free web tracker, fire_lady ปรับสมดุลในร่างกาย ด้วยอาหารฤทธิ์ร้อน-เย็น • สุขภาพดี

ปรับสมดุลในร่างกาย ด้วยอาหารฤทธิ์ร้อน-เย็น

คนสมัยก่อนกินอาหารเป็นยา คำกล่าวนี้ถือว่ามีความเป็นจริงอยู่มาก โดยเฉพาะพืชผักของบ้านเราส่วนใหญ่แทบทั้งหมดล้วนมีสรรพคุณทางยาทั้งนั้น หากเข้าใจหลักการและนำมาประยุกต์ใช้กับการกินอาหารแต่ละวัน เราก็จะสามารถมีสุขภาพแข็งแรงไม่เจ็บป่วยแม้ในวันที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

ตามหลักการแพทย์วิถีธรรมซึ่งเป็นแพทย์ทางเลือกที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในหมู่นักธรรมชาติบำบัด กล่าวว่า การกินอาหารของคนไทยสมัยโบราณจะปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล โดยยึดเอาสภาพแวดล้อม และสภาพอากาศเป็นปัจจัยในการกำหนดพฤติกรรมการกิน คนโบราณจะไม่กินอะไรซ้ำ ๆ กันตลอดทั้งปี อีกทั้งยังเน้นไปที่การกินพืชผักผลไม้ จึงทำให้คนสมัยก่อนมีสุขภาพแข็งแรง

หลักการกินอาหารในแต่ละฤดูกาล

ตามหลักการแพทย์แผนตะวันออกกล่าวว่าอาหารสามารถจำแนกได้ 2 หมวด คือ อาหารที่กินแล้วให้ผลเป็นฤทธิ์เย็น (หยิน) และอีกประเภทหนึ่งคือ อาหารที่กินแล้วให้ผลเป็นฤทธิ์ร้อน (หยาง)

อาหารฤทธิ์เย็น เป็นอาหารที่กินแล้วทำให้ร่างกายเราเกิดความเย็น โดยข้อสังเกตง่าย ๆ คือ เป็นอาหารที่ทำให้เรารู้สึกชุ่มคอ ไม่หิวน้ำ เช่น มังคุด มะยม แตงโม แตงไทย แคนตาลูป สับปะรด ส้มโอ ลางสาด กล้วยน้ำว้า น้ำมะนาว น้ำมะพร้าว สตรอว์เบอร์รี ฯลฯ

อาหารฤทธิ์ร้อน เป็นอาหารที่กินแล้วทำให้เราเกิดความร้อน ซึ่งมีข้อสังเกตง่าย ๆ คือ หากกินแล้วรู้สึกเผ็ดร้อนหรือรู้สึกหิวน้ำถือว่าเป็นอาหารฤทธิ์ร้อน เช่น ฝรั่ง ขนุนสุก ลิ้นจี่ เงาะ ลำไย ทุเรียน น้อยหน่า สละ ส้มเขียวหวาน มะตูม ละมุด มะเฟือง มะปราง มะขามหวานสุก สมอพิเภก มะไฟ มะแงว (ลิ้นจี่ป่า) ทับทิมแดง มะม่วงสุก ลูกยอ กระเจี๊ยบแดง ฯลฯ

ร้อน-เย็นกินอย่างไร

แนวทางในการกินอาหารนั้นเราควรเลือกบริโภคพืชผักให้เหมาะสมตามสภาพดินฟ้าอากาศในแต่ละฤดูกาล อาทิ หากอากาศร้อนเราควรกินอาหารที่มีฤทธิ์เย็นในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อช่วยปรับสมดุลภายในร่างกาย แต่หากอากาศหนาวเราควรกินอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนเข้าไปในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายภายใน เพราะหากร่างกายไม่สมดุลก็จะนำไปสู่อาการป่วยไข้หรือไม่สบายได้

ร่างกายร้อน ปรับด้วยอาหารฤทธิ์เย็น

อาการแสดงออกของร่างกายมีความร้อนมากเกินไป: มีความร้อนตามลำตัว มือ เท้า เหงื่อออกมาก เป็นแผลร้อนในที่ช่องปากด้านล่าง เจ็บปลายลิ้น เจ็บส้นเท้า มีเส้นเลือดขอด ท้องอืด ท้องผูก เป็นประจำ

อาหารฤทธิ์เย็น สามารถช่วยลดความร้อนและปรับสมดุลในร่างกายส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่มีรสจืด ถ้ามีรสหวานจะไม่หวานมากและเป็นความหวานจากธรรมชาติ เป็นอาหารที่มีเส้นใยสูงพลังงานต่ำ พืชผักผลไม้เช่น ยอดผักต่างๆ ผักสีอ่อนหรือเขียว เมื่อกินเข้าไปแล้วรู้สึกชุ่มคอ

