในประเทศไทยเต้าเจี้ยวนิยมนำมาปรุงอาหารประเภทผัดผักต่างๆ น้ำจิ้มข้าวมันไก่ อาหารเจและอาหารมังสวิรัติเนื่องจากให้โปรตีนในปริมาณสูงและมีรสชาติคล้ายกับสารสกัดด้วยเนื้อสัตว์นั่นเอง เต้าเจี้ยวทำมาจาก?เต้าเจี้ยวเป็นอาหารหมักดองที่อยู่ในกลุ่มอาหารดองเกลือ มีวัตถุดิบหลักคือถั่วเหลือง นำมาหมักกับเกลือโดยใช้เชื้อรามาช่วยในกระบวนกรหมัก แต่ต้องอาศัยความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเชื้อเพื่อให้ได้เชื้อราที่ดีมา รวมทั้งในระหว่างการหมักต้องมีมาตรการการป้องกันการปนเปื้อนที่ดีเพื่อคงคุณภาพของเต้าเจี้ยวไม่ให้เกิดการเน่าเสียหรือปนเปื้อนจุลินทรีย์บางชนิดอันก่อให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษหากรับประทานเข้าไป จัดเป็นการถนอมอาหารที่ดีวิธีหนึ่งซึ่งทำให้เก็บได้นานเต้าเจี้ยวขาว เต้าเจี้ยวดำ?หลายๆ คนคงสงสัยว่าเต้าเจี้ยวขาวกับเต้าเจี้ยวดำต่างกันอย่างไร เต้าเจี้ยวขาวก็คือเต้าเจี้ยวทั่วๆ ไปที่เรารู้จักกัน ส่วนเต้าเจี้ยวดำจะต่างกับเต้าเจี้ยวขาวตรงที่ ใช้เวลาหมักนานกว่า มีสีเข้ม รสชาติเข้มข้นมากกว่าและมีกลิ่นหอมอร่อยมาก เหมาะมากๆ สำหรับทำน้ำจิ้มข้าวมันไก่ หากทำเองจะทำให้น้ำจิ้มอร่อยแซบไม่แพ้น้ำจิ้มร้านดังๆ เลยวิธีทำเต้าเจี้ยวเองวัตถุดิบถั่วเหลือง 1 กิโลกรัมแป้งสาลี 400 กรัมเกลือแกง 400 กรัมน้ำเปล่า 2 ลิตรเชื้อราแอสเปอร์จิลลัสออไรซี่น้ำตาลทราย 100 กรัมวิธีการทำ1. นำถั่วเหลืองมาต้มพอสุก ผึ่งให้สะเด็ดน้ำและทิ้งไว้ให้เย็น2. นำแป้งสาลีมาคั่วให้พอเหลือง3. เมื่อถั่วหมาดดีแล้ว นำมาใส่กระด้งแล้วเกลี่ยให้หนาเสมอกัน4. นำแป้งสาลีที่คั่วแล้วมาวางทับถั่วที่กลางกระด้ง5. นำเชื้อรามาผสมกับแป้งเล็กน้อย แล้วนำส่วนผสมที่ได้มาวางกลางแป้งแล้วคลุกให้เข้ากัน6. เมื่อแป้งและเชื้อราคลุกเคล้าได้ที่แล้วจึงคลุกกับถั่ว โดยคลุกให้แป้งติดถั่วทุกเมล็ด7. เกลี่ยถั่วให้หนาสม่ำเสมอกันแล้วทับด้วยผ้าขาวบางที่ชุบน้ำบิดหมาด8. นำกระด้งถั่วไปวางไว้ในที่โปร่ง มีอากาศถ่ายเทสะดวก ทิ้งไว้ประมาณ 3-4 วัน จนถั่วมีราสีเขียวขึ้นคลุมถั่ว9. คลุกถั่วให้เมล็ดแยกจากกัน จากนั้นนำถั่วไปใส่โอ่งหรือภาชนะสำหรับหมักแล้วเติมน้ำเกลือ (ควรเตรียมล่วงหน้าก่อน 1 วันโดยการต้มน้ำให้เดือด ใส่เกลือ คนจะละลายทั้งหมด)10. ปิดฝาให้สนิท ระวังอย่าให้ถูกน้ำ หมักนานประมาณ 3-4 เดือนโดยในระหว่างหมักควรคนด้วยพายให้ทั่วๆทุกๆสัปดาห์11. เมื่อหมักครบกำหนดให้นำถั่วที่ได้มาต้มจนเดือดนานๆ เพื่อทำให้เชื้อราหยุดการเจริญเติบโตและตาย หลังจากนั้นเติมน้ำตาลทราย 100 กรัมแล้วยกลง12. ทำความสะอาดภาชนะที่จะใช้บรรจุเต้าเจี้ยวด้วยความร้อน ทั้งตัวภาชนะและฝาปิด จากนั้นบรรจุเต้าเจี้ยวที่ได้ลงไป ปิดฝาให้สนิท สามารถเก็บไว้รับประทานได้ยาวนานคำแนะนำในการทำเต้าเจี้ยว1. ถั่วเหลืองที่ใช้ควรเลือกถั่วเหลืองคุณภาพดี เป็นถั่วเก็บใหม่ๆ เนื้อเยอะ เปลือกบาง ต้องคัดเมล็ดที่เสียออกก่อน2. กระด้งและผ้าขาวบาง ก่อนนำมาใช้ต้องทำความสะอาดและตากให้แห้งสนิท เพื่อป้องกันการปนเปื้อนสิ่งสกปรกต่างๆ3. ภาชนะที่ใช้หมักเต้าเจี้ยวต้องเป็นภาชนะที่ทนต่อการกัดกร่อนของน้ำเกลือที่มีความเข้มข้นสูง เช่น โอ่ง หรือไหต่างๆ4. การบ่มถั่วจนเกิดเชื้อรา บ่มแค่เชื้อรามีสีเหลืองอมเขียวนั้น ไม่ต้องบ่มนานจนเชื้อราเป็นสีเขียวทั้งหมด5. ขั้นตอนการคลุกถั่วหลังจากมีเชื้อราปกคลุม ต้องใช้หน้ากากและถุงมือเนื่องจากสปอร์ของเชื้อราสามารถฟุ้งกระจายได้ง่าย6. ในขณะบ่มถั่วให้เกิดเชื้อรา ในวันที่ 2 ควรกลับถั่วจากล่างขึ้นบน เพราะในกระบวนการบ่มอาจจะเกิดความร้อนจนเชื้อราหยุดการเจริญเติบโตซึ่งทำให้ถั่วเกิดการเน่าเสียได้7. ควรกวนถั่วอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้นานๆ จะเกิดฝ้าสีขาวบริเวณผิวหน้าเต้าเจี้ยว เต้าเจี้ยวจะมีกลิ่นผิดปกติและไม่หอมสรรพคุณและประโยชน์ของเต้าเจี้ยว1. สรรพคุณของเต้าเจี้ยวอุดมไปด้วยโปรตีน เต้าเจี้ยวเกิดจากการหมักถั่วเหลือง ถั่วเหลืองเป็นอาหารที่ให้โปรตีนคุณภาพดีต่อร่างกาย ให้พลังงาน ช่วยซ่อมแซมเน้อเยื่อต่างๆในร่างกาย ทั้งยังมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายมากถึง 17 ชนิด2. ประโยชน์ของเต้าเจี้ยวมีวิตามิน เกลือแร่ ที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้ร่างกายเช่น เหล็ก โพแทสเซียม วิตามินเอ บี ดี เค เป็นต้น3. เต้าเจี้ยวเป็นอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากสารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตในถั่วเหลืองไม่มีแป้ง4. โปรตีนและคาร์โบไฮเดรตจากเต้าเจี้ยวผ่านกระบวนการหมักดองจนอยู่ในรูปที่ย่อยสลายได้ง่าย ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ดีเมนูอร่อยด้วยเต้าเจี้ยว1.เต้าเจี้ยวหลน เมนูอร่อยง่ายๆ ที่ทำจากเต้าเจี้ยว มีวัตถุดิบเพียงไม่กี่อย่างคือ เต้าเจี้ยว หมูสับ หอมแดงซอย ตะไคร้ซอย กะทิ น้ำตาล มะขามเปียก พริกชี้ฟ้า ส่วนวิธีการทำก็ไม่ยุ่งยากเริ่มจากตำหรือบดเต้าเจี้ยวพอหยาบๆ นำกะทิไปตั้งไฟให้เดือด ใส่หมูและเต้าเจี้ยว คนให้เข้ากันสักครู่พอสุก จากนั้นใส่ตะไคร้และหอมแดง ปรุงรสตามใจชอบด้วยน้ำตาลและน้ำมะขาม ชิมรสจนถูกใจ ใส่พริกชี้ฟ้าลงไป ทานคู่กับผักสดหลากหลายชนิด อร่อยได้คุณค่าทางโภชนาการเต็มๆ2. คะน้าผัดเต้าเจี้ยวน้ำมันหอย เมนูนี้ก็ง่ายอีกเช่นกัน โดยเตรียมวัตถุดิบง่ายๆ คือ คะน้า น้ำมันหอย เต้าเจี้ยว น้ำมัน พริกขี้หนู กระเทียม น้ำปลาและน้ำตาล วิธีทำเริ่มจากนำคะน้ามาหั่นเป็นชิ้นกลางๆ ตัดส่วนที่แข็งเกินไปออก จากนั้นนำกระทะตั้งไฟ ใส่น้ำมัน ใส่พริกและกระเทียมลงไปเจียวพอเหลืองใส่คะน้าลงไป ปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำตาล ใส่น้ำเล็กน้อย แล้วใช้ไฟแรงผัด ชิมรส ผัดพอสุก ผัดให้เร็วๆ คะน้าจะยังเขียวสวยน่ารับประทาน นำไปรับประทานคู่กับข้าวต้มกุ๊ยร้อนๆสักถ้วย อร่อยจนต้องขอข้าวต้มเพิ่มอีกถ้วยแน่นอน"เต้าเจี้ยว" เครื่องปรุงรสชั้นเยี่ยมที่หมักจากถั่วเหลืองคงเป็นเครื่องปรุงที่ใครหลายๆ คนติดใจในรสอร่อยอร่อยกลมกล่อมจนต้องมีติดครัวเอาไว้ นอกจากความอร่อยที่ได้ เต้าเจี้ยวยังมีประโยชน์ดีๆ ต่อร่างกายมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ทานอาหารมังสวิรัติ เต้าเจี้ยวเป็นโปรตีนชั้นดีที่จะมาทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์นั่นเอง สำหรับใครที่ชอบทานเต้าเจี้ยว อย่าลืมลิ้มลองเต้าเจี้ยวดำซึ่งหอม อร่อย รสชาติเข้มข้นกว่าเต้าเจี้ยวธรรมดา คอเต้าเจี้ยวรับรองว่าติดใจอย่างแน่นอน