  • กลุ่มคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ น้ำตาล ข้าวขาว เส้นขาว (เส้นหมี่ เส้นก๋วยเตี๋ยวที่ไม่มีน้ำมัน) วุ้นเส้น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้องเหลือง เป็นต้น
  • กลุ่มโปรตีน จากถั่วต่างๆ ได้แก่ ถั่วขาว ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา ลูกเดือย เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนู เป็นต้น
  • กลุ่มผักฤทธิ์เย็น ได้แก่ กะหล่ำดอก ผักกวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักกาดหอม หยวกกล้วย ปลีกล้วย ก้านกล้วย กล้วยดิบ หัวไชเท้า ข้าวโพด ขนุนดิบ ดอกสลิด (ดอกขจร) ดอกแค ใบเตย ตำลึง ถั่วงอก ใบบัวบก สายบัว ผักบุ้ง บรอกโคลี บวบ ผักปวยเล้ง ผักปลัง ฟักต่างๆ ทั้งฟักทอง ฟักแม้ว ฟักแฟง ทั้งยอดอ่อนและผล และมะเขือเทศต่างๆ เป็นต้น
  • กลุ่มผลไม้ฤทธิ์เย็น ได้แก่ กล้วยน้ำว้า กล้วยหักมุก แก้วมังกร กระท้อน แคนตาลูป ชมพู่ เชอรี่ ทับทิมขาว แตงโม แตงไทย มังคุด มะยม มะขวิด มะดัน มะม่วงดิบ มะละกอดิบ-ห่าม มะขามดิบ น้ำมะนาว น้ำมะพร้าว ลางสาด สับปะรด สตรอเบอรี่ สาลี่ ส้ม แอปเปิ้ล เป็นต้น

ร่างกายเย็น ปรับด้วยอาหารฤทธิ์ร้อน

อาการแสดงออกของร่างกายมีความเย็นมากเกินไป : มีขี้ตามาก ตาแฉะ มีน้ำมูกใส ตัวเย็น มือเท้าเย็น เป็นแผลในช่องปากด้านบน เจ็บที่โคนลิ้น นิ้วล็อคกำมือไม่ได้ อุจจาระเหลวสีอ่อน

อาหารฤทธิ์ร้อน สามารถช่วยเพิ่มความร้อนและปรับสมดุลในร่างกายส่วนใหญ่มักจะมีเนื้อแข็ง และมีรสเค็ม หรือรสขม มีสีเข้มหรือคล้ำ เช่น แดง ม่วง ดำ ถ้าเป็นเขียวจะเป็นสีเขียวเข้ม มีกลิ่นแรงหรือเหม็นเขียว

  • กลุ่มคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ ข้าวเหนียว ข้าวแดง ข้าวดำ ข้าวอาร์ซี ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ เผือก มัน กลอย อาหารหวานจัด เค็มจัด ขนมปัง ขนมกรุบกรอบ บะหมี่ซอง
  • กลุ่มโปรตีน ได้แก่ เนื้อ นม ไข่ เห็ดโคน (เห็ดปลวก) เห็ดก่อ เห็ดไค เห็ดหอม เห็ดหลินจือ ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วลิสง ถั่วทอดทุกชนิด โปรตีนจากพืชและสัตว์ที่หมักดอง เช่น เต้าเจี้ยว มิโสะ โยเกิร์ต ซีอิ้ว กะปิ น้ำปลา ปลาร้า เป็นต้น
  • กลุ่มผักฤทธิ์ร้อน ได้แก่ ผักที่มีรสเผ็ด เช่น กระชาย กระเพรา ยี่หร่า โหระพา พริก แมงลัก กุยช่าย ต้นหอม หอมหัวใหญ่ หอมแดง กระเทียม ผักชี พริกไทย ขิง ข่า ขมิ้นไพล ใบมะกรูด ตะไคร้ เครื่องเทศ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีพืชบางชนิดที่ไม่มีรสเผ็ดแต่มีฤทธิ์ร้อน คือ ให้พลังงานหรือแคลอรีสูง เช่น คะน้า แครอท บีทรูท กะหล่ำปลี ชะอม ถั่วฝักยาว ถั่วพู สะตอ ลูกเนือง กระเฉด ลูกตำลึง ฟักทองแก่ โสมจีน โสมเกาหลี ผักกาดเขียวปลี ใบยอ ผักโขม หน่อไม้ เม็ดบัว สาหร่ายทะเล สาหร่ายน้ำจืด (เทา) ไหลบัว รากบัว ใบ ยอด และเมล็ดกระถิน พืชที่มีกลิ่นฉุน เป็นต้น

  • กลุ่มผลไม้ฤทธิ์ร้อน ได้แก่ กลุ่มผลไม้ที่ให้น้ำตาล วิตามิน หรือธาตุอาหารที่นำไปสู่ขบวนการเผาผลาญเป็นพลังงานความร้อนสูง เช่น ฝรั่ง ขนุนสุก ลิ้นจี่ เงาะ ลำไย ทุเรียน น้อยหน่า สละ องุ่น ส้มเขียวหวาน กล้วยไข่ มะตูม ละมุด กล้วยปิ้ง ลองกอง เสาวรส มะเฟือง มะปราง มะไฟ ทับทิมแดง มะม่วงสุก ลูกยอ กระเจี๊ยบแดง ระกำ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีอาหารต่างๆ ที่มีรสจัดทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นรสเค็มจัด มันจัด หวานจัด เผ็ดจัด หรือเปรี้ยวจัด อาหารที่ใส่สารเคมีและผงชูรส เหล้า เบียร์ ไวน์ ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ขนมกรุบกรอบ น้ำร้อน น้ำเย็น และน้ำแข็ง ก็นับว่าเป็นอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนด้วยเช่นกัน แต่ไม่แนะนำให้รับประทานเพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ และเสี่ยงเป็นโรคร้ายต่างๆ ตามมาได้

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

แพทย์วิถีธรรม www.morkeaw.net

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องน่ารู้...คู่สุขภาพดี

Click here to add a comment

Leave a comment: